การเสวนาหัวข้อ “เมื่อเทคโนโลยีเปลี่ยนไปสื่อยุคใหม่จะก้าวต่อไปอย่างไร?”(การจัดตั้งสถาบันพัฒนาวิชาชีพสื่อมวลชนภาคอีสาน)ในวาระครบรอบ 13 ปี อีสานบิซ เมื่อเร็วๆนี้
โดยมีผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย จักร์กฤษ เพิ่มพูล กรรมการนโยบายด้านสื่อสาธารณะองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทยหรือ ไทยพีบีเอส
ประสงค์ เลิศรัตน์วิสุทธ์ ผู้อำนวยการสถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย ชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ประธานสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ อดิศักดิ์ ลิมปรุ่งพัฒนกิจ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่เนชั่น ดำเนินการเสวนาโดย ผศ.อังคนา พรมรักษา ภาควิชาวิทยาการจัดการและสารสนเทศ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
จักร์กฤษ เพิ่มพูล กรรมการนโยบายด้านสื่อสาธารณะองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทยหรือ ไทยพีบีเอส กล่าวเปิดประเด็นว่า ก่อนหน้านี้ 4 – 6ปี ภูมิทัศน์สื่อได้เปลี่ยนไปการทำหนังสือพิมพ์เพียงอย่างเดียวไม่ตอบโจทย์พฤติกรรมหรือความต้องการของผู้บริโภคยุคใหม่อีกต่อไป
จนมาถึงยุค “ชวรงค์ ลิมปัทมปาณี” เข้ามาดำรงตำแหน่งประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยได้ทำสำเร็จในการเปลี่ยนแปลงและจัดตั้งองค์กรที่ชื่อ “สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ”เป็นรูปธรรมหนึ่งที่อธิบายได้ว่าภาพของสื่อมวลชนปัจจุบันอยู่ในยุคที่เรียกว่า Media Convergence ที่สื่อหลอมรวมเป็นหนึ่งเดียว
ขณะเดียวกันโจทย์หรือคำถามว่า เมื่อเทคโนโลยีเปลี่ยนไปสื่อยุคใหม่จะก้าวต่อไปอย่างไร? เขาตอบแบบสั้นๆเลยว่า คือ “ออนไลน์”
“แม้ว่าออนไลน์จะยังไม่ใช่จุดสุดท้าย มีเรื่องใหม่เกิดขึ้น เช่นแอพฯ club house เพราะเทคโนโลยีเปลี่ยนตลอดมีเรื่องใหม่ๆมาให้เล่นตลอด ฉะนั้น 20 ปี ที่ผ่านมามีข้อถกเถียงกันตลอดว่าจะปรับตัวเข้าสู่เทคโนโลยีอย่างไรทุกคนยอมรับอยู่แล้วว่าเราต้องไปออนไลน์”
จักร์กฤษ ตั้งคำถามชวนคุยต่อไปว่า เมื่อทุกคนใช้ออนไลน์หมด ทุกคนเป็นสื่อได้ เป็นนักข่าวได้ แล้วเราจะทำอย่างไรให้อาชีพสื่อนี้อยู่ต่อไปได้ในเมื่อทุกคนก็เป็นสื่อได้เป็นนักข่าวได้
