รัฐบาลไทยและรัฐบาลเกาหลี จับมือเร่งเดินหน้าร่วมกันพัฒนา Smart Mobility ของจังหวัดขอนแก่น ให้เป็นต้นแบบที่มีความสมบูรณ์แบบมากยิ่งขึ้น ภายใต้โครงการ K-City Network Global Cooperation Program

โครงการดังกล่าว เป็นโครงการความร่วมมือในการออกแบบระบบขนส่งอัจฉริยะ หรือ “สมาร์ต โมบิลิตี้” (Smart Mobility) โดยนำความรู้ และเทคโนโลยีดิจิทัลล้ำสมัยใหม่ จากสาธารณรัฐเกาหลี มาทดลอง ทดสอบ และถ่ายทอดให้ใช้กับพื้นที่ และบริบททางเศรษฐกิจ สังคม และ วัฒนธรรม ของจังหวัดขอนแก่น ซึ่งได้ดำเนินการมาตั้งแต่ต้นปี พ.ศ. 2563 โดยมี องค์ประกอบที่สำคัญ ด้วยกัน 3 ส่วน คือ การร่วมสำรวจ การร่วมเรียนรู้ และการร่วมศึกษาดูงานใรสาธารณรัฐเกาหลี เพื่อการต่อยอดโครงการนำร่อง หรือ Pilot Projects
ซึ่งทางจังหวัดขอนแก่น ได้จัดตั้งคณะกรรมการขึ้นโดยมี ดร.สมศักดิ์ จังตระกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น เป็นประธานคณะทำงาน และมี สำนักงานเขตพื้นที่ภาคอีสานตอนกลาง ของ ดีป้า, สำนักงานจังหวัดขอนแก่นและ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ทำหน้าที่เป็นคณะทำงานและเลขานุการ
ทั้งนี้ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า ซึ่งทำหน้าที่เป็นเลขานุการของคณะกรรมการขับเคลื่อนเมืองอัจฉริยะแห่งชาติ ที่มี ฯพณฯ ท่าน รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้ทำหน้าที่ในการประสานงาน รวบรวมข้อมูล เขียน และส่งกรณีศึกษาของ ระบบการขนส่งรางเบา และแนวคิดการพัฒนาเมืองที่ใช้การขนส่งเป็นศูนย์กลาง หรือ Transit-Oriented-Development (เรียกสั้น ๆ ว่า TOD) ของจังหวัดขอนแก่น เข้าร่วมรับการพิจารณาเพื่อรับการจัดสรรทุนนี้ และ ในท้ายที่สุดได้รับการเลือกจากกว่า 60 กรณีศึกษา ให้เป็น 1 ใน 12 โครงการที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลเกาหลีในการ ร่วมศึกษา และออกแบบ ระบบ ดังกล่าว
แม้ว่า สถานการณ์ COVID-19 มีส่วนที่ทำให้โครงการต้องล่าช้าลง หากแต่สามารถดำเนินไปได้ด้วยดี ด้วยความร่วมมือของทุกภาคฝ่าย โดนเฉพาะความช่วยเหลือเป็นอย่างดีในการขับเคลื่อนของทั้งคณะทำงานของจังหวัดขอนแก่นเอง ร่วมกับ The Korea Transport Institute ซึ่งเป็นหน่วยงานชั้นแนวหน้าของโลกในการศึกษา วิจัย ระบบขนส่ง การจราจร แบบบูรณาการ ที่เป็นผู้ขับเคลื่อนโครงการทางฝั่งเกาหลี จึงดำเนินออกมาได้เป็นอย่างดีในสถานการณ์ COVID-19 และเวลาที่มีอยู่อย่างจำกัด
การอบรมระหว่างวันที่ 14-15 มกราคม 2564 ในครั้งนี้ ได้รับเกียรติจาก นายศรัทธา คชพลายุกต์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น เป็นประธานในพิธีเปิด และมีผู้เข้าอบรมล้วนแล้วแต่เป็นบุคคลที่มีความสำคัญในการผลักดัน สนับสนุน และลงมือปฏิบัติเพื่อขับเคลื่อนให้เกิดขึ้นจริงในประเทศไทย ซึ่งเป็นแกนนำหลักในการลงมือปฏิบัติกว่า 40 คน

ทั้งนี้ การร่วมการเรียนรู้ทางด้านการขนส่งอัจฉริยะ ในรูปแบบออนไลน์ ครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งของการ สร้างความเข้าใจ ในเทคโนโลยี ด้านการขนส่ง จราจร อัจฉริยะของสาธารณรัฐเกาหลี ซึ่งมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้ ความเข้าใจ ทั้งด้านเทคโนโลยีเอง และความเหมาะสมของเทคโนโลยีในบริบทของประเทศไทย เพราะ ศูนย์กลางของการออกแบบเมืองอัจฉริยะน่าอยู่ หรือ สมาร์ต ซิตี้ นั้น ไม่ใช่ที่เทคโนโลยีที่ล้ำสมัย แต่เป็นที่ “คน” ซี่งคุณภาพชีวิตที่เขาเหล่านั้น สามารถดีขึ้นได้ ผ่านการออกแบบ ที่ให้ความสำคัญกับความสะดวกสบายของชีวิตเมือง เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม
โครงการ K-City Network Global Cooperation Program นั้น เป็นนโยบายที่สำคัญของกระทรวง ที่ดิน โครงสร้างพื้นฐาน และการขนส่ง หรือ MOLIT ของสาธารณรัฐเกาหลี โดยได้จัดการแข่งขันระดับนานาชาติ ให้หน่วยงานจากประเทศต่าง ๆ ที่มีความสัมพันธ์ทางการทูตที่ดีกับสาธารณรัฐเกาหลี ส่งกรณีศึกษาของเมืองที่มีโอกาสในการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัล ที่จะไปตอบโจทย์ของผู้อยู่อาศัยอย่างแท้จริง เพื่อเข้ารับการคัดเลือกและการจัดสรรทุนอุดหนุนในการออกแบบระบบของเมืองอัจฉริยะน่าอยู่ หรือ “สมาร์ต ซิตี้” ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมทางเทคโนโลยี ซึ่งทางสาธารณรัฐเกาหลีให้ความสนใจเป็นอย่างสูงในการถ่ายทอดให้กับประเทศต่าง ๆ และร่วมลงทุนในระยะยาวต่อไป
แสดงความคิดเห็น