หอฯร้อยแก่นสารสินธ์ เสนอแผนสู้โควิด19เร่งช่วยลูกจ้าง/ผู้ประกอบการถึงแหล่งเงิน/สร้างข้อมูลโปร่งใส

หอการค้ากลุ่มร้อยแก่นสารสินธุ์เสนอแผนฝ่าวิกฤตโควิด 19 ระยะสั้นเร่งเยียวยากลุ่มเปราะบาง ช่วยลูกจ้างผ่านผู้ประกอบการเพื่อให้เกิดการจ้างงานและให้ผู้ประกอบการเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่าย ระยะกลางเน้นความร่วมมือกระตุ้นเศรษฐกิจกลุ่มจังหวัดและสร้างข้อมูลที่ชัดเจนและโปร่งใส

นายกมลพงศ์ สงวนตระกูล ประธานหอการค้ากลุ่มอีสานตอนกลาง (ขอนแก่น กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด มหาสารคาม) กล่าวถึงข้อเสนอเรื่องการควบคุมป้องกันโควิด 19 และการขับเคลื่อนเศรษฐกิจภาคอีสาน ว่า กลุ่มจังหวัดร้อยแก่นสารสินธุ์ได้มีการประชุมกันแล้ว สามารถสรุปประเด็นได้ 3 ช่วง  ได้แก่ short term mid term และ long term

ในส่วนของ short term เรามองว่าส่วนที่สำคัญในการที่จะขับเคลื่อนเรื่องสาธารณสุขคู่ไปกับด้านธุรกิจ สิ่งแรกที่คิดว่าจำเป็นที่สุด คือวัคซีน ในเรื่องของการจัดสรร เร่งฉีด หรือวัคซีนทางเลือก จะต้องมีการจัดสรรและให้ความรู้อย่างเหมาะสม ตอนนี้สื่อมวลชนมีผลมากที่จะสื่อสารออกไป

มีคนเดินทางจากกรุงเทพกลับภูมิลำเนาเป็นจำนวนมาก แผนที่จะตั้งรับคือพอรับกลับมาต้องมีการแยกผู้ติดเชื้ออกมา เข้าใจว่าทางภาครัฐอาจจะมีกติกาหลายอย่างที่จะจัดหาอุปกรณ์ทางการแพทย์ ถ้าตัดเรื่องกฎระเบียบทางราชการออกนิดหน่อยก็จะดี เพราะเชื่อว่างบประมาณมีเพียงพอ แต่การนำออกมาใช้ยังไม่ทันการ เลยกลายเป็นว่าทางเอกชนต้องเข้าไปช่วย ซึ่งเราก็ยินดี แต่มองว่าหลังจากวิกฤตนี้ เรื่องกฎระเบียบราชการทำให้สะดวกสบายยิ่งขึ้นเป็นสิ่งที่จำเป็น

ส่วนเรื่องการทำโรงพยาบาลสนามของ 4 จังหวัด เราก็ได้มีการปรึกษากับทางสาธารณสุขว่าทางเอกชนจะช่วยอะไรได้บ้าง ซึ่งการทำโรงพยาบาลสนามหลักการก็เยอะมาก หลังจากนี้คงต้องมาช่วยกันดูว่าจะปรับยังไงได้บ้าง

ส่วนของการเยียวยาเรามองได้ 3 ระดับ ระดับแรกในกลุ่มเปราะบาง เชื่อว่าเงินเยียวยาของรัฐที่จะไปถึงกลุ่มเปราะบางก็จำเป็น ต้องมองว่าในกลุ่มนี้ บางคนก็ยังเข้าไม่ถึงเทคโนโลยี และปัญหาของเรา คือ เรื่องข้อมูลของประชากร จริงๆถ้าข้อมูลครบเราสามารถเข้าถึงกลุ่มนี้ได้เลย

กลุ่มที่ 2 คือกลุ่มลูกจ้าง พนักงานบริษัท การเยียวยาถ้าผ่านทางเจ้าของกิจการเพื่อให้ยังเกิดการจ้างงานอยู่จะดีมาก ตรงนี้จะทำให้ได้มากกว่า 2 ทอด บริษัทอยู่ได้ พนักงานอยู่ได้ แล้วพนักงานเอาไปใช้จ่ายในชุมชน ชุมชนก็จะอยู่ได้ ส่วนนี้ถ้าเราทำได้ดีจะสามารถชวนคนเข้าระบบได้ดีมาก

กลุ่มสุดท้ายคือ กลุ่มผู้ประกอบการ เรื่องของ cash สำคัญมาก จริงๆการระบาดรอบแรกทางแบงก์ชาติได้คุยกับแบงค์พานิชย์ว่าจะทำอย่างไร แต่หลักการเยอะมาก ทำให้เข้าไม่ถึง เราก็ได้ปรึกษากับทางแบงก์ชาติว่าจะช่วยให้มีเงินหมุนอยู่ใน sme ได้อย่างไรบ้าง

“สิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับผู้ประกอบการตอนนี้คือความชัดเจนและความโปร่งใสของข้อมูลที่ได้รับ เพื่อให้สามารถเตรียมตัวได้ถูก เชื่อว่าช่วงนี้เศรษฐกิจกับสาธารณสุขต้องไปด้วยกัน แต่ต้องมีความชัดเจนในด้านมาตรการด้วย”นายกมลพงศ์กล่าวและว่า