คำตอบของเขาเบื้องต้นคือ สื่ออาชีพจะต้องมีความต่างจากสื่อทั่วไปคือ มีหลักการ มีความรับผิดชอบ มีแนวปฏิบัติที่ชัดเจน ถามว่ายูทูบเบอร์เป็นสื่อมั้ย ? คงไม่กล้าบอกว่าเป็นสื่อหรือไม่เป็นสื่อ
เราต้องเข้าใจว่าคนที่ไม่ได้มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องหลักการทำงานสื่อที่มีความรับผิดชอบเป็นปัญหากับสังคมมาก เป็นต้นเหตุของเฟคนิวส์ (fake News) และเป็นคำถามของสังคมว่าสื่อเดี๋ยวนี้ไม่มีความรับผิดชอบเสนอข่าวที่อาจจะเป็นเฟคนิว์ หรือข่าวที่ไม่จริง ข่าวที่เชื่อถือไม่ได้
สื่ออาชีพถูกเหมารวมว่าเป็นสื่อที่ไม่มีความรับผิดชอบเพราะสังคมแยกไม่ออกว่าอันไหนเป็นสื่ออาชีพอันไหนไม่ใช่สื่ออาชีพเพราะทุกคนสามารถเข้าถึงเครื่องมือสื่อสารได้เหมือนกัน
จักร์กฤษย้อนกลับไปกล่าวถึง การตั้งสถาบันพัฒนาวิชาชีพสื่อมวลชนภาคอีสาน ที่เป็นเป้าหมายหนึ่งของการเสวนา ว่า มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีองค์ความรู้ในเรื่องการทำสื่อทั้งในแง่ของการใช้เทคโนโลยีการสื่อสาร หลักการเชิงจริยธรรม เพราะเป็นสิ่งเดียวที่จะทำให้สื่ออาชีพแตกต่างจากคนที่เป็นเพียงใช้เครื่องมือไม่ใช่สื่ออาชีพ หัวใจสำคัญของสื่อมวลชนคือ ความเชื่อถือไว้วางใจ ถ้าสื่อปราศจากความเชื่อถือและไว้วางใจจะเรียกว่าสื่อไม่ได้
จักร์กฤษ ยังได้ชวนแลกเปลี่ยนเรื่อง “ทีวีดิจิทัล” โดยระบุว่า คนที่รู้เรื่องและเกี่ยวข้องมากที่สุดคือคุณอดิศักดิ์ ลิมปรุ่งพัฒนกิจ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่เนชั่นทีวี ที่ได้เข้าไปประมูลทีวีดิจิทัลช่วงที่เปิดประมูลครั้งแรกมีการเข้าไปแย่งชิงเสนอเงินมากมายมหาศาล
ทั้งนี้เพราะมันเป็นภาพลวง บรอดแคสฯหรือทีวีทั้งหลาย เป็นสื่อเก่าซึ่งวันหนึ่งจะตายไปเหมือนกัน อีกประมาณ 7 ปีข้างหน้า หรือ ประมาณปี 2571 อายุใบอนุญาตทีวีดิจิทัลระหว่างคณะกรรมการกำกับกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กับผู้ประกอบการจะหมดลง
“อีก7ปีข้างหน้าความสนใจเข้าประมูลทีวีดิจิทัลจะลดน้อยลงไม่มีใครตื่นเต้น เข้าไปแย่งชิงเสนอราคามากมายเหมือนที่ผ่านมา ต่อไปพฤติกรรมของผู้ที่ดูทีวีจะเปลี่ยนไป คนจะไม่นั่งมารอดูว่า 2 ทุ่มมีละคร 3ทุ่มมีรายการต่างๆ ไม่มีแล้ว”
ทุกวันนี้เราวัดความสำเร็จของทีวีจากเรตติ้ง แต่ความจริงเรตติ้งไม่มีความหมาย ผู้คนเข้าถึงเนื้อหาหรือคอนเทนท์ไม่ได้ผ่านหน้าจอ แต่ดูผ่านสมาร์ทโฟน ฉะนั้นถ้าจะให้ทำนายอนาคตและคิดว่าต่อไปทีวีแบบเดิมที่มีอยู่หน้าจอจะเปลี่ยนไปเป็นทีวีที่ไม่มีข้อจำกัดในเรื่องเงื่อนไขเวลาและสถานที่
