ขอนแก่นผนึกกำลังภาค รัฐ เอกชน วิชาการ และประชาชน พิจารณาร่างนโยบายสาธารณะแก้ปัญหาฝุ่นจิ๋ว PM 2.5 สร้างอากาศสะอาด
วันที่ 30 มี.ค. 64 ที่ โรงแรมอวานีฯ จ.ขอนแก่น มูลนิธิชุมชนขอนแก่นทศวรรษหน้า จังหวัดขอนแก่น สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ กลุ่มวิจัยอยู่ดีมีสุข คณะสาธารณสุข มหาวิทยาลัยขอนแก่น หอการค้าจังหวัด สภาอุตสาหกรรมจังหวัด ผู้แทนโรงงานน้ำตาลขอนแก่น ผู้แทนโรงงานน้ำตาลมิตรภูเวียง ผู้แทนสมาคมชาวไร่อ้อย ผู้นำสภาองค์กรชุมชนในพื้นที่ 5 โซน 26 อำเภอ ของจังหวัดขอนแก่น และภาคีเครือข่าย
ได้ร่วมกันจัดการประชุมโครงการพัฒนานโยบายสาธารณะว่าด้วยการจัดการปัญหามลพิษทางอากาศจากฝุ่น PM 2.5 ที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ โดยมี ดร.สมศักดิ์ จังตระกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น เป็นประธาน และ รศ.ดร.สุวิทย์ เลาหศิริวงศ์ ประธานมูลนิธิชุมชนขอนแก่นทศวรรษหน้า เป็นผู้กล่าวรายงาน ซึ่งมีผู้เข้าร่วมประชุมจากภาครัฐ วิชาการ เอกชน และประชาสังคม จำนวน 80 คน
ดร.สมศักดิ์ จังตระกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า จังหวัดขอนแก่นมีความมุ่งมั่นที่จะแก้ไขปัญหาเรื่องมลพิษทางอากาศอย่างจริงจังในระหว่างที่ตนปฏิบัติหน้ามาร่วม 4 ปี ซึ่งดำเนินการไปพร้อมๆกับจังหวัดอื่นในภาคอีสานควบคู่กันไป เพราะการแก้ปัญหาจะทำในขอบเขตจังหวัดไม่สามารถแก้ไขได้
“ผมได้รับรายงานจากสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 10 เป็นประจำทุกเดือนจะเห็นได้ว่าปัญหาฝุ่นจิ๋วหรือ PM 2.5 ในจังหวัดขอนแก่นเกิดจากการเผาในที่แจ้งและเกิดจากการใช้ยานพาหนะ ผมได้พยายามค้นหาหนทางในการแก้ไขปัญหาร่วมกับคณะทำงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน รวมถึงการทำเสวียนรอบโคนต้นไม้ในจังหวัดขอนแก่นสามารถลดการเผาใบไม้ได้มากถึง 3 ล้านตัน นับเป็นสิ่งที่เราได้ดำเนินการและได้ผลในระดับหนึ่ง นอกจากนี้ยังมีการจัดทำโครงการปลูกต้นไม้ 2 ล้านต้น และปลูกซ่อมแซมในส่วนที่ปลูกแล้วได้ให้ได้ครบเป้าหมายที่เราวางไว้”
การดำเนินการจัดประชุมโครงการพัฒนานโยบายสาธารณะว่าด้วยการจัดการปัญหามลพิษทางอากาศจากฝุ่น PM 2.5 ที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ ครั้งนี้นับเป็นนิมิตหมายอันดีที่จะเข้ามาช่วยหนุนเสริมการทำงานกับภาคราชการให้ช่วยแก้ไขปัญหาให้ได้ดียิ่ง ตนเชื่อว่านโยบายสาธารณะที่เกิดจากการถกแถลงในวันนี้จะเป็นประโยชน์ต่อทุกภาคส่วน
ผศ.ดร.ทพ.วีระศักดิ์ พุทธาศรี รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า แนวทางการทำงานของสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ดำเนินตามแนวคิด “สามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา” ของ ศ.นพ.ประเวศ วะสี ซึ่งเป็นรูปแบบการทำงานที่ช่วยแก้ไขปัญหาที่ยากๆของประเทศไทยได้
