สหภาพครู ติวเข้ม รัฐมนตรีศึกษาคนใหม่ “ต้องกล้าเลิกคำสั่ง คสช.ล้าหลัง “ก่อนเดินหน้าปฏิรูปการศึกษาและกระจายอำนาจ 

ดร.เพิ่ม หลวงแก้ว ประธานสภาสหภาพครูแห่งชาติ เปิดเผยถึงการประชุมสภาสหภาพครูแห่งชาติเมื่อเร็วๆนี้  พอสรุปได้ว่า ตามที่ครม.ชุดใหม่ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้ารัฐบาล ส่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการคนใหม่คือ นางสาวตรีนุช เทียนทอง มานั่งเก้าอี้ตัวนี้ ท่ามกลางปัจจัยและปัญหาความขัดแย้งหลายประการทางสังคมและการเมืองที่หลากหลาย แม้จะมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในความเหมาะสมกับตำแหน่งดังกล่าวในขณะนี้ก็ตาม  สหภาพครูแห่งชาติเห็นว่า เมื่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการคนใหม่ มานั่งเก้าอี้สำคัญทางการศึกษาตัวนี้แล้วก็ต้องขอแสดงความยินดี และต้องให้เวลาเป็นตัวพิสูจน์ แต่ คงไม่มีเวลาHoneymoon ศึกษางานก่อนหรือวิพากษ์อะไร ให้เสียเวลาอีก เพราะเราเสียเวลามามากพอแล้วจากรัฐมนตรีในยุคที่คสช.และยุคที่ผ่านๆมา   ประกอบกับ มีโจทย์ข้อใหญ่รออยู่ ที่คนจะมาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการต้องรีบดำเนินการโดยด่วนก็คือ การกู้วิกฤติทางการศึกษา โดยการปฏิรูปการศึกษา ที่ล้าหลังเนิ่นช้ามานานหลายปี อย่างเร่งด่วน ไม่ว่าจะเป็นการปฏิรูปการศึกษาตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ซึ่งต้องรีบเข็นพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับ คสช.หรือฉบับคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา(กอปศ.)ที่ร่างค้างคาไว้ในรัฐบาลชุดที่ผ่านๆมาแต่ยังไม่มีโอกาสเข้าสู่กระบวนการรัฐสภา เพราะเหตุรับฟังความคิดเห็นมาแต่ไม่ยอมปรับแก้ไข เกิดความขัดแย้งต่อต้านจากองค์กรวิชาชีพหลายประเด็น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องโครงสร้างอำนาจ ชื่อตำแหน่งผู้บริหารสถานศึกษาและใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู เป็นต้น ซึ่งพ.ร.บ.ฉบับนี้จะนำไปสู่ การปฏิรูปครูและบุคลากรทางการศึกษา การปฏิรูปหลักสูตร การปฏิรูปการเรียนรู้ การปฏิรูปการจัดการเรียนการสอน เป็นต้น

โดยอันดับแรก ต้องเข้ามาปลดล็อคระเบิดเวลา นั่น การยกเลิกคำสั่งต่างๆที่ล้าหลัง  ที่ทางคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)ได้ออกคำสั่ง คสช.เอาไว้เมื่อครั้งปี 2557 เป็นต้นมา ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการปฏิรูปและการขับเคลื่อนทางการศึกษาเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็น คำสั่ง คสช.หลายฉบับ ที่ สำคัญ เช่น คำสั่ง คสช.ที่ 7/2558และ คำสั่ง คสช.ที่17/2560 เรื่อง เกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการคุรุสภาและคณะกรรมการสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา(สกสค.)  ที่มายกเลิกคณะกรรมการและการสรรหาคณะกรรมการทั้งสองคณะ ที่เดิมทั้งสองคณะเป็นไปตามกระบวนการกระจายอำนาจตามพ.ร.บ.สภาครูและบุคคลาการทางการศึกษา 2546 แต่คำสั่งดังกล่าวให้ยกเลิกคณะกรรมการดังกล่าว แล้วแต่งตั้งคณะใหม่โดยมีรัฐมนตรีและหัวหน้าหน่วยงานซึ่งอยู่ภายใต้อำนาจของรัฐมนตรีในกระทรวง มาเป็นคณะกรรมการบริหารเองทั้งสองคณะ ซึ่งเป็นการบริหารงานแบบรวบอำนาจ รวมไปถึงแก้ไขและให้อำนาจรัฐมนตรีเข้ามามีบทบาทในคณะกรรมการทั้งสองคณะข้างต้น จึงเป็นบ่อเกิดการนำไปสู่การใช้อำนาจที่มิชอบ มีการเล่นพรรคเล่นพวก และการดำเนินการที่ส่อไปในทางทุจริตใน สกสค.และองค์การค้า สกสค.  ซึ่งคำสั่งดังกล่าวกระทบไปถึงมาตรฐานวิชาชีพครูและจรรยาบรรณวิชาชีพครูที่สะท้อนไปถึงคุณภาพการศึกษาของเด็กอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้  รวมไปถึงสวัสดิการและ สวัสดิภาพครู ที่ถูกกระทบจากการขาดความเอาใจใส่และดูแลอย่างจริงใจ ต่อเนื่องทั่วถึงเท่าที่ควรจะเป็น เพราะขาดการควบคุมและคานอำนาจ ครูเกิดปัญหาหนี้สินพอกพูนสะสมเพราะเหตุองค์กรดูและอย่าง สกสค.เกิดทุจริตและสร้างปัญหาเกิดขึ้นกับครูซะเอง จนยากที่จะเยียวยาในยุคที่ผ่านๆมา จนนำไปสู่การเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีศธ.ในสภาผู้แทนราษฎรในคราวที่ผ่านมา

