เรา(ผู้เขียน) เห็นว่าครบกำหนดวัน(28 เมษายน2564)แล้ว ที่ได้ให้บุคคลทั้งหลายส่งข้อมูลมาอธิบายเรื่องที่ถูกยื่นร้องทุกข์กล่าวโทษกันไปกันมาในกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ)หรือในกองปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ(ปอศ.) กองบัญชาการสอบสวนกลาง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และร้องทุกข์กล่าวโทษยังสถานีตำรวจภูธรและหน่วยงานระดับกรมอีก 14 แห่ง และยังร้องฯไปยังคณะกรรมาธิการวิสามัญฯหนี้สินครูของสภาผู้แทนราษฎร อีกด้วย
ฝ่าย “ณัชภณ วงส์วิเศษ” ประธานกองทุนอิสระฯได้โพสต์ไลน์ข้อความด้วยความสุภาพต่อเราผู้เขียนและได้โพสต์เอกสารจำนวนมากกล่าวหาว่า “สุวัช ศรีสด” น่าจะฉ้อโกงประชาชน (หรือไม่?) ได้ให้พยานหลักฐานเอกสารสมาชิกมีการโอนเงินให้บจ.อิลลูมิเนชั่น คอร์ปอร์เรต จำกัด โดยเขาอ้างมาว่า “สุวัช” ไปชวนครูที่เป็นสมาชิกชมรมครูชีวิตใหม่แห่งชาติไปลงทุนหุ้น โดยตนมีหลักฐานมากกว่านี้ และไปเอาเงินกองทุนมาจากหลายจังหวัด(เช่น นครราชสีมา ดูหลักฐานประกอบ) มามากมาย
เรื่องเหล่านี้อยู่ในดีเอสไอ (ยื่นร้องทุกข์ใน 8 มีนาคม 2564) เพื่อยื่นตอบโต้ “สุวัช” ที่ยื่นต่อดีเอสไอกล่าวหา “ณัชภณ” ฉ้อโกงประชาชนเมื่อ 4 มีนาคม 2564 และ”สุวัช” ยังมีคดีกองทุนหมู่บ้านครั้งหนึ่งเมื่อเขาเป็นประธานกองทุนหมู่บ้านนาไผ่ ตำบลเสริมซ้าย โดย “ณัชภณ” มอบหนังสือให้เราสองฉบับที่ลงนามโดยนางพันระณี เรียนอ้าย กรรมการกองทุนฯ ทั้งสองฉบับ เรื่องนี้เป็นคดีที่อยู่ในศาลแล้ว “ณัชภณ” อ้างว่า “สุวัชก็ยังมีคดีกองทุนหมู่บ้านที่ลำปาง…เมื่อเราผู้เขียนขอคดีหมายเลขดำที่เท่าไร (ยังไม่ให้แต่) เดี๋ยวจะขอคัดให้ใหม่”
ต่อมา “ณัชภณ”ได้ให้เอกสารจำนวนมาก เช่น ขอนแก่น นางกองคำ สุภรัตนกุล ประธานชมรมครูชีวิตใหม่จังหวัดขอนแก่น ยังเขียนข้อความเป็นที่ประทับใจ “ณัชภณ” อย่างมากว่า“สมาชิกชมรมครูชีวิตใหม่จังหวัดขอนแก่นจำนวน 270 คน จะไม่ขอรับเงินทุกรายการคืนและพร้อมเดินหน้าต่อไปกับกองทุนอิสระฯและท่านประธานกองทุนฯ ด้วยความรักศรัทธาและเชื่อมั่นในกองทุนอิสระฯ โดยมีท่าน“ณัชภณ วงส์วิเศษ”เป็นผู้นำพาสมาชิกชมรมครูฯ ไปสู่ความสำเร็จแห่งการปลดหนี้ในระยะเวลาอันใกล้นี้” (ดูเอกสารประกอบ)
