“หลายมาตรการดี แต่พอเจอกฎเกณฑ์ก็ไม่มีใครอยากกู้ คนออกกฎไม่ได้เป็นคนกู้ พอคนปล่อยกู้เจอกฎเกณฑ์ก็ไม่กล้าปล่อย เมื่อเศรษฐกิจมีปัญหา ลูกหนี้เพิ่มขึ้น ธนาคารมีกำไรได้อย่างไรแสดงว่า การปล่อยกู้ไม่ไปถึงคนที่ต้องการจริงๆ การที่จะทำได้ต้องเปลี่ยนกฎเกณฑ์”

 

(อุตสาหกรรมเครื่องจักรศก.ยังเคลื่อนได้)

นายธวัชชัย เฮงประเสริฐ รองประธานสภาอุตสาหกรรม แห่งประเทศไทย กล่าวในการเสวนาข้อเสนอการป้องกันควบคุมโควิด 19 และการขับเคลื่อนเศรษฐกิจภาคอีสาน ว่า อุตสาหกรรมเป็นเครื่องจักรตัวเดียวที่ยังวิ่งได้เต็มที่ บางส่วนก็ยังสามารถเพิ่มยอดได้ เพราะตอนนี้เรื่องการท่องเที่ยวเราก็แย่ โดยการท่องเที่ยวมีสัดส่วน 60% ของรายรับทั้งหมด อุตสาหกรรมประมาณ 30-40% โดยเฉพาะภาคอีสาน

ธนาคารแห่งประเทศไทยระบุว่า ตัวเลขเศรษฐกิจเมื่อปี พ.ศ. 2563 ก่อนที่จะเกิดโควิดและหลังจากเกิดโควิด ตัวเลขได้ปรับเพิ่มขึ้นนิดหน่อยไม่ได้ลดลง แต่เซคเตอร์ที่ลดมากที่สุดคือ โรงแรม การท่องเที่ยว ซึ่งลดลงมาเกือบ 30% ส่วนทางด้านอุตสาหกรรมบวกประมาณ 2-3%

ทั้งนี้เพราะอุตสาหกรรมเกษตร ของภาคอีสานได้ปรับเพิ่มขึ้น แต่ก็มีเรื่องอ้อยที่ใช้ทำน้ำตาลที่หดตัว ส่วนข้าวหรือมันสำปะหลังเพิ่มขึ้น เพราะว่าโรงงานแป้งมันสำปะหลังมีความต้องการเพิ่มขึ้นแต่ปริมาณวัตถุดิบลดน้อยลง ส่วนยางพาราเพิ่มบ้างลดบ้างตามราคา

“ตอนนี้อีสานไม่ได้ปลูกเฉพาะพื้นดั้งเดิม แต่จะมีผักและผลไม้ที่เราไม่คิดว่าจะสามารถปลูกได้ในภาคอีสาน เช่น ทุเรียน มังคุด เดี๋ยวนี้ปลูกที่กระจายไป ทำให้มีความหลากหลายทางด้านอุตสาหกรรม และทำให้เศรษฐกิจโดยรวมของอีสานเติยโตขึ้นทุกปี”

อย่างน้อยก็โตเทียบเท่ากับ GDP ของประเทศ เพิ่มมาที่ 2.5 – 3% เพราะฉะนั้นตอนนี้เครื่องจักรกลที่เรายังเดินได้ก็คือ อุตสาหกรรม เราจะเห็นได้ว่าอุตสาหกรรมมีการติดโควิดจากข่าวที่มีการปิดโรงงาน โดยเฉพาะโรงงานอาหารต้องปิดหมดเลย

 

(Bubble and Seal เอาอยู่)

ขณะนี้สภาอุตสาหกรรมฯมีนโยบายที่ทำร่วมกับกรมควบคุมโรค ซึ่งได้เสนอไปคือเรื่อง Bubble and Seal สำหรับบริษัทใหญ่ที่ทำได้ ส่วน Bubble ก็จะแบ่งเป็นกลุ่ม แล้วก็ Seal ส่วนที่มีปัญหาเราก็จัดการ

