นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม พร้อมด้วย นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม นายปริญญา แสงสุวรรณ ผู้ตรวจราชการกระทรวงคมนาคม และผู้บริหารระดับสูง ลงพื้นที่ตรวจติดตามผลการดำเนินงานโครงการเร่งด่วนของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม และแผนการพัฒนาโครงข่ายคมนาคมและส่งเสริมการท่องเที่ยวจังหวัดสุรินทร์ โดยรับฟังการบรรยายสรุปผลการดำเนินงานโครงการสำคัญเร่งด่วนของหน่วยในสังกัดกระทรวงคมนาคม และรับฟังปัญหาอุปสรรคจาก นายสุวพงศ์ กิติภัทย์พิบูลย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ ณ ห้องประชุมวีรพลปัทมานนท์ แขวงทางหลวงสุรินทร์ โดยมี นายวิทยา ยาม่วง อธิบดีกรมเจ้าท่า นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง นายปฐม เฉลยวาเรศ อธิบดีกรมทางหลวงชนบท หัวหน้าส่วนราชการ ผู้นำท้องถิ่น ผู้แทนภาคเอกชน และประชาชนในพื้นที่ให้การต้อนรับและร่วมลงพื้นที่ ในวันที่ 18 มิถุนายน 2564
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ กล่าวว่า สืบเนื่องจากพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มอบหมายให้รับผิดชอบแนวคิดการขับเคลื่อนไทยไปด้วยกันระดับพื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์และจังหวัดสุรินทร์ โดยมีหน้าที่เป็นที่ปรึกษา ให้คำแนะนำ และเสนอแนะแก่คณะกรรมการขับเคลื่อนไทยไปด้วยกันในพื้นที่จังหวัดที่รับผิดชอบ เพื่อให้การพัฒนาและแก้ไขปัญหาในระดับจังหวัดสามารถขับเคลื่อนไปได้โดยเร็ว ลดปัญหา และอุปสรรค รวมทั้งใช้ทรัพยากรต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งการลงพื้นที่จังหวัดสุรินทร์ในครั้งนี้ เพื่อขับเคลื่อนพัฒนางานด้านการคมนาคมขนส่ง ติดตามผลการดำเนินงานโครงการเร่งด่วน และแผนการพัฒนาโครงข่ายคมนาคมและส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัดสุรินทร์ เพื่อให้ประชาชนหันมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะมากขึ้น ตามหลักยุทธศาสตร์ที่มุ่งเน้นความสะดวก ปลอดภัย และตรงเวลา โดยกระทรวงคมนาคมได้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางบกและทางน้ำ ประกอบด้วยโครงการสำคัญดังนี้
1. โครงการก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 226 ตอนลำน้ำชี – ห้วยทับทัน กม. ที่ 171+182 – 233+891 ระยะทาง 62.709 กม. แบ่งออกเป็น 6 ช่วง โดยช่วงที่ 1 ช่วงที่ 3 และช่วงที่ 5 เป็นทางขนาด 4 ช่องจราจร ช่วงที่ 2 ยังไม่ได้รับงบประมาณ อยู่ระหว่างการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม ช่วงที่ 3 ช่วงที่ 4 และช่วงที่ 6 ได้รับจัดสรรเงินงบประมาณปี 2564 ประมาณ 800 ล้านบาท อยู่ระหว่างรอเซ็นสัญญาจากบริษัทผู้รับจ้าง
2. โครงการก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 2077 ตอนสุรินทร์ – ลำดวน – บัวเชด กม. ที่ 2+305 -70+728 ระยะทาง 66.707 กม. แบ่งออกเป็น 9 ช่วง โดยช่วงที่ 1 ช่วงที่ 4 และช่วงที่ 6 เป็นทางขนาด 4 ช่องจราจร ช่วงที่ 3 ช่วงที่ 5 และช่วงที่ 7 กำลังดำเนินการในปี 2564 ช่วงที่ 2 และช่วงที่ 8 ได้รับงบประมาณปี 2564 ประมาณ 600 ล้านบาท อยู่ระหว่างรอเซ็นสัญญาจากบริษัทผู้รับจ้าง ช่วงที่ 9 เป็นทางขนาด 2 ช่องจราจร อยู่ระหว่างรอรับงบประมาณปี 2566