ที่ว่าเป็นที่ประทับใจ “ณัชภณ” นั้น เพราะเขาได้เขียนไลน์ “(เขา-สุวัช)ไปร้องว่าโดนฉ้อโกง ทั้งที่ได้รับเงินคืนไปหมดแล้ว โดยสมาชิกกองทุน (อิสระฯ) ถ้าเขียนใบลาออกจะได้รับเงินคืนภายใน 30 วัน ทั้ง ๆที่หากยึดตามเอกสาร (เช่นกองคำ) ไม่ต้องคืนก็ได้นะครับ เพราะสมาชิกยืนยันไม่ขอรับเงินคืน แต่เรา(ณัชภณ)ไม่ทำเพราะทุกบาททุกสตางค์คือ เงินของเขาที่เก็บออมมาด้วยความยากลำบาก”
นอกจากนี้ “ณัชภณ” ยังได้ให้หลักฐานนายประเสริฐ ชูเชิด ประธานชมรมครูชีวิตใหม่จังหวัดนครนายก ยังได้มีหนังสือลงวันที่ 23 ธันวาคม 2563 ไปถึงประธานบริษัทอิลลูมิเนชั่น คอร์ปอร์เรต จำกัด เพื่อให้บริษัทฯ แห่งนี้ใช้ศักยภาพให้ความช่วยเหลือในการชำระหนี้สหกรณ์ออมทรัพย์ครู 9 รายในสามจังหวัด นครนายก ปทุมธานี และปราจีนบุรี เป็นเงินรวม 19 ล้านบาทเศษ(เสนอเฉพาะตัวเลขหลักล้านบาท ดูเอกสารประกอบ) อีกด้วย
เรา(ผู้เขียน) เขียนไปด้วยการแสดงความเคารพต่อ นายณัชภณ และขอบคุณที่ช่วยให้ข่าวบางด้านบางแง่บางมุม และเราได้แสดงบทบาทของนักวิชาการ และสื่อมวลชนว่า เรายินดีที่จะลงข่าวให้แต่ขอให้มีหลักฐานเป็นเอกสารเชื่อถือได้ เราไม่ได้เข้าข้างไหนทั้งสิ้น เพื่อพิสูจน์ความจริงให้ปรากฏ
“ความจริงเป็นสิ่งไม่ตาย ทำลายไม่ได้” และ ณัชภณก็ตอบว่า “อะไรที่ถูกต้องก็สนับสนุน อะไรที่เป็นเท็จ ก็ไม่ยอมใครเหมือนกัน”(สนทนาทางไลน์ 19-20 เมษายน 2564)
หลังจากนั้น เราก็ให้คณะที่ปรึกษาพิมพ์ข้อความเป็นเอกสารเก็บไว้อ้างอิง แล้วส่งเอกสารเหล่านั้นไปให้บุคคลที่เกี่ยวข้อง พร้อมจะรอคำอธิบายจะได้พิจารณาลงในบทความนี้และได้รับคำชี้แจงกลับมาว่า “เรื่องกองทุนหมู่บ้านนั้นเป็นเรื่องส่วนตัว” เรื่องการโอนเงินไปให้บริษัทฯ นั้นเป็นเรื่องของสมาชิก ตนเองไม่ได้เกี่ยวข้องใดๆ เป็นเรื่องของ “ลพบุรีโมเดล”
“ลพบุรีโมเดล” หมายความถึงครูที่ออกจากกลุ่มหรือกลุ่มครูชีวิตใหม่แห่งชาติ(เดิม)แล้วมาจัดตั้งกลุ่มใหม่โดยกลุ่มครูลพบุรีเป็นผู้ตั้งขึ้น ประธานและกรรมการฯ เป็นผู้ประสานงานกับ บจ.อิลลูมิเนชั่นฯ (ซึ่งครั้งหนึ่ง “ณัชภณ”เคยจ้างให้ผู้เชี่ยวชาญบริษัทนี้มาทำกระเป๋าเงิน (ไอโทเคน) โดยสมาชิกต้องจ่ายเงินรายละ 1,100 บาท) “สุวัช” ได้อ้างว่าไม่ได้เกี่ยวข้องกับบริษัทนี้แต่ประการใดและเงินที่ยืมมาจากหลายแหล่งที่ “ณัชภณ” ร้องทุกข์กับดีเอสไอว่า ฉ้อโกงประชาชนนั้น ตนขอปฏิเสธทุกประการไว้แล้วที่ดีเอสไอ
