ไม้ขีดก้านแรกส่งให้รัฐจัดการทุจริตยักยอกฟอกเงิน จุดติดแล้ว “ไฟลุกท่วมสหกรณ์ครูทั่วประเทศ”(11)   

สหกรณ์ออมทรัพย์ครู จ.ขอนแก่น มีคดีความเกี่ยวกับเรื่องความไม่โปร่งใสมากที่สุดภายในประเทศ ด้วยการพุ่งเป้าตรงไปยัง ส.ส. บัญชีรายชื่อพรรครัฐบาล แต่เรื่องราวยังไม่สู้จะคีบหน้า เพราะศาลให้เหตุผลว่าสถานการณ์โควิด-19 ไม่สู้ดีนักจึงขอเลื่อนไปก่อน

เรา(ผู้เขียน) จะเริ่มจากสหกรณ์ออมทรัพย์ครูขอนแก่น จำกัด(สอค.ขก.) ก่อนเพื่ออธิบายว่า สหกรณ์แห่งนี้มีชื่อเสียงด้านลบสุดฉาวโฉ่ อดีตผู้จัดการ สอค.ขก.คนดังได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคพลังประชารัฐ และยังคงเป็นแกนนำคนสำคัญในการเลือกตั้งภาคอีสานตอนเหนือด้วย กระทำการทุจริตเกี่ยวกับเงินฝากฯ สุดปริศนาในธนาคารสาขาของกรุงเทพมหานครจำนวน(อย่างน้อย) 431 ล้านบาท

เป็นใครไม่ได้ นอกจากชมรมสมาชิกสหกรณ์ออมทรัพย์ครูฯ นำโดย ดร.วิศร์ อัครสันติกุล นายไพฑูรย์ พิมพ์ทอง นายอุดมสงวนชม นายวิชัย อ่อนเบ้า นายอเนก คำยัง และนายพนทอง ขาวสร้อย ต่างร่วมกันเป็นโจทก์ยื่นฟ้องอดีตประธานและกรรมการดำเนินการรวม 37 คน (ตั้งแต่ปี 2554-2562) ในข้อหาร่วมกันยักยอกจัดทำบัญชีและงบการเงินอันเป็นเท็จและเสนองบเท็จ กรณีเงินของสหกรณ์ได้หายกว่า 431 ล้านบาท(Nation TV 23/11/2563)

และที่ศาลจังหวัดขอนแก่นระหว่างนายอนุศาสตร์ สอนศิลพงศ์(ประธานสหกรณ์ออมทรัพย์ครูฯ) เป็นโจทก์ยื่นฟ้องข้อหาแจ้งความเท็จต่อประธานสหกรณ์ออมทรัพย์ครูฯ ที่กล่าวหาว่าฉ้อโกงเงินโบนัส (จำนวน20 ล้านบาทแก่กรรมการ เจ้าหน้าที่และอาจนำไปจ่ายซ่อนแฝงให้ผู้แทนสมาชิกด้วย) และผิดกฎหมายสหกรณ์ โดยมีนายวิศร์  (ประธานชมรมสมาชิกสหกรณ์ออมทรัพย์ครูฯ) และนายอุดม สงวนชม เป็นจำเลย(คดีหมายเลขดำที่ อ 392/2563)

ดร.วิศร์ ได้ออกแถลงการณ์เรื่องการเงินผิดปกติของสหกรณ์ฯ และยังพบอีกว่าอาจมีการกระทำส่อไปในทางไม่ชอบด้วยกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องมาโดยตลอด(กรณีอ่านกรณีนางนวรัตน์และคณะรวม 45 คนฟ้องศาลปกครองกลาง)

