รักพัฒนานครขอนแก่นเป็นกลุ่มการเมืองท้องถิ่นก่อกำเนิดขึ้นเมื่อปี 2538 โดยการยุบรวมกลุ่มการเมืองที่เคยต่อสู้ขับเคี่ยวกันระหว่างกลุ่ม “รักขอนแก่น” ซึ่งมีนายเรืองชัย ตราชู เป็นหัวหน้ากลุ่มฯและ“กลุ่มพัฒนาเมืองขอนแก่น” ซึ่งมีนายอาจหาญ ศิริพูล เป็นหัวหน้ากลุ่ม
ด้วยเหตุผลว่า การแข่งขันทำให้เกิดความขัดแย้งและเป็นข้อจำกัดในการทำงาน หากรวมกันและคัดเลือกบุคลากรที่มีคุณภาพเข้ามาทำงานการเมืองท้องถิ่นจะเกิดเอกภาพ และสามารถสร้างสรรค์การทำงานให้ขอนแก่นได้ดีมากกว่า
เมื่อมีการตกลงรวมเป็นกลุ่มเดียวกันแล้ว ขณะนั้นได้มีการทาบทามบรรดาลูกหลานคหบดีเมืองขอนแก่น ซึ่งมีศักย์ภาพและความพร้อมให้เข้ามาทำงานการเมืองท้องถิ่นร่วมกันหลายคน
อาทิ “เสี่ยต้อง” พีระพล พัฒนาพีระเดช แห่งแฟรี่พลาซ่า “เสี่ยเต๋า” จักริน พัฒน์ดำรงจิตร ทายาทมังกรอีสาน “เสี่ยเล้ง” เจริญ พัฒน์ดำรงจิตร นายอัษฎางค์ แสวงการ ทายาทวิทยาลัยเอกชน ขอนแก่นบริหารธุรกิจ “เสี่ยตึก” จุลนพ ทองโสภิต ทายาทขอนแก่นโฮเต็ล ฯลฯ
กลายเป็นแนวทางหลักในการส่งเสริมคนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะในภาคธุรกิจ ที่มีฐานะการเงินและมีการศึกษาดีให้เข้ามาทำงานการเมืองเพื่อพัฒนาท้องถิ่นของตนเอง
เมื่อจัดตั้งกลุ่มรักพัฒนานครขอนแก่นแล้วเสร็จ นายอาจหาญ ศิริพูล ได้รับมอบหมายให้เป็นหัวหน้ากลุ่มคนแรก โดยมี “เสี่ยติ่ง” นายประจักษ์ แกล้วกล้าหาญ เป็นเลขาธิการกลุ่มฯ และ “น้าตุ๊” นายเรืองชัย ตราชู เป็นประธานกลุ่มฯ
หลังการเลือกตั้งปี 2538 นายอาจหาญได้ดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีในนามกลุ่มรักพัฒนานครขอนแก่นเป็นคนแรกระหว่างปี 2538 – 2540 (แต่ก่อนหน้านี้ นายอาจหาญดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีในนามกลุ่มรักขอนแก่นตั้งแต่ปี 2535-2538)
จากนั้น “เสี่ยติ่ง” นายประจักษ์ แกล้วกล้าหาญ ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการไปชักชวนลูกหลานคหบดีมาทำงานการเมือง และเป็นคนใกล้ชิดของ “เสี่ยเล้ง” เจริญ พัฒน์ดำรงจิตร ซึ่งในขณะนั้นมีบารมีทางการเมืองสูงมาก ได้ก้าวขึ้นเป็นหัวหน้ากลุ่มฯคนที่สอง
“เสี่ยติ่ง” ก้าวขึ้นไปดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองขอนแก่น ระหว่าง พ.ศ.2540 – 2543 พร้อมกับขยับคนรุ่นใหม่ในขณะนั้นคือ “เสี่ยต้อง” ขึ้นมาเป็นเลขาธิการกลุ่มฯ และดำรงตำแหน่งเทศมนตรี โดยนายเรืองชัย ยังทำหน้าที่เป็นประธานกลุ่มฯและประธานสภาฯเช่นเดิม