ส่วนพื้นที่ที่เป็นสีเขียว สีเหลือง หรือสีแดง สีเขียวเราก็จัด Isolation ส่วนสีเหลืองเราก็กักตัวแล้วก็เช็คใหม่ ถ้ามีติดโควิดจริงๆ เราก็ส่งตัวไปที่โรงพยาบาล ส่วนสีแดงเราก็เช็คในโรงพยาบาลอยู่แล้วก็พยายามที่จะทำให้บางเซคเตอร์ของอุตสาหกรรมสามารถที่จะเปิดทำการได้ โดยที่ไม่จำเป็นต้องถูกปิด

อีกส่วนหนึ่งก็คือจังหวัดต่างๆ ของภาคอีสาน ผู้ว่าฯ และหน่วยราชการเห็นด้วย ในการพยายามที่จะทำให้อุตสาหกรรมเดินได้ โดยที่ไม่มีการปิด โดยทางอุตสาหกรรมได้พยายามจะสร้างกฎเกณฑ์เพื่อที่จะปกป้องไม่ให้มีการติดเชื้อ เพราะในตอนนี้เราได้รับลูกหลานเรากลับมา

เราจะสามารถเห็นได้ว่าก่อนหน้าโควิดในครั้งที่ 1, 2 หรือ 3 ตัวเลขของภาคอีสานแทบไม่มีอะไร เกือบเป็น 0 แต่ตัวเลขภาคอีสาน 20 จังหวัดเพิ่มขึ้นมาเกือบจะเท่ากรุงเทพฯ จังหวัดเดียว คือ ประมาณ 3,000 กว่าคนโดยเฉลี่ย ซึ่งก็ทำให้ทางเรารับภาระเพิ่มขึ้น ซึ่งรัฐควรจะส่งงบประมาณให้เราด้วย

จากการตรวจสอบเราไม่มีงบประมาณเพิ่มเหมือนทหารรบก็ต้องมีกระสุน ซึ่งพอเรารับเข้ามาเยอะๆ ก็ควรจะแบ่งงบประมาณเพิ่มมาให้ทางเราด้วย โดยอาจใช้เงินกู้จำนวน 1 ล้านล้านบาท และที่เพิ่มมาอีก 5 แสนล้าน สามารถจัดบางส่วนมาที่ภาคอีสานได้หรือไม่

 

(เร่งฉีดวัคซีน4จังหวัดใหญ่คุมเศรษฐกิจอีสาน)

เรื่องสำคัญอีกเรื่องคือ การฉีดวัคซีน เรายอมรับเลยว่าในการแก้ไขบ่วงปัญหานี้ วัคซีนคือ ตัวหนึ่งที่มีจำเป็น แต่วัคซีนก็มอบให้เฉพาะกับจังหวัดที่อยู่ในมาตรการควบคุมสูงสุด พื้นที่สีแดงเข้ม และตามรอบชายแดน

ตัวเลขวัคซีนที่คาดว่าจะมาในเดือนสิงหาจำนวน 13 ล้านโดส แต่ก็จะแบ่งให้พื้นที่สีแดงเข้มก่อนและชายแดนไปก่อน ขณะที่จังหวัดสำคัญในภาคอีสานที่เป็นหัวหอกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เช่น โคราช, ขอนแก่น, อุดรธานี, อุบลราชธานี ซึ่งมีตัวเลขจีดีพีรวมกันเกือบ 50% ของภูมิภาคทำไมไม่ส่งวัคซีนมาเพิ่ม

ตัวเลขวัคซีน 4 จังหวัดดังกล่าวน้อยมาก แม้แต่ผู้สูงอายุลงทะเบียนเรียบร้อยแล้วก็จะถูกยกเลิกตลอด ถึงแม้การแพทย์เราจะเก่ง แต่การบริหารจัดการเรามีปัญหา เพราะเราใช้เฉพาะแพทย์ และฝ่ายความมั่นคง ทำไมถึงไม่นำเอาภาคเอกชนเข้าไปร่วมด้วยบ้าง

