การระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อประชาชนในวงกว้างทำให้ขาดรายได้หรือรายได้ลดลงจนไม่เพียงพอกับรายจ่ายและภาระหนี้ แม้จะพยายามลดรายจ่ายและทำอาชีพเสริม ก็ยังไม่พอจ่ายหนี้ แล้วจะทำอย่างไร การเจรจาแก้ไขหนี้กับเจ้าหนี้เป็นอีกหนึ่งทางออกที่จะช่วยแก้ไขปัญหาได้ แต่ก่อนไปเจรจาจำเป็นที่ลูกหนี้จะต้อง “รู้เขา (แล้ว) รู้เรา” ดังนี้ค่ะ
“รู้เขา” ข้อแรก คือ ศึกษาข้อมูลมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยของสถาบันการเงินที่เป็นเจ้าหนี้และประเภทสินเชื่อที่เป็นหนี้อยู่ รวมถึงมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะเป็นประโยชน์สามารถใช้ในการเจรจาต่อรองหรือใช้เปรียบเทียบกับเงื่อนไขที่เจ้าหนี้เสนอเพื่อให้สอดคล้องกับความสามารถชำระหนี้ของลูกหนี้ โดยลูกหนี้สามารถศึกษาข้อมูลมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ได้ที่ https://www.bot.or.th
ข้อสอง คือ รู้ช่องทางความช่วยเหลือทั้งของสถาบันการเงินที่เป็นเจ้าหนี้และของ ธปท. อย่างไรก็ตาม เบื้องต้นขอแนะนำให้ใช้ช่องทางในการติดต่อกับสถาบันการเงินที่เป็นเจ้าหนี้ก่อน แต่หากไม่สามารถเจรจาหาทางออกร่วมกันได้ กรณีที่เป็นหนี้บัตรเครดิต บัตรกดเงินสด และสินเชื่อส่วนบุคคลที่ไม่มีหลักประกัน
ไม่ว่าจะเป็นหนี้ดีหรือหนี้เสีย ลูกหนี้สามารถลงทะเบียนผ่านโครงการ “มหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้” สำหรับ
หนี้บ้าน หนี้เช่าซื้อรถ และหนี้ประเภทอื่น สามารถลงทะเบียนผ่าน “ทางด่วนแก้หนี้” ของ ธปท.
ซึ่งทั้ง 2 ช่องทางดังกล่าว ท่านสามารถศึกษารายละเอียดข้อมูลเพิ่มเติมและลงทะเบียนได้ที่ https://www.1213.or.th
“รู้เรา” ข้อแรก คือ ตรวจสอบข้อมูลเครดิตของตนเองกับบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (เครดิตบูโร) โดยเฉพาะลูกหนี้ที่มีหนี้หลายประเภทกับสถาบันการเงินหลายแห่ง ซึ่งข้อมูลเครดิตจะช่วยทบทวนความจำให้ได้ว่า เราเป็นหนี้ประเภทใดและกับสถาบันการเงินใดบ้าง และหนี้ดังกล่าวมีประวัติ
การชำระหนี้และสถานะบัญชีเป็นอย่างไร สามารถศึกษาข้อมูลได้ที่ https://www.ncb.co.th
ข้อสอง คือ เตรียมเอกสารและข้อมูล ที่แสดงเหตุผลและความจำเป็นที่ได้รับผลกระทบจากการ ระบาดของโควิด-19 ทำให้ไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามปกติ เพื่อใช้ประกอบการเจรจาและให้สถาบันการเงินใช้ประกอบการพิจารณา เช่น เอกสารการเลิกจ้าง เอกสารการถูกลดเงินเดือน ค่าล่วงเวลา โบนัส เป็นต้น
ข้อสาม คือ จัดทำตารางสำรวจสรุปภาระหนี้ที่มีอยู่ทั้งหมด เพื่อให้เห็นภาพรวมว่า มีหนี้ประเภทไหน กับใครบ้าง ยอดคงเหลือ อัตราดอกเบี้ย ระยะเวลาผ่อนชำระ ค่างวดที่ผ่อนชำระรวมต่อเดือน แล้วนำข้อมูลมาตรการช่วยเหลือฯ มาประกอบการวางแผนประมาณการตัวเลขการผ่อนชำระที่เราผ่อนไหวเพื่อสร้างทางเลือกในการแก้หนี้แต่ละประเภทก่อนเจรจากับเจ้าหนี้ และเพื่อให้ได้เงื่อนไขที่สอดคล้องกับความสามารถชำระหนี้
ในปัจจุบันมากที่สุด
การแก้ไขหนี้ สามารถทำได้ทุกคนนะคะ และแนะนำให้รีบติดต่อเจรจากับเจ้าหนี้ตั้งแต่เริ่มฝืดเคือง
อย่ารอจนขาดส่งค่างวดแล้วค่อยเจรจา เพราะจะทำให้การแก้ไขหนี้ยากขึ้นค่ะ
………………………..
บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล จึงไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย
…………….
โดย-นางสาวนัยน์ภัค มูลมา
Naiyaphm@bot.or.th
ผู้วิเคราะห์อาวุโส ส่วนคุ้มครองและให้ความรู้ผู้ใช้บริการทางการเงิน