ก่อนที่จะครบวาระ “เสี่ยติ่ง” ได้ก้าวลงจากตำแหน่งนายกเทศมนตรี ไปลงสมัครรับเลือกตั้งส.ส.ในนามพรรคไทยรักไทย เขต 2 พร้อมกับ “เสี่ยเต๋า” จักริน พัฒน์ดำรงจิตร ที่ลาออกสมาชิกสภาฯมาลงสมัครรับเลือกตั้งส.ส.ในนามพรรคไทยรักไทย เขตเลือกตั้งที่ 1 และได้รับชัยชนะทั้ง 2 คน
“เสี่ยต้อง” ลงสมัครและได้รับเลือกตั้งเป็นนายกเทศมนตรีวาระที่ 1 ปี 2543 – 2547 เมื่อหมดวาระก็ลงสมัครได้รับชัยชนะกลับมาเป็นนายกเทศมนตรีวาระที่ 2 ปี 2547- 2551 และในวาระที่ 3 ปี 2551 – 2555 ก่อนที่เขาจะประกาศวางมือทางการเมือง
ห้วงเวลานั้นเป็นยุคที่เทศบาลนครขอนแก่น ซึ่งบริหารงานโดยกลุ่มรักพัฒนานครขอนแก่น โดดเด่นอย่างมาก แม้จะถูกโจมตีจากคู่ต่อสู้ทางการเมือง ว่า ผูกขาดการบริหารงานเทศบาลเพียงกลุ่มเดียวทำให้ขาดการมีส่วนร่วมและกระบวนการตรวจสอบไม่เป็นไปตามครรลอง
ทว่า…วิธีการบริหารของ“เสี่ยต้อง” สามารถแก้ไขข้อครหา ด้วยการทำงานที่ยึดชุมชนเป็นที่ตั้ง เขาได้เข้าไปร่วมทำงานกับองค์กรพัฒนาเอกชนหรือ “เอ็นจีโอ” โดยเฉพาะคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.)ภาคอีสาน
ซึ่งขณะนั้น “เอ็นจีโอ” ได้ปรับบทบาทการทำงาน ที่เคยมุ่งเน้นการทำงานในเขตชนบท มาเป็นการทำงานในเขตเมือง โดยมี “สมภพ บุนนาค” นักพัฒนาอาวุโสและ “เดชา เปรมฤดีเลิศ” ผู้ประสานงาน กป.อพช.ภาคอีสาน ขณะนั้นเป็นตัวเชื่อมหลัก
“เสี่ยต้อง” จึงได้มีโอกาสซึมซับจากการแลกเปลี่ยนแนวความคิดกับ “บำรุง บุญปัญญา” ซึ่งเป็นนักคิดคนสำคัญที่ได้รับการยอมรับจากเอ็นจีโอ ในประเทศและในระดับนานาชาติ เจ้าของฉายา “ราชสีห์อีสาน” เชื่อมโยงไปยังนักวิชาการในมหาวิทยาลัยขอนแก่น
อย่าง ดร.สมพันธ์ เตชะอธิก และอีกหลายๆคน ไปจนถึงนักคิดในระดับประเทศที่มีฉายา “ปัญญาชนแห่งสยาม “ส.ศิวรักษ์” หรือนายสุลักษณ์ ศิวะรักษ์ โดยเฉพาะการได้สัมผัสและเรียนรู้แนวทางจินตปัญญาและสุนทรียสุนทนากับ “วิศิษฐ์ วังวิญญู” และ “ประชา หุตานุวัตร”
“เสี่ยต้อง” ได้กลายเป็นเสมือนสะพานเชื่อมทางความคิด ระหว่าง“นักวิชาการ” และ“เอ็นจีโอ” เข้ากลับกลุ่มรักพัฒนานครขอนแก่นจนแนบแน่น เสมือนเป็นเนื้อเดียวกัน