เราสามารถช่วยด้านเศรษฐกิจได้ ถึงแม้ตอนนี้ท่านจะบอกว่าไม่ได้ล็อกดาวน์ แต่ก็เหมือนล็อคดาวน์อยู่ดี พอมีคนทราบข่าวว่าในพื้นที่มีความเสี่ยงที่จะติดก็จะไม่มีใครกล้ามา อย่างเช่น อุดรธานีเฉพาะวันเสาร์ – อาทิตย์ แต่เดิมห้างสรรพสินค้าจะมีคนเยอะตลอด

ขณะนี้ไม่มีใครกล้ามา ขอนแก่นก็กินอยู่กันเอง ในระหว่างกำลังซื้อของประชากรในจังหวัดเรา เพราะฉะนั้นตอนนี้ต้องสร้างความเชื่อมั่น เพราะอุตสาหกรรมเองจริงๆอยู่ในจังหวัดเหล่านี้เยอะมาก

ฉะนั้นตรงนี้ไขข้อสงสัยว่า ทำไมพนักงานถึงยังไม่ได้ฉีดวัคซีน เราต้องพยายามช่วยกันยื่นขอวัคซีนซิโนฟาร์มต้องช่วยลูกน้องเรา ในภาคอุตสาหกรรมเองมีลูกน้อง 200-300 คน นอกจากนี้ด้านประกันสังคมเองก็ต้องรอนานมากในการแบ่งสรรปันส่วนวัคซีน

หากสามารถบริหารจัดการ 2 ประเด็นนี้ได้ดี เติมงบประมาณเข้ามาภาคอีสานทุกจังหวัด โดยเฉพาะโคราชที่กลายเป็นสีแดงเข้ม เพราะส่วนใหญ่คนงานที่ไปอยู่ภาคตะวันออก หรือทำงานที่กรุงเทพฯ เป็นคนอีสานประมาณ 7-8 แสนคน ไปต่างประเทศ 2 แสนคน

คนที่กลับมาในยอด 2,000 คนอาจจะยังน้อยไป ถ้าหากกลับมาพร้อมกัน ก็เกรงจะหาที่พักไม่ได้ โทรฯไปเตียงไม่มี เขาก็ต้องกลับมาที่นี่ ตัวเลขผู้ติดเชื้ออยู่ที่ 3,000 คน ถ้ากลับมาอย่างน้อย 10% ของ 600,000 แสนคน ก็จะเป็นจำนวน 60,000 คน และถ้าเราตรวจเช็คโควิดอย่างน้อย 20% ก็เป็นตัวเลขถึง 12,000 คน

ตัวเลขหลักนี้มากพอสมควร และไม่รู้ว่าจะกลับมาอย่างไร รอบๆโรงงานของเราเอง ก็มีกำนัน ผู้ใหญ่บ้านก็พยายามจะให้อสม.เข้าไปตรวจเช็ค สำหรับคนที่แปลกหน้าเข้ามา ตอนนี้เรารู้ว่าต้องมีเล็ดลอดบ้าง แต่คนที่ติดต่อมาเข้าโรงพยาบาลจะไม่มีปัญหา

เราต้องมองย้อนกลับไปในเรื่องของวัคซีน ซึ่งเราไม่รู้รายละเอียด เพราะฉะนั้นเราต้องปรับเปลี่ยนวิธีการนำเข้าวัคซีนมาให้เร็วที่สุด เราก็ได้มีการจัดแบ่งวัคซีนให้บุคลากรด่านหน้าไปแล้ว แต่ต่อไปนี้การแบ่งวัคซีนก็ควรจะชัดเจนและไม่ควรเปลี่ยนบ่อย

การเปลี่ยนแปลงบ่อยในที่นี้คือ หากพบคลัสเตอร์ที่ไหนจะไปจับกลุ่มคลัสเตอร์นั้นก่อน และรีบฉีดวัคซีน ซึ่งอันที่จริงหากในคลัสเตอร์นั้นมีผู้ป่วย ซึ่งฉีดวัคซีนไปก็ไม่มีประโยชน์ ยกเว้นว่าคนที่ไม่ใช่ผู้ป่วยได้รับการฉีด แต่กว่าจะได้ผลก็ต้องรอ 2 อาทิตย์

