มาปรับปรุงโครงสร้างหนี้กันเถอะ

วันก่อนน้องที่เคยรู้จักได้โทรศัพท์มาขอคำปรึกษาเรื่องภาระหนี้สิน เนื่องจากมารดาซึ่งสูงอายุล้มป่วย ต้องเข้ารับการรักษาต่อเนื่อง เงินที่ออมไว้คงไม่พอใช้จ่าย โบนัสและรายได้พิเศษก็หดหายไป
เพราะรายได้ของบริษัทลดลงจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 เดือนหน้าคงไม่สามารถจ่ายชำระหนี้ไหว จะทำอย่างไรดี หลายท่านอาจกำลังประสบปัญหาการชำระหนี้เช่นเดียวกัน จึงขอเสนอทางเลือกเพื่อเป็นทางออกในการแก้ปัญหาดังนี้ค่ะ

1) เริ่มจากให้จัดทำตารางสำรวจ
ภาระหนี้สินที่มีอยู่ (ตารางประกอบ)
เพื่อให้เห็นภาพรวมของภาระหนี้ทั้งหมด กรณีนี้พบว่า มีเจ้าหนี้ 3 ราย ภาระหนี้รวม 1,440,000 บาท ผ่อนชำระต่อเดือนรวม 26,419 บาท จำแนกเป็นหนี้บัตรเครดิตและบัตรกดเงินสด รวม 140,000 บาท ทั้ง 2 บัตรจ่ายชำระขั้นต่ำรวมเดือนละ 14,000 บาท บ้านมีภาระหนี้คงเหลือ 1,300,000 บาท ผ่อนอีก 12 ปี เดือนละ 12,419 บาท

2) วางแผนการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้สอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้ของเราเองเริ่มที่หนี้บัตรเครดิตและบัตรกดเงินสด พบว่ามีหลายทางเลือก ทางเลือกแรก วิธีการรวมหนี้จากหลายธนาคารมาไว้ที่ธนาคารเดียว ซึ่งธนาคารบางแห่งมีสินเชื่อให้กู้เพื่อไปปิดหนี้บัตรที่มีอยู่กับธนาคารอื่น ดอกเบี้ยปีแรกร้อยละ 22 หลังจากนั้นร้อยละ 25 ผ่อนชำระ 12-72 เดือน ซึ่งทางเลือกนี้อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยค่อนข้างสูงกว่าหนี้เดิมที่จ่ายชำระอยู่ ทางเลือกที่สอง วิธีขอลดอัตราดอกเบี้ยและเปลี่ยนเป็นหนี้ระยะยาว โดยบัตรเครดิตดอกเบี้ยไม่เกินร้อยละ 12 บัตรกดเงินสดไม่เกินร้อยละ 22  สำหรับระยะเวลาชำระหนี้ประมาณไว้เบื้องต้นที่ 48 – 60 งวด

สำหรับหนี้บ้าน หากเลือกวิธีเลื่อนการชำระหนี้ คงช่วยได้ระยะสั้น เพราะหลังครบกำหนด ค่างวดก็ยังคงสูงอยู่ดี ส่วนอีกทางเลือกคือ วิธีขอลดอัตราดอกเบี้ยและลดค่างวดโดยการขยายระยะเวลาชำระหนี้ สำหรับระยะเวลาชำระหนี้ประมาณไว้เบื้องต้นที่ 20 ปี

3) นำแต่ละทางเลือกมาทดลองจัดทำประมาณการตัวเลขค่างวดที่ต้องจ่ายของหนี้แต่ละประเภท เช่น หนี้บัตรเครดิต 40,000 บาท หากดอกเบี้ยร้อยละ 12 และเปลี่ยนเป็นหนี้ระยะยาวได้ 48 งวด ค่างวดจะเท่ากับ 1,053 บาท ลดลงจากเดิมที่ต้องจ่ายชำระขั้นต่ำงวดละ 4,000 บาท เป็นต้น (ศึกษาวิธีคำนวณค่างวดเงินกู้ได้ที่ https://www.1213.or.th/th/tools/programs/Pages/loans.aspx) ทั้งนี้ นโยบายการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของแต่ละสถาบันการเงินจะมีความแตกต่างกัน ดังนั้น การวางแผนที่ดีจะช่วยให้เรามีทางเลือกที่ยืดหยุ่นในการเจรจาต่อรองกับเจ้าหนี้ เพื่อให้ได้เงื่อนไขที่ดีที่สุดและสอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้

ผลการติดตามพบว่า น้องที่ขอคำปรึกษาสามารถลดค่าผ่อนชำระรวมจากเดิมเดือนละ 26,419 บาท คงเหลือเดือนละ 12,831 บาท สอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้ปัจจุบัน ทั้งนี้ หากในอนาคต
เรามีรายได้มากขึ้น ก็สามารถเร่งจ่ายชำระได้ ซึ่งจะช่วยลดภาระดอกเบี้ยลงได้มาก ท่านสามารถศึกษาข้อมูลการปรับปรุงโครงสร้างหนี้เพิ่มเติมได้ที่ “หมอหนี้เพื่อประชาชน https://www.bot.or.th/app/doctordebt/” ค่ะ

———————————————————————————————————————————

บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล จึงไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย

โดย- นางสาวอัมพร  นิติกิจไพบูลย์

ผู้วิเคราะห์อาวุโส ส่วนคุ้มครองและให้ความรู้ผู้ใช้บริการทางการเงิน

แสดงความคิดเห็น