เขาได้จัดตั้งคณะที่ปรึกษานายกเทศมนตรีขึ้นมา 1 ชุด ประกอบด้วย “น้าตุ๊” เรืองชัย ตราชู ประธานสภาเทศบาล ซึ่งมีประสบการณ์ในการเป็นอดีตนายกเทศมนตรี และสนใจงานด้านศิลปวัฒนธรรม “พี่เด” เดชา เปรมฤดีเลิศ นักพัฒนาอาวุโส และนายสุทธิ ศศิพงษ์อนันต์ สมาชิกกลุ่มฯที่มีบทบาทในการกำหนดนโยบายอยู่เบื้องหลังของกลุ่มอีกคนหนึ่ง
“เสี่ยต้อง” เป็นผู้รับฟังแนวคิดของคณะที่ปรึกษา และตัดสินใจในเชิงนโยบายจะนำแนวคิดที่สรุปจากทีมที่ปรึกษาไปหารือกับทีมบริหารหรือ รองนายกฯ ก่อนที่จะได้นำเข้าสู่ที่ประชุมกลุ่มรักพัฒนานคร และมอบเป็นนโยบายให้ข้าราชการรับไปดำเนินการให้เกิดผลในทางปฏิบัติ โดยการขับเคลื่อนนโยบายของเทศบาลฯจะเป็นไปในนามกลุ่มรักพัฒนานครขอนแก่นไม่ใช่ของนายกเทศมนตรี
“เสี่ยต้อง” ให้ความสำคัญกับการเมืองแบบมีส่วนร่วม การเมืองภาคพลเมือง การศึกษาและภูมิปัญญาท้องถิ่น ที่เป็นรากฐานสำคัญของชีวิต
ผลผลิตที่ถือเป็นผลงานโดดเด่นของเทศบาลนครขอนแก่น และถือว่าเป็นนวัตกรรมของการปกครองส่วนท้องถิ่นมีหลายเรื่องที่ถูกกล่าวขานถึงในแวดวงวิชาการ อาทิ
“สภาเมืองขอนแก่น” เป็นเครื่องมือสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนของเทศบาลนครขอนแก่น เป็นการลดข้อครหาเรื่องการบริหารงานแบบผูกขาด ขาดการตรวจสอบของกลุ่มรักพัฒนานครขอนแก่นได้อย่างชัดเจน โดยสภาเมืองขอนแก่นใช้กระบวนการที่เรียกว่า “ฉันทามติ” หรือ “ฉันทะมติ” ( Consensus)
หากแม้มีเพียงเสียงเดียวคัดค้านโครงการ หรือ “แนวคิด” นั้นก็จะต้องถูกชะลอไว้เพื่อสร้างความเข้าใจให้เกิดเป็นข้อตกลงร่วมกันให้ได้ กระบวนการดังกล่าวจึงทำให้บางครั้งดูเหมือนเป็นเรื่องล่าช้า แต่ก็ได้นำไปสู่ความเข้าใจร่วมกัน หรือความสมานฉันท์ของกลุ่มเป็นอย่างดี
“เทศบาลเล็กในเทศบาลใหญ่” คือ การกระจายอำนาจให้แก่ชุมชนในการเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารงานเทศบาลนครขอนแก่น เป็นอีกนวัตกรรมการปกครองส่วนท้องถิ่นที่เกิดขึ้น โดยมีการกระจายงบประมาณไปให้ชุมชนสามารถที่จะดำเนินโครงการที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างพื้นฐานภายในชุมชน ให้คณะกรรมการชุมชน มีส่วนบริหารชุมชนของตนเอง ลดข้อครหาในเรื่องเอื้อประโยชน์ให้เอกชนได้เป็นอย่างดี
คนขอนแก่นไม่ทอดทิ้งกัน ที่เป็นโครงการที่ประสบความสำเร็จและได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางในการดูแลกลุ่มคนเปาะบางในชุมชน โดยเทศบาลนครขอนแก่นสนับสนุนให้คนที่เข้มแข็งหรือแข็งแรงกว่าในทางเศรษฐกิจมาดูแลคนอ่อนแอกว่า ในชุมชน
