ตั้งแต่เกิดการระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการทั้งรายใหญ่และรายย่อย กลุ่มลูกจ้าง และประชาชนทั่วไป โดยเฉพาะผู้ที่มีภาระหนี้ ซึ่งทั้งภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันพิจารณาหาแนวทางและออกมาตรการต่าง ๆ เพื่อให้ความช่วยเหลือทุกกลุ่มมาอย่างต่อเนื่อง
ล่าสุดเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2564 ได้ออกพระราชกำหนดการให้ความช่วยเหลือและฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจ ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 โดยเพิ่มการเข้าถึงความช่วยเหลือได้มากขึ้นเพื่อให้ธุรกิจยังสามารถดำเนินการต่อไปได้ ประกอบด้วย 2 มาตรการ คือ
มาตรการแรก “สินเชื่อฟื้นฟู” วงเงิน 250,000 ล้านบาท เน้นให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบการกลุ่ม SMEs ซึ่งได้รับผลกระทบแต่ยังมีศักยภาพ เพื่อเสริมสภาพคล่องในการประกอบธุรกิจลดผลกระทบต่อการจ้างงาน และฟื้นฟูการประกอบการ แต่ไม่ให้นำเงินสินเชื่อดังกล่าวไปชำระหนี้เดิมที่มีอยู่กับสถาบันการเงิน สำหรับการออกมาตรการครั้งนี้ได้มีการปลดล็อกข้อจำกัดจากมาตรการเดิมที่สำคัญในการเข้าถึงสินเชื่อ ดังนี้
- ขยายขอบเขตลูกหนี้เพื่อให้เข้าถึงสินเชื่อได้มากขึ้น โดยกลุ่มลูกหนี้รายเดิมที่มีวงเงินสินเชื่อเดิม ปรับขยายระยะเวลาการนับสินเชื่อเป็น ณ 28 ก.พ. 64 รวมถึงการนับวงเงินได้เปลี่ยนจาก
นับวงเงินรวมกลุ่มธุรกิจในเครือเป็นนับวงเงินแยกเป็นแต่ละรายธุรกิจ และเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการ
ที่ยังไม่เคยมีสินเชื่อธุรกิจกับสถาบันการเงินทุกแห่ง ณ 28 ก.พ. 64 สามารถยื่นกู้ได้ - ขยายวงเงินกู้สำหรับลูกหนี้เดิม จากที่เคยให้กู้ไม่เกิน 20% ของยอดหนี้คงเหลือ ก็ได้ปรับเพิ่มขึ้นเป็นไม่เกิน 30% ของวงเงินสินเชื่อในแต่ละสถาบันการเงิน ณ 31 ธ.ค. 62 หรือ 28 ก.พ. 64
แล้วแต่ยอดใดจะสูงกว่า แต่ต้องไม่เกิน 150 ล้านบาท (นับรวมสินเชื่อ soft loan เดิม) และกำหนดวงเงินกู้สำหรับลูกหนี้รายใหม่ให้มีโอกาสได้รับวงเงินสูงสุดถึง 20 ล้านบาท (นับรวมทุกสถาบันการเงิน)
นอกจากนี้ยังได้มีการขยายระยะเวลาผ่อนชำระจากเดิม 2 ปี เป็น 5 ปี และมีการค้ำประกัน
สินเชื่อยาวขึ้นผ่านบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) จากเดิม 2 ปี เป็นไม่เกิน 10 ปี เพื่อให้กิจการสามารถปรับตัวและรองรับสถานการณ์ภายหลังโควิด-19 อีกทั้งป้องกันความเสี่ยงในการชำระหนี้ในอนาคต รวมถึงมีการกำหนดอัตราดอกเบี้ยให้เอื้อต่อการฟื้นฟูกิจการ โดยภายในระยะเวลา 5 ปี ให้คิดอัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยได้ไม่เกินร้อยละ 5 และมีการยกเว้นหรือลดหย่อนภาษีและค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องอีกด้วย
ผู้มีสิทธิยื่นกู้ต้องมีคุณสมบัติหลัก ๆ คือ ถ้าเป็นลูกหนี้เดิมต้องมีวงเงินสินเชื่อกับสถาบันการเงินแต่ละแห่ง ณ 28 ก.พ. 64 รวมแล้วไม่เกิน 500 ล้านบาท และต้องไม่เป็น NPL ณ 31 ธ.ค. 62 ส่วนผู้ยื่นกู้รายใหม่ ต้องไม่มีวงเงินสินเชื่อกับสถาบันการเงินทุกแห่ง ณ 28 ก.พ. 64 (ไม่รวมถึงวงเงินสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภค) และต้องไม่เป็น NPL ณ 31 ธ.ค. 62
