เรียนท่านผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น ท่านผู้นำสื่อมวลชนทั้งในส่วนกลางที่เดินทางไปขอนแก่นผู้บริหารภาครัฐ ผู้บริหารธุรกิจขอนแก่นและพี่น้องชาวขอนแก่นทุกท่านครับ
ผมขอขอบคุณทาง “อีสานบิซ” ที่เชิญผมมาร่วมให้ข้อคิดเห็นขอประทานโทษทุกท่านที่ไม่สามารถไปร่วมเวทีกับท่านที่ขอนแก่นได้ขออนุญาตใช้การพูดคุยกันแบบ “นิวนอร์มัล” (New Normal) ผ่านทางออนไลน์
หัวข้อที่ผมอยากจะชวนท่านคิดกันวันนี้ มีหลายเรื่องควบคู่กันนะครับ “เรื่องโควิด-19 การเมืองต่างขั้ว สังคมต่างวัย ในชะตากรรมเศรษฐกิจเดียวกัน แล้วประเทศไทยจะก้าวต่อไปอย่างไร?
โควิด 19 ข่าวดีและข่าวร้าย
ขออนุญาตบอกข่าวดีและข่าวร้ายกับพวกเราในเรื่องโควิด19 เท่าที่ผมเห็นมาข่าวดีก็คือ วัคซีนที่ออกมาเริ่มทดลองฉีดกันในวงกว้างในประเทศต่างๆดูเหมือนจะใช้ได้ผลดี ในอิสราเอลการติดเชื้อลดลงอย่างรวดเร็ว ในสหรัฐอเมริกาในอังกฤษยอดติดเชื้อ ยอดเสียชีวิตลดลงอย่างรวดเร็วครับ แปลว่ามนุษยชาติของเราหาวิธีอยู่ร่วมกับเชื้อโรคได้อย่างค่อนข้างปลอดภัยมากขึ้น นั่นเป็นข่าวดีครับ
ข่าวดีในประเทศไทยเราคงจะมีวัคซีนมาในระยะเวลาใกล้ๆนี้ แม้ปริมาณวัคซีนล็อตแรกที่จะเข้ามาถึงประเทศไทยจะยังไม่มากนะครับ อยู่ในระดับหลักแสนโดส น่าจะประมาณสองแสนโดส เข้ามาสัปดาห์นี้สัปดาห์หน้านะครับ (22 กุมภาพันธ์ – 5 มีนาคม) และหลังจากนั้นจะทยอยเข้ามาเป็นหลักล้านโดสเพื่อมาฉีดในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงก่อนก็คือพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร
(ภาพจากสไลด์) นี่ก็คือภาพพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร ที่อัตราการติดเชื้อดีขึ้นพอสมควร ภาพที่ท่านเห็นด้านซ้ายเป็นภาพของสมุทรสาครเมื่อปลายปีที่แล้ว ท่านจะเห็นจุดสีเขียวที่เป็นพื้นที่ที่ว่าไม่พบการติดเชื้อ จุดสีเขียวอ่อนคือจุดที่มีการติดเชื้อ แต่ว่าอัตราการติดเชื้อต่ำกว่า 10% จุดสีแดงคือจุดพื้นที่ที่มีการติดเชื้อเกินกว่า 10% ขึ้นไป
ที่เป็นข่าวดีก็เพราะว่าปัจจุบันข้อมูลที่เราเห็นกันด้านขวา เราจะเห็นว่าอัตราการติดเชื้อที่สมุทรสาครเองดูดีขึ้นเยอะ เพราะว่าทางรัฐบาลโดยเฉพาะทางกระทรวงสาธารณสุข ทำงานอย่างหนักมากในการตรวจขนานใหญ่ในกลุ่มคนที่จะติดเชื้อเยอะก็คือในบรรดาแรงงานต่างด้าวต่างๆและก็ใช้วิธีบั๊บเบิ้ลแอนด์ซีล (Bubble and SEAL หมายถึงเขตเฝ้าระวังพิเศษ) ซึ่งก็เป็นวิธีที่ว่าพบพื้นที่ไหนติดเชื้อเยอะ
คนงานที่เดินทางไปมาระหว่างโรงงานและหอพักก็จะมีการควบคุมไม่ให้เดินทางออกนอกเส้นทาง เรียกว่าควบคุมอย่างใกล้ชิดพอสมควรเพื่อไม่ให้เกิดการแพร่กระจายเชื้อ กลวิธีนี้ถือว่าได้ผลดีพอสมควร กระทรวงสาธารณสุขก็ส่งมือดีเรื่องระบาดวิทยาไปดูแลจัดการปัญหาที่สมุทรสาครนั่นคือข่าวดีครับ
แต่อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการควบคุมการระบาดที่สมุทรสาครจะดูได้ผลดีพอสมควรแต่การติดเชื้อโควิดในประเทศไทยจะยังคงอยู่กับเรานานพอสมควรครับ
ถ้าดูตัวอย่างของประเทศสิงค์โปรจะมีปัญหาคล้ายๆกับประเทศไทยมีปัญหาการติดเชื้อโควิดในระลอกแรกๆ ในกลุ่มแรงงานต่างด้าวที่สิงค์โปร คนงานต่างด้าวในสิงค์โปรมีจำนวนน้อยกว่าในประเทศไทย น่าจะประมาณครึ่งหนึ่ง น้อยกว่าสมุทรสาครที่เดียวน่าจะประมาณซักครึ่งหนึ่ง
กระนั้นก็ตาม สิงค์โปรซึ่งใช้ความพยายามอย่างมากในการคัดแยกคนงาน และเมื่อพบผู้ติดเชื้อจะแยกผู้ติดเชื้อที่หอพัก ออกไปอยู่หอพักต่างหาก โดยลงทุนสร้างใหม่จำนวนมากมาย ก็ยังใช้เวลาถึงประมาณหกเดือน นับตั้งแต่พบการติดเชื้อใหญ่ เพราะฉะนั้นเราจะเห็นว่ากระบวนการการแก้ไขปัญหาการระบาดโควิดในสมุทรสาครเองน่าจะกินเวลาอีกพักหนึ่ง
แม้ว่าสถานการณ์ดีขึ้น แต่สิ่งที่เราควรจะเตรียมใจคาดหวังว่าจะเกิดขึ้นก็คือ จะเกิดการระบาดเป็นจุดๆ ไปเรื่อยๆจะมีการกระจายไปตามภาคส่วนของประเทศไทยไปตามจังหวัดโน้นจังหวัดนี้ ซึ่งการระบาดในสเกลที่ไม่ใหญ่ในจังหวัดต่างๆในประเทศไทยส่วนใหญ่ก็ยังควบคุมกันได้
ดับไฟสมุทรสาคร/รอวัคซีน
การจะแก้ไขปัญหาโควิด 19 ในประเทศไทยต้องดับไฟที่สมุทรสาครให้อยู่ก่อน และดูเหมือนว่าเราทำได้ดีที่สุดพอสมควรแล้วในการควบคุมการระบาดในวงกว้างแต่ถ้าจะให้เหตุการณ์ดีขึ้นคงเหลือเครื่องมือเดียว คือต้องรอวัคซีนนี่ก็คือข่าวร้ายพอสมควร
การระบาดมีการกระจายตัวที่ต่างกัน ประเทศพัฒนาแล้วจะทยอยกันฉีดวัคซีนขนานใหญ่ แต่ก็จะมีหลายภูมิภาคในโลก ซึ่งยังฉีดวัคซีนได้น้อย โดยเฉพาะภูมิภาคที่ยากจนอย่างแอฟริกา แล้วก็จะกลายเป็นพื้นที่สะสมเชื้อโควิดจะกระจายและกลายพันธุ์ไปยังพื้นที่ต่างๆทั่วโลก
ในประเทศใหญ่อย่างจีน อินเดีย ซึ่งเป็นแหล่งผลิตวัคซีน แต่เนื่องจากมีประชากรมากก็ยากที่จะฉีดวัคซีนให้ประชากรทั้งหมดได้อย่างทั่วถึงในเวลาอันสั้นในปีนี้ น่าจะยังยาวไปถึงปีหน้า นั่นก็แปลว่าทั่วโลกจะยังมีการระบาดของโควิดกระปิดกระปรอยไป
สิ่งที่น่าเป็นห่วงมากกว่านั้นก็คือ การที่เชื้อโควิดกลายพันธุ์ อย่างตัวอย่างที่พบในแอฟริกาใต้ ก็จะพบว่าเกิดสายพันธุ์ใหม่ซึ่งการทดสอบเบื้องต้น ก็มีลักษณะชี้ว่าวัคซีนที่ออกมาแล้วน่าจะมีภูมิคุ้มกันช่วยป้องกันการติดเชื้อสายพันธุ์ใหม่เหล่านั้นไม่ค่อยได้ผล เหมือนที่ควรจะเป็น เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราคาดหวังได้ก็คือ จะมีการพัฒนาวัคซีนสูตรใหม่