การศึกษาที่มุ่งเน้นในการสร้างสำนึกรักท้องถิ่น ที่เป็นรากฐานสำคัญให้เกิดเป็นยุทธศาสตร์การพัฒนาเทศบาลนครขอนแก่น แตกแขนงเป็นแผนงานโครงการต่างๆมากมาย การสร้างหลักสูตรท้องถิ่น การคิดค้นว่าทำอย่างไรที่จะไม่ให้เด็กไปกระจุกตัวอยู่กับโรงเรียนขนาดใหญ่เพียงไม่กี่แห่ง ด้วยการพัฒนาบุคลากรด้านการศึกษาให้มีศักยภาพเท่าเทียมกัน
“เสี่ยต้อง” ให้ความสำคัญกับการค้นหารากเหง้า หรือ จิตวิญญาณขอนแก่น เพื่อสร้างอัตลักษณ์ (Identity) หรือ ตัวตนของเมืองขอนแก่น ผ่านงานวรรณกรรมพื้นบ้านอีสาน “สังข์สินไซ”ที่เชื่อมโยงกับอารยะธรรมลานช้างที่มีคุณค่าให้แง่คิดในการดำรงชีวิตด้วยการยึดหลักการของพุทธศาสนา ความกตัญญู ซื่อสัตย์ ที่ยึดโยงกับคุณค่าความดี ความงาม หลักแห่งคุณธรรม การบริหารงานแบบทศพิธราชธรรม
วรรณกรรมสังข์สินไซ มีร่องรอยปรากฏที่ขอนแก่นมากที่สุด เมื่อเทียบกับจังหวัดอื่นๆในภาคอีสาน เขาจึงพยายามสร้างอัต ลักษณ์ หรือตัวตนของเมืองขอนแก่น ด้วยตัวละคร 3 ตัวหลัก ในวรรณกรรมสังข์สินไซ ประกอบด้วย “สังข์ทอง” เป็นหอยสังข์ที่เป็นตัวช่วยการแปลงร่างในการบุกเบิกงานต่างๆ “สีโห” ลักษณะตัวเป็นราชสีห์หัวเป็นช้างและ”สินไซ” เป็นคนถือดาบ และธนู เป็นสัญลักษณ์อยู่บนหัวเสาไฟฟ้าถนนเส้นทางถนสายต่าง ๆในเขตเทศบาลนครขอนแก่น
“สุนทรียสนทนา” อันเป็นสายธารของแนวคิดแบบ “จิตตปัญญา” เป็นอีกเครื่องมือหนึ่งที่ “เสี่ยต้อง” ได้เรียนรู้และนำมาถ่ายทอดและใช้ในการทำงานของกลุ่มรักพัฒนานครขอนแก่น การฟังอย่างลึกซึ้ง และการพูดด้วยความเคารพคนฟัง ไม่พูดคำหยาบ ไม่ชี้หน้าว่าใครเป็นคนผิด และใช้ข้อมูลหรือปัญญาในการตัดสิน
การบริหารงานเทศบาลนครขอนแก่น ภายใต้กลุ่มรักพัฒนานครขอนแก่นในยุคของ “เสี่ยต้อง” จึงโดดเด่นได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง และทายาทธุรกิจรุ่นใหม่ๆ ก้าวสู่การเมือง มีความเป็นพี่เป็นน้องเสียสละและยึดถือผลประโยชน์ของเมืองเป็นที่ตั้ง
“เสี่ยต้อง” อยู่ในตำแหน่งนายกเทศมนตรี ระหว่างปี 2543 – 2555 รวมประมาณ 12 ปี เมื่อหมดวาระที่สามของการบริหาร เขาประกาศไม่ลงสมัครรับเลือกตั้งนายกเทศมนตรีนครขอนแก่นอีกแล้ว โดยให้เหตุผลว่า ทำงานมามากพอแล้วต้องการกลับไปให้เวลากับตัวเองและครอบครัว
แม้จะมีเสียงทัดทานและร้องขอจากทุกภาคส่วนเขาก็ยังยืนยันที่จะไม่ลงสมัครรับเลือกตั้ง บางส่วนก็เกรงจะเกิดความขัดแย้งในกลุ่มรักพัฒนานครขอนแก่นด้วย
กลายเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญ ของกลุ่มรักพัฒนานครขอนแก่น ในห้วงการบริหารงานของ “เสี่ยต้อง” เขามีนักการเมืองรุ่นน้องที่เข้ามาทำงานการเมืองพร้อมๆกัน และเดินตามแนวทางของ “เสี่ยต้อง” มาโดยตลอดคือ “เสี่ยตึก” จุลนพ ทองโสภิต เรียกได้ว่า “ถอดแบบ” ทุกด้านของเขา เป็นเสมือน “ขุนพลฝ่ายขวา” ที่ช่วยดูแลด้านการศึกษา สาธารณะสุข และสังคม
อีกคนหนึ่งคือ “ธีระศักดิ์ ฑีฆายุพันธ์” เพื่อนสนิท ที่เคยร่วมกันบริหารงานด้านการตลาดให้ห้างสรรพสินค้า “แฟรี่พลาซา” ยุครุ่งเรือง โดยนายธีระศักดิ์ เสมือนเป็น “ขุนพลฝ่ายซ้าย” ที่ได้รับมอบหมายให้ดูแลด้านเศรษฐกิจ การจัดกิจกรรมหรือ “อีเว้นท์” สำคัญ ๆเกือบจะทั้งหมดของเทศบาลนครขอนแก่น ซึ่งรวมทั้ง “ถนนข้าวเหนียว” อันเลื่องชื่อด้วย โดยนายธีระศักดิ์เป็นผู้ดูแลมาตั้งแต่แรกเริ่ม
ขุนพลซ้ายและขวาทั้งสองคน ขับเคี่ยวการทำงานการเมืองคู่กันมาตลอดไม่มีใครเหนือกว่าใคร ห้วงเวลานั้นสถานการณ์ส่อเค้าว่าอาจจะเกิดการปะทะกันครั้งใหญ่ ในการชิงการนำลงสมัครรับเลือกตั้งนายกเทศมนตรีต่อจาก “เสี่ยต้อง” แต่ในที่สุด “เสี่ยตึก” ก็ยอมถอยโดยให้เหตุผลว่ามีปัญหาด้านสุขภาพ และเขาก็ยอมเข้ามาเป็นเบอร์สองดำรงตำแหน่งเป็นรองนายกเทศมนตรีในทีมของ “นายกฯธีร์”
ปี 2555 “ธีระศักดิ์ ฑีฆายุพันธ์” ก้าวขึ้นเป็นนายกเทศมนตรีนครขอนแก่น ด้วยการชนะเลือกตั้งในนามกลุ่มรักพัฒนานครขอนแก่นทิ้งคู่แข่งห่างชั้น จนถึงปี 2557 มีการยึดอำนาจจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)และเมื่อหมดวาระ 4 ปี รัฐบาลไม่ได้จัดให้มีการเลือกตั้ง
นายกฯธีร์ จึงได้ดำรงตำแหน่งรักษาการต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบันรวมระยะเวลากว่า 8 ปี การดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรี ของ “นายกฯธีร์” ด้านหนึ่งก็ดูเหมือนจะถูกกดดันไม่น้อย เพราะหลายคนมักจะนำเขาไปเปรียบเทียบกับ “นายกฯต้อง” ด้วยแนวคิดพื้นฐานของ “นายกฯธีร์” กับ “นายกฯต้อง”ตลอดจนพัฒนาการความเชื่อ การเรียนรู้ และสายสัมพันธ์ของกลุ่มคนและสังคมซึ่งแตกต่างกัน