จะดูตรงไหนก็ได้ในอนาคตจะไปสู่สิ่งที่เรียกว่า IOT (Internet Of Thing) การเข้าสู่ช่องทางที่ไม่ใช่ทีวี ไม่ใช่จอแต่เข้าทางช่องทางออนไลน์ ต่อไปทีวีจะเป็น Netflix อยากดูเรื่องอะไรตรงไหนเข้าไปคลิ๊กดูตามความสนใจ เป็นภาพอนาคตสำหรับทีวีอะไรก็ตามที่เราคิดว่าไม่น่าจะเป็น
วันนี้ไม่มีใครเถียงแล้วว่าหนังสือพิมพ์จะยังอยู่ได้หรือไม่ ออนไลน์คือ คำตอบเพียงแต่เป็นคำตอบที่ในฐานะนักสื่อสารมวลชนต้องคิดมากกว่าชาวบ้าน ต้องคิดว่าเราจะทำอย่างไรให้ออนไลน์ที่พัฒนาไปจากสื่อเก่ายังเป็น “สื่อออนไลน์” ที่ยังมีความรับผิดชอบยังมีความเป็นวิชาชีพอยู่เช่นเดียวกับทีวีโดยต่อไปเราอาจจะไม่ต้องมีทีวีก็ได้
ในช่วงท้าย จักรกฤษให้มุมมองเกี่ยวกับสื่อท้องถิ่นว่า สื่อท้องถิ่นอยู่ได้ถ้าหาตัวเองให้เจอสื่อท้องถิ่นไม่จำเป็นต้องแข่งขันกับสื่อระดับชาติในท้องถิ่นมีของดีเยอะมากโดยธรรมชาติมนุษย์สนใจเรื่องใกล้ตัวฉะนั้นเราเสนอเรื่องใกล้ตัว แต่ไม่ใช่เรื่องใกล้ตัวประเภทที่เป็นข่าวอาชญากรรม ข่าวเหตุการณ์เหมือนที่เป็นขนบของสื่อท้องถิ่นทั้งหลาย
พอถึงวันที่ตัดสินใจว่าทำหนังสือพิมพ์ต่อไปไม่ได้ คือเข้าใจว่าการทำหนังสือพิมพ์แม้จะเป็นต่างจังหวัดก็ลงทุนสูง พอเลิกทำหนังสือพิมพ์ต้นทุนลดลง อย่างน้อยที่สุดออนไลน์ค่าใช้จ่ายไม่มากท้องถิ่นคุมค่าใช้จ่ายได้เพราะว่าจำนวนนักข่าวไม่มาก
เมื่อกลับมาทำออนไลน์ยังคงรักษาคุณภาพเนื้อหาได้และสิ่งหนึ่งที่คิดว่าจะเป็นจุดที่ทำให้เรามีความแตกต่างจากคนอื่นเราต้องหาจุดนั้นให้เจอในเรื่องของเนื้อหาส่วนหนึ่งที่เราต้องยืนหยัดว่าเราต้องเป็นฮาร์ดนิวส์ ต้องเป็นเนื้อหาที่มีคุณภาพ
ประเด็นสำคัญไม่น้อยกว่าคอนเทนต์คือ พรีเซนเทชั่นวิธีการนำเสนอก็สำคัญคิดว่าบทบาทหนึ่งที่จะทำให้เนื้อหาน่าสนใจคือ อินโฟกราฟิก ถ้าเข้าไปดูในลานนาโพสต์ lannapost.net มีอินโฟกราฟิกประกอบซึ่งสื่อท้องถิ่นไม่มี เป็นแค่ตัวอย่างที่ยกว่าเราต้องหาตัวเองให้เจอว่า จุดขายคืออะไร ถ้าเราหาตัวเองเจอวันหนึ่งคนหรือ ผู้รับสารจะเห็นความแตกต่าง
ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่อยากเล่าให้ฟัง สิ่งสำคัญที่สุดก็คือ จะเป็นสื่อท้องถิ่น หรือเป็นสื่อระดับชาติก็แล้วแต่ หัวใจสำคัญ คือความน่าเชื่อถือ วันหนึ่งเมื่อมีคนตั้งคำถามว่า ถ้าต้องการพึ่งพาสื่อประเภทไหนจะกลับมาที่เรา