ข่าวดีในข่าวร้ายคือ การพัฒนาวัคซีนสูตรใหม่ด้วยเทคโนโลยีที่หลายบริษัทใช้กัน คือ MRNA วัคซีนจะมีลักษณะการพัฒนาได้เร็ว ครั้งแรกที่พัฒนาออกมาปลายปีที่แล้วนั้นใช้เวลาหลายเดือน แต่ว่าครั้งที่สองสำหรับเชื้อที่กลายพันธุ์ออกไปจะใช้เวลาเร็วขึ้น
น่าจะใช้เวลาในการพัฒนาวัคซีนที่จะเกิดขึ้นในโลก ภายในสองสามปีหลังจากนี้ก็คือการมีเชื้อสายพันธุ์ใหม่ การพบวัคซีนใหม่ แล้วก็ไปแก้เชื้อใหม่ สุดท้ายอัตราผู้เสียชีวิตก็จะไม่สูงในระยะยาวอาจจะคล้ายโรคหวัด หรือไม่ก็อาจจะต้องฉีดวัคซีนกันทุกปี
นี่คือภาพของสถานการณ์โควิดที่ผมมองเห็น
ประเด็นสำคัญของผลกระทบโควิดต่อประเทศไทย จะตกหนักอยู่ในแต่ละสาขาซึ่งไม่เหมือนกัน สาขาที่ไปได้ดี คือพวกสาขาอุตสาหกรรมการผลิต ซึ่งส่วนใหญ่ไม่ได้มีการติดเชื้อในโรงงาน ยกเว้นที่สมุทรสาคร บางสาขามีอัตราการเติบโตก้าวกระโดด ยอดขายเยอะกว่าช่วงก่อนมีโควิดระบาดในเวลาเดียวกันก็มีหลายสาขาซึ่งมีผลประกอบการไม่ดีโดยเฉพาะสาขาท่องเที่ยว
ถ้าเราดูภาพด้านขวาของรูปนี้ (ภาพจากสไลด์) เราก็จะเห็นว่าอัตราการเข้าพักของโรงแรมในประเทศไทยมันตกต่ำลงมาก โดยเฉพาะจุดต่ำสุดในปีที่แล้วอยู่ในระดับ 5% ของปริมาณโรงแรมที่มีอัตราการเข้าพักของโรงแรมแกว่งไปแกว่งมาตามข่าวการระบาด
ประเด็นปัญหาใหญ่ของประเทศไทยในระยะยาว เรามีจำนวนห้องพักซึ่งสร้างไว้รองรับนักท่องเที่ยวจำนวนมหาศาล แม้กระทั่งก่อนที่จะมีโควิดระบาดเราก็มีห้องพักที่เรียกว่าเกินพอในหลายพื้นที่โดยเฉพาะจังหวัดท่องเที่ยวซึ่งมีการลงทุนก่อสร้างกันเยอะอย่างเช่นภูเก็ต เป็นต้น
ห้องพักรวมในประเทศไทยประมาณ แปดแสนห้อง คำถามก็คือกว่าการท่องเที่ยวจะกลับมาเป็นปกติได้ นักท่องเที่ยวทั่วโลกต้องฉีดวัคซีนกัน ซึ่งอาจหมายความได้ว่านักท่องเที่ยวจากประเทศรายได้สูงจะเดินทางมาประเทศไทยก่อนแล้ว
การเดินทางมาจะไม่ต้องกักตัวมีวัคซีน มีใบรับรองการฉีดวัคซีนแล้วซึ่งปัจจุบันยังไม่มีระบบที่เป็นมาตรฐานหลังจากนั้นจึงจะมีนักท่องเที่ยวสเกลใหญ่มาจากหลายๆประเทศ อย่างจีน กลับมาสู่ประเทศไทย ซึ่งหมายความว่าการท่องเที่ยวในประเทศไทยน่าจะเว้นว่างการท่องเที่ยวขนานใหญ่
เหมือนกับที่เคยเกิดขึ้นในปี 2562 ก่อนเกิดโควิด ซึ่งในปีนั้นเรามีนักท่องเที่ยวต่างประเทศสามสิบเก้าล้านคน ประมาณหนึ่งในสามมาจากประเทศจีน เหตุการณ์แบบนั้นจะไม่กลับมาง่าย ยังต้องใช้เวลาอีกพักใหญ่ โจทย์ก็คือ แล้วคนอยู่ในวงการ สาขาท่องเที่ยวจะอยู่กันยังไง อันนี้ก็จะเป็นโจทย์ยากมากสำหรับประเทศไทยนะครับ
เศรษฐกิจไทยตกต่ำในรอบ 22 ปี
เศรษฐกิจตกต่ำรอบนี้จากการระบาดของโควิดจึงเป็นภาวะที่ตกต่ำครั้งใหญ่ที่สุดของประเทศไทยในรอบยี่สิบสองปีนับตั้งแต่การเกิดเหตุการณ์ต้มยำกุ้งปี 2540 ครั้งนั้นเรามีอัตราการติดลบของเศรษฐกิจต่อปีเกือบ 8%
ครั้งนี้ดีกว่าบ้างคือ ติดลบโดยตัวเลขของสภาพัฒน์ฯซึ่งพึ่งออกมาในเดือนกุมภาพันธ์นี้ก็ชี้ว่าปีที่แล้วเศรษฐกิจไทยติดลบประมาณ 6% แต่เมื่อเทียบกับปี 2540 ท่านจะเห็นว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วเพราะในช่วงนั้นวิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นเฉพาะในประเทศไทยและเอเชียตะวันออกไม่กี่ประเทศ
ประเทศส่วนใหญ่ไม่ได้มีปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจและการที่เกิดวิกฤตในประเทศไทยทำให้ค่าเงินบาทอ่อนลงก็ดึงดูดนักท่องเที่ยว ดึงดูดการส่งออกเพิ่มขึ้น เศรษฐกิจไทยจึงฟื้นได้เร็ว แต่รอบนี้โครงสร้างเศรษฐกิจของโลกเปลี่ยนไปไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในประเทศไทยแต่เกิดขึ้นทั่วโลก
อย่างที่ได้เรียนให้ท่านทราบเพราะฉะนั้นเศรษฐกิจไทยปีนี้ทางสภาพัฒน์ฯและ TDRI ก็คาดหวังว่าน่าจะมีการเติบโตเด้งกลับมาได้แต่ว่าอัตราการเติบโตน่าจะประมาณใกล้ๆ 3% กับปีที่แล้วที่ลบไป 6 % เท่ากับว่าเรายังจะไม่กลับไปสู่ปี 2562 ซึ่งเป็นปีก่อนโควิดในปีนี้ อาจจะต้องรอถึงปีหน้า หรือถ้าเกิดโชคร้ายอาจจะต้องรอถึงปีต่อไป
นี่ก็คือภาวะลำบากทางเศรษฐกิจ แต่การเกิดวิกฤตไม่ได้แปลว่าประชาชนทุกกลุ่มจะได้รับผลกระทบเท่ากัน แต่ละกลุ่มมีผลกระทบแตกต่างกัน
ถ้าเราดูภาพนี้ซึ่งเป็นภาพจาก TDRI ทำการประมาณการดูว่าความเหลื่อมล้ำในประเทศไทยเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร ความเหลื่อมล้ำนั้นนักเศรษฐศาสตร์วัดจากตัวเลขที่เรียกว่า สัมประสิทธิ์ GINI ซึ่งวัดจากด้านรายได้ ซึ่งดูว่าคนเรามีรายได้แตกต่างกันขนาดไหนหรือวัดจากการบริโภคก็ได้ซึ่งตัวเลขจะออกมาไม่เหมือนกันซึ่งคนที่ไม่มีรายได้โดยตรง
การบริโภคนั้นอาจเกิดขึ้นได้ถ้าเกิดรัฐบาลให้การช่วยเหลือ เพราะฉะนั้นเราก็จะเห็นค่าสัมประสิทธิ์ GINI เปลี่ยนไป จากปีที่ผ่านมาโดยมันเคยอยู่สูงประมาณ 0.5 กว่าๆ ในสัมประสิทธิ์ GINI ด้านรายได้ในปี 1992 ซึ่งก็คือ 30 ปีที่แล้วซึ่งค่อยๆลดลงมา
ค่าสัมประสิทธิ์ GINI ยิ่งสูงเท่าไหร่ยิ่งแปลว่าความเหลื่อมล้ำเยอะนะครับ เพราะฉะนั้นในภาพ 1 ซึ่งอาจจะขัดกับความรู้สึกของเราก็คือในช่วง 30 ปีที่ผ่านมาก่อนที่โควิดจะระบาด เราจะเห็นว่าความเหลื่อมล้ำในประเทศไทยค่อยๆดีขึ้นทีละเล็กทีละน้อย
แม้ว่าโดยรวมแล้วอัตราค่า GINI อยู่ที่ระดับประมาณ 0.4 กว่าๆ เมื่อก่อนเกิดโควิดนั้นจะเป็นระดับสูงก็ตามมันเป็นแนวโน้มที่ดีขึ้น แต่เมื่อเกิดโควิดระบาดแล้วการสำรวจในครึ่งแรกของปีที่แล้วก็ชี้ว่าระดับความเหลื่อมล้ำกับยิ่งพุ่งขึ้นมาโดยเฉพาะในเรื่องของรายได้