เริ่มตั้งแต่มีการจัดซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาลมาจำหน่ายโดยที่ไม่มีตัวสลากจริง(อีสานบิซ.14 พฤศจิกายน 2019) และ ดร.วิศร์ยังได้ออกจดหมายเปิดผนึกล่าสุดเมื่อ 17 เมษายน 2564 ความว่า “ศาลได้เลื่อนการนัดหมายทั้ง 2 คดีออกไปไม่มีกำหนดเนื่องจากสถานการณ์โรคโควิด-19 และในส่วนที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายนพรัตน์ สร้างนานอก นายสมศักดิ์ โคตวงศ์ นายนิวัฒร และนางวราพร ธรณี เป็นจำเลยในข้อหายักยอกทรัพย์ ร่วมกันปลอมเอกสารสิทธิ และใช้เอกสารสิทธิปลอม(คดีหมายเลขดำที่ อ 0089/2564) และพนักงานอัยการเป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายเอกราช ช่างเหล่า(อดีตผู้จัดการสหกรณ์ออมทรัพย์ครูขอนแก่นจำกัด และปัจจุบันเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดขอนแก่น พรรคประชารัฐ)

จำเลย ในช้อหาฉ้อโกงประชาชน ปลอมและใช้เอกสารปลอมในการเบิกจ่ายเงินของสหกรณ์ออมทรัพย์ฯ เมื่อต้นเดือนเมษายนนี้ เป็นคดีหมายเลขดำที่ อ 258/2564 และ ดร.วิศร์ ยังระบุอีกว่า ฟอกเงินถือเป็นอีกคดีหนึ่งซึ่งจะได้ยื่นฟ้องต่อไป(จดหมายเปิดผนึก. 17 เมษายน 2564) สรุป คือว่า ฟ้องเองโดยสมาชิกกับประธานและกรรมการฯ 3 คดี(ฟ้องตอบโต้กัน) และพนักงานอัยการฟ้องอีก 2 คดี

คราวนี้ มาว่าด้วยเรื่องของศาลปกครองกลาง(จังหวัดขอนแก่น) นวรัตน์ ชูทุ่งยอ เป็นยอดครูนักสู้คนที่ 3 (สานิตย์ พลศรีชัยภูมิคนที่หนึ่ง พิชัย สมพงษ์ นครราชสีมาคนที่สอง) ที่เราอยากจะยกย่องครูทั้ง 43 คนที่ร่วมกันฟ้องศาลปกครองกลางและชำระค่าธรรมเนียมศาลจำนวนมาก เช่น เยาวเรศ จิตติวนาวรรณ เสียค่าธรรมเนียมศาล 10,104 บาท คนอื่นๆ ก็ลดหลั่นกันลงมา ที่ควรกล่าวถึงเท่าที่ส่งข้อมูลมาได้แก่ ธนาภร ขันภักดี (ดูเอกสารคำคัดค้านคำให้การ 6 หน้าประกอบ)  จินตนา ผุยโสภา อดิศร โคตรชาลี วรรษมน แสนกล้า ชูศรี นิลนันท์ นิรันดร์-ทองใส ชำนาญ นิ่มน้อย แพงปัสสา นวพร รัชนานันท์ อำพล แสงชาติ และวัลย์ดี กันพ้นภัย ฯลฯ

เราเห็นว่า สหกรณ์ออมทรัพย์ครูขอนแก่นจำกัด(สอค.ขก) ในช่วงปี 2563-2564 มีคดีกว่า 5 คดี เข้าใจว่าคดีมากที่สุดในประเทศไทย ยังไม่รวมคดีฟอกเงินที่ ดร.วิศร์จะฟ้อง และคดีที่อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) สั่งให้ยุติเรื่องแชร์ลอตเตอรี่(สหกรณ์เป็นคู่สัญญากับบริษัทนายหน้าว่าจะจัดหาสลากกินแบ่งรัฐบาลมาจำหน่ายแต่หามีสลากไม่)  คือ สอค.ขก.ที่ 14 (คงฟ้องสหกรณ์ครูถูกจำคุก 13 สหกรณ์) มิให้ทำการสอบสวนดำเนินคดีต่อ แล้วอธิบดีคนนั้นย้ายพนักงานสอบสวนให้ไปประจำนครราชสีมาอีกด้วย คิดว่าทรงอิทธิพลอย่างมากในวงการครูสุดๆ