3. โครงการก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 2378 ตอนจอมพระ – สะพานบุรีรินทร์ กม. 0+000 – 20+040 ระยะทาง 20.040 กม. แบ่งออกเป็น 10 ช่วง โดยช่วงที่ 2 ช่วงที่ 4 ช่วงที่ 7 และช่วงที่ 9 เป็นทางขนาด 4 ช่องจราจร ช่วงที่ 6 อยู่ระหว่างดำเนินงานในปี 2564 ช่วงที่ 1 ช่วงที่ 3 ช่วงที่ 5 ช่วงที่ 8 และช่วงที่ 10 อยู่ระหว่างขอรับจัดสรรงบประมาณเงินกู้ปี 2565
4. โครงการยกระดับมาตรฐานทางถนนสาย สร.4026 แยกทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 2378 – อำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์ เพื่อเชื่อมโยงหมู่บ้านช้างบ้านตากลาง และเป็นทางเลือกอีกเส้นทางหนึ่งในการเดินทางจากตัวเมืองสุรินทร์ไปยังท่าอากาศยานบุรีรัมย์ ปัจจุบันเป็นถนน 2 ช่องจราจร ขนาดความกว้างของถนน 9 เมตร แบ่งเป็นช่องจราจร 2 ช่องทางช่องทางละ 3 เมตร และไหล่ทางกว้างข้างละ 1.5 เมตร ซึ่งโครงการได้ทำการยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยของถนนให้เป็น ถนน 2 ช่องจราจรขนาดความกว้างของถนน 12 เมตร โดยขยายช่องจราจรเป็นช่องทางละ 3.5 เมตรและขยายไหล่ทางให้กว้างข้างละ 2.5 เมตร ตลอดสาย
5. โครงการก่อสร้างสะพานข้ามลำชี บ้านโคกเพชร อำเภอเมืองสุรินทร์และอำเภอกระสัง จังหวัดบุรีรัมย์ มีความยาว 290 เมตร ถนนเชิงลาดยาว 5,225 เมตร ปัจจุบันมีความคืบหน้า 58.89% เร็วกว่าแผน 18.66% จากแผนการก่อสร้าง 40.23%
6. การพัฒนาพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ “พัฒนาแหล่งน้ำ สร้างอีสานเขียว ท่องเที่ยวปลอดภัย วิถีใหม่ชุมชน” โดยสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคที่ 7 และสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขา ร่วมกับสำนักงานพัฒนาและบำรุงรักษาทางน้ำที่ 8
7. การดำเนินโครงการขุดลอกต่างตอบแทน เพื่อประหยัดงบประมาณแผ่นดินและทำให้มีพื้นที่ที่สามารถรองรับน้ำได้ โดยสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคบูรณาการร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
8. โครงการก่อสร้างถนนลาดยาง สาย สร.6052 อ่างเก็บน้ำห้วยเสนง – บ้านละเอาะ อำเภอเมืองสุรินทร์ มีความยาวตลอดเส้นทาง 25.600 กิโลเมตร ระยะเวลาดำเนินการเริ่มสัญญาวันที่ 29 มกราคม – 4 กรกฎาคม 2564 รวมระยะเวลาการก่อสร้าง 157 วัน ซึ่งในปีงบประมาณ 2564 ได้ดำเนินการก่อสร้างในช่วง กม. 7+530.000 – 11+230.000 มีการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2564 ซึ่งประชาชนรับทราบและเห็นชอบโดยไม่มีข้อขัดแย้งใด ๆ เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จจะช่วยให้การสัญจรไปมาได้สะดวกยิ่งขึ้น แก้ปัญหาน้ำท่วมขังถนน ลดการเกิดอุบัติเหตุและเป็นเส้นทางเชื่อมต่อการเดินทางไปยังศูนย์ราชการแห่งใหม่ได้อีกทางหนึ่ง
9. สถานีขนส่งผู้โดยสารจังหวัดสุรินทร์ เป็นศูนย์รวมการรับ – ส่งผู้โดยสาร และรับ – ส่งพัสดุภัณฑ์ ตั้งอยู่บนถนนจิตรบำรุง อำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์ มีการเตรียมความพร้อมด้านยานพาหนะและพนักงานขับรถยนต์เพื่อป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน และช่วยลดค่าครองชีพผู้โดยสารที่มีรายได้น้อยด้วยการจำหน่ายบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ นอกจากนี้ยังได้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 เพื่อให้ผู้โดยสารมีความเชื่อมั่นในการใช้บริการได้อย่างปลอดภัย
