ห้ามนะจ๊ะ!!เปิด 9 ข้อ ‘ตำรวจ’ ห้ามโซเชียลเข้มรักษาภาพลักษณ์องค์กร

เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 11 มีนาคม ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอตสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) พร้อมด้วยพล.ต.อ.วิสนุ ปราสาททองโอสถ จเรตำรวจแห่งชาติ และพล.ต.ท.เชษฐา โกมลวรรถนะ หัวหน้าจเรตำรวจ ร่วมกันแถลงเปิดตัว “โครงการจัดทำแนวทางการใช้สื่อสังคมออนไลน์ของข้าราชการสำรวจ”

โดยโครงการนี้เป็นเสมือนคู่มือแนะนำข้าราชการตำรวจทุกระดับให้เรียนรู้วิธีการใช้สื่อสังคมออนไลน์ที่เกิดประโยชน์และถูกต้อง หลังพบว่ามีข้าราชการตำรวจใช้สื่อสังคมออนไลน์ไม่เหมาะสม เช่น ล้อเลียน กลั่นแกล้ง แสดงกิริยาขบขันจนเกินขอบเขต ก่อให้เกิดความเสียหายต่อภาพลักษณ์และความน่าเชื่อถือจากสังคม รวมถึงการใช้สื่อออนไลน์ละเมิตบุคคลอื่น หรือกระทำผิดกฎหมายจนเกิดความเสียหายขึ้น ซึ่งข้าราชการตำรวจควรเป็นแบบอย่างที่ดีแก่สังคม

สำหรับประเภทข้อมูลข่าวสารที่ไม่ควรเผยแพร่ ในรูปแบบข้อความ รูปภาพ หรือภาพเคลื่อนไหว 9 ข้อ คือ 1.ข้อมูลที่มีเนื้อหาพาดพิง หรือ ส่งในทางลบต่อสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ 2.ข้อมูลที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ หรือกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ 3.ข้อมูลที่มีลักษณะยั่วยุ เสียดสี บิดเบือนโฆษณา ชวนเชื่อ สร้างความแตกแยกต่อหน่วยงาน องค์กร สถาบัน สังคม รวมถึงการไม่เป็นกลางทางการเมือง 4.ข้อมูลความลับของทางราชการ ตามระเบียบการตำรวจที่กำหนดไว้ 5.ข้อมูลที่เข้าข่ายการกระทำผิด ตามประมวลกฎหมายว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับข้อมูลข่าวสารทั้งของราชการและบุคคล รวมถึงการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาและกฎหมายอาญาใดๆ เช่น ภาพลามก อนาจาร เป็นต้น 6.ข้อมูลที่ส่งผลกระทบต่อน้ำหนักความน่าเชื่อถือของพยานหลักฐานทางคดี เกิดผลเสียต่อกระบวนการยุติธรรมรวมถึงส่งผลกระทบต่อการปฏิบัติภารกิจที่มีความเสี่ยงในเชิงยุทธวิธีและยุทธการ 7.ข้อมูลที่สร้างกระแสทางสังคมหรือก่อให้เกิดความตื่นตกใจโดยไม่ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริง และไม่มีหลักฐานยืนยัน 8.ข้อมูลที่เป็นภัยคุกคาม ต่อระบบสารสนเทศ และเครือข่าย ได้แก่ โปรแกรมไม่พึงประสงค์ หรือ Malware ทุกประเภท 9.ข้อมูลที่ส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์อันดีของความเป็นข้าราชการตำรวจ ก่อให้เกิดความขบขัน วิพากษ์วิจารณ์ในเชิงลบ ลดความเชื่อมั่น ศรัทธาต่องานตำรวจ ทั้งที่เป็นปัจเจกบุคคล และองค์กรตำรวจโดยรวม

พล.ต.อ.วิสนุ กล่าวว่า ที่ผ่านมายังไม่มีการลงโทษใคร ยืนยันว่าตำรวจมีสิทธิ์ใช้สื่อสังคมออนไลน์ แต่ต้องตามมาด้วยความรับผิดชอบและหน้าที่ เพราะตำรวจเป็นผู้บังคับใช้กฎหมาย เราอยากจะสื่อภาพออกไปให้ตำรวจเป็นที่พึ่งได้ สื่อสารภาพที่ตำรวจสุภาพเรียบร้อย ที่ผ่านมาน้องๆ อาจถ่ายคลิปตลกขบขัน ซึ่งก็เป็นสิทธิ์ ส่วนกรณีแต่งนอกเครื่องแบบอยู่ที่บ้าน แล้วใช้สื่อโซเชียลมีเดีย ขอให้ใช้วิจารณาญาณ เรื่องนี้ไม่มีถูกผิด แต่ต้องเข้าใจจิตวิญญาณของผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ จะใส่หรือไม่ใส่เครื่องแบบแต่เป็นตำรวจ 24 ชั่วโมง ไม่ใช่ถอดเครื่องแบบไปเต้นอะไรก็ได้ มันไม่งดงาม

ด้านพล.ต.อ.สุวัฒน์ กล่าวว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติมีกรอบให้ มั่นใจว่ากรอบที่เราวางจะปกป้องเขา แต่หากทำนอกกรอบ มีผลกระทบเชิงลบต่อหน้าที่การงาน ก็ต้องรับผิดชอบสิ่งที่ทำ ภาพลักษณ์ตำรวจที่ถูกต้องควรเป็นอย่างไร ตลกได้เป็นบางครั้ง ต้องดูสถานการณ์และเวลา ทั้งนี้คงไม่สั่งให้ลบสิ่งที่โพสต์ไว้ในอดีต แต่ขอให้พิจารณาว่าอะไรที่ทำแล้วสุ่มเสี่ยงต่อการถูกแปลเจตนาไปผิดๆ ต้องระมัดระวัง ซึ่งตอนนี้ก็ให้กรอบกว้างๆ ไว้ เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจกันก่อน

แสดงความคิดเห็น