ส่วนเงินที่สมาชิกของกองทุนอิสระฯ ขอลาออกและบอกว่า “จะไม่ขอรับเงินทุกรายการคืน…”คณะที่ปรึกษาของเราก็สืบค้น ปรากฏเขียนคล้ายคลึงกันในทุกจังหวัดแล้วพบความจริงว่า“เป็นข้อที่มีใครคนหนึ่งเป็นผู้เขียนแล้วส่งไปให้ “สารสนเทศจังหวัด”(คณะกรรมการคล้ายธุรการของโรงเรียนของกองทุนจังหวัด)แล้วให้ประธานชมรมครูชีวิตใหม่จังหวัดนั้นๆ ลงนามไปถึงตน พร้อมนี้คณะที่ปรึกษาได้ส่งเอกสารเกี่ยวกับบริษัทอิลลูมิเนชั่นฯ ลาออกทุกตำแหน่งในกองทุนอิสระฯ ตามหนังสือลงวันที่ 11 กันยายน 2563 นั้นมาอีกด้วย(คณะที่ปรึกษาเรา.2564)
หลังจากนั้นเราและที่ปรึกษาด้านกฎหมายก็ได้ทำการวิเคราะห์ในประเด็นข้อกฎหมายว่า 1. “สุวัช” อ้างว่า ไม่ได้ยืมเงินกองทุนใดๆ ทั้งสิ้น เพราะกองทุนไม่ได้จดทะเบียนกับส่วนราชการใดๆ เลย ที่ปรึกษาบอกว่าถูกต้อง 2. คำว่า “ยืม” นัยคือ คดีแพ่ง ถ้าไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือก็ดำเนินคดีไม่ได้ พนักงานสอบสวนอาจจะบอกว่า ไม่อยู่ในอำนาจ 3. ในรายงานประจำวันรับแจ้งเป็นหลักฐานโดยนายฉัตรชัย ฤทธิสนธิ์(นครราชสีมา) แจ้งสถานีตำรวจสภ.โพธิ์กลางว่า นายสุวัชฯ ได้ยืมเงิน 2 แสนบาท จึงบันทึกไว้เป็นหลักฐานนั้น “ศาลถือว่า มิใช่การร้องทุกข์ตามกฎหมาย ขาดอายุความ จึงพิพากษายกฟ้อง”
4.การยืมเงินระดับล้านบาทขึ้นไปให้ยืมกันง่ายๆ โดยไม่มีค้ำประกัน น่าสงสัยมาก ยิ่งเห็นทั้งสองคนสนิทสนมกันมากแล้วยืมเงินกันแล้วมาบอกว่าฉ้อโกงประชาชน (ประเด็นยืมเงินเท่านั้น ไม่เกี่ยวกับการระดมเงินจำนวนมหาศาลไปตั้งเป็นกองทุน(โดยไม่มีกฎหมายรับรอง)นั้นเป็นความผิดตามกฎหมายหลายฉบับอยู่แล้ว) คำว่าสนิทสนมกันมาก อาจวิเคราะห์ได้ว่าต่างฉ้อโกงประชาชนหรือไม่?
- วิเคราะห์จากความเป็นมาและการตั้งกองทุนออมสัจจะ(มติชมรมครูฯ) ที่ลพบุรี 29 กุมภาพันธ์ 2563 และการตั้งกองทุนอิสระฯ ถึงวันนี้เดือนพฤษภาคม 2564 มีผู้รับผิดชอบทั้งสองคนพร้อมคณะได้แก่ทั้ง “สุวัช” และ “ณัชภณ” ต่อมา “ณัชภณ” ปลด “สุวัช” ออกจากกองทุนอิสระฯ ถ้าทั้งคู่ได้แจงพฤติการณ์ของตนไว้โดยละเอียดจะเห็นว่าทั้ง “สุวัช” และ “ณัชภณ” ต่างสนิทสนมกันมากจึงให้เงินยืมไปจำนวนนับล้านบาท จึงพอจะสรุปได้ว่า…อย่างไร ? (ขอผู้อ่านโปรดสรุปเอาเอง) ที่ปรึกษากฎหมายของเรายังบอกว่าแสดงได้สมบทบาทจริงๆ พยายามที่จะทำให้บุคคลเข้าใจได้ว่าเป็นคดีแพ่ง ไม่อยู่ในอำนาจของพนักงานสอบสวน(ตำรวจ,ดีเอสไอ) ดำเนินคดีอาญาไม่ได้ ดำเนินคดีฉ้อโกงประชาชนไม่ได้
