สหภาพครูแห่งชาติจี้นายกฯให้ความสำคัญกับการศึกษา: คนที่จะมาเป็นรัฐมนตรีไม่อยากให้ถูกต่อต้านขับไล่อีก

  นายเจริญ ชัยสิทธิ์ ประธานที่ปรึกษาสหภาพครูแห่งชาติ เปิดเผยถึงการประชุมสหภาพครูแห่งชาติเมื่อเร็วๆนี้ว่า ที่ประชุมได้มีการวิเคราะห์ถึงสถานะการณ์ทางการศึกษาของชาติ สรุปได้ว่า ในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา ถือเป็นภาวะที่ตกต่ำที่สุดของการศึกษาไทยเมื่อเปรียบเทียบกับการศึกษาในกลุ่มประเทศอาเซียนด้วยกัน ถึงขนาดมีการประท้วงขับไล่ผู้บริหารระดับสูงในกระทรวงศึกษาเป็นระยะ และนำไปสู่การอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีในสภาผู้แทนราษฎรมาแล้ว  แต่ต้องพ้นจากการเป็นรัฐมนตรีด้วยเหตุถูกศาลพิพากษาให้จำคุกในที่สุด ซึ่งสหภาพครูแห่งชาติได้แจ้งไปยังเครือข่ายสหภาพครูทุกจังหวัดทุกภูมิภาคทั่วประเทศ ทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีเพื่อให้ความสำคัญกับการศึกษาของชาติมาเป็นอันดับต้นๆในการปรับครม. คราวต่อไป โดยพิจารณาบุคคลที่จะมาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการนั้น ต้องเป็นผู้มีความรู้ความเข้าใจกับวงการครู วงการศึกษาอย่างกว้างขวาง สามารถเป็นผู้นำทางการศึกษา มีจรรยาบรรณ มีจิตสำนึกในวิชาชีพและเป็นแบบอย่างที่ดีต่อเด็ก เยาวชนและผู้คนในสังคมได้เป็นอย่างดี เพราะกระทรวงศึกษาเป็นสถาบันหล่อหลอมให้คนเป็นคนดี นายกรัฐมนตรีต้องกล้าหาญในการคัดเลือกคนมาเป็นรัฐมนตรี ไม่ใช่คัดคนมาเพราะอิทธิพลทางการเมือง แต่พอมาเป็นรัฐมนตรีทำงานไม่เป็น เพราะไม่มีความรู้ความสามารถและเป็นแบบอย่างที่ดีได้ ในที่สุดก็จะถูกกลุ่มข้าราชการประจำบางกลุ่มที่มีผลประโยชน์เข้ามาชี้นำและนำไปสู่กระบวนการทุจริต ถูกต่อต้านและขับไล่ในที่สุดอย่างที่ผ่านๆมาหลายยุคหลายสมัย

 ดร.เพิ่ม หลวงแก้ว ประธานสภาสหภาพครูแห่งชาติ ได้เปิดเผยเพิ่มเติมว่า โจทย์ข้อใหญ่ที่คนจะมาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการต้องทราบ และรีบดำเนินการโดยด่วนก็คือ การกู้วิกฤติทางการศึกษาและการปฏิรูปการศึกษา ที่ล้าหลังเนิ่นช้ามานานหลายปี จากการเดินหลงทางของรัฐมนตรีและผู้บริหารที่รับผิดชอบที่ผ่านๆมาอย่างเร่งด่วน ไม่ว่าจะเป็นการปฏิรูปครูและบุคลากรทางการศึกษา การปฏิรูปหลักสูตร การปฏิรูปการเรียนรู้ การปฏิรูปการจัดการเรียนการสอน เป็นต้น โดยอันดับแรก ต้องเข้ามาปลดล็อคระเบิดเวลา ยกเลิกคำสั่งต่างๆ ที่ทางคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)ได้ออกคำสั่ง คสช.เอาไว้เมื่อครั้งปี2557 เป็นต้นมา ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการปฏิรูปและการขับเคลื่อนทางการศึกษาเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็น คำสั่ง คสช.หลายฉบับ ที่ สำคัญ เช่น คำสั่ง คสช.ที่ 7/2558และ คำสั่ง คสช.ที่17/2560 เรื่อง เกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการคุรุสภาและคณะกรรมการสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา(สกสค.)  ที่มายกเลิกคณะกรรมการและการสรรหาคณะกรรมการทั้งสองคณะ ที่เดิมทั้งสองคณะเป็นไปตามกระบวนการกระจายอำนาจตามพ.ร.บ.สภาครูและบุคคลาการทางการศึกษา 2546 แต่คำสั่งดังกล่าวให้ยกเลิกคณะกรรมการดังกล่าว แล้วแต่งตั้งคณะใหม่โดยมีรัฐมนตรีและหัวหน้าหน่วยงานซึ่งอยู่ภายใต้อำนาจของรัฐมนตรีในกระทรวง มาเป็นคณะกรรมการบริหารเองทั้งสองคณะ ซึ่งเป็นการบริหารงานแบบรวบอำนาจ รวมไปถึงแก้ไขและให้อำนาจรัฐมนตรีเข้ามามีบทบาทในคณะกรรมการทั้งสองคณะข้างต้น จึงเป็นบ่อเกิดการนำไปสู่การใช้อำนาจที่มิชอบ มีการเล่นพรรคเล่นพวก และการดำเนินการที่ส่อไปในทางทุจริตใน สกสค.และองค์การค้า สกสค.  ซึ่งคำสั่งดังกล่าวกระทบไปถึงมาตรฐานวิชาชีพครูและจรรยาบรรณวิชาชีพครูที่สะท้อนไปถึงคุณภาพการศึกษาของเด็กอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้  รวมไปถึงสวัสดิการและ สวัสดิภาพครู ที่ถูกกระทบจากการขาดความเอาใจใส่และดูแลอย่างจริงใจ ต่อเนื่องทั่วถึงเท่าที่ควรจะเป็น เพราะขาดการควบคุมและคานอำนาจ ครูเกิดหนี้สินพอกพูนสะสม จนยากที่จะเยียวยาในยุคที่ผ่านๆม จนนำไปสู่การเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีในสภาผู้แทนราษฎรในคราวที่ผ่านมา