ยุทธวิธีที่นวรัตน์และครูทั้ง 43 คนจะฟ้องต่อศาลปกครองนั้น มาจากการไม่ได้รับคำตอบที่เอาการเอางานของกรมส่งเสริมสหกรณ์(เหมือนกรณีกรมส่งเสริมสหกรณ์แพ้คดีในศาลปกครองสูงสุดแก่นายสานิตย์ พลศรี เมื่อ 30 กรกฎาคม 2563 และขณะนี้ได้ส่งคำพิพากษาศาลไปยัง ป.ป.ช.แล้ว รอวันจะดำเนินคดีอาญามาตรา 157 และอื่นๆ ของ ปอ.) จากนั้นครูกลุ่มนี้

ก็ใช้คำพิพากษาศาลฎีกา 6423-6424/2555 (กรณีสุพรรณบุรี) และหนังสือสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย(ค.ป.ภ.) ที่ 2120/564 ลว 15 กุมภาพันธ์ 2564 ตอบข้อหารือว่า สอค.ขก.ไม่ได้รับในอนุญาตประกอบธุรกิจประกันภัยตามกฎหมายว่าด้วยประกันชีวิตและกฎหมายประกันวินาศภัย(ดูคำคัดค้านคำให้การ 6 หน้าของธนาภรประกอบ) โดยเฉพาะในคำคัดค้านฯที่ว่า “ตามพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ.2542 มาตรา 46(2) ให้สวัสดิการและการสงเคราะห์ตามสมควรแก่สมาชิกและครอบครัว จากผู้ถูกฟ้องพยายามให้โอกาสและส่งเสริมให้ สอค.ขก.ดำเนินการเช่นนี้ เป็นการบริหารการปกครองที่ทำให้สมาชิกเสียหาย ด้วยเหตุปล่อยปละละเลยให้ สอค.ขก.ทำในสิ่งที่ผิดกฎหมาย จำนวนเงินที่เก็บจากสมาชิกสองพันกว่าล้านบาท ผลประโยชน์ที่นำไปให้สมาชิกกู้เป็น”สัญญาสามัญสวัสดิการ” ไม่เคยเอามาเฉลี่ยคืน*ให้แก่สมาชิกเลยเป็นเวลาหลายสิบปีสืบทอดกันมาสับเปลี่ยนกันขึ้นบริหารจัดการสหกรณ์ วางแผนกันอย่างเป็นระบบมาตลอด สมาชิกเกิดความแตกแยกสับสนเป็นภาระหนี้เพิ่มให้สมาชิก”(ดูคำคัดค้านคำให้การหน้า3) และหนังสือร้องทุกข์ของนวรัตน์10 มีนาคม 2564 ถึงนายทะเบียนสหกรณ์ที่ว่า “ข้าพเจ้าและเพื่อนสมาชิกมีความรู้สึกกังวลเรื่องร้องเรียน ล่าช้ามาก หมดหวัง ท้อแท้ เหนื่อยหน่าย ลำบากใจในการทำหนังสือร้องเรียนไปตามลำดับขั้นตอนแล้วยังไม่ทราบผลที่เป็นทางการยังแก้ปัญหาให้กับข้าพเจ้าและสมาชิกสหกรณ์ที่เสียหายไม่ได้”(ดูหนังสือฯ 10 มีนาคม 2564)  เพียงเท่านี้คิดว่ามีหลักฐานพยานเอกสารและบุคคล และตัวอย่างคดีคำพิพากษาศาลฎีกาเพียงพอที่จะนำคดีขึ้นสู่ฟ้องศาลปกครองกลางเพื่อฟ้องสหกรณ์จังหวัดขอนแก่น ผู้ถูกฟ้องคนที่ 1 อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ผู้ถูกฟ้องคนที่ 2 และกรมส่งเสริมสหกรณ์ผู้ถูกฟ้องคนที่ 3 ได้  และทางสหกรณ์จังหวัดขอนแก่น ท่านยังคงจำได้ที่เคยพูดท้าทายที่ว่า “วันนี้ข้าพเจ้าและเพื่อนสมาชิกมีความเดือดร้อนอยู่สหกรณ์จังหวัดขอนแก่น(รองนายทะเบียนสหกรณ์)ยังท้าทายให้ข้าพเจ้าและเพื่อนสมาชิกที่ไปด้วยว่าให้ไปฟ้องร้องดำเนินคดีเอาเอง มีหนังสือตอบให้ข้าพเจ้าและเพื่อนสมาชิกเป็นการปัดความรับผิดชอบมิได้แก่ปัญหาให้กับข้าพเจ้าและสมาชิกอย่างตรงไปตรงมาตามระเบียบ(นวรัตน์ฯ หนังสือร้องทุกข์ต่ออธิบดีกรมส่งเสริม