ที่ผ่านมาการทำงานของภาคราชการมักไม่สำเร็จเพราะทำงานเป็นแท่งๆ ไม่ได้ประสานงาน ส่งการจากบนลงล่างจึงมักมองข้ามปัญหาที่แท้จริงได้ไม่ครบถ้วน การทำงานแบบสามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขาจึงเป็นเครื่องมือหนึ่งที่จะช่วยทำงานในแนวราบควบคู่ไปการการทำงานของภาครัฐที่ทำงานเป็นแท่งๆ ผสมผสานเพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาจากพื้นที่จริงๆ
“ผมเชื่อว่าการร่วมมือจากทุกภาคส่วนของภาคประชาชนที่สะท้อนปัญหาไปยังภาครัฐหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมีข้อมูลทางวิชาการช่วยสนับสนุนข้อมูลที่ถูกต้องคอยกำหนดทิศทางจะช่วยแก้ปัญหาฝุ่น PM PM 2.5 ได้อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นไปอย่างสมานฉันท์ตามแนวทางแบบสมัชชา”
รศ.ดร.พรพรรณ สกุลคู คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า ปัญหาฝุ่นจิ๋วที่มีขนาดเล็กว่า 2.5 ไมครอน ซึ่งเล็กกว่าเส้นผมของมนุษย์ไม่สามารถมองเห็นด้วยตาปล่าว หรือ อาจจะมองเห็นได้ในช่วงเวลาที่แสงสะท้อนขณะที่รวมกลุ่มกันในปริมาณมากๆ ฝุ่นจะเริ่มรุนแรงและมีปริมาณมากในช่วงหลังปีใหม่ถึงพฤษภาคมและพุ่งสูงสุดในช่วงฤดูหีบอ้อย หากเผาในช่วงอัตราการระบายอากาศต่ำคือช่วง 16.00-02.00 จะเพิ่มระดับความรุนแรงของฝุ่น ซึ่งพื้นที่ตรวจพบฮอตสปอตสูงมากที่สุดในจังหวัดขอนแก่นคือ อ.น้ำพอง อ.กระนวน อ.เขาสวนกวาง และ อ.เมือง
“ข้อมูลที่ทีมวิชาการของโครงการฯ ได้ข้อสรุปอย่างหนึ่งออกมาคือปัญหาฝุ่นจิ๋วในบริบทของจังหวัดขอนแก่นเกิดจากการเผาในที่แจ้งที่หมายรวมถึง การเผาทางการเกษตร เผาอ้อย ตอซังข้าว ขยะ ใบไม้ ฯลฯ มากถึงร้อยละ 54 ซึ่งมากกว่าครึ่งหนึ่งจากทั้งหมด และเป็นที่น่าสนใจอย่างยิ่งว่าขอนแก่นมีพื้นที่ปลูกอ้อยมากถึง 6 แสนไร่ นอกจากนี้ยังมีสาเหตุมาจากเครื่องสันดาปดีเซลร้อยละ 26 และโรงไฟฟ้าอีก 6 แห่งที่มีส่วนปล่อยฝุ่นในทางอ้อม”
ข้อมูลเหล่านี้ให้เราสามารถนำไปแก้ปัญหาจากต้นเหตุและช่วยให้การยกร่างนโยบายสาธารณะในครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งที่จะพัฒนาไปสู่การแก้ปัญหาโดยใช้ข้อมูลทางวิชาการเป็นฐานเพื่อกำหนดยุทธศาสตร์จังหวัดหรือเป็นแนวทางการแก้ปัญหาให้ภาคราชการอื่นๆได้มีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา รศ.ดร.พรพรรณ กล่าว
สำหรับประเด็นการหารือในภาคบ่ายได้ข้อสรุปการพิจารณานโยบายสาธารณะ ดังนี้
1.ประเด็นการจัดการแหล่งกำเนิดจากพื้นที่อื่น
- ขอให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ไฟป่า การเผาในที่โล่ง และมลพิษหมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็ก (พีเอ็ม 2.5)ในระดับเขต หรือระดับกลุ่มจังหวัด ที่ครอบคลุมทุกจังหวัดที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ หนองบัวลำภู อุดรธานี นครราชสีมา และชัยภูมิ โดยมีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 10 ขอนแก่น สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 11 นครราชสีมา และสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของแต่ละจังหวัด) กระทรวงสาธารณสุข (เขตสุขภาพที่ 7 เขตสุขภาพที่ 8 และเขตสุขภาพที่ 9) กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงมหาดไทย (หน่วยงานระดับท้องถิ่น) กระทรวงศึกษาธิการ หน่วยงานภาคเอกชน ภาคประชาสังคม จัดกระบวนการศึกษา จัดทำแผน และมาตรการเฝ้าระวังและเตือนภัยทางด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม รวมถึงหาแนวทางในการแก้ไขปัญหา พีเอ็ม 5 ในระดับกลุ่มจังหวัด ได้แก่ ขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ หนองบัวลำภู อุดรธานี นครราชสีมา และชัยภูมิ และผลักดันให้มีการดำเนินการตามมาตรการดังกล่าวอย่างเป็นรูปธรรม
- ขอให้ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จัดทำยุทธศาสตร์สนับสนุนการวิจัยเพื่อแก้ปัญหา พีเอ็ม5 ในระยะยาวโดยมุ่งไปที่การจัดการแหล่งกำเนิด เช่น การแก้ไขปัญหาจากการเผาไหม้ของเชื้อเพลิง การใช้พลังงานทดแทน พลังงานสะอาด และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง และสนับสนุนให้มีการนำความรู้จากการวิจัยมาประยุกต์ใช้
2.ประเด็นการจัดการแหล่งกำเนิดในจังหวัด
- ขอให้สถาบันการศึกษา โดยร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน ร่วมกันจัดทำยุทธศาสตร์สนับสนุนการวิจัยเพื่อแก้ปัญหา พีเอ็ม 2.5 ในระยะยาวโดยมุ่งไปที่การจัดการแหล่งกำเนิด เช่น การแก้ไขปัญหาจากการเผาไหม้ของเชื้อเพลิง การใช้พลังงานทดแทน พลังงานสะอาด และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง และสนับสนุนให้มีการนำความรู้จากการวิจัยมาประยุกต์ใช้ รวมถึงการสร้างการเรียนรู้ในสถาบันการศึกษา ให้ตระหนักถึงปัญหาพีเอ็ม 5 และการปลูกจิตสำนึกให้กับเด็ก นักเรียน นักศึกษา เริ่มตั้งแต่ระดับอนุบาล ขอให้กระทรวงศึกษาเพิ่มเรื่องสิ่งแวดล้อม ปัญหาฝุ่นเข้าไปในหลักสูตร โดยเฉพาะสถาบันการศึกษาระดับชุมชน
- ขอให้สถาบันการเงินของรัฐ เช่น ธนาคารเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ธนาคารออมสิน ฯลฯ ออกผลิตภัณฑ์ทางการเงินโดยมีเงื่อนไขลดดอกเบี้ยเงินกู้ให้ต่ำกว่าสถาบันการเงินอื่นๆเพื่อสนับสนุนภาคการเกษตรและผู้ประกอบการในการลงทุนด้านเครื่องจักร เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อลดการเผาในภาคการเกษตร รวมถึงส่งเสริมภาครัฐให้มีการวิจัย สร้างนวัตกรรมให้ลดฝุ่นควัน
- ขอให้สถาบันการศึกษาร่วมกับคณะกรรมการศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ไฟป่า การเผาในที่โล่ง และมลพิษหมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็ก (พีเอ็ม 2.5) จังหวัดขอนแก่น ร่วมกับผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้อง เช่น องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น กรมทางหลวง โรงงานอุตสาหกรรม เครือข่าย อสม. เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดทำมาตรฐานการปฏิบัติในการป้องกัน ดูแลตนเองจากปัญหามลพิษทางอากาศที่เกิดจาก ฝุ่นละอองขนาดเล็ก (พีเอ็ม5) อย่างเหมาะสม
- ขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่นมีการกำหนดเป้าหมาย วิสัยทัศน์ และยุทธศาสตร์ของจังหวัดในการแก้ไขฝุ่นละอองขนาดเล็ก (พีเอ็ม 2.5) จากแหล่งกำเนิด เช่น ในปี 2569 ขอนแก่นจะไม่มีการเผาในที่โล่ง เป็นต้น
- ขอให้สำนักงานขนส่งจังหวัดขอนแก่น สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดขอนแก่น หอการค้าจังหวัดขอนแก่น บริษัทขอนแก่นพัฒนาเมือง และภาคเอกชน เป็นหน่วยงานต้นแบบในการลดและควบคุมการใช้ยานพาหนะน้ำมันดีเซล โดยมีการระบุระยะเวลา และเป้าหมายของแต่ละหน่วยงานให้ชัดเจน
3.ประเด็นการเฝ้าระวังเชิงรุก
- ขอให้กองบังคับการตำรวจภูธรจังหวัดขอนแก่น สำนักงานขนส่งจังหวัดขอนแก่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดขอนแก่น เพิ่มความเข้มข้นในการบังคับใช้กฎหมายเชิงรุกที่เกี่ยวข้องกับการจัดการแหล่งกำเนิดในพื้นที่จังหวัดในการควบคุมมาตรฐานน้ำมันดีเซล นอกจากนี้ควรควบคุมประสิทธิภาพ ตรวจสอบมาตรฐานของเครื่องจักร เครื่องยนต์ที่ใช้น้ำมันดีเซล การเผาทั้งในและนอกภาคการเกษตร การควบคุมผลกระทบจากฝุ่นที่เกิดจากการก่อสร้าง และการควบคุมมลพิษอากาศจากโรงงานอุตสาหกรรมโดยขอให้มีอุปกรณ์ดักฝุ่นก่อนที่จะปล่อยออกมาสู่บรรยากาศ
- ขอให้สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 10 ขอนแก่น สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดขอนแก่น จัดทำข้อมูลพื้นฐาน (base-line data) ด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้องเพื่อใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานในการเฝ้าระวังในช่วงเกิดวิกฤตหรือ ในภาวะที่ พีเอ็ม5 ในพื้นที่มีค่าเกินมาตรฐาน
- ขอให้สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 10 ขอนแก่น ศูนย์อนามัยที่ 7 ขอนแก่น และสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดขอนแก่น ร่วมกันจัดทำแผนการสื่อสารสาธารณะและให้ความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับปัญหา พีเอ็ม ในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น และดำเนินการสื่อสารให้กับหน่วยงาน ชุมชน ทั้งในเรื่องปริมาณฝุ่น ความรู้ วิธีการเฝ้าระวัง และดูแลด้านสุขภาพของประชาชน มีการประชาสัมพันธ์ สื่อสาร รณรงค์เผยแพร่ให้ประชาชนรับทราบ โดยเน้นในกลุ่มเยาวชนในโรงเรียนและสื่อสารผ่านหอกระจายข่าวของชุมชน และบรรจุในหลักสูตรการศึกษาของนักเรียนแต่ละระดับ (นักเรียน โรงเรียนควรทำอย่างไรเมื่อประสบกับเหตุการณ์ รวมถึงการแจ้งเตือน เพื่อเตรียมความพร้อมในการรับมือ เช่น ใช้สัญลักษณ์เป็นธงแจ้งเตือน)
- ขอให้องค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล และองค์การบริหารส่วนตำบล มีการจัดหาเครื่องวัดค่าฝุ่นที่มีมาตรฐาน ติดตั้งที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพระดับตำบล อปท. โรงเรียน วัด โรงงาน ที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยง (พื้นที่แหล่งกำเนิด) ในระดับอำเภอและตำบล