เรื่องการบริโภคก็มีความเหลื่อมล้ำ แต่ก็ไม่ได้เพิ่มขึ้นเร็วเหมือนกับด้านรายได้เพราะมีมาตรการของรัฐในการช่วยอัดฉีดเศรษฐกิจ ช่วยพยุงคนที่เดือดร้อนจากมาตรการรัฐ แต่ภาพที่เห็นก็คือสถานการณ์โควิดในประเทศไทยอาจอยู่กับเราไปอีกสักพักหนึ่ง ประมาณน่าจะ2 ปี สาขาท่องเที่ยวที่มีการจ้างงานเยอะ จึงจะฟื้นกลับมาได้อย่างเต็มที
ในระหว่างนั้นเศรษฐกิจโลกคงจะยังไม่กลับไปเหมือนกับปี 2562 ก็แปลว่าเราคงเสียเวลาไป สองสามปีในเรื่องของเศรษฐกิจและในระหว่างนั้นเราก็จะมีความเหลื่อมล้ำมากขึ้นโจทย์เหล่านี้จึงไม่ใช่แค่เรื่องเศรษฐกิจเท่านั้นแต่จะเป็นโจทย์การเมืองด้วย นี่คือภาพที่ผมมองเห็นนะครับ
การเมืองต่างขั้วฝังรากลึก
การที่เราพูดถึงการเมืองในช่วงนี้ เศรษฐกิจในช่วงนี้ มันทับซ้อนกับความขัดแย้งทางการเมืองต่างขั้ว ซึ่งเคยเกิดขึ้นมาในประเทศไทย และก็ต่อเนื่องมาเป็นเวลาเกือบ 20ปีแล้ว ถ้าเราไล่ย้อนหลังไป ปรากฏการณ์ม็อบเสื้อเหลืองเสื้อแดงที่เกิดขึ้น วิวัฒนาการชี้ให้เห็นว่าความขัดแย้งทางการเมืองในประเทศไทยมันมีรากที่ลึกพอสมควร
ดูเหมือนว่าเรายังไม่มีวิธีการที่ดีในการประสานความแตกต่างทางการเมืองเหล่านี้เข้าหากันได้ ผู้หลักผู้ใหญ่หลายท่านได้ชี้ประเด็นที่สำคัญว่า ความขัดแย้งในการเมืองของไทยแม้จะยืดเยื้อมานานเกือบ 20ปี แต่อย่างน้อยเป็นความขัดแย้งในเรื่องความเชื่อ เรื่องของอุดมการณ์ทางการเมือง ไม่ใช่ความขัดแย้งซึ่งแก้ไม่ได้เหมือนกับหลายประเทศเพราะไม่ได้เกิดจากความขัดแย้งทางด้านชาติพันธุ์ เช่น ในสหรัฐอเมริกาเกิดปัญหาความขัดแย้งเรื่องของคนผิวดำกับคนผิวขาว
สีผิวนั้นแก้ยากมากไม่ใช่แก้ไม่ได้ ไม่ใช่คนต่างสีผิวจะอยู่ร่วมกันไม่ได้ แต่ลักษณะภายนอกเช่นนี้ทำให้เกิดการเมืองต่างขั้วได้ง่ายมาก หรืออย่างในประเทศอินเดียซึ่งมีการแบ่งชนชั้นวรรณะแล้วไม่มีการขยับกันได้ เช่น คนที่อยู่ในวรรณะที่ต่ำกว่าไม่สามารถขยับขึ้นมาในวรรณะที่สูงกว่าได้มันเป็นโครงสร้างการเมืองที่มันตายตัวมันเปลี่ยนไม่ได้แต่ในกรณีประเทศไทย มันเป็นความขัดแย้งที่เกิดขึ้นจากความเชื่อทางการเมือง ความเชื่อด้านประชาธิปไตย
ความขัดแย้งนี้ต่อเนื่องมาปีสองปี จากที่ผ่านมาจะเห็นปรากฏการณ์ใหม่ วิวัฒนาการการขัดแย้งทางการเมืองต่อเนื่องมาถึงม็อบนักเรียนเลว ซึ่งเกิดขึ้นจากหลายเรื่อง การแต่งกาย ทรงผม เกิดขึ้นจากการทำโทษในโรงเรียน
ส่วนม็อบเยาวชนเป็นการเรียกร้องประชาธิปไตย เรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงในการบริหารราชการแผ่นดินมีการเรียกร้องต่อสถาบันที่สำคัญๆต่อประเทศต่างๆเป็นต้น
ความขัดแย้งเหล่านี้ เป็นความขัดแย้งที่ในมุมหนึ่งก็ไม่ใช่เรื่องที่เหนือความคาดหมายเกินไปเพราะคนที่ต่างวัยกัน ย่อมจะมีความต้องการที่แตกต่างกันเป็นเรื่องธรรมชาติอยู่แล้ว การศึกษาที่ผ่านมาในหลายๆประเทศก็จะชี้ชัดนะครับ
ถ้าเราไปดูว่าคนหนุ่มสาวหรือคนอายุน้อยต้องการอะไร เราก็จะพบว่าในทางเศรษฐกิจนั้นก็จะต้องการไม่เหมือนกับผู้สูงอายุ ผู้สูงอายุนั้นจะต้องการสวัสดิการที่เน้นเรื่องบำนาญเพราะจะเกษียณเน้นเรื่องของการรักษาพยาบาล เพราะผู้สูงอายุส่วนใหญ่นั้นจะมีสุขภาพไม่แข็งแรงเหมือนกันกับคนหนุ่มสาว
ส่วนคนหนุ่มสาวคนจะสร้างครอบครัวก็อยากได้สวัสดิการเด็กเล็ก นี่ก็คือความแตกต่างกันโดยพื้นฐานอยู่แล้วเป็นเรื่องปกติเกิดขึ้นทุกที่ คนสูงอายุจะกลัวเงินเฟ้อ กลัวการที่ค่าครองชีพเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเพราะคนสูงอายุโดยเฉพาะคนเกษียณแล้ว มีรายได้จากบำนาญบำนาญส่วนใหญ่ได้เป็นเงินตายตัวไม่ผูกกับเงินเฟ้อเช่นได้เดือนละสองหมื่นได้เดือนละหมื่นหนึ่งจากบำนาญ
ถ้าเกิดข้าวของราคาไม่แพงเงินบำนาญก็จะพออยู่ได้ถ้าเกิดเงินเฟ้อมากผู้สูงอายุก็จะไม่สามารถอยู่ได้ด้วยเงินบำนาญเพราะฉะนั้นผู้สูงอายุในประเทศต่างๆจะกลัวเงินเฟ้อ ในขณะที่คนหนุ่มสาวกำลังก้าวเข้าสู่ตลาดแรงงานก็จะกลัวการว่างงาน แล้วเงินเฟ้อกับการว่างงานนั้นโดยธรรมชาติมันก็มีลักษณะค่อนข้างสวนทางกันถ้าเศรษฐกิจเติบโตดีการว่างงานจะต่ำแปลว่าเงินเฟ้อจะสูง
ในขณะที่ภาวะเศรษฐกิจแบบปัจจุบันเงินเฟ้อจะต่ำแต่ว่าการว่างงานจะสูง เพราะฉะนั้นการใช้นโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทยจะมีผลต่อเงินเฟ้อมีผลต่ออัตราการว่างงาน เช่นเดียวกันการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยใช้มาตรการการคลังของกระทรวงการคลังก็จะมีผลต่ออัตราการว่างงานว่า นโยบายการคลังนั้นสร้างงานได้ขนาดไหนและทำให้เกิดเงินเฟ้อมากน้อยขนาดไหน
ตอนนี้ทั่วโลกให้ความสนใจกับการว่างงานเป็นหลัก เพราะว่าเกิดวิกฤติเศรษฐกิจครับ แต่ในประเทศพัฒนาแล้วอย่างเช่นสหรัฐอเมริกา เริ่มมีการพูดถึงเรื่องเงินเฟ้อกลับขึ้นมาว่าถ้าเกิดวัคซีนใช้ได้ผลเร็ว เศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัวเร็ว
การที่รัฐบาลอัดฉีดเงินเข้ามาในระบบมากมายอาจจะนำไปสู่เงินเฟ้อ และดูเหมือนว่าธนาคารกลางของของสหรัฐอเมริกาและหลายประเทศพร้อมจะทนกับเงินเฟ้อในระดับที่สูงกว่าในอดีต เช่น เฟ้อเกิน 2% ยอมรับได้ ถ้าแบบนี้ก็มีคนเป็นห่วงว่าอัดฉีดเงินเข้าไปเยอะๆเพื่อจะแก้ปัญหาการว่างงาน สุดท้ายอาจจะทำให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นสูงและอาจเป็นปัญหาก็ได้
ที่ผมเล่าให้ฟังคือชี้ให้เห็นว่าในโลกความเป็นจริง ทรัพยากรมีจำกัด เมื่อเราอยากได้ทรัพยากรของคนกลุ่มหนึ่งก็อาจจะเสียทรัพยากรของคนอีกกลุ่มอยากจะได้การว่างงานต่ำอาจจะได้เงินเฟ้อสูง หรือกลับกันนะครับ
สู่ความขัดแย้งสังคมต่างวัย