นอกจากนี้ ยังมีนโยบายอื่น ๆ ที่สำคัญประกอบด้วย นโยบายการนำยางพารามาใช้เพื่อปรับปรุงเพิ่มความปลอดภัยทางถนน การอำนวยความสะดวกและความปลอดภัยในการเดินทางของประชาชนในช่วงเทศกาลหรือวันหยุดยาว การเตรียมการรองรับอุบัติเหตุ อุบัติภัย สาธารณภัยในภาคคมนาคมขนส่งในช่วงฤดูฝน โครงการท่องเที่ยวปลอดภัย ในวิถีชุมชนที่ยั่งยืน ในพื้นที่อ่างเก็บน้ำห้วยระไซร์ การปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19
โดยนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมได้รับทราบผลการดำเนินงานและมีข้อสั่งการ ดังนี้
1. เร่งรัดให้ดำเนินโครงการแล้วเสร็จโดยเร็วและให้คำนึงถึงมาตรการความปลอดภัยในการใช้เส้นทาง โดยเฉพาะบริเวณสี่แยกและจุดตัดของถนนให้ติดตั้งแผ่นชะลอความเร็วเพื่อลดการเกิดอุบัติเหตุ
2. ขอให้ทุกหน่วยงานให้ความร่วมมือและปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 อย่างเคร่งครัดโดยปฏิบัติตามมาตรการอย่างต่อเนื่อง และลงทะเบียนขอรับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 เพื่อรองรับการเปิดประเทศตามนโยบายของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
3. ให้เร่งรัดการบริหารงบประมาณตามดัชนีชี้วัดความสำเร็จ (KPI) ให้สำเร็จตรงตามวัตถุประสงค์โดยยึดกฎระเบียบตามหลักธรรมาภิบาลให้ชัดเจน และดูข้อมูลปฏิทินงบประมาณ หากเกิดปัญหาให้เร่งดำเนินการแก้ไข
4. การจัดทำแผนการดำเนินงานให้ศึกษาและทบทวนอย่างรอบคอบ
5. ติดตามโครงการนำยางพารามาใช้เพื่อปรับปรุงเพิ่มความปลอดภัยทางถนน โดยใช้แผ่นยางธรรมชาติครอบกำแพงคอนกรีต (Rubber Fender Barrier: RFB) และหลักนำทางยางธรรมชาติ (Rubber Guide Post RGP) เพื่อเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางและเป็นการสร้างความปลอดภัยทางท้องถนน
6. ขอให้กรมทางหลวงและกรมทางหลวงชนบทมีโครงการถนนสวยงามอย่างน้อยจังหวัดละหนึ่งโครงการ เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวตามนโยบายของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
7. ให้ประสานงานกับหน่วยงานในท้องที่เพื่อให้ได้รับการจัดสรรงบประมาณมาใช้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง
8. ต้องพัฒนาการคมนาคมขนส่งทางบกให้ประสบผลสำเร็จ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาการขนส่งทางอากาศต่อไป
ทั้งนี้ เมื่อโครงการก่อสร้างต่าง ๆ แล้วเสร็จทั้งหมดจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพโครงข่ายการคมนาคมขนส่งของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ช่วยแก้ไขปัญหาการจราจรติดขัดได้อย่างเป็นรูปธรรม สามารถรองรับปริมาณการเดินทางและขนส่งที่เพิ่มสูงขึ้น ทั้งในช่วงเวลาปกติและโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเทศกาล ทำให้การเดินทางเชื่อมโยงระหว่างจังหวัดและระหว่างภูมิภาคเป็นไปอย่างสะดวก รวดเร็ว คล่องตัว และมีความปลอดภัย อีกทั้งยังเป็นฟันเฟืองสำคัญในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ส่งเสริมการท่องเที่ยว ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในภูมิภาคและประเทศไทยให้มีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน
แสดงความคิดเห็น