สหกรณ์. 7 ธันวาคม 2563 ฉบับที่สอง 10 มีนาคม 2564 และฉบับที่สาม 24 มีนาคม 2564) จากนั้นอธิบดีฯในฐานะนายทะเบียนสหกรณ์ได้มอบหมายให้นายถาพร ณ นคร ผู้ตรวจราชการกรมส่งเสริมสหกรณ์เขต 11-12 รับผิดชอบตรวจสอบแล้ว (แต่ก็ยังตรวจสอบไม่แล้วเสร็จ)

เราหันมาพิจารณาทางโคราชบ้าง “ผมดีใจมากว่าการร้องเรียนยื่นจดหมายประมาณ 3 ปี 50 กว่าฉบับ…คดีนี้จะเป็นประวัติศาสตร์ครั้งแรกที่ครูและสมาชิกเข้าใจจะได้รับรู้อย่างถ่องแท้เสียที คนที่หากินบนความทุกข์ยากของครูไม่มีสิทธิปฏิเสธกฎแห่งกรรมไปได้เลย” พิชัย สมพงษ์ ครูสูงเนิน อดีตกรรมการสหกรณ์ออมทรัพย์ครูนครราชสีมาจำกัด(สอ.นม.)และอดีตกรรมการสมาคมฌาปนกิจสงเคราะห์สมาชิก สอ.นม.กล่าวไว้ในอีสานบิซตอนที่ผ่านมา

ในวันนี้เขา(พิชัย) และผองเพื่อนที่ยังไปมาหาสู่ร้องเรียนร้องทุกข์ร่วมกันคือ สัมนา ฉัตรบูรณจรัส ศิลปะ เศษกลาง เสน่ห์ สุขนาคินทร์ และสำเภา ทวีผล ได้ร้องทุกข์ไปยังรองนายทะเบียนสหกรณ์(สหกรณ์จังหวัด) ตามหนังสือฉบับลงวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2564 (หนังสือที่พิเศษ 2/2564) ให้นายทะเบียนสหกรณ์ใช้อำนาจหน้าที่ร้องทุกข์หรือฟ้องคดีแทน สอ.นม. ตามมาตรา 21 ของกฎหมายสหกรณ์โดยแยกเป็น 2 พฤติการณ์คือ 1. พฤติการณ์คณะกรรมการดำเนินการฯ จงใจฝ่าฝืนกำหนดหลักประกันเงินกู้ที่ขัดต่อกฎหมายว่าด้วยการก่อหนี้ผูกพันกับบุคคลภายนอกบริษัทประกันภัยหรือบริษัทประกันชีวิตทำให้เกิดความเสียหายแก่สหกรณ์หรือสมาชิกและหรือประชาชน  และ 2. พฤติการณ์คณะกรรมการดำเนินการฯ จงใจฝ่าฝืนแนวทางปฏิบัติในการกำหนดหลักประกันเงินกู้ฯ ที่ขัดต่อกฎหมายโดยกำหนดเงื่อนไขบังคับให้สมาชิกสหกรณ์ผู้ขอกู้เงินจากสหกรณ์ต้องเป็นสมาชิกของนิติบุคคล(อีกนิติบุคคล) สมาคมฌาปนกิจสงเคราะห์ ขณะนี้พวกเขาได้ติดตามเรื่องนี้กับสหกรณ์จังหวัดนครราชสีมาแล้วเมื่อวันที่ 20 เมษายน 2564 ที่เพิ่งผ่านมา(ยังไม่คืบหน้า)