เช่นเดียวกันนอกจากความขัดแย้งโดยธรรมชาติในเรื่องเศรษฐกิจ ยังมีความขัดแย้งทางวิธีคิดด้วยครับว่า คนหนุ่มสาวอยากได้นวัตกรรมใหม่ ในขณะที่คนมีอายุมากกว่ามักจะยึดติดกับวิธีการเดิม ยึดติดกับวิธีการที่คิดว่าใช้ได้ผลไม่อยากไปเปลี่ยนแต่คนหนุ่มสาวจะเติบโตขึ้นมากับนวัตกรรมและไม่ใช่คนหนุ่มสาวของไทยยุคนี้เท่านั้น
นี่เป็นช่วงของทุกยุคทุกสมัย ตั้งแต่ท่านผู้มีเกียรติยังเป็นคนหนุ่มสาวอยู่ เรายังมีวิธีคิดว่าเราอยากเปลี่ยนโลก เราอยากทำของใหม่ในขณะที่ผู้ที่อาวุโสกว่าเราในช่วงนั้นก็ยังจะเชื่อวิธีการเดิมอยู่ ซึ่งในมุมหนึ่งก็ถือว่าเป็นเรื่องปกติในความคิดทางการเมืองคนหนุ่มสาวต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงจึงมีลักษณะความคิดทางการเมืองออกไปในทางเสรีนิยมมากกว่าอนุรักษ์นิยม
คนโดยทั่วไปไม่ว่าจะเป็นคนหัวก้าวหน้าขนาดไหนตอนที่เป็นคนหนุ่มสาว พออยู่ๆไปก็จะมีแนวโน้มเป็นอนุรักษ์นิยมเป็นธรรมชาติ อันนี้ก็เป็นเรื่องปกติของมนุษย์เลย เราจึงเห็นผู้นำทางสังคมทั่วโลกรวมทั้งในประเทศไทยด้วย มียุคหนึ่งเราบอกว่าคนเหล่านี้คือ คนหัวก้าวหน้าแต่มาปัจจุบันคนกลุ่มเดียวกันนี้เองถูกคนรุ่นหลังมองว่ากลายเป็นคนอนุรักษ์นิยมเรียบร้อยแล้ว
ทั้งหมดที่ผมเล่ามาส่วนนี้กำลังชี้ว่า วิวัตนาการของความขัดแย้งทางการเมืองของไทยเปลี่ยนจากการเมืองสีเสื้อแล้วมาสู่การเมืองของช่วงวัย โดยช่วงวัยนั้นปกติแต่ไหนแต่ไรมันก็มีความแตกต่างกันอยู่แล้ว แต่ความขัดแย้งเรื่องของช่วงวัยในประเทศไทยดูเหมือนจะมีอะไรมากกว่า ความขัดแย้งของแห่งวัยตามปกติอย่างที่เล่ากันมา เพราะมิฉะนั้นคงเกิดปรากฏการณ์ทั่วโลกแบบเดียวกัน
ถ้าเราไปดูข้อเรียกร้องของกลุ่มนักเรียนที่เรียกตัวเองว่า“นักเรียนเลว” เราจะเห็นความต้องการ ความคับข้องใจบางอย่างของเค้า เค้าเรียกร้องเรื่องประชาธิปไตย เค้าเรียกร้องเรื่องการไม่ใช้ความรุนแรงในโรงเรียน การบังคับการแต่งกาย การบังคับเรื่องของทรงผม
อีกเรื่องหนึ่งคือ เรื่องของคุณภาพการศึกษา ทำไมเรื่องนี้จึงกลายเป็นปัญหาใหญ่ ผมพบว่าผู้ใหญ่บางท่านยังไม่เข้าใจปัญหานี้ ผมขออนุญาตนำสถิติตัวเลขการสอบนานาชาติที่เรียกว่าการสอบ PISA (Programme for International Student Assessment ) เป็นโปรแกรมประเมินสมรรถนะนักเรียนมาตรฐานสากล
เป็นการสอบประเทศต่างๆที่สมัครใจนำนักเรียนอายุ 15 ปี มาทดสอบใน 3 วิชา คือวิชาวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ แล้วก็การอ่าน เปรียบเทียบกัน จัดโดยองค์กรเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนาหรือที่เรารู้จักกันก็คือ OECD (Organisation for Economic Co-operation and Development )
ประเทศไทยเข้าร่วมมาตั้งแต่ปี 2000 หรือ 20 ปีก่อน โดยเราจะเห็นว่าคะแนนการสอบของไทย ซึ่งเป็นการวัดทักษะในด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ การอ่าน เรามีแนวโน้มตกต่ำลง
จากเดิมที่เรามีค่าเฉลี่ยต่ำกว่าประเทศพัฒนาอยู่แล้ว มันตกต่ำมาเรื่อยๆ รอบล่าสุดที่ทดสอบกันไปในปี 2018 เราเหลือคะแนนต่ำกว่า 400 คะแนน เรียกได้ว่าค่อนข้างถดถอย แล้วถ้ามาดูสมรรถนะของเด็กไทยทั้งในเรื่อง วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และการอ่านจะเป็นภาพที่น่าตกใจ ซึ่งเห็นว่าค่าเฉลี่ยผลสัมฤทธิ์ในประเทศไทย ทำให้การศึกษาของไทยดูแย่ลง
ตัดภาพมาที่การแบ่งแยกการศึกษาออกเป็น ระดับ ระดับหนึ่ง สอง สาม เล่าให้ฟังง่ายๆก็คือ ถ้าต่ำกว่าระดับที่สอง เค้าจะเรียกว่านักเรียนคนนั้นมีความสามารถในเรื่องของทักษะในระดับที่ใช้การไม่ได้ จะเปรียบเทียบคล้ายกับคนอ่านหนังสือไม่ออก
ซึ่งความเป็นจริงคือ อ่านออก อายุ15 ปีอ่านหนังสือออกทุกคนแน่นอน และหนังสือที่เค้าให้เราอ่านถูกแปลเป็นภาษาไทย ซึ่งไม่ใช่ความสามารถทางด้านภาษา แต่เป็นความสามารถทางด้านการอ่าน อ่านได้อ่านออกเสียงได้ อ่านจบย่อหน้าได้
แต่อ่านแล้วจับใจความสำคัญไม่ได้ แสดงให้เห็นว่าความสามารถของเด็กไทยไม่สามารถอ่านใช้การได้ ประมาณ 60% ไม่สามารถใช้คณิตศาสตร์ในระดับการใช้ชีวิตประจำวันได้ประมาณ 50% และไม่มีความรู้ทางวิทยาศาสตร์อย่างเพียงพออีกประมาณ 40% เพราะฉะนั้นในอีกมุมหนึ่งขณะที่โลกกำลังมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เกิดการปั่นป่วนอย่างที่เล่าให้ฟังตอนต้น
วงการสื่อมวลชนเป็นตัวอย่างของวงการที่ถูกปั่นป่วนมากที่สุดเร็วที่สุดจนธุรกิจสื่อเปลี่ยนโฉมหน้าไปอย่างสิ้นเชิง ล่าสุดก็มีแอพฯอย่าง “คลับเฮ้าส์” ออกมาทำให้เกิดการตั้งคำถามว่าต่อไป สื่อมวลชนแบบเดิมนั้นจะมีบทบาทอะไรเหลืออยู่ในเมื่อคนสามารถสื่อสารกันได้ด้วยวิธีการต่างๆสารพัดช่องทาง
นี่คือ disruption โลกในอนาคตกำลัง disrup กำลังก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลัน เกิดความไม่แน่นอนเกิดความซับซ้อนขึ้นมากมาย เราลองนึกดู ถ้าเราเป็นคนอายุน้อยๆ กำลังเป็นนักเรียนอยู่ เราเห็นแล้วว่าความท้าทายของโลกในอนาคตมีมากมาย
วิธีรับมือกับความท้าทายได้ก็คือ ต้องมีระบบการศึกษาที่มีคุณภาพดีพอ แต่พอมาดูเรื่องนี้เราก็จะเจอภาพที่น่าตกใจก็คือ คุณภาพการศึกษาไทยมีคุณภาพต่ำลงเรื่อยๆ ในขณะที่ความยากลำบากความท้าทายในอนาคตนั้นยากขึ้นเรื่อยๆ ก็แปลว่าเด็กไทยนั้นจะไม่พร้อมเลยกับการอยู่ในโลกอนาคต และการที่เขาไม่พร้อม เด็กมองว่าเป็นเพราะผู้ใหญ่ คือรุ่นพวกเรานี่แหละไม่ได้สร้างระบบการเรียนรู้ดีพอให้เขาอยู่ได้
เลี้ยงลูก 4 แบบ คุณเลี้ยงแบบไหน ?
