คุก 10 ปี ปรับ 2.2 แสนอดีตนายก อบต.โนนสง่า-ร้อยเอ็ด ฮั้วประมูล คลัง-ผู้รับเหมา โดนด้วย ระบุจำเลยมีสิทธิพิสูจน์ความโปร่งใสในศาลชั้นต่อไป

รายงานข่าวแจ้งว่าเว็บไซต์สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้เผยแพร่ความคืบหน้าผลคดีกล่าวหา นางสุภาพร วงศ์ทอง เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนตำบลโนนสง่า อำเภอปทุมรัตต์ จังหวัดร้อยเอ็ด กับพวก ประกอบไปด้วย นางบัณฑิต คำยา หัวหน้าส่วนการคลัง จำเลยที่ 2 นายสำราญ วิชาคำ เจ้าของร้านสำราญก่อสร้าง จำเลยที่ 3 นายดาวเรือง บุตรสำราญ เจ้าของร้านดาวเรืองการค้า จำเลยที่ 4 นายบุญเส็ง งามวงษ์ เจ้าของร้านกิจงามวงษ์ จำเลยที่ 5 นายศรี โพธิ์พยัคฆ์ เจ้าของร้านธวัชชัยก่อสร้าง จำเลยที่ 6 นายรำไพ พะยังเฆ เจ้าของร้านดงบังก่อสร้าง จำเลยที่ 7 ปกปิดประกาศการจัดซื้อจัดจ้างขององค์การบริหารส่วนตำบลโนนสง่า เพื่อกีดกันมิให้มีการแข่งขันในการเสนอราคาอย่างเป็นธรรม
.
คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2562 มีมูลความผิดทางอาญาตามมาตรา 149 ,151 ,157 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 4 มาตรา 10 มาตรา 12 ประกอบ ป.อ. มาตรา 86 มาตรา 90 ความคืบหน้าล่าสุดเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2563 ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 4 พิพากษาจำเลยที่ 1 มีความผิดตามมาตรา 149 ,157 จำนวน 2 กระทงลงโทษตามมาตรา 149 ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีโทษหนักที่สุด และจำเลยที่ 1 ยังมีความผิดตามมาตรา 151 ,157 จำเลยที่ 2 มีความผิดตามมาตรา 151 ประกอบมาตรา 46 มาตรา 157 ประกอบมาตรา 86 จำเลยที่ 3 ที่ 4 ที่ 5 ที่ 6 ที่ 7 มีความผิดตามมาตรา 151 ประกอบมาตรา 86 และจำเลยที่ 1 มีความผิดตามมาตรา 10 ,12 พ.ร.บ. ฮั้ว อีกจำนวน 3 กระทง จำเลยที่ 2 มีความผิดตามมาตรา 10,12 จำนวน 3 กระทง การกระทำ ความผิดของจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ในแต่ละกระทรวงเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามมาตรา 12 ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีโทษหนักที่สุดการกระทำของจำเลยที่ 3 ที่ 4 ที่ 5 จำเลยที่ 6 และจำเลยที่ 7 ให้ลงโทษตามมาตรา 12 ประกอบ ป.อ. มาตรา 86 ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีโทษหนักที่สุด จำเลยที่ 1 รวมจำคุก 10 ปี 30 เดือน และปรับ 29000 บาท จำเลยที่ 2 รวมจำคุก 15 ปีและปรับ 450 000 บาท จำเลยที่ 3 ที่ 4 ที่ 5 ที่ 6 และ 7 จำคุกคนละ 1 ปี 8 เดือน และปรับคนละ 50,000 บาท
.
เบื้องต้นเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2564 มติครั้งที่ 51/2564 คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติเห็นชอบในการที่อัยการสูงสุดจะไม่อุทธรณ์คำพิพากษาศาลอาญาคดี ทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 4 และเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2564 มติครั้งที่ 24/2564 คณะกรรมการ ป.ป. ช. มีมติเห็นชอบในการที่อัยการสูงสุดจะไม่ฎีกาคำพิพากษาศาลอุทธรณ์
.
ทั้งนี้ คดียังไม่สิ้นสุด จำเลย มีสิทธิต่อสู้คดีเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ในชั้นศาลที่สูงกว่านี้อีกได้สำหรับประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149 ระบุว่า ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งรัฐ สมาชิกสภาจังหวัด หรือสมาชิกสภาเทศบาล เรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ เพื่อกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่งไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือมิชอบด้วยหน้าที่ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี หรือจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงสี่แสนบาท หรือประหารชีวิตมาตรา 151 ระบุว่า ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการหรือรักษาทรัพย์ใด ๆ ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริต อันเป็นการเสียหายแก่รัฐ เทศบาล สุขาภิบาลหรือเจ้าของทรัพย์นั้น ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี หรือจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงสี่แสนบาท
.
มาตรา 157 ระบุว่า ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
.
พ.ร.บ.ฮั้ว มาตรา 12 ระบุว่า เจ้าหน้าที่ในหน่วยงานของรัฐผู้ใดกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้หรือกระทำการใด ๆ โดยมุ่งหมายมิให้มีการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม เพื่อเอื้ออำนวยแก่ผู้เข้าทำการเสนอราคารายใดให้เป็นผู้มีสิทธิทำสัญญากับหน่วยงานของรัฐ มีความผิดฐานกระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปี ถึงยี่สิบปี หรือจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่ หนึ่งแสนบาทถึงสี่แสนบาท
แสดงความคิดเห็น