อย่างน้อยหากมีผู้ติดเชื้อก็ต้องรอผลตรวจอีก 2-3 วันถึงจะแน่ใจว่าติดเชื้อหรือไม่ติด เพราะฉะนั้นเราต้องจัดการให้ชัดเจนและเราก็ควรให้ความรู้กับประชาชนว่าตอนนี้เราจะอยู่กับโรคนี้ได้อย่างไร เพราะว่าไวรัสตัวนี้ไม่มีทางที่จะหายไปเร็วๆ นี้แน่นอน ทำอย่างไรไม่ให้เกิดความกลัวหรือ Panic

บ้านเราชอบเล่น LINE พอรับข่าวมาก็ส่งเลย ไม่มีการวิเคราะห์ข้อมูลในข่าวว่าจริงหรือไม่จริง มีสูตรยาต่างๆ เต็มไปหมดแต่ก็ไม่รู้ว่าจริงหรือไม่จริง การรวมดาต้าควรจะรวมเข้ามาที่จุดเดียว อย่างหมอท่านใดที่มีข้อมูล มีข้อเท็จจริง ก็ควรที่จะให้ท่านพูด แต่ไม่ใช่ว่าเราเป็นผู้สื่อข่าวเองทั่วทั้งประเทศ

ประเทศไทยมีการใช้ LINE ถึง 30 ล้าน Account ข้อมูลออกไปที่มีความน่ากลัว และทำให้เกิดการ Panic และเราก็ไม่รู้ว่าข้อมูลเป็นมายังไง ตอนแรกประชาชนไม่ยอมฉีดวัคซีน แต่พอตอนนี้โควิดระบาดไปทั่วทุกคนก็เร่งหาที่ฉีดวัคซีน

ทั้งที่เมื่อก่อนจะฉีดแค่ Astrzeneca แต่ตอนนี้ต่อให้เป็น Sinovac ก็ยอม เพราะอย่างไรก็ทำให้ไม่ไปรับเชื้อมาจากผู้อื่น เพราะฉะนั้นเราก็ต้องพยายามช่วยกันในเรื่องนี้

เรื่องงบประมาณที่สำคัญ คือ เครื่องมือที่จะเข้ามาช่วย เราควรจะมีการตรวจแบบ Antigen test ที่จะช่วยให้สามารถรับรู้ผลได้ทันที เพราะเราจะเห็นได้ว่าเวลาที่เราไปตรวจแบบ PR เราก็จะเข้าแถว อาจจะทำให้เราติดเชื้อจากผู้ที่รอตรวจคนอื่นๆ เช่นกัน

ฉะนั้นเราก็ใช้วิธี Antigen test ในขั้นต้นก่อน แล้วค่อยไปตรวจอีกทีเพื่อความแน่ใจ ซึ่งในตอนนี้ภาคอุตสาหกรรมของเราเองก็พยายามจะนำเครื่องมือตัวนี้เข้ามา เพื่อให้มีการตรวจระหว่างพนักงาน ก่อนที่จะไปตรวจแบบ PR อย่างน้อยก็ลดความรุนแรงลง หากเรารู้ล่วงหน้าว่ามีคนที่เป็น Super Spreader หรือเปล่า เราก็จะสามารถควบคุมได้ก่อน

(เชื่อตัวเลขระบาดจะพีคสิงหาฯ)

เรื่องของเศรษฐกิจควรที่จะแยกให้ชัดเจน เช่น ร้านอาหาร ห้างสรรพสินค้า ก็จะมีให้สั่งกลับบ้านอย่างเดียว ทั้งที่เราเข้าไปสั่งที่หน้าร้านได้ แต่ต้องสั่งผ่านเดลิเวอร์รี่เท่านั้น ซึ่งมันไม่จำเป็น เพราะคนซื้อไปซื้อถึงที่แล้ว แต่ก็ไม่มีสามารถฝ่าฝืนคำสั่งได้ ซึ่งเราก็มองว่าหากจะควบคุมก็ควบคุมอย่างจริงจัง 14 วันไปเลย