- ขอให้ศูนย์อนามัยที่ 7 ขอนแก่น ร่วมกับองค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล และองค์การบริหารส่วนตำบล สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดขอนแก่น โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล โรงเรียน ร่วมกันสร้างและขยายผลเครือข่ายภาคประชาชนในการเฝ้าระวังและเตือนภัยปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (พีเอ็ม5) โดยการใช้ Application @ RISK ที่ศูนย์อนามัยที่ 7 ขอนแก่นร่วมกับกองประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ ได้พัฒนาขึ้น
- ขอให้ คณะกรรมการศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ไฟป่า การเผาในที่โล่ง และมลพิษหมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็ก (พีเอ็ม5) จังหวัดขอนแก่น คณะกรรมการสาธารณสุขจังหวัดขอนแก่น และศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินระดับจังหวัดและเขต และคณะกรรมการศูนย์บัญชาการป้องกันและแก้ไขปัญหาสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก พีเอ็ม2.5 จังหวัดขอนแก่น ปี 2563 มีการบูรณาการแผนงานในการแก้ไขปัญหา พีเอ็ม2.5 ร่วมกัน
- ขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่นแต่งตั้งคณะกรรมการปฏิบัติการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะขอนแก่นอากาศสะอาดอย่างยั่งยืน (ชุดเล็ก) ที่ประกอบด้วยหน่วยงานภาครัฐ วิชาการ และภาคประชาชน สื่อมวลชน โดยทำหน้าที่ปฏิบัติการ สร้างการรับรู้ แสวงหาความร่วมมือในการแก้ไขปัญหา พีเอ็ม5 และรายงานผลการปฏิบัติงานให้กับคณะกรรมการศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ไฟป่า การเผาในที่โล่ง และมลพิษหมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็ก (พีเอ็ม 2.5) จังหวัดขอนแก่น คณะกรรมการสาธารณสุขจังหวัดขอนแก่น ศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินระดับจังหวัด และ คณะกรรมการศูนย์บัญชาการป้องกันและแก้ไขปัญหาสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก พีเอ็ม2.5 จังหวัดขอนแก่น ปี 2563
- เมื่อเกิดวิกฤตฝุ่นละอองในพื้นที่ (ขึ้นสีส้มติดต่อกัน 3 วัน)ขอให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดทำห้องปลอดฝุ่นสำหรับกลุ่มเปราะบาง (เช่น ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กในชุมชน/ โรงเรียน)
- ขอให้มีการสร้างกลไกการเฝ้าระวังปัญหาฝุ่น พีเอ็ม 5 ในหมู่บ้าน โดยให้มีการรายงานสถานการณ์ในระดับอำเภอและระดับจังหวัด และสนับสนุนแรงจูงใจแก่ผู้ปฏิบัติงาน
4.ประเด็นการสนับสนุนรูปแบบ นวัตกรรมด้านการจัดการปัญหา พีเอ็ม 2.5 ที่ดี
- ขอให้สถาบันการศึกษาทุกระดับ ตั้งแต่ ระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษา อาชีวศึกษา และอุดมศึกษา และสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดขอนแก่น มีการสนับสนุนการศึกษาและพัฒนารูปแบบการจัดการที่ดีในการป้องกันและเฝ้าระวังปัญหาฝุ่น พีเอ็ม 5 ในระดับชุมชน ตำบล อำเภอ และระดับจังหวัด โดยบรรจุลงในการเรียนการสอนของในทุกระดับ