ผมขอเปลี่ยนไปอีกประเด็นหนี่งที่มีความสำคัญเช่นเดียวกัน คือทัศนคติที่ผู้ใหญ่ดูเด็กในทางวิชาการมีการแบ่งวิธีการเลี้ยงลูก มีการดูแลเด็กและเยาวชนได้หลายรูปแบบ มีตั้งแต่การดูแลเด็กแบบตอบสนองหรือไม่ตอบสนองตอบสนองต่อความต้องการของเด็กหรือไม่ตอบสนองต่อความต้องการของเด็ก คนที่ตัดสินใจเป็นพ่อแม่หรือเป็นลูกในการเลือกจะทำหรือไม่ทำกิจกรรมอะไรเลือกเส้นทางชีวิตแบบไหน
เราจึงแบ่งวิธีการเลี้ยงลูกออกมาได้เป็น 4 แบบ มีวิธีการแบบเผด็จการคือพ่อแม่ไม่ได้สนองความต้องการของลูก ตัดสินใจเลือกให้ลูกเลย มีวิธีเลี้ยงลูกอีกแบบหนึ่งซึ่งผมคิดว่ามีคนอยู่ไม่เยอะนะครับที่ใช้วิธีการไม่สนใจลูกเลย ไม่ตอบสนองลูกเลย แล้วก็ปล่อยเลย กับอีกวิธีหนึ่งคือ วิธีการให้อิสระก็แปลว่าตอบสนองลูกแต่ให้ลูกเป็นคนเลือกเอง ซึ่งจะพบในประเทศอย่างเช่นยุโรปเหนือ
อีกวิธีหนึ่งคือ แบบชี้นำคือตอบสนองความต้องการของลูก แต่ว่าพ่อแม่เป็นคนช่วยเลือกให้ วิธีการแต่ละแบบนั้นถูกใช้ในแต่ละประเทศไม่เหมือนกัน
วิธีเผด็จการถูกใช้ในเอเชียเยอะ พ่อแม่รู้ดีกว่าลูกแล้วก็ใช้ในสังคมอดีตค่อนข้างเยอะจะเห็นว่าเมื่อโลกมันเปลี่ยนช้าพ่อแม่จะรู้ดีกว่าลูก พ่อแม่จึงเลือกให้ลูกได้ เป็นต้น และสังคมเป็นใหญ่เพราะฉะนั้นจึงไม่ตอบสนองต่อความต้องการของลูกเท่าที่ควร
ท่านผู้มีเกียรติคิดว่าพ่อแม่ไทยเลี้ยงลูกแบบไหนกันครับ ข้อมูลที่ผมจะแสดงให้เห็นต่อไปนี้นะครับเป็นข้อมูลจากการสำรวจประเทศต่างๆในโลกรวมถึงประเทศไทยด้วย
จากการสำรวจที่เรียกว่า เวิลด์ แวลู เซอร์เวย์ (การสำรวจค่านิยมทางมิติสังคมการเมืองของประชาชนของคนทั่วโลก) ซึ่งไทยมีการสำรวจไปสองรอบ คือปี 2010 – 2012 หรือ ประมาณ สิบปีก่อน และปี 2017 – 2018 ซึ่งก็หมายถึงประมาณสามสี่ปีก่อนอีกรอบหนึ่ง ในระยะเวลาไม่ถึงสิบปีเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
พ่อแม่ไทยในอดีตปี 2010 – 2012 ส่วนใหญ่เลี้ยงลูกแบบเผด็จการ พ่อแม่ต้องรู้ดีกว่าลูกสั่งให้ลูกทำลูกที่ดีคือลูกที่เชื่อฟังในปีนั้นก็จะมีตัวเลขที่สูสีกัน คือ พ่อแม่ที่เลี้ยงลูกแบบชี้นำ เช่นคอยชักจูงลูก พาลูกไปเปิดหูเปิดตากับกิจกรรมต่างๆซึ่งจะพบในเมืองใหญ่ เช่น การพาลูกไปเล่นดนตรี ว่ายน้ำ เรียนพิเศษ พาไปเที่ยวต่างประเทศด้วยจุดประสงค์ที่อยากให้ลูกได้ไปเปิดหูเปิดตา
สิ่งที่น่าสนใจคือ ในช่วงที่ผ่านมามีการเปลี่ยนแปลงการเลี้ยงลูกแบบเผด็จการลดลงในการคำนวณ รอบล่าสุด การเลี้ยงลูกแบบชี้นำมีการเพิ่มสูงขึ้นตามสภาพสังคมและเศรษฐกิจ โดยการที่พ่อแม่หรือชนชั้นกลางเข้าใจและมองเห็นการเปลี่ยนแปลง แบบ disruption ที่เกิดขึ้นในโลก
ผมได้รับเชิญไปพูดให้ผู้ปกครองหลายครั้งและสิ่งที่ได้ก็คือ ผู้ปกครองวิตกกังวลกับอนาคตที่จะเปลี่ยนไปจึงรู้ว่าต้องหาวิธีเลี้ยงลูกแบบใหม่
แต่การเปลี่ยนแปลงนี้ไม่สะท้อนกับระบบการศึกษาในโรงเรียนของประเทศไทย ยกตัวอย่างง่ายๆ คือ เรื่องของการทำโทษทางร่างกาย ในมุมหนึ่งประเทศไทยเป็นประเทศห้ามทำโทษทางร่างกาย ห้ามเฆี่ยนตีนักเรียนมานานพอสมควร เหมือนในหลายๆประเทศ
เราจะเห็นว่าเด็กไทยได้รับการประกันว่าจะไม่ถูกทำโทษทางร่างกายในทางจิตวิทยาบอกว่าการลงโทษทางร่างกายไม่ได้เป็นผลดีต่อเด็ก และอาจทำให้เด็กออกจากระบบไปเลยก็ได้ ประเทศไทยถือว่าก้าวหน้าพอสมควรเรื่องของกฎกติกาแต่ในทางปฏิบัติเราจะเห็นข่าวอยู่เรื่อยๆว่ามีการทำโทษเด็ก ด่านักเรียนว่าโง่ การยกเก้าอี้ไว้บนหัว พบว่ายังมีอยู่ไม่น้อยสำหรับการตบเด็ก การทำร้ายร่างกายตามข่าวที่ปรากฏมา บางกรณีก็ถูกทำโทษจนเสียชีวิต สื่อให้เห็นว่าโรงเรียนและระบบในโรงเรียนยังไม่ปรับตัว
ขอยกตัวอย่างอีกเรื่อง คือเรื่องการแต่งกาย การให้นักศึกษาใส่เครื่องแบบซึ่งไม่ใช่เรื่องผิดปกติในการให้นักเรียนใส่เครื่องแบบ แม้กระทั่งในภาพยนตร์มีการใส่เครื่องแบบในทางตรงกันข้ามมีบางประเทศในยุโรปและสหรัฐอเมริกาที่ไม่ให้นักเรียนใส่เครื่องแบบ
แต่ดูเหมือนว่าประเทศไทยยังเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศทั่วโลกที่ให้นักเรียนใส่เครื่องแบบนักศึกษาต้องมีเครื่องแบบและอาจทำให้สะท้อนว่า แม้แต่เด็กไทยที่พ้นโรงเรียนไปแล้วเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยไปแล้วยังถูกให้ใส่เครื่องแบบ ซึ่งอาจจะหมายถึงผู้ใหญ่ยังดูว่านักเรียนนักศึกษาเหล่านั้นยังเป็นเด็กเหมือนเดิมหรือไม่ ? เครื่องแบบดูจะเป็นเรื่องเล็กไปทันทีเมื่อเทียบกับทรงผม กรณีที่มีการบังคับเรื่องทรงผมเป็นเรื่องใหญ่มากและทำให้เด็กหลายคนโดยเฉพาะเด็กผู้หญิงจะรู้สึกมากกว่าเด็กผู้ชาย
สำรวจม็อบเด็กและความนิยมทหาร
จากการศึกษาเรื่อง “ม็อบเด็ก” โดยเฉพาะม็อบเด็กนักเรียน เราจะเห็นได้ชัดมากว่าจะมีแรงกดดันจากเสื้อผ้า เครื่องแต่งกาย และทรงผม การลงโทษทางร่างกายเป็นตัวสำคัญ คำถามที่ฉุกใจคิดก็คือ ในขณะที่โลกเปลี่ยนไปมาก ครอบครัวเปลี่ยนไปแล้ว เหตุใดโรงเรียน สถานศึกษาในประเทศไทยจึงดูเปลี่ยนแปลงช้ากว่า มันเกิดอะไรขึ้น เป็นไปได้หรือไม่ว่าการเปลี่ยนแปลงจากภายนอกนั้นมีผลอยู่ด้วย ซึ่งภายนอกโรงเรียนนั้นก็คือประเทศ
การสำรวจความคิดเห็นของหลายประเทศในโลก พบปรากฏการณ์ที่น่าสนใจในโลก เปรียบเทียบจากปี 1998-2020 จะมีคำถามข้อหนึ่งซึ่งพบความน่าสนใจว่า ท่านคิดว่าดีหรือไม่ที่ทหารปกครองประเทศ แล้วจะพบว่ามีหลายประเทศที่คนนิยมทหารมากขึ้นในช่วงเวลาที่ผ่านมาแม้กระทั่งในสหรัฐอเมริกาเอง