นายกฯธีร์ พยายามสร้างภาวะของการเป็นผู้นำและความเป็นตัวตนของเขา และมักจะพูดเสมอว่า เขาแตกต่างจาก “นายกฯต้อง” ตรงที่เป็นคนทำงานเป็นรูปธรรมไม่ใช่นามธรรม ขณะที่ “นายกฯต้อง” ใช้วิธีการถอยออกไปจากสังคมขอนแก่น แบบสิ้นเชิง ไม่ปรากฏตัว ไม่ออกงาน ไม่ให้สัมภาษณ์ ไม่ให้ความเห็นใดใดทั้งสิ้น เพื่อให้นายกฯธีร์ได้แสดงบทบาทการทำงานเพื่อไม่มีการนำไปเปรียบเทียบกัน
นายกฯธีร์ ยังคงวางตำแหน่งรองนายกฯในทีมบริหารของเขาเป็นคนเก่าในทีมของ “นายกฯต้อง” ทั้งหมด ประกอบด้วย “รองลื้อ” นายธวัชชัย รื่นรมย์ศิริ “รองมนตรี” นายมนตรี สิงหปุณณภัทร “รองตึก” นายจุลนพ ทองโสภิต
โดยมีคนรุ่นใหม่เพียงคนเดียว คือ “รองฯโด่ง” หรือ นายชัชวาล พรอมรธรรม คนหนุ่มที่มีการศึกษาดี มีความพร้อมทางเศรษฐกิจ และมุ่งมั่นที่จะเข้ามาทำงานการเมืองในกลุ่มฯ โดยหลายคนบอกว่า “นายกฯต้อง”ฝากฝังให้มาช่วยงาน
ขณะเดียวกันนายกฯธีร์ ยังคงวางรูปแบบการบริหารงานเช่นเดียวกับที่ นายกฯต้อง เคยทำ โดยมีการตั้งคณะที่ปรึกษานายกเทศมนตรี เพื่อให้คำปรึกษาในเชิงนโยบาย เช่นเดียวกับ “นายกฯต้อง” แต่นอกจากคณะที่ปรึกษาชุดเดิมแล้ว
เขายังได้แต่งตั้งพนักงานเทศบาลเข้าไปนั่งรวมในทีมที่ปรึกษาอยู่ด้วย รวมทั้งดึง “ปิยบุตร พรหมลักขโณ” อดีตรองนายกอบจ.ขอนแก่น นักกฎหมายที่มีบารมีในจังหวัดมาร่วมเป็นทีมที่ปรึกษาด้วย(ปัจจุบันเสียชีวิตไปแล้ว) แต่นายกฯธีร์ถูกกล่าวหาจากอีกฝ่ายว่า คณะที่ปรึกษาชุดนี้ก็แทบจะไม่ได้มีการเรียกประชุม โดยนายกฯธีร์ตัดสินใจเพียงลำพัง
ห้วงเวลา 8 ปี ในการบริหารงานเทศบาลนครขอนแก่น “นายกฯธีร์” ที่มีทักษะในการพูด จับประเด็น และขยันทำงาน การประชาสัมพันธ์ บทบาทในการทำงานในกิจกรรมด้านเศรษฐกิจ “อีเว้นท์” ต่างๆของเทศบาลนครขอนแก่นโดดเด่นอย่างมาก โดยเฉพาะ “งานประเพณีสุดยอดสงกรานต์อีสานเทศกาลดอกคูณเสียงแคนและถนนข้าวเหนียว”
งาน “ขอนแก่นเคานท์ดาวน์” ที่ “นายกฯธีร์” ทำหน้าที่เป็นพิธีกรเอง สร้างชื่อเสียงให้เทศบาลนครขอนแก่นสามารถดึงคนมาเที่ยวจังหวัดขอนแก่นเป็นจำนวนมาก
ความสัมพันธ์ที่แนบแน่นและถือว่าเป็นจุดเด่นของนายกฯธีร์ คือ ภาคธุรกิจหรือภาคเอกชน ก่อนเขาจะมารับตำแหน่งนายกเทศมนตรี เมื่อครั้งเป็นรองนายกฯ ในทีมของ “นายกฯต้อง” เขาได้ข้ามฟากไปนั่งเก้าอี้ประธานหอการค้า จ.ขอนแก่นควบรองนายกฯเป็นเวลา 1 ปี เพื่อรับผิดชอบการจัดงานประชุมใหญ่หอการค้าทั่วประเทศ ที่จ.ขอนแก่น และลาออกก่อนหมดวาระมาลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นนายกเทศมนตรี ความแนบแน่นกับภาคเอกชนจึงไม่ต้องถามว่ามากเพียงใด?