- ที่ปรึกษากฎหมายยังระบุอีกว่างานนี้อาจจะลามถึงสมาชิกชมรมครูชีวิตใหม่แห่งชาติซึ่งลงมติ กรรมการจังหวัด กรรมการอำเภอ หรือบุคคลอื่นใดที่เกี่ยวข้องจะถูกดำเนินคดีฉ้อโกงประชาชนเสียทุกคนทั้งที่เป็น “ผู้ร่วมกระทำผิด” และ“ผู้สนับสนุน” ดูได้จากหลักฐานการโอนเงินผ่านธนาคารฯ ไม่ว่าจะเบิกถอนเงินสดแล้วส่งมอบให้ (จากกองทุนจังหวัดมายังชมรมครูฯ แล้วชมรมครูฯ ก็โอนเข้าบัญชีให้) ล้วนแต่เป็นข้อเท็จจริงแสดงนัยความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลทั้งสองทั้งสิ้น ผมแน่ใจว่าทั้งสองเป็น “ผู้ร่วมกระทำ” และคดีนี้เป็นฐานความผิดของคดีฟอกเงินอีกด้วย แล้วดูผลการอายัดบัญชีของ ป.ป.ง. ด้วย (ผู้เขียนและสาโรช บุตรเนียร. น.บ. น.บ.ท. 2564)
รายงานข่าวจากคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อศึกษา…แนวทางการบริหารจัดการปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษาอย่างเป็นระบบ สภาผู้แทนราษฎร แจ้งว่า ในการประชุมคณะกรรมาธิการฯ เดือนกุมภาพันธ์ 2564 นายสุทัศน์ เงินหมื่น สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์ (อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม)ได้ชี้แจงในต่อประชุมว่า ทางกองปราบปรามฯ ปอศ. ได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่ ป.ป.ง.ว่าได้อายัดบัญชีนั้นไว้แล้ว โดยระบุว่ามีเงินติดบัญชีเหลือเพียง 1 แสนบาทเท่านั้น(ตัวเลขในบัญชีมีการโอนเข้าเป็นจำนวนหลายล้านบาท)
เพื่อประกอบการตัดสินใจของครูและผู้อ่านทั่วไป ขอส่งการขอเงินค่าทีมทนายความและซื้อรถประจำตำแหน่ง และเอกสารล่าสุดของกองทุนอิสระฯ ที่ SWF221.01/015 ลงวันที่ 5 เมษายน 2564 ลงนามโดยนายเพชรโภคิน จิรอรรถพงศ์ ผู้อำนวยการสำนักพิสูจน์หนี้และตรวจสอบหนี้ กองทุนอิสระฯ เรื่อง ขอขยายเวลาในการชำระหนี้และบังคับคดี เรียน สถาบันการเงินและหน่วยงานบังคับคดี
อ้างว่า ในวันที่ 29 เมษายน 2564 กองทุนอิสระฯ จะประชุมร่วมกับคณะทำงานของนายกรัฐมนตรีเพื่อวางกรอบในการปลดหนี้ของสมาชิกกองทุนอิสระฯ จึงขอความอนุเคราะห์ขยายเวลาในการดำเนินงานเป็นเวลา 60-90 วัน(ดูเอกสารประกอบ 3 ฉบับ จะเห็นได้ยิ่งกว่าชัดเจนว่า กองทุนอิสระฯจะขอเลื่อนเวลา(ขยายเวลา)ที่จะปลดหนี้ปลอดดอกเบี้ยเป็นครั้งที่ 5 แล้ว ส่วนคดีฉ้อโกงประชาชน ทั้งสองคนกับพวก(ร้องทุกข์กล่าวโทษกันไปกันมาทั้งสองฝ่าย) ต้องไปพิสูจน์ความจริงที่ศาลอาญา และ ป.ป.ง.
คงจะชัดเจนแล้ว ที่เราผู้เขียนจะจบลงด้วยการเสนอข้อมูลทั้งสองด้านสองฝ่าย ด้วยเอกสารที่เชื่อถือได้ว่าเป็นเอกสารแท้ แต่จะเป็นความจริงหรือไม่ ศาลสถิตยุติธรรมเท่านั้นที่เป็นผู้ชี้ขาด.(ติดตามตอนที่ 4 การกู้เงินธนาคารออมสินของครูมีค่าคอมมิชชันประกันฯหรือไม่)