แต่ว่าระดับของการนิยมทหารในการสำรวจครั้งล่าสุด แม้จะกระโดดขึ้นเยอะแต่ก็ยังต่ำกว่า 20% มีบางประเทศอย่างเช่นบังคลาเทศกระโดดขึ้นไปสูงถึง 40% ฟิลิปปินส์กระโดดขึ้นไปสูงถึง 60%
สุดท้ายคือประเทศไทยที่กระโดดขึ้นไปสูงถึง 60% ซึ่งอาจจะเกิดจากบรรยากาศทางการเมือง เกิดความขัดแย้งทางการเมืองอย่างหนักและคนอยากเห็นการแก้ปัญหาไม่อยากเห็นการทะเลาะกัน ในการรัฐประหารครั้งล่าสุดนั้น การที่ประชาชนกลุ่มหนึ่งเชียร์ให้มีการรัฐประหาร อันนี้อาจเป็นบรรยากาศสะท้อนการเมืองในยุคนั้น
บรรยากาศแบบนี้ก็เผยแพร่ลงมาถึงสังคมระดับย่อย ทำให้สะท้อนลงมาถึงการเมืองระดับย่อยในโรงเรียนด้วยหรือไม่ แม้กระทั่งทุกวันนี้บรรยากาศในประเทศโดยรวม คนยังคิดว่าเป็นเรื่องดีที่ทหารปกครองประเทศ ตัวเลขอาจจะเปลี่ยนไปต่ำกว่านี้ก็ได้ แต่ดูเหมือนว่าบรรยากาศเหล่านี้ยังอยู่ในโรงเรียนอยู่
ที่ผมพูดมาทั้งหมดนั้นเพื่อแสดงให้ท่านเห็นว่าความขัดแย้งทางการเมืองในยุคปัจจุบัน หรือความขัดแย้งทางช่วงวัยมีลักษณะแตกต่างในหลายประเด็นกับการขัดแย้งทางสีเสื้อ ความขัดแย้งทางสีเสื้อเราจะแยกยากว่าเป็นคนกลุ่มไหน ขัดแย้งกับคนกลุ่มไหน โดยรวมๆบอกว่าเสื้อเหลืองเป็นคนชนชั้นกลางในเมือง เสื้อแดงเป็นคนชนบท
จากการศึกษาที่ TDRI พบว่ามันไม่ได้ชัดขนาดนั้น เสื้อเหลืองอาจจะเป็นคนเมืองบางส่วนจริง แต่คนเสื้อแดงมีอยู่ในคนทุกกลุ่ม ทั้งคนเมืองและคนชนบท ทั้งคนรายได้น้อยและคนรายได้มาก มีกระจายกันอยู่ทั่วไปจำนวนสูสีกัน มีเสื้อแดงมากกว่าเสื้อเหลืองอยู่บ้าง แต่รอบนี้ความขัดแย้ง เป็นความขัดแย้งที่ดูเหมือนว่า มิติมันอยู่ที่ช่วงวัย ระหว่างเยาวชนกับคนที่มีอายุมากกว่า ซึ่งผมคิดว่าส่วนหนึ่งเป็นเรื่องปกติเพราะมันเป็นเรื่องความขัดแย้งซึ่งเกิดขึ้นอยู่แล้วในทุกสังคม
กรณีของประเทศไทยอาจจะสะท้อนช่วงการเปลี่ยนผ่านที่มีความขัดแย้งทางวิธีคิด วิธีการเลี้ยงลูก วิธีการมองอนาคตและแรงกดดันต่างๆที่ตกทับบนตัวเด็กเหล่านี้หรือไม่ ที่ทำให้เกิดการระเบิดขึ้นมา เราจะออกจากความขัดแย้งนี้ได้อย่างไร
เสื้อสีไหน ? คนไทยก็ต้องอยู่ด้วยกัน
ผมคิดว่าประเด็นสำคัญที่เราต้องตระหนักกันก่อนก็คือ ไม่ว่าการขัดแย้งสีเสื้อ เสื้อเหลืองเสื้อแดง ความขัดแย้งช่วงวัย สิ่งหนี่งที่ทุกคนควรต้องตระหนักก็คือไม่ว่าเราจะชอบหรือไม่ชอบยังไงสุดท้ายเราต้องอยู่ด้วยกันในประเทศไทย
เราไม่สามารถกำจัดอีกฝ่ายหนึ่งออกไปได้ ต่อให้เราไม่ชอบเขา ไม่ว่าคนที่เรียกตัวเองว่าเสรีนิยมจะไม่พอใจอนุรักษ์นิยม หรือกลับกัน เราก็ไม่สามารถไล่คนหนึ่งออกไปนอกประเทศไทยได้ เพราะเราทุกคนคือเจ้าของประเทศ
นี่คือประเด็นแรกที่เราต้องตระหนักก่อน มีตัวอย่างว่าการแยกประเทศกัน วาทกรรมการแยกประเทศเคยได้ยินมาตั้งแต่เสื้อเหลือง เสื้อแดงแล้ว โดยมีวาทกรรมเช่น ถ้าไม่ชอบอย่างนั้นไม่ชอบอย่างนี้ก็แปลว่าไม่เป็นคนไทย อย่ามาอยู่เมืองไทย ถ้าชอบว่าประเทศอื่นดีกว่าไล่ไปอยู่ประเทศอื่น
วาทกรรมแบบนี้อาจจะพูดกันโดยไม่ได้ดูทางประวัติศาสตร์ว่า พอแยกประเทศจริงๆ มันไม่สามารถทำให้ปัญหาแก้ไขได้เลย ตัวอย่างชัดเจนเป็นรูปธรรมที่สุดคือ การแยกประเทศในเอเชียใต้ หรือในชมพูทวีป ท่านผู้มีเกียรติหลายท่านคงจำได้ว่าสมัยหนึ่งอินเดีย ปากีสถาน บังคลาเทศ เคยอยู่เป็นประเทศเดียวกันในยุคอาณานิคมของอังกฤษ
หลังสงครามโลกมีการได้อิสรภาพแบ่งประเทศในปี 1940-1947 อังกฤษแบ่งปากีสถานออกจากอินเดีย โดยที่อินเดียคือ คนฮินดู ส่วนปากีสถานคือ คนมุสลิม ในช่วงนั้นเกิดการอพยพคนข้ามประเทศกัน คือคนมุสลิมในอินเดียอพยพไปปากีสถาน แล้วก็คนฮินดูในปากีสถานก็ยกขบวนมาอยู่ในอินเดียกัน และครั้งนั้นมีผู้เสียชีวิตจากการแยกประเทศถึงเจ็ดแสนคน
ส่วนหนึ่งเกิดขึ้นจากความยากลำบากจากการข้ามประเทศกันไปมาต้องเดินทางไกล แต่อีกส่วนหนึ่งเกิดขึ้นจากการทำร้ายกัน การแยกประเทศครั้งนั้นจบลงด้วยโศกนาฏกรรมและทุกวันนี้ อินเดียและปากีสถานยังมีความขัดแย้งกันอยู่ในเรื่องดินแดนที่มีความคาบเกี่ยวกัน คือ แคชเมียร์ เป็นต้น
หลังจากนั้นบังคลาเทศก็แยกประเทศออกจากปากีสถานอีก แต่ก่อนบังคลาเทศ คือ ปากีสถานฝั่งตะวันออก ก็แยกประเทศออกมาก็มีเหตุรุนแรงเกิดขึ้นอีก เพราะฉะนั้นเวลาเราพูดว่าไม่ชอบใจใครก็อยู่คนละประเทศไปเลย อย่างในอดีตก็จะพูดว่าถ้าเป็นภาคเหนือ ภาคอีสาน เป็นเขตเสื้อแดงเป็นเมืองหลวงเสื้อแดงก็ยกเป็นประเทศหนึ่ง ถ้าเป็นพื้นที่หนึ่ง เช่น ภาคใต้ก็เป็นเสื้อเหลือง ก็ยกเป็นอีกประเทศหนึ่ง
ผมคิดว่าคนพูดอาจไม่ได้ซีเรียสมาก แต่ต่อให้แยกได้จริงในเหลืองมีแดงในแดงมีเหลืองในขอนแก่นในอีสานมีทั้งเหลืองทั้งแดง แยกอย่างไรก็ไม่มีทางแยกกันได้ เพราะฉะนั้นประเด็นแรกที่เราต้องตระหนักกันให้มากก็คือ ถึงอย่างไรเราต้องอยู่ด้วยกันแม้จะคิดไม่เหมือนกันแม้จะชอบไม่เหมือนกัน
รัฐสภา คือ เวทีแก้ปัญหาความขัดแย้ง
แล้วเราจะอยู่ด้วยกันได้ยังไงอย่างแรกเลยนะครับ ผมคิดว่าพื้นที่ในรัฐสภาควรเป็นพื้นที่ที่สามารถพูดคุยกันได้และถ้าจะมีความขัดแย้งควรไปพูดกันในสภา แม้อาจจะเกิดภาพที่ไม่สวยงามมีการใช้คำพูดรุนแรงอะไรกันไปบ้างมันเป็นกลไกปกติของการขัดแย้งถ้ามันเกิดแค่ในรัฐสภาความขัดแย้งก็ไม่ต้องมาสู่ท้องถนน
ประเด็นที่น่าสนใจ ถ้าเราดูข้อมูลตัวแทนของเราในรัฐสภาเราจะพบโปรไฟล์ที่ผูกกับอายุที่น่าสนใจ ถ้าไปดูสนช.(สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ) ในปี 2557 เราก็จะเห็นตัวแทนที่มีอายุค่อนข้างเยอะ พอมีการเลือกตั้งในปี 2562 มีการกระจายตัวของประชากรหลากหลายมากกว่าสนช.อย่างชัดเจน เช่น มีส.ส.อายุน้อยที่สุดคือ 20 กว่าปี ไปจนถึงอายุมากที่สุดก็คือ 80 กว่าปี และกระจุกตัวกันอยู่แถวๆอายุห้าสิบกว่าปีเยอะมาก เพราะฉะนั้นเราจะเห็นว่าส.ส.ที่อยู่ในสภาฯ