นอกเหนือจากนั้น ดร.เพิ่ม หลวงแก้ว ยังกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ยังมีคำสั่ง คสช.อีกฉบับหนึ่งที่เป็นอุปสรรคต่อการปฏิรูปและการขับเคลื่อนทางการศึกษาเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งต้องยกเลิกเร่งด่วนเช่นกัน คือ คำสั่ง คสช.ที่ 19/2560 ว่าด้วยเรื่องการปฏิรูปการศึกษาในระดับภูมิภาคของกระทรวงศึกษาธิการ ที่เดิม การศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการเป็นแบบกระจายอำนาจจากส่วนกลางไปสู่ระดับเขตพื้นที่การศึกษา เป็นไปตามกฎหมายการศึกษาแห่งชาติ กฎหมายระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ และ กฎหมายระเบียบข้าราชการครูและบุคคลากรทางการศึกษา  แต่คำสั่ง คสช.ดังกล่าว กลับออกมาสวนกับแนวทางของกฎหมายหลักทางการศึกษาทั้ง3ฉบับข้างต้น โดยคำสั่งดังกล่าวให้ไปเป็นแบบการบริหารงานแบบรวบอำนาจ รวมศูนย์อำนาจไว้ที่ส่วนกลางคือ กระทรวงศึกษาธิการและเพิ่มอำนาจและเพิ่มบุคลากร เพิ่มหน่วยงานออกไปยังระดับภาคและระดับจังหวัด โดยให้มีศึกษาธิการภาค18ภาค มีศึกษาธิการจังหวัดทุกจังหวัด ที่เคยถูกยกเลิกมาแล้วเมื่อปฏิรูปการศึกษาคราวก่อน ฟื้นคืนชีพมาบริหารจัดการแทนเขตพื้นที่ซึ่งยังไม่ถูกยุบเลิก จึงทำให้เกิดอำนาจทับซ้อนระหว่างเขตพื้นที่การศึกษากับศึกษาธิการจังหวัด จนมีการเดินขบวนเรียกร้องให้มีการยกเลิกคำสั่ง คสช.ดังกล่าว มาเป็นการบริหารแบบเดิมตามกฎหมายการศึกษาแม่บทเดิมทั้ง3ฉบับที่ยังไม่ถูกยกเลิก ทำให้อำนาจเกิดความสับสนซ้ำซ้อน 18 ภาค 18หน่วยงาน  เกิดความทับซ้อนทั้งระเบียบการบริหารระหว่างสายงานปกติที่มีระดับเขตพื้นที่ และระดับศึกษาธิการจังหวัดและศึกษาธิการภาค มีการให้ตั้งกลุ่มระดับจังหวัดให้เป็นศึกษาธิการภาค18กลุ่ม ก่อนไปถึงระดับปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ก่อนกระจายงานไปยังสำนักงาน3-4แท่ง ซึ่งอยู่ในระนาบซี11เช่นเดียวกันก่อนไปถึงรัฐมนตรี ซึ่งผ่านหลายขั้นตอน ขัดกับหลักการกระจายอำนาจตามกฎหมายการศึกษาแห่งชาติ ซึ่งเป็นกฎหมายแม่บทในการจัดการศึกษาของชาติ ไม่รวมถึงการบริหารงานบุคคลที่คำสั่งคสช.ดังกล่าวให้ไปอิงแอบกับอำนาจผู้ว่าราชการจังหวัดให้เป็นประธานกรรมการศึกษาธิการจังหวัด(กศจ.) และแต่งตั้งคณะกรรมการจากการแต่งตั้งจากส่วนกลาง ไปเป็นกรรมการ กศจ.และอกศจ. ในระดับจังหวัด แทนการกระจายอำนาจเดิมที่ให้มีการเลือกตั้งอนุกรรมการ(อ.ก.ค.ศ.)จากทุกภาคส่วนเข้ามาเป็นกรรมการและอนุกรรมการ คำสั่งเหล่านี้ต้องยกเลิกทั้งหมด

 

นายไพโรจน์ กระจ่างพันธ์ เลขาธิการสหภาพครูแห่งชาติ สรุปเพิ่มเติมสุดท้ายว่า ทางสหภาพครูแห่งชาติ ฝากถึง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการคนใหม่ รีบเสนอยกเลิก คำสั่ง คสช.ทั้งหลายที่ค้างคาอยู่และเป็นอุปสรรคในการปฏิรูปการศึกษา ก่อนเริ่มขับเคลื่อนปฏิรูปการศึกษา โดยแก้ไขกฎหมายการศึกษา ให้มีการกระจายอำนาจทางการศึกษาไปให้กับผู้มีส่วนได้เสีย(Stakeholders)ที่อยู่ตามพื้นที่ทุกสถานศึกษาทั่วประเทศ มีโอกาสเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาทุกระดับ ให้การศึกษาไทยก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศต่อไปในไม่ช้านี้  ทางสหภาพครูแห่งชาติได้ประสานเครือข่ายสหภาพครูทั่วประเทศแล้ว ให้ช่วยกันติดตามและให้คะแนนผลงานรมต.ศธ.อยู่ขอบเวทีอย่างไกล้ชิด เพราะประเทศชาติไม่มีเวลาให้รออีกแล้ว

ดร.เพิ่ม หลวงแก้ว

ประธานสภาสหภาพครูแห่งชาติ

แถลงข่าว  /   28 มีค.64

แสดงความคิดเห็น