นายกฯธีร์ ซึ่งปกติเป็นคนแข็งกร้าวและจะตอบโต้ทุกครั้งเมื่อถูกพาดพิง ได้ปรับท่าทีลดความแข็งกร้าวลงได้ระดับหนึ่ง กลับมามีท่วงทำนองในการรับฟังมากยิ่งขึ้น ประกอบกับความเป็นคนเก่งในด้านการพูด การจับประเด็น และบุคลิกภาพในการอยู่บนเวที ทำให้การยอมรับเพิ่มมากขึ้นจากเดิม ผลงานการขับเคลื่อนงานที่โดดเด่นคือ การขับเคลื่อนการพัฒนา “ขอนแก่นสมาร์ทซิตี้”
นายกฯธีร์ เป็นกำลังสำคัญในการผลักดันแนวคิดการก่อสร้างรถไฟฟ้าระบบรางเบา หรือ LRT (Light Rail Transit ) ด้วยการจัดตั้งบริษัทร่วมทุนขอนแก่นทรานซิทซิสเทม หรือ KKTS (Khon Kaen Transit System ) ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนของ 5 เทศบาลบนเส้นทางนำร่อง LRT สายเหนือใต้ ขึ้นมาดำเนินการ ควบคู่ไปกับบทบาทของภาคเอกชนที่โดดเด่นในการจัดตั้งบริษัทขอนแก่นพัฒนาเมือง หรือ KKTT (Khon Kaen Think Tank) ซึ่งกลายเป็น “ขอนแก่นโมเดล”ที่ภาคเอกชนหลายจังหวัดได้เดินตามแนวทางนี้
ทว่า…น่าแปลกตรงในความโดดเด่นดังกล่าวนั้น นายกฯธีร์ กลับไม่สามารถครองใจสมาชิกกลุ่มรักพัฒนานครขอนแก่นได้ทั้งหมดกระแสความขัดแย้งและไม่พอใจการบริหารงานของนายกฯธีร์ ถูกปล่อยออกมาเป็นระลอกๆ
“ช่วงแรกดูเหมือนจะดี แต่ระยะหลังเขาไม่ฟังเสียงทักท้วงของใครเลย ใช้ความคิดของตนเองเพียงคนเดียว ใครเห็นต่างจากเขาก็จะถูกมองว่าเป็นฝ่ายตรงข้ามไปหมด จะฟังเฉพาะคนที่เห็นด้วยหรือสั่งได้เท่านั้น จนทำให้หลายคนมองว่าไม่ใช่แล้ว
การทำงานของเทศบาลฯที่ออกมาเป็นการโปรโมทตัวเขาคนเดียว ไม่มีการเอ่ยถึงชื่อ กลุ่มรักพัฒนานครขอนแก่น เขาใช้ชื่อกลุ่มเพียงเหมือนเป็นม้าให้เขาขี่เข้าเส้นชัยให้สำเร็จ จากนั้นก็ทิ้งกลุ่มไปคนเดียวจนทำให้หลายคนเริ่มไม่สบายใจ แกนนำบางคนเริ่มถอยห่างออกจากทีม” เสียงสะท้อนจากแกนนำรักพัฒนานครขอนแก่นคนหนึ่ง
กระทั่งเมื่อสัญญานการเลือกตั้งนายกเทศมนตรีครั้งใหม่เริ่มจะมีความชัดเจนขึ้น คลื่นใต้น้ำที่ก่อตัวเงียบๆและซ่อนตัวอยู่ภายในก็ได้รวมตัวและปรากฏเป็นคลื่นใหญ่ถาโถมเข้าใส่นายกฯธีร์ว่า
เขาไม่เหมาะสมที่จะเป็นผู้แทนกลุ่มรักพัฒนานครขอนแก่นต่อไป เนื่องจากบริหารงานมาแล้ว 8 ปี ควรจะเปิดทางให้คนใหม่ขึ้นมาทำหน้าที่ต่อไป การบริหารงานที่ผ่านมามีปัญหาและข้อผิดพลาดมาก จนถึงกับมีการร้องเรียนไปยังหน่วยงานต่างๆ
สถานการณ์คุกรุ่นเช่นนี้ จึงเป็นเหตุให้ 3 ผู้อาวุโสของกลุ่มรักพัฒนานครขอนแก่น ประกอบด้วย “เสี่ยติ่ง” ประจักษ์ แกล้วกล้าหาญ “น้าตุ๊” เรืองชัย ตราชู และ “เสี่ยต้อง” พีระพล พัฒนาพีระเดช ไม่สามารถที่จะปล่อยทิ้งไว้ได้นาน จำต้องออกโรงนัดสมาชิกมาปรึกษาหารือเพื่อหาทางออกของกลุ่มฯว่าจะเดินหน้าต่อไปอย่างไร ?
โปรดติดตามอ่านตอนต่อไป / ข้อเสนอ 3 ทางเลือกยุบ/อิสระ/อยู่ต่อไป สุดท้ายจะเลือกทางไหน ?