รายงานข่าวจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ฝ่ายนโยบายกระทรวงคมนาคมสั่งการให้ รฟท. เร่งรัดการดำเนินโครงการรถไฟทางคู่ ระยะที่ 2 ช่วง ขอนแก่น-หนองคาย เป็นการเร่งด่วน เนื่องจากเป็นโครงการที่ผ่านการอนุมัติรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) จากคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (คชก.) มาแล้ว ตั้งแต่วันที่ 3 ต.ค. 2561 หรือกว่า 2 ปีแล้ว ซึ่งหากปล่อยให้เวลาล่วงเลยจนผลการอนุมัติอีไอเอ มีอายุครบ 5 ปี และยังไม่มีการเริ่มดำเนินโครงการ ตามกฎหมายจะถือว่าอีไอเอฉบับดังกล่าวจะหมดอายุ ไม่สามารถนำมาใช้ได้อีก และจะต้องจัดทำอีไอเอใหม่หากจะดำเนินโครงการ อาจจะส่งผลกระทบทำให้โครงการดังกล่าวล่าช้าออกไปอีก จึงจำเป็นต้องเร่งดำเนินโครงการให้เร็วที่สุด เบื้องต้น รฟท. ได้ปรับแผนงานโดยได้นำเสนอโครงการรถไฟทางคู่ ช่วง ขอนแก่น-หนองคาย ขึ้นมาประมูลก่อนโครงการอื่นแล้ว
“โครงการนี้มีความพร้อมมาก เพราะผ่านอีไอเอมานานแล้ว ขณะนี้ รฟท. ได้ส่งเรื่องไปให้สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) ให้พิจารณารายละเอียดแล้ว อยู่ระหว่างรอความเห็นเพิ่มเติมจากสภาพัฒน์ฯ ส่งกลับมา คาดว่าจะนำเสนอโครงการให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติได้ในเดือนต.ค. 2564 และเปิดประมูลได้ในเดือน ธ.ค. 2564 หรืออย่างช้าในเดือน ม.ค.ปี 2565 ตั้งเป้าเริ่มก่อสร้างในช่วง มิ.ย. ปี 2565 ใช้เวลาก่อสร้างพร้อมติดตั้งอาณัติสัญญาณและระบบโทรคมนาคม 4 ปี แล้วเสร็จช่วงมิ.ย.ปี 2569”
สำหรับทางคู่ ช่วง ขอนแก่น-หนองคาย มีระยะทางรวมทั้งสิ้น 167 กิโลเมตร วงเงินลงทุน 26,647 ล้านบาท แบ่งเป็น ค่างานก่อสร้างรวมภาษี 2,5079 ล้านบาท, ค่าเครื่องจักรในการก่อสร้าง 763 ล้านบาท, ค่าจ้างที่ปรึกษาคุมงาน 543 ล้านบาท และ ค่าใช้จ่ายด้านอสังหาริมทรัพย์ 262 ล้านบาท ทั้งนี้ จากการศึกษาความคุ้มค่าของการลงทุนพบว่ามีอัตราผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ (EIRR) อยู่ที่ 18.57% โดยอัตราผลตอบแทนปีแรกคาดว่าจะอยู่ที่ 0.75% สามารถช่วยลดต้นทุนค่าขนส่งที่ต่ำกว่าการขนส่งทางถนนได้ 2-3 เท่า
สำหรับแนวเส้นทางส่วนใหญ่อยู่ในเขตกรรมสิทธิ์ที่ดินรถไฟ หรือเขตทางรถไฟเดิม ทั้งนี้ เพื่อลดผล กระทบจากการเวนคืนที่ดิน โดยมีที่ดินต้องเวนคืนเพียงบางส่วนประมาณ 176 ไร่ เพื่อปรับแนวเส้นทางรองรับความเร็ว 160 กิโลเมตร/ชั่วโมง โดยโครงการดังกล่าวมีจุดเริ่มต้นที่ กม.453+955 ต่อจากรถไฟทางคู่ ช่วงจิระ-ขอนแก่น และสิ้นสุดโครงการ ที่สถานีรถไฟหนองคาย กม.620+500
