นายวันชัย อนุตรชัชวาลย์ ประธานหอการค้า จังหวัดอุดรธานี กล่าวในการเสวนาข้อเสนอการควบคุม/ป้องกันโควิด 19 และการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพื้นที่ ว่า สถานการณ์ผู้ติดเชื้อของอุดรฯที่เพิ่มขึ้นเป็นเพราะมีโครงการฯรับคนอุดรฯกลับบ้าน โดยได้มีรถไปรับกลับไปส่งยังภูมิลำเนาในแต่ละอำเภอ ซึ่งบุคคลที่มีความเสี่ยงสูง หรือต่ำก็จะได้รับการตรวจและนำไปกักตัวเพื่อรอผลดูอาการตามหลักเกณฑ์และมาตรการของกระทรวงสาธารณสุข
จังหวัดอุดรฯมีความพร้อมการเตรียมสถานที่และบุคลากร แต่ยังไม่สมบูรณ์แบบ เพราะจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นทุกวัน ภาคเอกชนและภาครัฐได้ร่วมมือกันจัดหาสถานที่เพื่อรองรับผู้ติดเชื้อที่จะกลับมาหลายระลอก โดยการประเมินว่า จ.อุดรฯจะมีผู้เดินทางกลับทั้งหมด 1,200 คน แต่ขณะนี้กลับมาประมาณ 600 คน ในจำนวนนี้มีผู้ติดเชื้อ 400 คน ที่เหลือเป็นผู้ที่มีความเสี่ยง
ผู้ว่าฯได้สั่งการไปทุกอำเภอให้หาสถานที่สำรองไว้ให้เพียงพอ โดยเราได้รับความร่วมมือจากเอกชน โดยเฉพาะ นิคมอุสาหกรรมอุดรธานี ได้มอบพื้นที่จำนวน 10,000 ตารางเมตร ให้เป็นโรงพยาบาลสนามสามารถจุเตียงได้จำนวน 500-800 เตียง
การระบาดของโรคโควิด – 19 คงจะหยุดยาก คนอุดรฯเดินทางกลับจากกทม.มารักษาตัวเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แต่หากเราสามารถควบคุมได้ดีให้ผู้ที่ติดเชื้อหรือผู้ที่กักตัว มีวินัยตามที่ทางราชการแนะนำก็จะช่วยได้มากและมีอาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) ช่วยสอดส่องดูแลอย่างเข้มงวด ยังมีผู้ที่เดินทางกลับมาจากพื้นที่เสี่ยง แต่ไม่รายงานตัวเข้าไปอยู่ที่หมู่บ้านของตัวเอง ซึ่งเป็นจุดที่ทำให้เราไม่สามารถควบคุมสถานการณ์การระบาดได้
วัคซีนที่อุดรฯได้มานั้นยังไม่เพียงพอกับจำนวนประชาชน แต่มั่นใจว่าอุดรฯจะไม่มีเกิดวิกฤตขนาดเตียงไม่พอ จังหวัดยังคงหาเตียงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆให้เพียงพอกับจำนวนผู้ป่วยที่กำลังจะกลับมา และผู้ว่าฯ ไม่ได้นิ่งนอนใจ ขยันออกพื้นที่ประสานงานหาพื้นที่ทำโรงพยาบาลสนามและหาเตียงอยู่ตลอดเวลา
ประธานหอการค้าจังหวัดอุดรฯ กล่าวอีกว่า ส่วนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจเป็นเรื่องยากหน่อย เพราะสถานการณ์ไม่เอื้ออำนวย ผู้ประกอบการต้องกลับไปทบทวนว่าเราจะอยู่รอดได้อย่างไร เพราะความสามารถของแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน คงทำอะไรอย่างอื่นนอกเหนือจากนี้ไม่ได้ มีกฎเกณฑ์ที่ราชการออกมาบังคับไม่มีใครฝ่าฝืนได้ง่ายๆ เราจะเสนออะไรออกไปก็จะมีกรอบใหญ่ที่คุมเราอยู่ยังไงก็ไม่สามารถทำอะไรได้
หอการค้าอุดรฯได้ทำโครงการพัฒนาผู้ประกอบการโชห่วยให้เป็น “สมาร์ทโชห่วย” โดยร่วมกับพาณิชย์จังหวัดฯ จัดหาร้านค้าโชห่วยประมาณ 100 ร้านค้า ให้ความรู้เรื่องการปรับปรุงร้าน ทำหน้าร้าน การจัดเรียงสินค้าให้ดีขึ้น ทำให้ดีขึ้นน่าซื้อ และการใช้ระบบ POS ซึ่งเป็นระบบเครื่องกดเงินสดเข้ามาใช้ เพื่อที่จะทำให้มีการควบคุมสต็อกสินค้าได้ดี
การที่ร้านค้ามีสต็อกน้อยก็จะมีเงินหมุนเวียนเพื่อนำไปซื้อสินค้าที่ขายดีกลับมาขายต่อ และการทำระบบเช่นนี้จะทำให้สามารถรู้ถึงกำไรที่ได้มาเท่าไหร่หรือขาดทุนหรือไม่ เป็นโครงการที่ร่วมกับพาณิชย์จังหวัดฯเรารอดูว่า เมื่อไหร่สถานการณ์เอื้อทุกอย่างพร้อมที่จะเดินหน้าได้ทันดี
ภาคอุตสาหกรรมและภาคการเกษตรยังไม่ดีมาก แต่เราไม่หยุดมีการเตรียมตัวให้พร้อม เพื่อรอวัคซีค อุดรฯได้เตรียมโครงการเปิดเมือง พร้อมกับการเปิดประเทศ เพราะแหล่งท่องเที่ยว เป็นจุดหนึ่งที่ดึงกระแสเงินเข้ามาอุดรฯได้ค่อนข้างมาก การเปิดชายแดนเราก็จะค้าไปถึงหนองคายและลาว และมีกลุ่ม SME ซึ่งเป็นกลุ่มสำคัญที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของจังหวัดให้ดีขึ้น
หอการค้าอุดรฯได้เป็นตัวกลางให้กับผู้ประกอบการ SME รายย่อย ให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนเราได้เชิญธนาคารต่างๆในอุดรฯมาหารือกันว่า มาตรการต่างๆของแต่ละธนาคารฯว่า มีมาตรการใดที่มีความเหมาะสมกับผู้ประกอบการบ้าง และเราก็จะจับคู่กันได้ เพราะแต่ละธนาคารฯมีมาตรการไม่เหมือนกัน เอสเอ็มอี ไม่รู้ว่าจะคุยกับธนาคารได้อย่างไร? ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างมากหากหอการค้าจังหวัดอื่นจะดำเนินการเช่นเดียวกัน
……………….