ปมเงื่อนลับ “ฉ้อโกงประชาชน” ผ่านเงินกู้ออมสินก้อนมหึมาของครูในโครงการ ช.พ.ค. (ตอนที่ 1)

“หนี้สินครู” เป็นเรื่องใหญ่มาก เพราะมีครูและบุคลากรทางการศึกษากว่า 5 แสนคนพากันกู้เงินจากธนาคารออมสินโดย

  1. ใช้เงินที่ผู้กู้ถึงแก่กรรมไปในโครงการ ช.พ.ค.(การฌาปนกิจสงเคราะห์ช่วยเพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษา) และโครงการ ช.พ.ส.(การฌาปนกิจสงเคราะห์ช่วยเพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษาในกรณีคู่สมรสถึงแก่กรรม) มาประกัน

และ 2. ใช้หลักประกันของบริษัทประกันชีวิตและบริษัทประกันวินาศภัยมาค้ำประกันในวงเงินกู้ตั้งแต่ 6 แสนบาท 1.2 ล้านบาท และ 3 ล้านบาท

เมื่อเป็นหนี้แล้ว กลับส่งต้นและดอกเบี้ยไม่ได้ มีครูจำนวนมากจะถูกฟ้องล้มละลายจำนวนมาก รายงานชมรมครูชีวิตใหม่แห่งชาติรายงานว่า มีครูผู้กู้จะถูกฟ้องถึงกว่า 1,700 คนทั่วประเทศ ผลประโยชน์มหาศาลเหล่านี้ หน่วยงานผู้ให้กู้ องค์กรของรัฐที่ตั้งมาเพื่อดูแลสวัสดิการครู หน่วยงานทำประกัน รวมทั้งองค์กรทั้งหลาย เช่น คณะกรรมการ ช.พ.ค. กลุ่มคนที่มีส่วนในทำประกัน คณะกรรมการบริหารกองทุนที่เรียกเก็บจากครูผู้กู้ ฯลฯ ต่างได้ซ่อนปมเงื่อนลับ โดยกระทำการฝ่าฝืนกฎหมาย และพลังทางศีลธรรม กับครูจำนวนนับแสนคน และได้ส่งผลกระทบไปถึงคุณภาพการศึกษาอย่างมิต้องสงสัย ได้มีกลุ่มครูและกลุ่มประชาชนจัดตั้งองค์กรขึ้นมาเพื่อช่วยแก้ปัญหาหนี้สินครูจำนวนมาก ที่สมควรกล่าวถึงคือ ศูนย์ประสานงานลูกหนี้แห่งชาติ ชมรมครูชีวิตใหม่แห่งชาติ กลุ่มครูยุติธรรมภิวัฒน์ และกองทุนอิสระสวัสดิการสงเคราะห์สัจจะออมทรัพย์เพื่อสวัสดิการสังคม(ล่าสุด)

ในวันหลังจากวันที่ 29 เมษายน 2564 เป็นต้นไป สมาชิกกองทุนอิสระฯ จะได้รับเงินจากกองทุนอิสระฯ และเงินจากธนาคารต่างประเทศมาปล่อยกู้ (อ่านประกอบในเอกสารการชี้แจงของนายณัชภณฯ หน้า 7 ในรายงานคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ครั้งที่ 14 วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2564 ก็จะทราบว่ากู้เงินจากธนาคารต่างประเทศ) หลังจากได้เลื่อนการนัดหมายว่าครูจะได้เงินกู้ (อย่างง่ายๆ) มาแล้วถึง 4 ครั้ง มาในครั้งที่ 5 นัดว่า “หลังวันที่ 29 เมษายน 2564 สมาชิกกองทุนอิสระฯ จะได้รับการปลดเปลื้องหนี้สิน” โดยเฉพาะจังหวัดนครราชสีมาซึ่งมีสมาชิกมากที่สุดถึง 902 คน มีคณะกรรมการจังหวัดตามคำสั่งที่066/2563 ของนายณัชภณฯ โดยมีนางคณารัชต์ จงกลาง ประธานกรรมการจังหวัด นายฉัตรชัย ฤทธิสนธิ์ รองประธานกรรมการ นางเสฏฐีรัตน์ ศิริโชคโภคี เลขานุการ และคนอื่นๆรวมแล้ว 32 คนต่างพากันยินดีปรีดายิ่งนัก