ถ้าเรามองความขัดแย้งในสภาฯเป็นความขัดแย้งช่วงวัยของส.ส.ที่มาจากการเลือกตั้งปี 2562 ก็จะมีสัดส่วนของคนหลายช่วงวัยเป็นตัวแทนมากกว่า สภาฯแต่งตั้งในปี 2557 แต่มาดูสมาชิกวุฒิสภา (สว.)ในปี 2562 ก็จะพบว่าสว.แต่งตั้งมีสัดส่วนคนอายุเยอะคล้ายๆกับสนช. ในปี 2557
ถ้าเทียบดูก็จะมีโปรไฟล์คล้ายๆกัน นั่นก็คือตัวอย่างความขัดแย้งมันสะท้อน ระหว่างสส.กับสว.ด้วย และการที่สว.มีอำนาจในการเลือกนายกรัฐมนตรีได้ด้วย
พอเรามาดูที่พรรคการเมืองพรรคหนึ่งที่ถือว่าเป็นตัวแทนของคนหนุ่มสาวก็คือ พรรคอนาคตใหม่ที่ถูกยุบพรรคไป เราจะเห็นการกระจายตัวของช่วงอายุสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เราจะเห็นคนอายุน้อย และคนอายุมาก กระจายตัวอยู่ด้วยกัน เพราะฉะนั้นนัยยะสำคัญก็คือ ถ้าเราอยากจะเห็นการเมืองที่กลับมาพูดคุยกันได้ หรืออย่างน้อยถ้าขัดแย้งก็ขัดแย้งโดยมีเวที ที่มีพื้นที่ๆเหมาะสม
แต่ก็เป็นที่น่าเสียดายที่พื้นที่ในรัฐสภาปัจจุบันไม่ได้เปิดพื้นที่ให้คนที่อายุแตกต่างกันมากเท่าที่ควร สว.เป็นตัวแทนของคนอายุเยอะได้อย่างชัดเจน สส.มีอายุกระจายดีกว่า พรรคการเมืองที่เป็นพรรคที่คนหนุ่มสาวชอบอายุค่อนข้างน้อย
การที่พรรคอนาคตใหม่ถูกยุบพรรคจึงอาจจะทำให้พื้นที่ในรัฐสภาถูกปิดไป แม้ว่าจะมีพรรคใหม่คือพรรคก้าวไกลสืบทอดมา แต่ว่าก็เป็นสิ่งที่ทำให้คนอายุน้อยคิดว่าผู้ใหญ่ไปปิดกั้นเค้า พยายามปิดกั้นไม่ให้เค้าแสดงออก นี่ก็เป็นตัวสำคัญนะครับ
เพราะฉะนั้นผมคิดว่าวิธีการออกจากความขัดแย้งก็คือ การพยายามเปิดพื้นที่ในรัฐสภา ต่อให้มีพรรคการเมืองที่ผู้หลักผู้ใหญ่ไม่ชอบ ก็ต้องให้เขามีสิทธิมีเสียง ต้องเปิดพื้นที่ให้เขาได้แสดงออกถึงแรงกดดันในสังคมจึงจะได้รับการระบายออกมา
แก้รัฐธรรมนูญ/ไม่ควรให้อำนาจสว.เลือกนายกฯ
ประเด็นต่อมานะครับที่เกี่ยวข้องกันคือต้องแก้รัฐธรรมนูญ การให้อำนาจสว.ในการเลือกนายกรัฐมนตรีนั้นเป็นภาพที่ ถ้าได้ไปคุยกับคนหนุ่มสาวก็จะพบว่าเป็นสิ่งที่เขายอมรับไม่ได้ และถ้าเกิดมองในมาตรฐานของนานาอารยะประเทศมันก็ไม่เป็นประชาธิปไตย
นี่คือสองประเด็นที่ผมคิดว่า ถ้าทำได้แล้วจะลดแรงกดดันทางการเมืองได้เยอะ จะเปิดพื้นที่ให้การเสวนากันสามารถเกิดขึ้นได้
อย่างที่สามที่ผมคิดว่าควรจะเป็นเรื่องที่ทำควบคู่กันไปแล้วจะช่วยเด็กนักเรียนและนักศึกษาบางส่วนได้ก็คือ การผ่อนคลายบรรยากาศตรึงเครียดที่ไม่จำเป็นเลย แล้วเป็นบรรยากาศที่ไม่เอื้อต่อการเรียนรู้ก็คือ บรรยากาศในโรงเรียนครับ เรื่องทรงผมที่ตึงตัวเกินไป
เรื่องการทำโทษโดยเฉพาะนักเรียนหญิงด้วยการกล้อนผม ตัดผม ประจานให้อับอาย เรื่องเครื่องแบบ เรื่องของความรุนแรงในห้องเรียนต่างๆของพวกนี้ เป็นการสร้างความขัดแย้งของช่วงวัยโดยไม่จำเป็นเลย และเป็นวิธีการที่ไม่เอื้อต่อการเรียนรู้ในโลกอนาคตที่เด็กจะต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงแบบ disruption บรรยากาศในโรงเรียนควรเป็นบรรยากาศแห่งความผ่อนคลาย สนุก เอื้อต่อการเรียนรู้ได้
ข้อที่สี่จะเป็นเรื่องที่ยากที่สุด แต่ถ้าทำสามเรื่องแรกได้ก่อน เพื่อผ่อนคลายบรรยากาศที่มีความตรึงเครียดกัน คือการทำความเข้าใจกับทุกฝ่าย ถ้าเราย้อนกลับไปดูสมัยเสื้อเหลืองเสื้อแดง อย่างที่บอกชอบไม่ชอบยังไงก็ต้องอยู่ด้วยกันในประเทศเดียวกัน
ถ้าจะแก้ไขปัญหาในช่วงนั้นวิธีที่ควรทำ ทำยังไง ผมคิดว่าเสื้อเหลืองเสื้อแดงไม่ได้ขัดกันโดยเนื้อแท้อาจจะมีความต้องการที่แตกต่างกันบ้างแต่ควรจะมีวิธีการเข้าใจความคับข้องใจแต่ละฝ่ายให้ได้ คนเสื้อเหลืองคับข้องใจเรื่องอะไร ตอนนั้นภาพก็คือ คนเสื้อเหลืองเป็นตัวแทนคนกลุ่มหนึ่งซึ่งพบว่าเลือกตั้งทุกครั้งแพ้ทุกครั้ง แล้วก็มีรัฐบาลที่เป็นตัวแทนคนเสื้อแดง รัฐบาลทักษิณฯรัฐบาลยิ่งลักษณ์ฯมาใช้อำนาจโดยไม่ชอบ
นี่คือภาพที่ผมคิดว่าคนเสื้อเหลืองเขาอึดอัดคับข้องใจ ถูกรวบอำนาจ ถูกใช้อำนาจโดยไม่ชอบ ส่วนคนเสื้อแดงถ้าไปลองพูดคุยดูจะชี้ให้เห็นว่า คนเสื้อแดงรู้สึกว่าตัวเองไม่ได้รับความยุติธรรม ถูกเลือกปฏิบัติแบบสองมาตรฐาน ซึ่งคำนี้ก็ยังติดตลาดยังกินใจคนกลุ่มนี้มาโดยตลอด
ถ้าเราเข้าใจความคับข้องใจของคนสองกลุ่มได้เราจะทำกันยังไง ผมคิดว่าสังคมเดินหน้าได้ถ้าหากเราหาจุดร่วมร่วมกัน ถ้าเรายึดประชาธิปไตยแบบพื้นฐานคือ เอาเฉพาะประชาธิปไตยที่มีการลงคะแนนเลือกตั้งอย่างเสรีและเป็นธรรมแค่นั้นคนเสื้อเหลืองก็ไม่ยอม
จริงๆแล้วนั่นก็ไม่ใช่ประชาธิปไตยที่ดี ประชาธิปไตยที่ดีจะต้องมีการเลือกตั้งเสรีและเป็นธรรมแต่มีส่วนอื่นเพิ่มขึ้นมา คนเสื้อเหลืองไม่อยากเห็นการใช้อำนาจรัฐโดยไม่ชอบของเสียงข้างมาก ก็ต้องมีกลไกในการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐที่เหมาะสม ทั้งเสื้อเหลืองเสื้อแดงอยากเห็นศาลที่เป็นอิสระ ที่เป็นกลาง ไม่เป็นสองมาตรฐาน
คนเสื้อแดงอยากเห็นสิทธิเลือกตั้ง อยากเห็นความเท่าเทียมภายใต้กฎหมาย อยากเห็นการควบคุมทหาร โดยพลเรือน สุดท้ายทุกคนไม่ว่าเสื้อสีอะไร อยากเห็นเสรีภาพปัจเจกชน อยากเห็นเสรีภาพคนกลุ่มน้อย และรับสิทธิคุ้มครอง อยากเห็นเสรีภาพของสื่อประชาสังคม ทำไมเราไม่ร่วมกันสร้างประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ครับ โดยผนึกเอาความต้องการ ตอบโจทย์ความคับข้องใจของคนทั้งสองฝ่าย