แต่ถ้าทำอย่างครึ่งๆ กลางๆ แบบนี้ หากมีคนที่เชื้อยังไม่ฟักตัวก็จะเป็นเช่นนี้ไปเรื่อยๆ ก็ต้องสั่งการให้เด็ดขาด จะปิดหรือไม่อย่างไร ซึ่งจะสามารถลดการแพร่เชื้อได้ ในขณะที่เศรษฐกิจสามารถที่จะเดินได้

ส่วนตัวคิดว่าสถานการณ์ยังไม่ถึงจุดพีค มันจะยังไปต่อ ประมาณปลายเดือนสิงหาคมน่าจะพีค เพราะเราดูจากตัวเลขว่าเราคุมประมาณ 14 วัน ซึ่งเอาเฉพาะในภาคอีสานเราตัวเลขที่เข้ามายังไม่ได้เยอะมาก มันอาจจะยังมีมาเรื่อยๆ อยู่กรุงเทพไม่มีงานทำ หรือโดนล็อกดาวน์ก็ต้องค่อยๆ ทยอยกลับมา

สาธารณสุขรองรับไม่ไหวก็ต้องทยอยกลับมา ถ้าคนที่ติดเชื้อแล้วแจ้งมาก็ไม่มีปัญหา แต่คนที่ยังไม่ติดตัวเลขก็ยังคงไปเรื่อยๆ ประมาณถึงสิ้นเดือนสิงหาคมตอนนั้นน่าจะดีขึ้นมา

จริงๆ แล้วกฎหมายของกระทรวงมหาดไทยหรือศบค.เองที่ออกมาตอนแรก ได้บอกว่าแต่ละจังหวัดให้ขึ้นกับผู้ว่าฯ เป็นคนที่จะสามารถตัดสินใจได้ทันทีว่าแต่ละพื้นที่จะต้องทำอย่างไร นี่คือการกระจายอำนาจ

แต่พอมีปัญหาเกิดขึ้นครั้งนี้ จดหมายจากกระทรวงมหาดไทย จากท่านปลัดกระทรวง บอกว่าเราต้องทำอย่างนั้นอย่างนี้ ซึ่งปัญหาก็คือ เราจะทำอย่างไรให้ทางพื้นที่ตัดสินใจโดยดูจากข้อมูลและข้อเท็จจริงของเรา

หากเราสังเกตดูคนที่ติดเชื้อถ้าแยกตามอำเภอ อำเภอเมืองมาอันดับ 1 ทุกจังหวัด อำเภออื่นๆ จะมาน้อยลง แต่ปัจจุบันเนื่องจากว่ามันเริ่มกระจายไปสู่อำเภอเล็กๆ เพราะฉะนั้นเลยเกิดการ Panic ขึ้นมา น่ากลัว ตกใจกลัวว่าต้องรีบฉีดวัคซีนแล้ว ดังนั้นจะทำอย่างไรให้การกระจายอำนาจ ที่นำโดยผู้นำในท้องถิ่น สามารถตัดสินใจได้ และมีภาคเอกชนเข้านำเสนอว่าข้อเท็จจริงๆ ควรจะเป็นลักษณะนี้ จะสามารถช่วยได้มากกว่า

เราก็พยายามนำเสนอเรื่องวัคซีนขอให้ดำเนินการโดยเร็ว ในแง่ของเอกชนเราก็อยากเข้าไปดำเนินการเอง เพราะรัฐบาลอาจจะติดปัญหาเรื่องการนำเข้ามา ยุ่งยาก ล่าช้า เอกชนสามารถนำเข้ามาเองได้หรือไม่ ตอนแรกเราจะขออนุญาตนำเข้ามาหลายล้านโดส ซึ่งรัฐเองก็ไม่อนุญาต อะไรก็ต้องผ่านราชการ

ถ้าตอนนั้นเราได้ลงมือนำวัคซีนเข้ามาโอกาสที่สถานการณ์จะเลวร้ายก็น้อยลง เพราะบริษัทใหญ่ในประเทศไทยมีมาก เขาสามารถที่จะซื้อวัคซีน ให้พนักงานของเขาเอง ช่วยแบ่งเบาภาระงบประมาณของหลวงไปได้อีกส่วนนึง อย่างน้อยก็ถือเป็นการช่วยกันทุกอย่างเอกชนและรัฐ