จากข้อเท็จจริงทั้งมวล ปรากฏแน่ชัดว่า โครงการ ช.พ.ค.3-4-5-6-7 และ ช.พ.ส. มีครูทั้งหมด 568,320 คนได้กู้เงินจากธนาคารออมสิน (ตัวละครที่ 1) รายละ 3 ล้านบาท หรือ 1.2 ล้านบาท หรือ  6 แสนบาท ต่อมาครูกลุ่มนี้เห็นว่าไม่มีเงินเพียงพอในการชำระหนี้โดยเสียดอกเบี้ย 5.85 บาทต่อปี แต่ธนาคารออมสินได้ไปเพียง 4.85 บาทต่อปี อีก 1.00 บาทธนาคารออมสินจ่ายเป็นค่าจ้างและ

อำนวยความสะดวกให้แก่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางศึกษา(สกสค.) นิติบุคคลเป็นองค์กรตามกฎหมายพระราชบัญญัติสภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2546 ซึ่งมีผู้แทนของหน่วยงานหลักๆ ในกระทรวงศึกษาธิการ และเลือกตั้งจากผู้แทนครูจากกรมต่างๆ รวมแล้ว23 คนเป็นกรรมการ ปลัดกระทรวงฯ เป็นประธาน (ตัวละครที่2) และองค์การ สกสค.ยังมีหน่วยงาน     องค์การค้าของ สกสค.(ตัวละครที่3) ครูกว่า 5 แสนกว่าคน(ตัวละครที่ 4) ต่างถูกมัดมือชกให้ทำประกันชีวิตต่อมาเปลี่ยนเป็นประกันวินาศภัยกับบริษัทหนึ่งโดยวิธีพิสดาร (เข้าใจยากมาก) โดยคณะกรรมการ ช.พ.ค.    ชุดหนึ่ง (ตัวละครที่5) ต่อมาครูกลุ่มนี้จำนวน 8,009 คนเศษ (*ตัวเลขขึ้นลงได้เสมอ) ได้รวมตัวกันตั้งชมรมครูชีวิตใหม่แห่งชาติ (ตัวละครที่6) และกลุ่มครูยุติธรรมภิวัฒน์(ตัวละครที่ 7) ในขณะที่ครูทั่วไปได้ร้องเรียนไปยังคณะกรรมาธิการติดตามการบริหารงบประมาณ สภาผู้แทนราษฎร นายเจริญ จรรย์โกมล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดชัยภูมิ ประธาน (ตัวละครที่ 8)

กลุ่มครูยุติธรรมภิวัฒน์ (โดยนายสำคัญ จงโกเย็น ครูอำเภอเทพารักษ์ นม.) ได้รวมตัวกัน 78 คน    เพื่อฟ้องในคดีเรียกเก็บเงินครูเพื่อจัดตั้งกองทุนฯใน สกสค. โดยมิชอบต่อศาลทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง(กรุงเทพฯ) จะยื่นฟ้องได้ในเดือนพฤษภาคม 2564 นี้  กองทุนเหล่านี้ได้แก่