ทั้งนี้ ตลอดเส้นทาง 167 กิโลเมตร จะมีการก่อสร้างอาคารสถานีแห่งใหม่ ซึ่งจะเป็นสถานีขนาดเล็ก จำนวน 6 สถานี ได้แก่ น้ำพอง, โนนสะอาด, หนองตะไก้, เขาสวนกวาง, กุมภวาปี และ นาทา และมีการปรับปรุงอาคารสถานีเดิม จำนวน 6 สถานี ได้แก่ สำราญ, ห้วยเกิ้ง, หนองขอนกว้าง, โนนพระยอม, ห้วยสามยอด และนาพู่ และยังมีที่หยุดรถ จำนวน 4 แห่ง ได้แก่ ห้วยไห, บ้านวังชัย, ห้วยเสียว และ คำกลิ้ง
ด้านประกวดราคาโครงการรถไฟทางคู่สายใหม่ เส้นทางบ้านไผ่-มหาสารคาม-ร้อยเอ็ด-มุกดาหาร-นครพนม ระยะทาง 355 กิโลเมตร (กม.) มูลค่าก่อสร้าง 54,684.40 ล้านบาท แบ่งออกเป็น 2 สัญญา ตั้งแต่วันที่ 26 มี.ค.-24 พ.ค. 2564 และเปิดให้ยื่นข้อเสนอและเสนอราคาในวันนี้ (25 พ.ค. 2564) ตั้งแต่ 08.30-16.30 น.นั้น
ทั้งนี้ ผลการประกวดราคา หลังจากกำหนดยื่นข้อเสนอคุณสมบัติและเสนอราคาทางระบบจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ด้วยอิเล็กทรอนิกส์ (e-GP) ทั้ง 2 สัญญา (มีระยะเวลาให้จัดทำเอกสารประกวดราคา 60 วัน) พบว่า รถไฟทางคู่บ้านไผ่-นครพนม แบ่งเป็น สัญญาที่ 1 ช่วงบ้านไผ่-หนองพอก ราคากลาง 27,123.62 ล้านบาท ผลปรากฎว่า จากจำนวนผู้ซื้อเอกสาร 16 ราย มีจำนวนผู้เสนอราคา 4 ราย โดยราคาต่ำสุดที่เสนอ คือ 27,100 ล้านบาท หรือตำ่กว่าราคากลาง 23.62 ล้านบาท
ขณะที่ สัญญาที่ 2 ช่วงหนองพอก-สะพานมิตรภาพ 3 ราคากลาง 28,333.93 ล้านบาท พบว่า จากจำนวนผู้ซื้อเอกสาร 16 ราย มีผู้เสนอราคา จำนวน 4 ราย โดยราคาต่ำสุดที่เสนอ 28,310 ล้านบาท หรือตำ่กว่าราคากลาง 23.93 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 27 พ.ค. 2564 จะเปิดให้ยื่นข้อเสนอเอกสารส่วนที่ 2 (ซองข้อเสนอด้านเทคนิค) ตั้งแต่เวลา 09.00-15.00 น. ที่สถานีรถไฟฟ้า CAT มักกะสัน ทั้ง 2 สัญญา
สำหรับโครงการรถไฟทางคู่สายใหม่ เส้นทางบ้านไผ่-มหาสารคาม-ร้อยเอ็ด-มุกดาหาร-นครพนม ระยะทาง 355 กม. มูลค่าก่อสร้าง 54,684.40 ล้านบาทนั้น เป็นโครงการที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติไปแล้วเมื่อวันที่ 28 พ.ค. 2562 และคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) เห็นชอบ EIA แล้วนั้น คาดว่า จะประกาศใช้พ.ร.ฎ. เวนคืนในช่วง มิ.ย. 2564 โดยจะเปิดให้ยื่นข้อเสนอด้านเทคนิคในวันที่ 27 พ.ค. 2564 จากนั้นจะประกาศผลการประกวดราคาวันที่ 15 ก.ค. 2564 และลงนามสัญญา 6 ส.ค. 2564 ก่อนเริ่มก่อสร้างใน ต.ค. 2564 แล้วเสร็จ ก.ย. 2568