นอกเหนือจากนั้น ดร.เพิ่ม หลวงแก้ว กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ยังมีคำสั่ง คสช.อีกฉบับหนึ่งที่เป็นอุปสรรคต่อการปฏิรูปและการขับเคลื่อนทางการศึกษาเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งต้องยกเลิกเร่งด่วนเช่นกัน คือ คำสั่ง คสช.ที่ 19/2560 ว่าด้วยเรื่องการปฏิรูปการศึกษาในระดับภูมิภาคของกระทรวงศึกษาธิการ ที่เดิม การศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการเป็นแบบกระจายอำนาจจากส่วนกลางไปสู่ระดับเขตพื้นที่การศึกษา เป็นไปตามกฎหมายการศึกษาแห่งชาติ กฎหมายระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ และ กฎหมายระเบียบข้าราชการครูและบุคคลากรทางการศึกษา  แต่คำสั่ง คสช.ดังกล่าว กลับออกมาสวนกับแนวทางของกฎหมายหลักทางการศึกษาทั้ง3ฉบับข้างต้น โดยคำสั่งดังกล่าวให้ไปเป็นแบบการบริหารงานแบบรวบอำนาจ รวมศูนย์อำนาจไว้ที่ส่วนกลางคือ กระทรวงศึกษาธิการและเพิ่มอำนาจและเพิ่มบุคลากร เพิ่มหน่วยงานออกไปยังระดับภาคและระดับจังหวัด โดยให้มีศึกษาธิการภาค18ภาค มีศึกษาธิการจังหวัดทุกจังหวัด ที่เคยถูกยกเลิกมาแล้วเมื่อปฏิรูปการศึกษาคราวก่อน ฟื้นคืนชีพมาบริหารจัดการแทนเขตพื้นที่ซึ่งยังไม่ถูกยุบเลิก จึงทำให้เกิดอำนาจทับซ้อนระหว่างเขตพื้นที่การศึกษากับศึกษาธิการจังหวัด จนมีการเดินขบวนเรียกร้องให้มีการยกเลิกคำสั่ง คสช.ดังกล่าว มาเป็นการบริหารแบบเดิมตามกฎหมายการศึกษาแม่บทเดิมทั้ง3ฉบับที่ยังไม่ถูกยกเลิก ทำให้อำนาจเกิดความสับสนซ้ำซ้อน 18 ภาค 18หน่วยงาน  เกิดความทับซ้อนทั้งระเบียบการบริหารระหว่างสายงานปกติที่มีระดับเขตพื้นที่ และระดับศึกษาธิการจังหวัดและศึกษาธิการภาค มีการให้ตั้งกลุ่มระดับจังหวัดให้เป็นศึกษาธิการภาค18กลุ่ม ก่อนไปถึงระดับปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ก่อนกระจายงานไปยังสำนักงาน3-4แท่ง ซึ่งอยู่ในระนาบซี11เช่นเดียวกันก่อนไปถึงรัฐมนตรี ซึ่งผ่านหลายขั้นตอน ขัดกับหลักการกระจายอำนาจตามกฎหมายการศึกษาแห่งชาติ ซึ่งเป็นกฎหมายแม่บทในการจัดการศึกษาของชาติ ไม่รวมถึงการบริหารงานบุคคลที่คำสั่งคสช.ดังกล่าวให้ไปอิงแอบกับอำนาจผู้ว่าราชการจังหวัดให้เป็นประธานกรรมการศึกษาธิการจังหวัด(กศจ.) และแต่งตั้งคณะกรรมการจากการแต่งตั้งจากส่วนกลาง ไปเป็นกรรมการ กศจ.และอกศจ. ในระดับจังหวัด แทนการกระจายอำนาจเดิมที่ให้มีการเลือกตั้งอนุกรรมการ(อ.ก.ค.ศ.)จากทุกภาคส่วนเข้ามาเป็นกรรมการและอนุกรรมการ

 

ถึงเวลาแล้วที่ ฯพณฯนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการคนใหม่ ที่จะเข้ามายกเลิก คำสั่ง คสช.ทั้งหลายที่ค้างคาอยู่และเป็นอุปสรรคในการปฏิรูปการศึกษา การขับเคลื่อนการศึกษา และการแก้ไขกฎหมายการศึกษา ให้มีการกระจายอำนาจทางการศึกษาไปให้กับผู้มีส่วนได้เสีย(Stakeholders)ที่อยู่ตามพื้นที่ทุกสถานศึกษาทั่วประเทศ เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา ให้การศึกษาก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศต่อไปในไม่ช้านี้ ดร.เพิ่ม หลวงแก้ว กล่าวในที่สุด.

 

ดร.เพิ่ม  หลวงแก้ว

แถลงข่าว  /  28  กุมภาพันธ์ 2564

แสดงความคิดเห็น