  1. กองทุนส่งเสริมความมั่นคงตามโครงการสวัสดิการเงินกู้สมาชิก ช.พ.ค.(กองทุนสัจจะ) โดยหักจากครูผู้กู้ที่ธนาคารออมสินสาขารายละ 2,000 บาท หรือ 4,000 บาท หรือ 6,000 บาทตามยอดเงินกู้
  2. กองทุนรวมสวัสดิการเพื่อความมั่นคงของสมาชิก ช.พ.ค. หักจากครูผู้กู้รายละเท่ากันทุกราย 10,000 บาท ต่อมาผู้แทนครูใน สกสค. (ตำแหน่งเลขาธิการ สกสค.และรองฯ) จำนวนมากกว่า 4 รายขึ้นไปนำเงินเหล่านี้ไปรวมกัน (แบบมั่วเข้าใจได้ยากมาก) กับกองทุน ช.พ.ค.และ ช.พ.ส.(สมาชิกทั้งหมดราว 9 แสนคน เมื่อตายไปจะได้จากเพื่อนครูคนละ 1.00 บาท) แล้วนำเงินกองทุนดังกล่าวไป (หลอกลวง) ฉ้อโกงประชาชนในโครงการโซลาร์เซลล์ที่จังหวัดเพชรบุรี 2,500 ล้านบาท (คดีของ ป.ป.ช.ฟ้องแล้วที่ศาลทุจริตฯกลาง) และคดี ป.ปช. ชี้มูลความผิดแล้วในคดีโรงไฟฟ้าชุมชนหนองคายน่าอยู่ 800 ล้านบาท (ดูในกูเกิล “ป.ป.ช.ฟันธงคดีซื้อหุ้นหนองคายน่าอยู่ของ สกสค.ทุจริตชัวร์ ด้านบอร์ดลงมติไล่ออกสมศักดิ์ ตาไชย”.  7 เมษายน พ.ศ.2564)  เมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นนี้นายแพทย์ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศธ.(ขณะนั้น)    ได้แต่งตั้งให้นายอรรถพล ตรึกตรอง ผู้ตรวจราชการ ศธ. ปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการ สกสค. เพื่อมาปราบปรามการทุจริตในกระทรวง (ต่อมาถูกนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศธ.ปลดออก  แล้วแต่งตั้งให้นายดิศกุล  เกษมสวัสดิ์ ปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการ สกสค.คนต่อมาแล้วทำการแก้ไขคุณสมบัติตั้งคนที่มีเพียงวุฒิปริญญาตรีมาเป็นแทนชื่อนายธนพร สมศรี เป็นเลขาธิการ สกสค.คนปัจจุบัน) เฉพาะส่วนความไม่ชอบมาพากลในกองทุนต่างๆ นายอรรถพลฯ ได้แยกกองทุนต่างๆ ที่รวมกันไว้มั่วๆ เป็นกองทุนแยกเฉพาะส่วนที่เรียกเก็บ  จากครูผู้กู้ธนาคารออมสิน ปรากฏดังตารางที่ได้แสดงในบทความนี้ นับเป็นพฤติการณ์แห่งคดีที่สำคัญมาก    ทำให้นักกฎหมายและที่ปรึกษา รมว.ธีระเกียรติฯ นายสาโรช บุตรเนียร (น.บ.และ น.บ.ท.) ผลักดันให้ฟ้องคดีต่อศาลทุจริตฯกลางเป็นคดีแรก

ด้านชมรมครูชีวิตใหม่แห่งชาติ (ลำปาง-นายสุวัช ศรีสด ประธาน,สระบุรี-นายสมชาย ศาสตรา  แกนนำคนสำคัญ) ศูนย์ประสานงานลูกหนี้แห่งชาติ (ศปลช.) นางสาวกัลยาณี รุทระกาญจน์ แกนนำ   (ตัวละครที่ 9) และกองทุนอิสระสวัสดิการสงเคราะห์สัจจะออมทรัพย์เพื่อสวัสดิการสังคม โดยนายณัชภณ วงส์วิเศษ ประธานกรรมการกองทุนอิสระฯ (ตัวละครที่ 10)  ก็เริ่มทำงานร่วมกันทั้งสามองค์กร โดยศูนย์ประสานงานลูกหนี้แห่งชาติ(ศปลช.) ผลักดันครูผู้กู้ออมสินร่วมกับชมรมครูชีวิตใหม่แห่งชาติด้วยวิธีการ จะจัดตั้งองค์กรเข้ามารับซื้อหนี้ของครูจากรัฐหรือธนาคารของรัฐ แล้วจัดตั้งกองทุนขนาดใหญ่เข้าแก้ปัญหา  แต่ก็ไม่ประสพความสำเร็จแต่อย่างใด