มาตรการที่สอง โครงการ “พักทรัพย์ พักหนี้” วงเงิน 100,000 ล้านบาท เพื่อลดภาระหนี้และสนับสนุนการรับโอนทรัพย์เป็นหลักประกันเพื่อชำระหนี้แก่สถาบันการเงิน สำหรับกลุ่มผู้ประกอบการ SMEs และผู้ประกอบการขนาดใหญ่ โดยไม่กำหนดเพดานวงเงิน แต่จะพิจารณาจากผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบรุนแรงจากโควิด-19 ที่มีปัญหาในการชำระหนี้ ต้องการเวลาในการฟื้นตัว โดยมีทรัพย์สินเป็นหลักประกันอยู่กับสถาบันการเงินก่อน 1 มี.ค. 64 และไม่เป็น NPL ณ 31 ธ.ค. 62 ทั้งนี้ก็เพื่อเป็นการลดภาระ ให้โอกาสซื้อกลับ ลดความเสี่ยงที่ทรัพย์จะถูกขายในราคาที่ต่ำเกินไป และเพิ่มโอกาสในการกลับมาดำเนินธุรกิจเพื่อให้เกิดการจ้างงานอันจะส่งผลต่อเศรษฐกิจโดยรวม
การเข้าร่วมมาตรการพักทรัพย์ พักหนี้ จะขึ้นอยู่กับความสมัครใจของทั้งสถาบันการเงินและลูกหนี้ โดยราคาตีโอนทรัพย์ชำระหนี้จะเป็นไปตามการตกลงกันของผู้ซื้อ (สถาบันการเงิน) และผู้ขาย (ลูกหนี้)
ซึ่งลูกหนี้จะสามารถซื้อคืนได้ภายในระยะเวลา 3 – 5 ปี ในราคาที่ตีโอน บวกด้วยต้นทุนการถือครองทรัพย์ (carrying cost) โดยในระหว่างนี้สามารถเช่าทรัพย์นั้นในอัตราค่าเช่าที่ตกลงกันเพื่อนำมาประกอบธุรกิจ
ได้ตามปกติ และในการซื้อคืนยังนำยอดรวมค่าเช่ามาหักออกจากราคาตีโอนได้อีกด้วย ยกตัวอย่างเช่นมีการตกลงตีโอนทรัพย์ในมูลค่า 10 ล้านบาท และจ่ายค่าเช่าไปแล้วรวมทั้งสิ้น 1 ล้านบาท เมื่อถึงเวลาซื้อคืนราคาซื้อคืนจะเท่ากับ 9 ล้านบาท บวกด้วยต้นทุนการถือครอง ไม่เกินร้อยละ 1 ต่อปีของราคาตีโอน นอกจากนี้ยังได้รับการยกเว้นภาษีและค่าธรรมเนียมที่เกี่ยวข้องกับการโอนทรัพย์ทั้งขาไปและกลับ
สำหรับกรณีมูลค่าตีโอนทรัพย์เพื่อชำระหนี้ต่ำกว่ามูลค่าหนี้ สถาบันการเงินสามารถพิจารณาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ส่วนที่เหลือให้กับลูกหนี้ได้ เช่น หนี้เดิม 10 ล้านบาท มูลค่าตีโอน7 ล้านบาท ส่วนที่เหลือ 3 ล้านบาท ก็ทำการปรับโครงสร้างหนี้กันไปโดยที่สิทธิในการซื้อคืนก็ยังคงอยู่
ผู้ประกอบการสามารถขอรับความช่วยเหลือตามเงื่อนไขสินเชื่อทั้ง 2 ประเภท กับสถาบันการเงินได้ตั้งแต่บัดนี้จนถึงวันที่ 9 เมษายน 2566 ทั้งนี้ ขอแนะนำให้เตรียมความพร้อมในเบื้องต้น
ไว้ก่อน โดยการตรวจสอบข้อมูลเครดิตบูโรว่าเป็น NPL ณ วันที่ 31 ธ.ค. 62 หรือไม่ ก่อนติดต่อประสานงานกับสถาบันการเงินเพื่อตรวจสอบวงเงิน และเตรียมข้อมูล รวมถึงเอกสารประกอบการยื่นกู้ต่อไป
อย่างไรก็ตาม แม้ในทุกภาวะวิกฤตจะมีมาตรการต่าง ๆ ออกมาช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง แต่หากในภาวะปกติทุกภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการ ลูกจ้างหรือประชาชน มีการวางแผนทางการเงินและเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับภาวะวิกฤตต่าง ๆ ก็จะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนที่อาจเกิดขึ้นไปได้ ดังนั้น จึงขอเชิญชวนทุกท่านหันมาใส่ใจในการวางแผนทางการเงินให้มากขึ้น เพื่อให้มีสุขภาพทางการเงินที่แข็งแรง พร้อมรับทุกภาวะวิกฤตที่อาจเกิดขึ้นอีกในอนาคต โดยไม่ต้องรอพึ่งยาขนานใดค่ะ
บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล จึงไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย
โดย-นางสาวจิตรลดา ภูมูลนา ผู้วิเคราะห์อาวุโส ส่วนคุ้มครองและให้ความรู้ผู้ใช้บริการทางการเงิน