กลับไปรักษาบ้านเฮาเด้อ!!‘รถไฟขบวนพิเศษ’นำผู้ป่วยโควิดรักษาตัวที่บ้านเกิด นำร่อง7 จว.อีสาน

กระทรวงคมนาคมและกระทรวงสาธารณสุข ร่วมส่งผู้ป่วยโควิด-19 จำนวน 135 คน กลับไปรักษาตัวยังภูมิลำเนาในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ ยโสธร อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี โดยใช้ขบวนรถไฟเที่ยวพิเศษออกจากต้นทางสถานีรังสิตถึงสถานีปลายทางอุบลราชธานี มีทีมแพทย์ควบคุมมั่นใจในความปลอดภัยตลอดเส้นทาง ปลายทางมีรถฉุกเฉินรับช่วงต่อไปยังสถานพยาบาลของแต่ละพื้นที่ทันที

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม และนายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย ร่วมส่งผู้ป่วยโควิด-19 กลับไปรักษาตัวที่ภูมิลำเนาในพื้นที่ 7 จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ประกอบด้วย จังหวัดนครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ ยโสธร อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี ณ สถานีรถไฟรังสิต เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2564

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กระทรวงคมนาคมโดยการรถไฟแห่งประเทศไทย ได้สนับสนุนให้มีการจัดขบวนรถไฟขบวนพิเศษส่งผู้ป่วยโควิด-19 จำนวน 135 คน ที่อยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและยังไม่ได้รับการรักษา และเป็นผู้ป่วยในกลุ่มสีเขียว และสีเหลือง กลับไปรักษาที่ภูมิลำเนาในพื้นที่ 7 จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ประกอบด้วย จังหวัดนครราชสีมา บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี อำนาจเจริญ ยโสธร และสุรินทร์ โดยขบวนรถจะจอดส่งผู้ป่วยที่นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี การขนส่งผู้ป่วยกลับไปรักษาตัวที่ภูมิลำเนาจะมีการควบคุมโดยทีมแพทย์และเจ้าหน้าที่จากกระทรวงสาธารณสุขตลอดการเดินทาง และจะมีรถฉุกเฉินรับผู้ป่วยต่อจากขบวนรถไฟไปยังสถานพยาบาลของแต่ละพื้นที่ทันทีที่ขบวนรถไฟถึงสถานีปลายทางของแต่ละพื้นที่ การจัดส่งผู้ป่วยกลับภูมิลำเนาเพื่อรักษาตัวนั้นจะมีต่อไปเรื่อย ๆ โดยกระทรวงคมนาคมจะสนับสนุนให้มีการขนส่งทุกรูปแบบ ทั้งรถไฟ รถบริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) และถ้ามีผู้ป่วยเป็นจำนวนมากและมีภูมิลำเนาระยะทางไกล จะประสานกับกระทรวงกลาโหมเพื่อจะได้ขนส่งผู้ป่วยทางอากาศยาน


นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีมีนโยบายที่จะดูแลประชาชนที่ป่วยด้วยโรคโควิด-19 กลับไปรักษาที่ภูมิลำเนา กระทรวงคมนาคมได้เตรียมการรองรับผู้ป่วยทุกกลุ่มเป้าหมายที่จะเดินทางกลับไปรักษาตัว โดยบูรณาการกับกระทรวงมหาดไทยโดยผู้ว่าราชการจังหวัดแต่ละจังหวัด เพื่อรับผู้ป่วยเข้ารักษาในสถานพยาบาลของแต่ละจังหวัดโดยไม่ให้เป็นการเสี่ยงกับประชาชนปกติในพื้นที่ และในวันนี้เป็นการส่งผู้ป่วยกลุ่มใหญ่เดินทางกลับไปรักษาตัวที่ภูมิลำเนาในพื้นที่ตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 7 จังหวัด ซึ่งขบวนรถไฟขบวนพิเศษนี้จะจอดส่งผู้ป่วยตามสถานีที่ได้เตรียมการรองรับไว้แล้วเท่านั้น ไม่จอดระหว่างทาง ในส่วนของจังหวัดที่รถไฟไปไม่ถึงจะใช้รถของ บขส. โดยมีทีมแพทย์ควบคุมตลอดเส้นทาง ส่วนผู้ป่วยกลุ่มขนาดเล็ก ได้มีการประสานงานเพื่อขอรถของโรงพยาบาล รถของมูลนิธิ รถของกลุ่มอาสาสมัครต่าง ๆ ไว้รองรับ


นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ขบวนรถไฟที่ใช้ขนส่งผู้ป่วยโควิด-19 ในวันนี้เป็นขบวนรถไฟ CNR ขบวนพิเศษขบวนใหม่ของการรถไฟแห่งประเทศไทย เป็นรถนั่งและนอนปรับอากาศ ห้องน้ำระบบปิดมีระบบปรับอากาศเหมือนกับบนเครื่องบิน ตู้โดยสารรองรับผู้ป่วยได้ 30 คนต่อตู้ แต่ละตู้จะแยกผู้ป่วยกลุ่มสีเขียว และสีเหลืองชัดเจน มีตู้สำหรับทีมแพทย์ เจ้าหน้าที่ และตู้เสบียงสำหรับผู้ป่วย มั่นใจในความปลอดภัยได้ตลอดการเดินทาง ขบวนรถดังกล่าวใช้ระบบ Power Car จ่ายไฟฟ้าและระบบปรับอากาศทั้งขบวน อีกทั้งช่วงล่างเป็นระบบถุงลมช่วยลดการสั่นสะเทือน โดยเริ่มต้นทางจากสถานีรังสิต – ปลายทางอุบลราชธานี


สำหรับการให้บริการฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันโรคโควิด-19 ที่สถานีกลางบางซื่อ ตั้งแต่เริ่มให้บริการเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2564 จนถึงวันที่ 26 กรกฎาคม 2564 ได้ฉีดวัคซีนให้ประชาชนไปแล้วกว่า 1 ล้านเข็ม กระทรวงคมนาคมได้ให้บริการในส่วนของสถานที่ การจัดระบบขนส่งรองรับการเดินทางของผู้จะเข้ารับการฉีดวัคซีน โดยจัดรถปรับอากาศของ ขสมก. และรถ Shuttle bus เชื่อมต่อการเดินทางระหว่างสถานีกลางบางซื่อและจุดสำคัญ ๆ จำนวน 3 เส้นทาง ได้แก่
– ท่าน้ำบางโพ – สถานีเตาปูนสายสีม่วง
– อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ
– หน้าห้างเซ็นทรัลลาดพร้าว – BTS หมอชิต/MRT จตุจักร – สถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพ
และในวันที่ 2 สิงหาคม 2563 จะมีรถโดยสารของ ขสมก. ให้บริการเพิ่มอีก 7 เส้นทาง นอกจากนี้ ประชาชนสามารถโดยสารขบวนรถไฟฟ้าชานเมือง (สายสีแดง) เข้าสถานีกลางบางซื่อได้อีกด้วย

แสดงความคิดเห็น