ครม.อนุมัติจัดซื้อวัคซีนเพิ่มเติม(ซิโนแวก ไฟเซอร์ และโมเดอร์นา)
คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบโครงการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อโควิด-19 โดยอนุมัติจัดซื้อวัคซีนเพิ่มเติม ดังนี้
วัคซีนซิโนแวค 10.9 ล้านโดส วงเงิน 6,111 ล้านบาท ตามข้อเสนอของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข
วัคซีนไฟเซอร์ 20 ล้านโดส เป็นวัคซีนหลัก ฉีดฟรีให้กับประชาชน โดยกระทรวงสาธารณสุข มอบหมายให้อธิบดีกรมควบคุมโรคดำเนินการและนำข้อสังเกตของอัยการสูงสุด ไปจัดทำรายละเอียดในการเจรจาจัดหา จำนวน 20 ล้านโดส แต่ยังไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดในสัญญาได้ รวมถึงการรับมอบวัคซีนไฟเซอร์ที่รัฐบาลสหรัฐอเมริกาบริจาคให้ไทยอีกจำนวน 1.5 ล้านโดส ซึ่งจะจัดส่งให้ไทยภายในปีนี้ มีขั้นตอนการอนุมัติจัดซื้อดังนี้
– ก่อนเดือนเมษายน 2564 กรมควบคุมโรคได้ติดต่อหารือกับไฟเซอร์
– 16 เม.ย.64 ที่ประชุม ศบค. ครั้งที่ 5/2564 มีมติจัดหาวัคซีน
– 20 เม.ย. 64 ครม. มีมติรับทราบตามที่ ศบค. เสนอ
– 29 เม.ย. 64 ทั้งสองฝ่าย (รัฐบาลไทย-ไฟซอร์) ได้ลงนามในสัญญาที่จะไม่เปิดเผยข้อมูลให้แก่บุคคลที่สาม (Confidential Disclosure Agreement)
– 3 พ.ค.64 กรมควบคุมโรคส่งร่างข้อตกลงผูกพัน (Binding Term Sheet) ให้อัยการสูงสุด(อสส.) พิจารณา
– 25 พ.ค.64 กรมควบคุมโรคได้มีหนังสือส่งร่างข้อตกลงผูกพัน (Binding Term Sheet) ที่ได้เจรจาเพิ่มเติมกับทางไฟเซอร์ ให้อัยการสูงสุดพิจารณา
– 28 พ.ค.64 อัยการสูงสุดแจงผลการพิจารณาร่างข้อตกลงผูกพัน (Binding Term Sheet) การตกลงจองซื้อวัคซีนไฟเซอร์ จัดซื้อตามนโยบายรัฐบาล
– 10 มิ.ย.64 ได้ลงนามร่างข้อตกลงผูกพัน (Binding Term Sheet)
– 11 มิ.ย.64 ได้ขอขึ้นทะเบียนกับอย.
– 24 มิ.ย.64 อย.ขึ้นทะเบียนวัคซีนไฟเซอร์
– 26 มิ.ย.64 ไฟเซอร์ส่งเอกสารสัญญาข้อตกลงเกี่ยวกับการผลิตและการส่งมอบ (Manufacturing and Supply Agreement)
– 28 มิ.ย.64 ส่งข้อมูลให้อัยการสูงสุด
– 5 ก.ค.64 อัยการสูงสุดส่งข้อมูลกลับกรมควบคุมโรค
– 6 ก.ค.64 ครม.มีมติอนุมัติจัดซื้อวัคซีนไฟเซอร์ โดยให้กรมควบคุมโรคดำเนินการและนำข้อสังเกตของอัยการสูงสุด ไปจัดทำรายละเอียดในการเจรจาจัดหา จำนวน 20 ล้านโดส
วัคซีนโมเดอร์นา 5-9 ล้านโดส เป็นวัคซีนทางเลือกซึ่งประชาชนต้องซื้อกับเอกชนโดยกระทรวงสาธารณสุขให้องค์การเภสัชกรรม (อภ.) เป็นตัวกลางจัดหาจำนวนประมาณ 5-9 ล้านโดส และนำเข้าภายในไตรมาส 4 หรือประมาณเดือนตุลาคม ปีนี้
การทำสัญญาสั่งซื้อวัคซีนโมเดอร์นา เอกชนจะต้องแจ้งความประสงค์และจำนวนการจอง รวมถึงชำระเงินล่วงหน้า ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างรวบรวมข้อมูลจาก รพ.เอกชน กว่า 300 แห่งทั่วประเทศพบว่ามีความต้องการกว่า 9 ล้านโดส คาดว่าจะจัดหาได้เบื้องต้นราว 5 ล้านโดส โดยในไตรมาส 4 (ต.ค.-ธ.ค.64) นี้ สามารถจัดส่งให้ได้ก่อน 4 ล้านโดส และอีก 1 ล้านโดสจัดส่งให้ในปีหน้า (ม.ค.-มี.ค.65) คาดว่าภายในสัปดาห์แรกของเดือนสิงหาคมนี้ องค์การเภสัชกรรมจะได้หารือกับทางบริษัทซิลลิค เพื่อนำเข้าวัคซีนโมเดอร์นา โดยมีขั้นตอนการจัดซื้อดังนี้
