เมื่อเทคโนโลยีเปลี่ยนไป สื่อยุคใหม่จะก้าวต่อไปอย่างไร (3)

การเสวนาหัวข้อ“เมื่อเทคโนโลยีเปลี่ยนไปสื่อยุคใหม่จะก้าวต่อไปอย่างไร?”(การจัดตั้งสถาบันพัฒนาวิชาชีพสื่อมวลชนภาคอีสาน)ในวาระครบรอบ 13 ปี อีสานบิซ เมื่อเร็วๆนี้

ชวรงค์  ลิมป์ปัทมปาณี ประธานสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ กล่าวนำเสนอสถานการณ์  ดิสรัปชั่นเทคโนโลยี (Disrubtion Technology)ของสื่อโดยยกตัวอย่างหนังสือพิมพ์ไทยรัฐที่เขาสังกัดอยู่ว่า  ปี 2557 รายได้ 4,453,000,000 กำไร 1,648,000,000 ปี 2558 รายได้เหลือ 3,900,000,000  กำไรเหลือ 1,400,000,000 ยังดูเยอะอยู่ ปี 2559 รายได้เหลือ 3,071,000,000 กำไรเหลือ 927,000,000

ส่วนปี 2560 รายได้ 2,557,000,000 กำไรเหลือ 604,000,000 ปี 2561 รายได้เหลือ 2,448,000,000 กำไรเหลือ 368,000,000 และเป็นปีสุดท้ายที่มีกำไร เลยเป็นที่มาของการรีไทล์ครั้งแรกของไทยรัฐ พนักงานจากปี 2561 มีจำนวน 1,700 คน ลดลงเหลือ 900 คน และมีแนวโน้มที่จะต้องรีไทล์อีก

“ชวรงค์” อธิบายว่า เมื่อดูผลประกอบการด้านออนไลน์มีอัตราการเพิ่มขึ้นของผลกำไรเป็นปีที่ไทยรัฐออนไลน์ขึ้นอันดับหนึ่งแต่จะเห็นได้ว่ารายได้จากสิ่งพิมพ์ไม่ได้ไปถูกทดแทนในส่วนออนไลน์ทั้งๆที่งบโฆษณาของออนไลน์เพิ่มขึ้นทุกปีอย่างที่เห็นกันมันไปอยู่ที่แพลตฟอร์มหมด

ยกตัวอย่างถ้างบไปอยู่ที่ออนไลน์100%จะไปอยู่ที่แพลตฟอร์ม 80% ส่วนที่เหลือจะไปอยู่กับอินฟลูเอนเซอร์ บล็อกเกอร์ แล้วกลับมาที่สื่อออนไลน์แค่ 10% ซึ่งสรุปได้ไม่ว่าสื่อจะอยู่ในรูปแบบสิ่งพิมพ์หรือออนไลน์ก็มีความเสี่ยงและเหนื่อยเหมือนกันนี่เป็นประเด็นแรก

ประเด็นที่สอง ความสำคัญของสื่อวิชาชีพ คือสื่อดั้งเดิมที่ต้องอยู่ในกรอบของจริยธรรม และตนเชื่อว่าสื่อวิชาชีพยังจำเป็นอยู่ สังคมจะมีพื้นที่รับข้อมูลข่าวสารมากขึ้น การผลิตเฟคนิวส์ อาจจะน้อยลง และสื่ออีกอย่างหนึ่งที่ไม่ค่อยถูกพูดถึง คือสื่อเพื่ออุดมการณ์เพื่อการเมืองหรือศาสนา ภาษาอังกฤษ เรียกว่า Advocacy media

สื่อหลัก เช่น หนังสือพิมพ์จะอยู่ได้นานแค่ไหนทีวีจะเหลือกี่ราย วิทยุได้ถูก disrupt ไปก่อนหน้าแล้วอีกทั้งยังมีวิทยุดิจิทัลเข้ามา และแพลตฟอร์มใหม่เช่น คลับเฮ้าส์

ที่ขาดไม่ได้ คือแวดวงวิชาการ สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ จัดประกวดเว็บไซด์ข่าวออนไลน์ ให้กับสถาบันการศึกษา แต่กลับพบว่ามีการส่งประกวดน้อยมาก ทำให้เกิดความหนักใจว่าเกิดอะไรขึ้นกับทางสถาบันการศึกษา ที่มีการเรียนการสอนเกี่ยวกับสื่อออนไลน์ นิเทศศาสตร์ เกิดการทำคอนเทนต์ครีเอเตอร์ ในการทำข่าว

สำหรับสื่อในภูมิภาค มีการทำข่าวเฉพาะหน้าแค่มีเพจประชาสัมพันธ์ แต่อยู่ได้ไม่นาน เพราะฉะนั้นจึงควรมีการทำเว็บไซด์ การศึกษาพัฒนาการทำข่าวในเว็บไซด์ สิ่งที่ชัดเจนที่สุด คือจำนวนบุคลากรในการทำงานที่สามารถทำงานได้ครอบคลุมทุกเรื่อง มีการจัดทำโครงการท่อน้ำเลี้ยงสำหรับสื่อน้ำดี

สุดท้าย อยากให้ทุกคนได้เรียนรู้จากประสบการณ์ในอดีต ในปัจจุบันเรามีกองทุนสื่อฯมากขึ้น ในอนาคตเราจะมีเงินมาสนับสนุนวิชาชีพสื่อ และอยากให้กำลังใจ พร้อมยินดีให้คำปรึกษา เพราะทุกวันนี้สภาการสื่อฯ มีความท้าทายมากขึ้น

                                                “””””””””””””””””””””””””””

แสดงความคิดเห็น