- ขอให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สนับสนุน ให้เกิดการพัฒนานโยบายสาธารณะในระดับท้องถิ่น เช่น ข้อบัญญัติท้องถิ่น ประกาศของท้องถิ่น ธรรมนูญสุขภาพ ในการควบคุม เฝ้าระวัง ปัญหา พีเอ็ม5 ในระดับชุมชนท้องถิ่น
- ขอให้หน่วยงานในระดับท้องถิ่น ได้แก่ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพระดับตำบล ส่งเสริมและสนับสนุนการคิดค้นและใช้นวัตกรรมและภูมิปัญญาในการลดผลกระทบจากปัญหา พีเอ็ม. 2.5 เช่น การปลูกต้นไม้เพื่อสร้างพื้นที่สีเขียว การใช้เสวียน เพื่อลดการเผาเศษใบไม้ การรณรงค์เรื่องการใช้จักรยานและการเดินในชีวิตประจำวัน เป็นต้น
- ขอให้ภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง เช่น สภาอุตสาหกรรม โรงงานอุตสาหกรรม บริษัทที่คิดค้นนวัตกรรมการเกษตรเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นพีเอ็ม 2.5 โดยการใช้มาตรการทางกฎหมาย มาตรการทางเศรษฐศาสตร์ และรูปแบบการจัดการทางเทคโนโลยีต่าง ๆ
- ขอให้สื่อมวลชน สถาบันการศึกษา หน่วยงาน/องค์กร ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนและภาคประชาสังคม เพิ่มการสื่อสารสาธารณะ เพื่อสร้างความตระหนักแก่ประชาชนในการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นพีเอ็ม5
- ขอให้จังหวัดขอนแก่น สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 10 ขอนแก่นและหน่วยงาน/องค์กร ทั้งภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง ส่งเสริมสนับสนุนพื้นที่ต้นแบบ ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นพีเอ็ม 5 ให้ชัดเจนยิ่งขึ้น เช่น ตำบลพระลับ อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น
- ขอให้จังหวัดขอนแก่นสนับสนุนและส่งเสริมให้มีการพัฒนานวัตกรรม เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นพีเอ็ม 5 ตั้งแต่ระดับจังหวัด ระดับอำเภอ ระดับตำบล และระดับหมู่บ้าน
- ขอให้มีการประสานงานหน่วยงานที่ดูแลโครงการนวตกรรมหลังกสิกรรมธรรมชาติโคกหนองนาโมเดล เพื่อบรรจุประเด็นการลดปัญหาฝุ่นพีเอ็ม 2.5 เข้าไปในหลักสูตรโคกหนองนาโมเดล
- ขอให้มีการพัฒนาระบบการจัดการวัตถุดิบ (อ้อย) ของโรงงานน้ำตาล ในทุกส่วนที่เกี่ยวข้องและเปิดเผยสู่สาธารณะ
- ขอให้โรงงานน้ำตาลมีการเปิดเผยข้อมูลจัดหาวัตถุดิบและผลิตน้ำตาลสู่สาธารณะ
- ขอให้โรงงานน้ำตาล สมาคมผู้ค้าอ้อยและผู้เกี่ยวข้อง มีระบบการจัดการและพัฒนานวัตกรรมไม่ให้เผาอ้อยเพื่อส่งโรงงานน้ำตาล
- ขอให้มีแผนลดผลกระทบ ปัญหา ฝุ่น พีเอ็ม 5 ในทุกโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ในจังหวัดขอนแก่น
- ขอให้จังหวัดขอนแก่นและสถาบันการเงิน สนับสนุนให้มีการสร้างนวัตกรรมของสถานประกอบการ สถาบันการศึกษาและภาคเอกชน เพื่อลดราคาเครื่องวัดค่าฝุ่นพีเอ็ม 5 จากการนำเข้าจากต่างประเทศ