มข. กระทุ้งรัฐอย่าหลงทิศพัฒนาแมลงแหล่งโปรตีนโลก

มข. เดินหน้า จัดประชุมวิชาการจิ้งหรีดอีสาน ครั้งที่ 3 ประจำปี 2564 “WHAT’S NEXT FUTURE FOOD 2021” ยื่นข้อเสนอกระทุ้งรัฐอย่าหลงทิศพัฒนาแมลงแหล่งโปรตีนโลก

วันที่ 11 พฤษภาคม 2564 รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวเปิดการประชุม โดยย้ำว่า ม.ขอนแก่น ให้ความสำคัญในการขับเคลื่อนเรื่องแมลงแหล่งโปรตีนทดแทน ตามข้อเสนอขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ หรือ FAO ซึ่งสถาบันวิจัยยุทธศาสตร์และประสานความร่วมมือเพื่อพัฒนาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดทำโครงการพัฒนาเกษตรกรผู้เลี้ยงจิ้งหรีดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือให้ได้รับมาตรฐานความปลอดภัย ส่งเสริมให้เกษตรกรได้รับการรับรองฟาร์มเลี้ยงจิ้งหรีดมาตรฐาน GAP จำนวน 33 ฟาร์ม ของบ้านแสนตอ จ.ขอนแก่น จำนวน 21 ฟาร์ม และบ้านฮ่องฮีจ.กาฬสินธุ์ จำนวน 12 ฟาร์ม

โดยการประชุมในวันนี้ เป็นการเสนอผลสรุปการดำเนินโครงการโดยมีนักวิชาการ เกษตรกรผู้เลี้ยงจิ้งหรีด ผู้ประกอบการแปรรูปผลิตภัณฑ์จิ้งหรีด นำเสนอเรื่องราวความสำคัญของจิ้งหรีดในมิติต่าง ๆ สำหรับมุมมองของนักวิชาการมหาวิทยาลัยขอนแก่น ประกอบด้วย โดย ศ.ดร.ยุพา หาญบุญทรง ผศ. ดร.เยาวรัตน์ ศรีวรานันท์ จากคณะเกษตรศาสตร์ ผศ.ดร.พรณรงค์ ชาญนุวงศ์ และ ผศ.ดร.นยทัต ตันมิตร จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ดร.บุษกรณ์ ลีเจ้ยวะระ จากวิทยาลัยบัณฑิตศึกษาการจัดการ กล่าวถึงความเป็นมาและความสำคัญของสารพัดแมลงกินได้ ที่มนุษย์นำมาเลี้ยงในระบบฟาร์ม โดยต้องเลี้ยงในระบบที่มีความปลอดภัย ผู้เลี้ยงและผู้บริโภคสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ ซึ่งก็คือระบบมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับฟาร์มจิ้งหรีด หรือระบบ GAP เกษตรกรผู้เลี้ยงจิ้งหรีดหรือผู้ประกอบการแปรรูปผลิตภัณฑ์จิ้งหรีดสามารถเลี้ยงในระบบมาตรฐาน GAP

โดยงานวิจัยครั้งนี้ได้มีแบบมาตรฐานโรงเรือนเลี้ยงจิ้งหรีดให้กับผู้ที่สนใจนำไปปรับประยุกต์ใช้ รวมถึงประมาณการค่าใช้จ่ายในการก่อสร้าง ต้นทุนการเลี้ยงจิ้งหรีดตามขนาดโรงเรือน รวมถึงการวิเคราะห์โมเดลธุรกิจจิ้งหรีดสู่อุตสาหกรรมอาหารจากต้นแบบบ้านแสนตอและบ้านฮ่องฮี ในขณะที่เกษตรกรผู้เลี้ยงจิ้งหรีดที่ร่วมนำเสนอในครั้งนี้ ได้แก่ นายเพ็ชร วงศ์ธรรม ประธานวิสาหกิจชุมชมกลุ่มเศรษฐกิจพอเพียงเลี้ยงจิ้งหรีดบ้านแสนตอ นางสาวอรวรรณ วอทอง ประธานวิสาหกิจชุมชนแมงสะดิ้งจิ้งหรีดบ้านฮ่องฮี และคุณอิงครัตน์ ธัญศิรธนารมย์ บริษัท All bugs จ.ชัยภูมิ ต่างให้ความเหมือนกันในการสร้างความเข้มแข็งของกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงจิ้งหรีด สิ่งสำคัญคือการมีเครือข่าย การมีคุณภาพมาตรฐานการเลี้ยง สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ มีกองทุนสวัสดิการสำหรับสมาชิก การตั้งเป้าหมายของกลุ่ม รวมถึงแสวงหาช่องการตลาดที่หลากหลายเพื่อลดความเสี่ยง

ในขณะที่ผู้ประกอบการแปรรูปผลิตภัณฑ์จิ้งหรีด Start Up อันดับต้น ๆ ของจังหวัดขอนแก่น คือ หมอคิม สพ.ญ. ลัลน์ลลิต สุคนธรัตนสุข จากบริษัท ลัลน์ลลิต อะกริ ฟู้ดส์ จำกัด และ อ.ดนัย ศิริบุรี ที่ปรึกษาด้านวิชาการ หจก.แมลงรวย จ.อุดรธานี มองเห็นถึงอนาคตการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากจิ้งหรีด การจ้างงานในพื้นที่ เป็นโอกาสของคนอีสานในการกลับคืนถิ่น

ในการประชุมครั้งนี้ ศ.ดร.ยุพา หาญบุญทรง ร้องขอต่อรัฐบาลในการขับเคลื่อนแมลงกินได้ เป็นวาระแห่งชาติ รัฐบาลต้องให้ความสำคัญในการกำหนดนโยบาย การสนับสนุนงบประมาณ บุคลากร วัสดุอุปกรณ์ในการวิจัยการทดลอง ทดสอบ รวมถึงการพัฒนานวัตกรรมเพื่อการสร้างมูลค่าเพิ่มของแมลงกินได้ มีแผนปฏิบัติการที่ชัดเจน

รศ.รังสรรค์ เนียมสนิท ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยยุทธศาสตร์ฯ ม.ขอนแก่น ได้ขอบคุณสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) และสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ที่ให้ทุนสนับสนุนการวิจัยในครั้งนี้ และขอขอบคุณหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องที่ได้ร่วมกิจกรรมและผลักดันให้เกิดผลกระทบในวงกว้าง

 

 

แสดงความคิดเห็น