6 กุมภาพันธ์ 2564 ที่บริเวณศูนย์ OTOP จังหวัดศรีสะเกษ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานเปิดศูนย์ OTOP จังหวัดศรีสะเกษ โดยมี นายวัฒนา พุฒิชาติ ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ พร้อมด้วย รองผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี หัวหน้าส่วนราชการ และผู้ประกอบการสินค้า OTOP จังหวัดศรีสะเกษร่วมพิธี
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า รัฐบาลมีนโยบายมุ่งเน้น การพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากโดยใช้กลไกประชารัฐในพื้นที่ ได้แก่ ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมทุกระดับบูรณาการความร่วมมือขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก โครงการหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ OTOP เน้นกระบวนการสร้างรายได้ จากผลิตภัณฑ์ในแต่ละหมู่บ้านชุมชนหรือตำบลเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้ชุมชนได้นำทรัพยากรภูมิปัญญาในท้องถิ่นมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์และบริการคุณภาพที่มีอัตลักษณ์ สร้างมูลค่าเพิ่มเป็นที่ต้องการของตลาด ภาครัฐพร้อมที่จะช่วยเหลือในด้านความรู้สมัยใหม่และการบริหาร จัดการเชื่อมโยงสินค้าชุมชนสู่ตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อนำสู่เป้าหมายหลัก 3 ประการ คือ 1. พัฒนามาตรฐานผลิตภัณฑ์ให้มีคุณภาพระดับสากล 2. มีเอกลักษณ์เป็นที่ลือชื่อเพียงหนึ่งเดียว 3. พัฒนาทรัพยากรมนุษย์และการปรับปรุงเทคโนโลยี โดยยึดหลักการพึ่งตนเองของชุมชนที่สอดคล้องกับวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของท้องถิ่น
นายวัฒนา พุฒิชาติ ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ กล่าวว่า จังหวัดศรีสะเกษได้มีการพัฒนาคุณภาพ มาตรฐาน และการสร้างแบรนด์สินค้าใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภค เช่น การฝึกอบรมทักษะการแส่ว การนำ วัสดุธรรมชาติมาย้อมผ้า ภายใต้แนวคิด “ศรีสะเกษธานีผ้าศรี…แส่ว” ซึ่งการจำหน่ายสินค้า OTOP ในปี 2563 มียอดการจำหน่ายจำนวน 6,125,553,509 บาท โดยสินค้าประเภทผ้ามีเป้าหมายการจำหน่าย 1 พันล้านบาท จำหน่ายได้ 978,342,747 ล้านบาท และในปี 2564 ได้นำยุทธศาสตร์การพัฒนา ย้อม ทอ แส่ว ออกแบบ แปรรูปและ จำหน่าย เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย 1 พันล้านบาท ซึ่งใช้ศูนย์ OTOP จังหวัดศรีสะเกษเป็นศูนย์กลางการซื้อขายสินค้า OTOPของจังหวัดศรีสะเกษ อย่างครบวงจร โดยเปิดให้บริการประชาชน ผู้สนใจทั่วไป ภายใต้แนวคิด “มาหน้าร้านเราขาย สั่งออนไลน์เราส่ง” อันเป็นการสร้างช่องทางการกระจายสินค้า เพื่อเพิ่มมูลค่าและรายได้ ให้กับพี่น้องชาวศรีสะเกษอย่างยั่งยืน