ชวนเที่ยวอุดรฯ!!ปั้น‘อุทยานภูพระบาท’เทงบฯ15.3ล้านดัน ‘มรดกโลก’

วันที่ 19  มีนาคม 64 ที่อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท บ้านติ้ว ต.เมืองพาน อ.บ้านผือ  นายปรเมศวร์ งามพิเชษฐ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานในพิธีเปิด “ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท” ในโอกาสนี้ได้เยี่ยมชมโบราณสถาน และสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ภายในเขตอุทยานฯ อาทิ หอนางอุสา ,หีบศพพ่อตา ,หีบศพท้าวบารส ,หีบศพนางอุสา ,วัดพ่อตา ,ถ้ำพระ ภายในอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท โดยมี นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม นายเอนก สีหามาตย์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม นายพิกิฏ ศรีชนะ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม นายประทีป เพ็งตะโก อธิบดีกรมศิลปากร นายวันชัย จันทร์พร รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี คณะผู้บริหารกระทรวงวัฒนธรรม หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พี่น้องประชาชน สื่อมวลชน และแขกผู้มีเกียรติเข้าร่วม
อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท ตั้งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติภูหินจอมธาตุ-ภูพระบาท (เตรียมการ) พื้นที่ 3,430 ไร่ พบหลักฐานทางโบราณคดีและโบราณสถาน กระจายอยู่ทั่วบริเวณ และเกิดขึ้นในหลายยุคหลายสมัย ตั้งแต่ภาพเขียนสีก่อนประวัติศาสตร์ 54 จุด มากที่สุดในประเทศไทย , เพิงผาหินขนาดใหญ่ , วัดที่สร้างขึ้นในสมัยลานช้างกว่า 70 แห่ง รวมทั้งรอยพระพุทธบาท 3 รอย ที่มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับตำนานพระธาตุพนม สมเด็จพระขนิษฐาธิราชเจ้ากรมสมเด็จพระเทพรัตนราขสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิด “อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท” อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ.2535
ทั้งนี้ กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมศิลปากร  ได้จัดสรรงบประมาณ 15.34 ล้านบาท จากงบยุทธศาสตร์ด้านการสร้างความสามารถในการแข้งขันของประเทศ แผนงานบูรณาการสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว กีฬา และวัฒนธรรม พัฒนาและปรับปรุงศูนย์บริการนักท่องเที่ยวเดิม เพื่อเพิ่มศักยภาพอาคารปฏิบัติการ และอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้มารับบริการ ยกระดับเป็นแหล่งท่องเที่ยวมาตรฐานสากล เตรียมความพร้อมเสนอขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกได้ผลักดันอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาทให้มีศักยภาพ ความพร้อมในทุกด้าน เพื่อนำเข้าสู่การพิจารณาขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก โดยปรับปรุงศูนย์บริการนักท่องเที่ยว ให้ยกระดับขึ้นเป็นส่วนบริการสำคัญ ที่ได้มาตรฐานในระดับสากล เพื่ออำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยว พร้อมทั้งเป็นแหล่งเรียนรู้ เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจ และความภาคภูมิใจในมรดกศิลปวัฒนธรรม ให้กับผู้เยี่ยมชม ตลอดจนช่วยส่งเสริมให้เกิดความรู้สึกมีส่วนร่วม และเห็นความสำคัญของการดูแลอนุรักษ์ และรักษา แหล่งมรดกทางวัฒนธรรมของชาติสืบไป
“อุทยานประวัติสตร์ภูพระบาท” ขึ้นบัญชีชั่วคราวรับการประเมินเป็นมรดกโลก ตั้งแต่ 1 เม.ย.47 ศูนย์มรดกโลกได้รับเอกสารฉบับสมบูรณ์ 30 ม.ค.58 , ผู้เชี่ยวชาญ ICOMOS ลงพื้นที่ 17-24 ก.ย.58 , ไทยต้องส่งข้อมูลเพิ่มเติมตามคำขอ 2 พ.ย.58 , ICOMOS ส่งรายงานการประเมินฉบับสมบูรณ์ 11 มี.ค.59 เพื่อให้เสนอต่อที่ประชุมใหญ่ กรุงอีสตันบูล ประเทศตุรกี ระหว่าง 10-20 ก.ค.59 แต่ไทยถอนตัวเพราะเชื่อว่าเอกสารไม่สมบูรณ์ ต่อมา 9 เม.ย.62 ครม.ตั้งคณะทำงานขับเคลื่อนนำเสนออีกครั้ง ขณะนี้กำลังอยูระหว่าง จัดทำข้อมูลเพิ่มเติม
แสดงความคิดเห็น