กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เผย เอฟทีเอทำส่งออกมะม่วงสดไทยไปได้สวยท่ามกลางโควิด ไตรมาสแรกพุ่ง 46% ทำเงินเข้าประเทศเฉียด 25 ล้านเหรียญสหรัฐ อาเซียน เกาหลีใต้ ยังคงเป็นตลาดหลัก ในขณะที่ตลาดจีน และฮ่องกงขยายตัวเพิ่มขึ้นมาก ปัจจุบัน 15 ประเทศคู่ FTA ไม่เก็บภาษีนำเข้ามะม่วงสดจากไทยแล้ว เหลือเพียง สปป.ลาว กัมพูชา และเกาหลีใต้
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า มะม่วงสดของไทยได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นในตลาดต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศที่ไทยมีความตกลงการค้าเสรี หรือ เอฟทีเอ ด้วย ส่งผลให้ไทยครองตำแหน่งผู้ส่งออกมะม่วงอันดับ 2 ของอาเซียน และอันดับ 7 ของโลก ซึ่งในช่วงไตรมาสแรกของปี 2564 (ม.ค.-มี.ค.) ไทยส่งออกมะม่วงสดสู่ตลาดโลกมูลค่า 24.85 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวถึง 46% จากช่วงเดียวกันของปี 2563 โดยมีอาเซียนและเกาหลีใต้เป็นตลาดหลัก
นางอรมน เพิ่มเติมว่า ปัจจุบัน 15 ประเทศคู่เอฟทีเอ ได้แก่ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ บรูไนฯ เวียดนาม เมียนมา มาเลเซีย จีน ญี่ปุ่น ฮ่องกง ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อินเดีย ชิลี และเปรู ไม่เก็บภาษีนำเข้ามะม่วงสดจากไทยแล้ว เหลือเพียง สปป.ลาว กัมพูชา ที่เก็บในอัตรา 5% และเกาหลีใต้เก็บในอัตรา 24% ส่งผลให้การส่งออกไปยังตลาดคู่เอฟทีเอ ในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ เพิ่มขึ้น 48% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า (สัดส่วน 97.05% ของการส่งออกมะม่วงสดทั้งหมด) นอกจากนี้ ตลาดส่งออกมะม่วงสด สำคัญ 5 อันดับแรกของไทย ล้วนเป็นประเทศคู่เอฟทีเอและยอดส่งออกยังเติบโตอย่างน่าพอใจ ได้แก่ อาเซียน 12.6 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 110% (มาเลเซียและเวียดนามเป็นตลาดส่งออกหลักในอาเซียน ขยายตัว 325% และ 31% ตามลำดับ) เกาหลีใต้ 8.5 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 1.5% ฮ่องกง 1.1 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 464% และจีน 0.8 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 258% จึงทำให้เห็นว่า เอฟทีเอเป็นปัจจัยสำคัญที่สร้างศักยภาพในการแข่งขันให้กับมะม่วงสดของไทยในตลาดต่างประเทศ
“แนวโน้มความต้องการมะม่วงสดที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในตลาดจีน และฮ่องกง ซึ่งเป็นผู้นำเข้ามะม่วงอันดับต้นของโลก และนิยมมะม่วงพันธุ์ที่ไทยมีศักยภาพในการเพาะปลูก เช่น มะม่วงน้ำดอกไม้ มะม่วงมหาชนก มะม่วงเขียวเสวย เป็นต้น จึงมีโอกาสที่ไทยจะสามารถขยายส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้นได้ นอกจากนี้ ผลไม้แปรรูปที่มีลักษณะเป็นขนมขบเคี้ยวรับประทานง่าย ซึ่งได้รับแต้มต่อทางภาษีภายใต้เอฟทีเอเช่นเดียวกับมะม่วงสด ก็มีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นเช่นกัน ผู้ประกอบการไทยจึงอาจพัฒนาเพิ่มรูปแบบผลิตภัณฑ์สำหรับส่งออก เช่น มะม่วงอบแห้ง โดยให้ความสำคัญกับมาตรฐานสินค้าและพัฒนาคุณภาพการผลิต พิถีพิถันตั้งแต่การเพาะปลูก การบรรจุหีบห่อ การมีใบรับรองสุขอนามัยพืช รวมทั้งระมัดระวังเรื่องการใช้สารเคมีและยาฆ่าแมลง เนื่องจากปัจจุบันตลาดในหลายประเทศเข้มงวดในเรื่องนี้และผู้บริโภคก็นิยมผลไม้ปลอดสารพิษหรือเกษตรอินทรีย์เพิ่มขึ้น และที่สำคัญควรใช้สิทธิประโยชน์จากเอฟทีเอช่วยในการส่งออกอย่างเต็มที่” นางอรมนเสริม
——————————————-
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ
กระทรวงพาณิชย์
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ
กระทรวงพาณิชย์
แสดงความคิดเห็น