ถ้าทำอย่างนี้กันได้เราก็มีประชาธิปไตยได้แล้วอยู่กันได้โดยไม่ต้องทะเลาะกัน ไม่ต้องมีปฏิวัติรัฐประหารครับ
บทเรียนจากสหรัฐอเมริกา
ปรากฏการณ์ความขัดแย้งนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะประเทศไทย ในสหรัฐอเมริกาก็เกิดปัญหาเช่นเดียวกัน การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐครั้งล่าสุดถ้าแบ่งสีตามมลรัฐ เราก็จะเห็นว่ามีการกระจายตัวของคนที่เลือก “ไบเดน” หรือ Democrats จะเป็นแถวตะวันออกด้านวอชิงตันไล่ลงมาถึงแคลิฟอร์เนีย ส่วนคนที่เลือกโดนัลทรัมป์ หรือ Republican ก็จะกระจุกตัวอยู่แถวตอนกลางแถว “มิดเวสต์” ไล่ลงมาถึงตอนใต้คือ “เท็กซัส”
นั่นคือภาพรวม ถ้าเรามาดูที่ภาพย่อยจะมีการแบ่งแยกแบบสองนคราประชาธิปไตย มาดูที่รัฐนิวยอร์ก เป็นรัฐที่ Democrats ได้เสียงเยอะกว่า Republican แต่ถ้ามาดูในนิวยอร์กเราจะเห็นว่ามี สีแดง (Republican) แทรกอยู่ในสีฟ้า (Democrats) ถ้าดูในพื้นที่แล้วพื้นที่สีแดงจะใหญ่กว่าพื้นที่สีฟ้า สีฟ้าคือเขตเมือง เช่น เขตนิวยอร์กซิตี้ ซึ่งเป็นเขตเมืองใหญ่ ส่วนสีแดง (Republican) คือชนบทที่รอบล้อมเมืองใหญ่
มาดูที่ “เท็กซัส” ซึ่งคือ เขตของสีแดงจะล้อมรอบสีฟ้า ซึ่งจะเป็นเขตที่เลือก (Democrats) ทั้งสิ้น ส่วนชนบทหรือเมืองเล็กๆจะเป็นเขตที่เลือก Republican
Democrats และ Republican แบ่งแยกกันชัดเจนทั้งเรื่องภูมิศาสตร์และเรื่องความเชื่อ โชคดีที่ “ไบเดน” ชนะการเลือกตั้ง และใช้วาทกรรมที่พยายามจะประสานอเมริกาทั้งประเทศเข้าด้วยกันไม่ใช้วาทกรรมในการแบ่งแยกว่าเลือกใคร “คุณไม่เลือกเราคุณไม่ใช่พวกของเรา” วาทกรรมแบบนี้หายไป เขาพยายามรวมคนอเมริกากลับมา
เรื่องการแบ่งแยกกันในอเมริกาเป็นเรื่องใหญ่ มีการศึกษาดูว่าทำอย่างไรจะเข้าใจความคับข้องใจของคนทั้งสองฝ่าย ทั้ง Democrats และ Republican ผมขอแนะนำหนังสือเล่มหนึ่งนะครับ ชื่อ “the righteous mind” ของ Jonathan Haidt ซึ่งเป็นศาสตราจารย์อยู่ที่มหาวิทยาลัยนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา เล่มนี้มีแปลเป็นภาษาไทยชื่อ “ความถูกต้องอยู่ข้างใคร”
พูดถึงความขัดแย้งระหว่าง Republican กับ Democrats บทเรียนนี้อาจไม่เหมือนประเทศไทยโดยตรง แต่ผมคิดว่าจะได้แนวคิดดีๆมาประยุกต์ใช้ได้ ในความขัดแย้งสีเสื้อในความขัดแย้งช่วงวัยในประเทศไทยจะหาวิธีประสานกันได้อย่างไร?
สานเสวนาคุณค่าอนุรักษ์นิยมและเสรีนิยม
หนังสือเล่มนี้เสนอว่าคุณค่าที่คนยึดถือกันไม่ว่าเสรีนิยม หรืออนุรักษ์นิยม เสรีนิยมคือพวกที่ค่อนไปทาง Democrats เขาเสนอว่าพวกเสรีนิยมจะให้คุณค่าสำคัญ สองสามเรื่องใหญ่ อย่างแรกก็คือ การดูแลคนอ่อนแอ เช่น คนยากจน การดูแลกลุ่มคนด้อยโอกาส คนผิวดำคนผิวสี การดูแลคนที่มีรสนิยมทางเพศไม่เหมือนคนที่มีรสนิยมในกระแสหลักเป็นต้น
เพราะฉะนั้นคนเสรีนิยมจะชอบเรื่องแบบนี้ สนับสนุนเรื่องของเสรีภาพ ให้เสรีภาพกับเรื่องของปัจเจกฯ และก็เรื่องของความเป็นธรรม เรื่องของการกระจายรายได้
เสรีนิยมจะเน้นที่สามเรื่องนี้ แต่ประเด็นปัญหาสำคัญก็คือ เสรีนิยมในอเมริกาซึ่งในจำนวนหนึ่งคือปัญญาชนไม่เข้าใจส่วนที่เหลือว่าทำไม Republican หรือ อนุรักษ์นิยมจำนวนมากมีคนยึดถืออยู่และไม่มีทางกำจัดอนุรักษ์นิยมได้
อนุรักษ์นิยมในอเมริกาจะยึดถือไม่ใช่เพียงแค่ค่านิยมสามประการ แบบพวกเสรีนิยม แต่ยังยึดถือความภักดี ซึ่งไม่ได้ยึดถือแค่ปัจเจกชนอย่างเดียว ต้องยึดชุมชน ยึดถือสังคมว่ามีลำดับชั้น พระเจ้าอยู่สูงสุด ไล่ลำดับชั้นรองลงมา เพราะฉะนั้น Republican จะมีแนวโน้มยอมรับลำดับชั้นได้มากกว่า และสุดท้ายยึดความศักดิ์สิทธิทางศาสนาเป็นต้น
ความศักดิ์สิทธิที่พระเจ้าสร้างมนุษย์ขึ้นมา เพราะฉะนั้นการมีรักร่วมเพศ การทำมิดีมิร้ายกับร่างกายตัวเองก็เป็นการดูหมิ่นพระเจ้า เป็นต้น คุณค่าที่อนุรักษ์นิยมยึดถือจึงกว้างกว่าเสรีนิยม วิธีที่จะคุยกันได้ก็คือแต่ละฝ่ายต้องเรียนรู้และเข้าใจกัน
ทำไมบางเรื่องถึงสำคัญเหลือเกินสำหรับอนุรักษ์นิยม เช่น เสรีนิยมจะเชื่อว่าการทำแท้งคือเสรีภาพ ซึ่งในส่วนของอนุรักษ์นิยมจะมองว่ามีเสรีภาพก็จริง แต่ชีวิตเป็นของศักดิ์สิทธิ พระเจ้าให้ชีวิตมาจะไปทำแท้งเสรีเป็นสิ่งที่ไม่สมควร
การประสานให้มีความคิดแบบเดียวกันคงไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ไม่ใช่เรื่องที่เป็นไปไม่ได้ หรืออย่างน้อยก็เข้าอกเข้าใจความคับข้องของอีกฝ่ายหนึ่ง
ผมขอกลับมาในเรื่องที่คล้ายๆกันของประเทศไทย ตอนนี้เกิดความขัดแย้งในเรื่องของประชาธิปไตย เกิดคำถามในเรื่องความสำคัญๆ ต่อสถาบันที่สำคัญ ฝั่งหนึ่งอยากเห็นเสรีภาพของความเป็นธรรม ในความหมายของคนทุกคนเท่ากัน
แต่อีกฝั่งหนึ่งเห็นว่ามันต้องมีความภักดีต่อความเป็นประเทศความเป็นประเทศ ความเป็นชาติอยู่ มีความภักดีต่อความศักดิ์สิทธิ์ของบางสถาบันอยู่ แม้ว่าจะไม่ชอบทุกแงทุกมุม แต่บางอย่างยังคงเป็นจารีตประเพณีที่ยังต้องสืบทอดไป
ถ้าคนไทยจะก้าวต่อไปด้วยกัน ไม่ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยต่อความรู้สึกนึกคิดของอีกฝั่ง อย่างน้อยต้องเรียนรู้ที่จะเข้าใจความเชื่อ ความรู้สึก ความคับข้องใจของคนอีกฝั่งหนึ่ง แล้วใช้กระบวนการนี้สานเสวนาโดยที่ก่อนจะทำแบบนี้ ต้องกดให้บรรยากาศมันเป็นมิตร มันปลอดภัยที่จะพูดคุยกันให้ได้ก่อนครับ สุดท้ายก็ขอฝากประเด็นนี้ให้ทุกท่านได้ขบคิดกันต่อ ขอบคุณครับ
…………………………………………………………………………………………………………………………………………………………..