ราชมงคลขอนแก่น จับมือ KKU Science Park หนุนสมุุนไพรวิสาหกิจชุมชนกลุ่มเลี้ยงงูจงอางบ้านโคกสง่า อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น สร้างรายได้และอาชีพที่ยั่งยืน
27 มิถุนายน 2564ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อาดา รัยมธุรพงษ์ รองอธิการบดีประจำวิทยาเขตขอนแก่น พร้อมด้วย อาจารย์ประพันธ์ ยาวระ คณบดีคณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม นำทีมคณาจารย์นักวิจัย มทร.อีสาน วิทยาเขตขอนแก่น ลงพื้นที่วิสาหกิจชุมชนกลุ่มเลี้ยงงูจงอางบ้านโคกสง่าแผนกสมุนไพร เปิดโครงการถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ชุมชน (Tech transfer to Community) เรื่องโครงการพัฒนาศักยภาพและเพิ่มผลผลิตสมุนไพรวิสาหกิจชุมชนกลุ่มเลี้ยงงูจงอางบ้านโคกสง่า แผนกสมุนไพร เพื่อการพัฒนาศักยภาพและเพิ่มผลผลิตสมุนไพรให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และเพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่มี คุณภาพ มีความปลอดภัยต่อผู้บริโภคและเพิ่มกำลังการผลิตเพื่อส่งเสริมให้เกิดรายได้แก่สมาชิก และสร้างชื่อเสียงให้สินค้าสมุนไพรเป็นสินค้า OTOP ที่ขึ้นชื่อของจังหวัดขอนแก่น
โดยชาวบ้านโคกสง่า อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น อาชีพหลักคือการเกษตร เมื่อว่างจากหน้านา จะมีอาชีพเสริมคือเร่ขายสมุนไพรไปตามหมู่บ้านต่าง ๆ และมีการนำงูจงอางมาแสดงโชว์เพื่อเป็นแรงดึงดูดลูกค้าเข้ามาชมและซื้อสมุนไพร โดยเฉพาะว่านร่อนทองหรือชาวบ้านโคกสง่าเรียกว่า ว่านพญางูจงอาง ซึ่งสรรพคุณทางยาจะใช้หัวใต้ดินและใบ ลดผดผื่นคัน ใช้แก้อสรพิษทั้งปวง โดยเอาหัวว่านหรือใบมาโขลกให้ละเอียดผสมกับสุรากลั่น พอกบริเวณแผลจะทำให้หายจากพิษงูหรือรักษาอสรพิษ อื่นๆ ปัจจุบันชาวบ้านโคกสง่าได้รวมกลุ่มและจดทะเบียนวิสาหกิจชุมชนกลุ่มเลี้ยงงูจงอางบ้านโคกสง่า แผนกสมุนไพร เพื่อออกจำหน่ายสมุนไพรมาเป็นรายได้เสริม และสมุนไพรของกลุ่มได้รับการตอบรับจากผู้บริโภคเป็นอย่างดี
กลุ่มวิสาหกิจชุมชนเลี้ยงงูจงอางบ้านโคกสง่าแผนกสมุนไพร ได้เล็งเห็นความสำคัญของกระบวนการ ผลิตสมุนไพร การแปรรูปการณ์สร้างความเชื่อมั่นให้ลูกค้า จึงขอเข้าร่วมโครงการ Tech transfer to Community แผนงานการถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ชุมชน ของอุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และได้รับความอนุเคราะห์จากคณะที่ปรึกษา จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตขอนแก่น มาช่วยการพัฒนาองค์ความรู้และการวิเคราะห์การบริหารงานด้านวิศวกรรม จนได้พัฒนาเครื่องหั่นสับ สมุนไพรและเครื่องตากแห้งสมุนไพรพลังงานแสงอาทิตย์ พร้อมส่งมอบและอบรมการวางแผนการผลิต ให้ วิสาหกิจชุมชนกลุ่มเลี้ยงงูจงอางบ้านโคกสง่าแผนกสมุนไพร ได้นำไปใช้งานและพัฒนากระบวนการผลิตต่อไป