เรื่องที่สอง พวกเขาได้ทำหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมาฉบับลงวันที่ 5 มีนาคม 2564(ที่ 1/2564) ขอให้นายทะเบียนสมาคมฌาปนกิจสงเคราะห์ประจำท้องที่เทศบาลปรุใหญ่ปฏิบัติตามกฎหมายมาตรา 47 โดยเคร่งครัด และวินิจฉัยข้อร้องเรียนตามมาตรา 43 และ 52 เพื่อป้องกันการฉ้อโกงและการแสวงหาประโยชน์จากกิจการฌาปนกิจสงเคราะห์ของคณะกรรมการ เจ้าหน้าที่ ผู้ตรวจสอบบัญชีสมาคมฯและผู้สนับสนุนที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการดำเนินงานโดยไม่สุจริตและเป็นภัยร้ายแรงต่อประชาชน โดยมีคำชี้แจงเพิ่มเติมประกอบ 14 หน้ากระดาษว่าด้วย 1. นายทะเบียนสมาคมฯประจำท้องที่มีอำนาจตรวจสอบข้อเท็จจริงหรือพยานตามข้อกล่าวหาของผู้ร้องเรียน(พร้อมหลักฐาน)  2. การทุจริตการเก็บเงินสงเคราะห์จำนวนศพและจำนวนเงินสงเคราะห์(ต่อศพที่ตาย) ในเดือนเดียวกันของสมาชิกบางคนมีจำนวนไม่เท่ากัน(ทั้งๆ ที่จำนวนคนตายในเดือนนั้นเท่ากัน) 3. สมาคมฯทั้งสอง(ชื่อยาว) ส.ฌ.นม. และสมาคมฯ ฌ.ส.นม..

ไม่มีใบเสร็จรับเงินสงเคราะห์หรือใบเสร็จรับเงินค่าบำรุงสมาคมฯให้กับสมาชิก(พวกเขาร้องเรียนไปแล้วเป็นปีที่3 แต่เงียบเหมือนเป่าสาก) ในคำชี้แจงนี้ยังระบุรายชื่อสมาชิกที่สุ่มเลือกมาเพียง  7 อำเภอ ประจำอำเภอเมืองฯ โนนสูง ห้วยแถลง ปักธงชัย สีคิ้ว ด่านขุนทด และแก้งสนามนาง พบว่า พฤติการณ์สำคัญแห่งคดีที่ 1 พบว่า 1. สมาคมฯ ส.ฌ.นม. ใช้ใบเสร็จรับเงินสหกรณ์ออมทรัพย์ครูนครราชสีมาจำกัด  และเก็บเงินสงเคราะห์ศพโดยไม่สุจริตประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2559  2. (ข้อความเดียวกันกับพฤติการณ์สำคัญแห่งคดีข้อ 1.) ประจำเดือนสิงหาคม 2559  3. (ข้อความเดียวกันฯ) ประจำเดือนตุลาคม 2559 4. (ข้อความเดียวกันฯ) ประจำเดือนกันยายน 2560 5. (ข้อความเดียวกันฯ) ประจำเดือน

