สถาบันวิจัยมะเร็งท่อน้ำดี ประชุมหารือการแก้ปัญหาพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดีร่วมกับผู้ตรวจราชการ กระทรวงสาธารณสุข เขต 7 พร้อมโชว์’ Isan Cohort ‘ซึ่งเป็นระบบฐานข้อมูลเพื่อติดตามการทำงานในการคัดกรอง เฝ้าระวังและรักษา ทั้งกลุ่มเสี่ยงและผู้ป่วยโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดีปัจจุบันมีคนลงทะเบียนในระบบกว่า 2 ล้านราย
วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2564 สถาบันวิจัยมะเร็งท่อน้ำดี มหาวิทยาลัยขอนแก่น นำโดย ศ.นพ.ณรงค์ ขันตีแก้ว ผู้อำนวยการสถาบันฯ พร้อมด้วย และ รศ.ดร.วัชรินทร์ ลอยลม เลขานุการสถาบันฯ และ ศ.ดร.ไพบูลย์ สิทธิถาวร ภาควิชาปรสิตวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เข้าประชุมปรึกษาหารือการดำเนินงานป้องกันควบคุมโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี เขตสุขภาพที่ 7 ณ ห้องประชุมสวาสดิ์หงษ์เทศ ชั้น 6 ศูนย์อนามัยที่ 7 ขอนแก่น โดยมี นพ.สมฤกษ์ จึงสมาน ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 7 เป็นประธานที่ประชุม
การประชุมหารือในวันนี้ นพ.สมฤกษ์ จึงสมาน ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตพื้นที่ 7 ได้หารือผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนเพื่อหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี ภาพรวมในพื้นที่กลุ่มจังหวัดร้อยแก่นสารสินธุ์ ได้แก่ จังหวัดร้อยเอ็ด ขอนแก่น มหาสารคาม และกาฬสินธุ์ ภายใต้การดูแลของเขตสุขภาพที่ 7 ซึ่งปัญหานี้นับเป็นปัญหาใหญ่ที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อสุขภาพเศรษฐกิจ สังคม ของประชาชนไทย โดยเฉพาะประชาชนชาวอีสาน ซึ่งการแก้ไขต้องมีการบูรณาการความร่วมมือด้วยกันหลายภาคส่วน หลายกระทรวง จึงจะสามารถแก้ปัญหาได้ทั้งระบบ
ศ.นพ.ณรงค์ ขันตีแก้ว กล่าวว่า “สถาบันวิจัยมะเร็งท่อน้ำดี ได้ขับเคลื่อนแก้ปัญหาพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดีผ่านงานวิจัย โดยที่ผ่านมาได้ดำเนินงานแก้ไขปัญหาดังกล่าวผ่านโครงการ CASCAP และโครงการวิจัยท้าทายไทย ประเทศไทยไร้พยาธิใบไม้ตับ : Fluke Free Thailand โดยดำเนินงานในรูปแบบการแก้ปัญหาในอำเภอต้นแบบ ซึ่งที่ผ่านมาได้ลงไปแก้ไขปัญหาใน 15 อำเภอ 4 จังหวัดกลุ่มจังหวัดร้อยแก่นสารสินธุ์ ร่วมกับ คณะกรรมการเขตสุขภาพเพื่อประชาชน เขตพื้นที่ 7 (กขป.7) และคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ (พชอ.) แก้ไขปัญหาทั้งระดับปฐมภูมิ ตั้งแต่การรณรงค์ในประชาชน การนำหลักสูตรการเรียนการสอนไปใช้ในโรงเรียน การรณรงค์อาหารปลอดภัย การป้องกันพยาธิใบไม้ตับในหมาแมว และระดับทุติยภูมิ อาทิ การคัดกรองพยาธิใบไม้ตับจากแอนติเจนในปัสสาวะ และการคัดกรองมะเร็งท่อน้ำดีด้วยการตรวจอัลตร้าซาวด์ และระดับตติยภูมิ คือ การรักษาและการติดตามผลการรักษา โดยมีการบันทึกข้อมูลในระบบ Big data ที่ชื่อว่า Isan Cohort ปัจจุบันมีคนลงทะเบียนในระบบกว่า 2 ล้านราย
ผลจากการประชุมในครั้งนี้ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตพื้นที่ 7 ได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทำแผนการขับเคลื่อนร่วมกัน ให้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาดูแลรับผิดชอบ โดยมอบหมาย นพ.หัสชา เนือยทอง รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดมหาสารคาม เป็นประธานคณะกรรมการและประสานงานกับหน่วยร่วมอื่นๆ ภายใต้การกำกับดูแลของเขตสุขภาพที่ 7 ได้แก่ ศูนย์อนามัยที่ 7 สำนักงานควบคุมโรค เขตพื้นที่ 7 และศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 7 รวมถึงสถาบันวิจัยมะเร็งท่อน้ำดี ขับเคลื่อนงานประเด็นนี้ร่วมกัน และบรรจุประเด็นพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดีให้เป็นวาระสำคัญในการตรวจราชการครั้งต่อไป
ภาพ/ข่าว : ปณิธาน ศรีบุญเรือง