– 25 ก.พ.64 องค์การเภสัชกรรมส่งหนังสือแสดงเจตจำนง (LOI) ตรงไปที่ Moderna , US เพื่อสั่งจองวัคซีนกว่า 5 ล้านโดส (ต้องการภายใน มิ.ย. 64 หากเป็นไปได้)
– 28 ก.พ.64 Moderna , US ให้คำตอบว่าความต้องการขาย (Supply) มีจำกัดเนื่องจากความต้องการสูงมาก ทำให้สามารถส่งได้เร็วสุดคือ Q1/2022 (ไตรมาส 1/2565)
– 1 เม.ย.64 องค์การเภสัชกรรม สอบถาม Moderna ว่าได้ตั้งบริษัทใดเป็น Authorized dealer (ผู้นำเข้า) เนื่องจากมีผู้แสดงตัวว่าสามารถนำวัคซีนเข้าให้ไทยได้มากกว่า 2 ตัวแทน
– 2 เม.ย.64 Moderna แจ้งว่าอยู่ระหว่างการเจรจากับบริษัทซิลลิค แต่เพียงผู้เดียวและหวังว่าจะสรุปสัญญากับซิลลิคให้เร็วที่สุด
– 15 พ.ค.64 บริษัทซิลลิค ฟาร์มา แถลงการณ์ว่า “การจัดซื้อวัคซีนของโมเดอร์นาต้องจัดซื้อผ่านตัวแทนภาครัฐเท่านั้น ในที่นี้คือ องค์การเภสัชกรรม” เนื่องจากเป็นข้อกำหนดของบริษัทผู้ผลิตวัคซีนฯ เพื่อใช้ในสถานการณ์ฉุกเฉิน
– 6 ก.ค.64 ครม.มีมติอนุมัติจัดซื้อ โดยกระทรวงสาธารณสุขให้องค์การเภสัชกรรมเป็นตัวกลางจัดหา และผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม (อภ.) เป็นผู้ลงนามในสัญญา จำนวนประมาณ 5-9 ล้านโดส
เน้นฉีดวัคซีนผู้สูงอายุ-ผู้เสี่ยงป่วยรุนแรงก่อน กรมควบคุมโรคได้ปรับแนวทางการวัคซีน โดยเน้นระดมฉีดวัคซีนให้ผู้สูงอายุและผู้ที่เสี่ยงป่วยรุนแรง ทั้งจุดฉีดใน รพ. นอกสถานที่ และบริการเคลื่อนที่ โดยแบ่งกลุ่มเป้าหมายดังนี้
– กรุงเทพฯ (1.8 ล้านโดส) ฉีดให้ได้ 70% ภายใน 2 สัปดาห์
– ปริมณฑลฉีดภายในเดือนกรกฎาคม 2564
– จังหวัดอื่น ๆ (17.85 ล้านโดส) ฉีดภายในเดือนสิงหาคม 2564
นอกจากนี้ ให้ใช้วัคซีนช่วยควบคุมการระบาด โดยเฉพาะในพื้นที่เสี่ยงการระบาดวงกว้าง โดยฉีดกลุ่มเป้าหมายดังนี้
– กลุ่มอยู่ในพื้นที่ (Settings) ที่มีโอกาสระบาดรุนแรงวงกว้าง ร่วมกับชุมชนโดยรอบ (ring vaccination)
– กลุ่มเสี่ยงติดเชื้อสูง
– กลุ่มมีโอกาสแพร่กระจายเชื้อสูง
เตรียมฉีดเข็ม 3 แก่กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ ศ.เกียรติคุณ นพ. อุดม คชินทร ที่ปรึกษาศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) แถลงว่าคณะที่ปรึกษาด้านสาธารณสุขของ ศบค. ที่มี ศ. คลินิกเกียรติคุณ นพ. ปิยะสกล สกลสัตยาทร เป็นประธาน มีมติว่ากลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ต้องได้รับการฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 เพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกัน หรือบูสเตอร์ โดส (Booster Dose) ก่อนเป็นกลุ่มแรก โดยคนกลุ่มนี้มีกว่า 7 แสนคน และมีจำนวนหนึ่งที่ฉีดวัคซีนซิโนแวคครบ 2 เข็มมาประมาณ 3-4 เดือนแล้ว การจะให้บูสเตอร์โดสต้องใช้วัคซีนต่างชนิดกัน หากวัคซีนไฟเซอร์ยังไม่มา จะฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าให้ก่อน แต่หากวัคซีนไฟเซอร์ จำนวน 1.5 ล้านโดสที่สหรัฐฯ บริจาคให้ไทยมาเร็ว ก็จะฉีดให้บุคลากรทางการแพทย์ก่อน
แสดงความคิดเห็น