ส่วนแผน mid term เราต้องมองว่าถ้าสามารถควบคุมโรคระบาดได้แล้ว เราจะมีการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างไรบ้าง ต่อไปเราจะเดินเป็นจังหวัดไม่ได้แล้ว เป็นเวลาที่เราต้องร่วมมือกัน ไม่ใช่มาแข่งกัน เช่น งานวิ่ง อาจจะจัดเป็น 4 จังหวัด ตอนนี้ก็กำลังวางแผนและรอเวลาที่จะเปิดประเทศ

นายกมลพงศ์กล่าวว่า สำหรับแผน long term เรื่องข้อมูลสำคัญมาก ถ้าเรามีข้อมูลที่ดีและโปร่งใส บวกกับการสื่อสารที่ดีจะสร้างความไว้วางใจระหว่างหน่วยงานต่างๆ และทำให้เราร่วมมือกันได้อย่างดี ปัญหาโควิดนี้ไม่มีทางที่จะสามารถแก้ได้โดยหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง จะไม่มีเรื่องของประโยชน์ส่วนตนเข้ามาเกี่ยวข้อง สิ่งเหล่านี้จะทำให้เราผ่านพ้นวิกฤตินี้ไปได้ด้วยกัน

ในเชิงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพื้นที่อย่างแรกคือ ต้องหยุดการระบาดของเชื้อให้ได้ก่อน โดยมีวัคซีนเป็นจุดเริ่มต้น การกระจายวัคซีนต้องเหมาะสม บุคลากรด่านหน้าทางเศรษฐกิจ เช่น คนที่ต้องทำในส่วนของงานขนส่ง ไม่ว่าจะเป็นรถสาธารณะ ร้านอาหาร โรงแรม รปภ. กลุ่มเหล่านี้ก็สำคัญ จะทำให้เศรษฐกิจเดินหน้าต่อไปได้

อย่างที่ 2   คือทุกคนต้องร่วมมือในการเปิดเผยความจริง เชื่อว่าถ้าเราเอาความจริงมาคุยกัน เราจะจัดการปัญหาตรงนี้ได้ ตอนนี้มีวิกฤตเข้ามา ความเหลื่อมล้ำยิ่งสูง บางคนเข้าไม่ถึงเทคโนโลยี ต้องมาคิดว่าจะทำยังไงให้สามารถช่วยในส่วนนี้ได้ ขอนแก่นก็พยายามทำ local delivery แต่ทำไม่ได้เพราะเทคโนโลยีเราไม่ถึง สุดท้ายแล้วถ้ามันเกิด barter trede ในพื้นที่ได้ เช่น ในขอนแก่นเอง ขยายไปร้อยแก่นสารสินธุ์ขยายไปภาคอีสาน เชื่อว่าสิ่งนี้จะทำให้เงินไหลอยู่ในระบบ

กลุ่มร้อยแก่นสารสินธุ์ได้คุยกับทาง tcdc เรามองว่าต้องใช้เทคโนโลยีเข้ามา มองไปถึง 3M คือ Mobility ในอนาคตเรื่องของโลจิสติกส์ Mobility ไม่ว่าจะเป็นรถไฟความเร็วสูง รถไฟรางคู่ รถรางที่จะวิ่งในเมือง สิ่งเหล่านี้เป็นอนาคตของอีสาน ส่วน M ที่ 2 คือ Mice อีสานถึงแม้จะไม่ค่อยมีสถานที่ท่องเที่ยว แต่เรื่องประชุมสัมมนาของเราดีมาก สุดท้ายคือ Medical เชื่อว่าอีสานมีบุคลากรทางการแพทย์และพยาบาลจำนวนมาก ถ้าทำให้กลุ่มของธุรกิจสุขภาพเข้าไปยังทุกๆกลุ่มธุรกิจได้เชื่อว่านี่จะเป็นความเข้มแข็งของอีสาน

ยุคนี้เรามีความแตกต่างทางด้านอายุเป็นเรื่องสำคัญ วันนี้ไม่มีจังหวัดไหนเดินได้ด้วยตัวคนเดียว ต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจ เราต้องเปิดรับความคิดเห็นซึ่งกันและกัน วางตัวตนของตัวเองลงและเอาประโยชน์ของจังหวัด ของประเทศชาติเป็นที่ตั้ง ทุกคนต้องมองที่ตัวเองว่าจะสามารถทำอะไรได้บ้าง คิดว่าสิ่งนี้จะทำให้เราเดินหน้าต่อไปได้ ภาครัฐ ภาคเอกชนต่างๆมาร่วมมือกัน ฟังกัน ถ้าเราผสมผสานตรงนี้ได้ เชื่อว่าเราจะผ่านไปได้ ทุกธุรกิจไม่สามารถเติบโตได้ถ้าชุมชนเราล้มเหลว สิ่งนี้เป็นเรื่องที่สำคัญ เชื่อว่าเราจะช่วยกันผ่านพ้นวิกฤตินี้ไปได้

 

แสดงความคิดเห็น