เมื่อเป็นเช่นนี้สามองค์กรได้จัดการประชุมครั้งสำคัญที่ลพบุรีวันที่ 29 กุมภาพันธุ์ 2563 ได้มีการเชิญนายณัชภณฯ มาปรากฏตัวในที่ประชุมท่ามกลางสมาชิกจำนวนกว่า 1,500 คน (จากสมาชิกชมรมครูชีวิตใหม่แห่งชาติ 62 จังหวัดจำนวน 8,009 คนจากทั่วประเทศ) จากนั้นเป็นต้นมาในเดือนมีนาคม 2563 ก็เริ่มเก็บ เงินออมสัจจะงวดแรก จำนวน 1,000 บาท เดือนเมษายนฯ จำนวน 3,00 บาท เดือนพฤษภาคมฯ 300 บาท เดือนมิถุนายนฯ 300 บาท เดือนกรกฎาคมฯ 300 บาท เดือนสิงหาคมฯ 300 บาท และเดือนกันยายนฯ จำนวน 1,100 บาท (รวม 3,600 บาท) ในระหว่างเก็บเงินจากสมาชิกนี้ ศปลช.โดยนางสาวกัลยาณีฯ ได้มีหนังสือลงวันที่ 22 กรกฎาคม 2563 แจ้งยกเลิกการจัดตั้งกองทุนสวัสดิการสงเคราะห์สัจจะออมทรัพย์เพื่อสวัสดิการสังคม “เพื่อแจ้งแก่สมาชิก ศปลช.ที่เป็นสมาชิกชมรมครูชีวิตใหม่แห่งชาติว่า ศปลช.ไม่มีการเรียก  รับผลประโยชน์หรือเข้ายุ่งเกี่ยวกับเงินออมของสมาชิกชมรมครูชีวิตใหม่แห่งชาติที่ให้ดำเนินการออมเพื่อโครงการแก้ไขปัญหาหนี้สินของกลุ่มข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาที่ ศปลช.ดำเนินการให้การช่วยเหลือต่อเนื่องมาตั้งแต่กลางปี 2561”(ดูเอกสารประกอบ) ในเดือนตุลาคม 2563 ให้สมาชิกซื้อเสื้อเหลือง 2 ตัวพร้อมเข็มกลัดรวม 735 บาท ก่อนที่จะมีการรวมตัวที่เมืองทองธานี แต่ก็แจ้งยกเลิกอีก และในเดือนพฤศจิกายน 2563 นายณัชภณฯ ได้มีคำสั่งให้นายสุวัช ศรีสด ประธานชมรมครูชีวิตใหม่แห่งชาติออก(พ้นจาก) กองทุนอิสระฯ

ในช่วงนี้นายณัชภณฯ ได้แจ้งสมาชิกอีกครั้งเดือนมกราคม 2564 ว่า (เมื่อไม่มี ศปลช.และชมรมครูชีวิตใหม่แห่งชาติ) มีกฎระเบียบใหม่ สมาชิกทุกคนที่เหลืออยู่ (จำนวน 5,092 คน) ต้องเสียค่าสมัครสมาชิกรายละ 500 บาท ค่าบำรุงรายปีกองทุนอิสระฯ ปีละ 2,000 บาท เรียกเก็บเงินเพิ่มในกองทุนอิสระฯ รายละ 1,500 บาท จังหวัดจ่ายเพิ่มให้ รายละ 100 บาท รวมเป็นเงิน 4,100 บาท(จังหวัดโดยนางมะลิซ้อน พลีสิงห์โอนเข้าบัญชีนายณัชภณ) ซึ่งสมาชิกจะได้จ่ายเพียง รายละ 4,000 บาท เงินส่วนหนึ่งจะนำไปทำประกันชีวิตให้กับสมาชิกในวงเงิน 500,000 บาท จากนั้นเจ้าของกองทุนอิสระฯ ได้นัดหมาย เป็นครั้งที่ห้าว่า “จะได้รับการปลดหนี้ในหลังวันที่ 29 เมษายน 2564 เป็นต้นไป”.

(ติดตามตอนที่ 2 ต่อไป)

———————

***บทความขนาด 9 ตอนจบนี้ ข้อมูลส่วนหนึ่งได้จากคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อศึกษาแผนปฏิรูปประเทศด้านการศึกษาและแนวทางการบริหารจัดการปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษาอย่างเป็นระบบสภาผู้แทนราษฎร (39 คน)และคณะทำงานในคณะกรรมาธิการวิสามัญชุดดังกล่าวซึ่งมีสำคัญ จงโกเย็น เป็นคณะทำงาน ผู้แทนของกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) ผู้แทนกองปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ(ปอศ.) รัชนี กิจพนาพร วันชัย-สำเนาว์ ศิริธีรพัฒน์ หนังสือร้องทุกข์กล่าวโทษ ดีเอสไอ และคณะกรรมาธิการฯ ของสุวัช ศรีสด หนังสือร้องทุกข์กล่าวโทษที่สถานีตำรวจ สภ.ลพบุรี ขอนแก่น เชียงใหม่ พิษณุโลก ลำปาง ลำพูน ศรีสะเกษ สระบุรี สิงห์บุรี อุดรธานี อุตรดิตถ์ นครสวรรค์    กองปราบปราม ปอศ. และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ  และสาโรช บุตรเนียร เพื่อนนักศึกษา มศว.มหาสารคาม และประสานมิตรเมื่อครั้ง 14 ตุลาคม 2516  ความรับผิดชอบใดๆ เป็นของผู้เขียนทั้งสิ้น.

สมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์

แสดงความคิดเห็น