พฤศจิกายน 2560 6. สมาคมฯ ส.ฌ.นม.และสมาคมฯ ฌ.ส.นม. ใช้ใบเสร็จรับเงินสหกรณ์ออมทรัพย์ครูนครราชสีมาจำกัด เก็บเงินสงเคราะห์ศพโดยไม่สุจริต(ภาษากฎหมายมาตรา 52(2)) ประจำเดือนกันยายนและตุลาคม 2561 7. (ข้อความเดียวกันกับข้อ 6) ประจำเดือนพฤศจิกายนและธันวาคม 2561 และพฤติการณ์สำคัญแห่งคดีที่ 2 คือ 1. คณะกรรมการดำเนินการ สอ.นม. ได้มีมติตั้งสมาคมฯ ส.ฌ.นม. และ ฌ.ส.นม. ได้ใช้ใบเสร็จ(โดยผิดกฎหมายเป็นนิติบุคคล กฎหมายคนละฉบับ) ของ สอ.นม. และเก็บเงินสงเคราะห์ศพสมาชิกโดยไม่สุจริตในเดือนกรกฎาคมและสิงหาคม 2561 2. (ข้อความเดียวกันกับข้อ 1.) ประจำเดือนกันยายน 2561 3. ข้อพิรุธ อาจร่วมฉ้อโกงประชาชนกรณีนายเสน่ห์ สุขนาคินทร์ ผู้สมัครได้รับมติให้เป็นสมาชิกในวันที่ 28 กันยายน 2561 (แต่ต้องไปจ่ายเงินสงเคราะห์(ศพ)ที่ตายก่อนวันเป็นสมาชิก2ศพ)  จึงไม่ต้องจ่ายเงินสงเคราะห์ให้สมาคมฯ 2 ศพ เป็นเงิน 60 บาท ชัดเจนที่สุด และ 4. ข้อพิรุธ การนำสมาชิกผู้เสียชีวิต(ตาย)ในเดือนกันยายน 2561 มาเก็บซ้ำในเดือนตุลาคม 2561 ยิ่งกว่าชัดเสียอีก เป็นขั้นแจ่มแจ้งแดงแจ๋เลยทีเดียว

ในวันนี้ ปรากฏว่านายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดฯในฐานะผู้บังคับบัญชาของนายทะเบียนสมาคมฌาปนกิจสงเคราะห์ประจำท้องที่เทศบาลปรุใหญ่ตอบหนังสือมาแล้ว(ที่ นม 0017.1/7895 และ7897 ลงวันที่ 16 เมษายน 2564) ว่าจังหวัดได้แจ้งให้สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดนครราชสีมาตรวจสอบข้อเท็จจริงและพิจารณาดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ในเรื่องดังกล่าว โดยให้ความคุ้มครองผู้ร้อง พยาน หรือผู้ให้ข้อมูล อย่าให้ต้องได้รับภัยหรือความเดือดร้อนหรือถูกกลั่นแกล้งหรือความไม่ชอบธรรมอันเนื่องมาจากการร้องเรียน การเป็นพยาน หรือการให้ข้อมูลครั้งนี้ด้วย ให้รายงาน(กลับ)จังหวัดทราบภายในวันที่ 7 พฤษภาคม 2564.

เราจะติดตามและเร่งรัดเวลาที่ร้องเรียนมาแล้ว 3 ปี กับบรรดาข้าราชการเช้าชามเย็นสองชามในการจัดการทุจริตครั้งใหญ่และร้ายแรงในวงการสหกรณ์ครูและสมาคมฌาปนกิจสงเคราะห์นี้ มานำเสนอต่อไป.

(ติดตามตอนต่อไป…พายุร้ายแรงพัดพาสหกรณ์ครูหักเงินปันผลเฉลี่ยคืนกว่า 300 คนโดยไม่ชอบฯ)

เอกสารอ่านประกอบ

(หนังสือร้องทุกข์ต่อนายทะเบียนสหกรณ์ของนวรัตนฯฉบับลงวันที่ 10 มีนาคม 2564/ใบเสร็จค่าธรรมเนียมศาลของเยาวเรศ/คำสั่ง-คำคัดค้านคำให้การ คดีหมายเลขดำที่ 311/2563 ของธนาภรฯ/หนังสือจังหวัดนครราชสีมาที่ นม 0017.1/7897 ลว 16 เมษายน 2564 ถึงนายพิชัย สมพงษ์ และที่ นม 0017.1/7895 ลว 16 เมษายน 2564 ถึงพัฒนาสังคมฯ จังหวัดนครราชสีมา)

แสดงความคิดเห็น