เราได้มีการสร้างห้องความดันลบ เราทำเรื่องเครื่องแช่วัคซีน เพราะเราสามารถทำได้ถึง -50 องศา เพราะตัววัคซีนไฟเซอร์ต้องเก็บในอุณหภูมิ – 47 องศา เพื่อแจกจ่ายให้โรงพยาบาลทุกแห่งที่ขอเข้ามา และเราก็ทำเครื่องตรวจสอบอุณหภูมิความดันลบในห้อง และเราก็ทำ healthy box เพื่อช่วยเหลือผู้ที่ติดใน Home isolation พวกเราก็ระดมทุน รับบริจาคช่วยกัน ช่วยเหลือสมาชิกเรา

ส่วนข้างนอกที่ร้องขอมา เราสร้างโรงพยาบาลสนาม 2 แห่ง ซึ่งสามารถนำมาทำ community isolation ได้ ซึ่งเราก็พยายามที่จะเข้าไปช่วยทุกแห่ง เพราะเห็นว่าถ้ารัฐบาลมีกำลังไม่พอแล้วเราสามารถช่วยได้ตรงไหนเราก็ช่วย

 

(มาตรการรัฐ SMEเข้าไม่ถึง)

ในแง่ของมาตรการช่วยเหลือที่ออกมา ตอบโจทย์ได้บางส่วน แต่แยกเป็น 2 ส่วนคือ มาตรการที่ผ่านรัฐบาล หรือผ่านธนาคารชาติ ในส่วนของรัฐบาลก็จะเน้นในแง่ของการเพิ่มกำลังซื้อหรือช่วยลูกจ้าง แต่นายจ้างไม่เคยพูดถึงเลย เช่น คนละครึ่ง ไทยชนะ ในลักษณะนี้

ส่วนมาตรการของธนาคารชาติก็คือ ดอกเบี้ยต่ำ ปัญหาคือติดกฎเกณฑ์เยอะมาก ส่วนคนที่จะกู้ได้คือ คนที่มีเครดิตดีอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นคนที่มีเครดิตดีอยู่แล้วเขาก็สามารถที่จะกู้ได้เพิ่ม ส่วนคนที่ไม่มีเครดิตก็จะกู้ยาก มันต้องมีการลดกฎเกณฑ์ เงื่อนไขลงไปเยอะพอสมควร

ทำไมเราถึงพูดกันว่าตัว SME ไม่สามารถที่จะเข้าถึงแหล่งเงินได้ เพราะภาคอีสานเป็นภาคที่โตโดยบริษัทเงินกู้เป็นส่วนใหญ่ บริษัทเงินกู้มีอยู่ทั่วไปทุกที่ ไม่ว่าจะเป็นอำเภอเล็ก อำเภอน้อย ก็จะมีทั้งที่ถูกกฎหมายและไม่ถูกกฎหมาย แสดงว่า SME ไม่สามารถเข้าถึงการกู้เงินได้

หลายๆ มาตรการที่เราพูดถึงคือ มาตรการที่ดี แต่พอเจอกฎเกณฑ์เข้าไปก็ไม่มีใครอยากกู้ เพราะคนออกกฎไม่ได้เป็นคนกู้ พอคนปล่อยกู้เจอกฎเกณฑ์เข้าไปก็ไม่กล้าปล่อย เพราะเขาทำธุรกิจเขาก็อยากมีกำไร จะสังเกตุได้ว่าในไตรมาสที่ 1 และไตรมาสที่ 2 ของปี 64 ธนาคารมีกำไรเพิ่มขึ้นเกือบทุกแห่ง

เทียบระหว่างปี 63 กับ 64 ในเมื่อเศรษฐกิจทุกอย่างมีปัญหา ลูกหนี้เพิ่มขึ้น ธนาคารจะมีกำไรได้อย่างไร นั่นแสดงให้เห็นว่าในแง่ของการปล่อยกู้ไม่สามารถจะลงไปถึงคนที่ต้องการจริงๆได้ การที่จะทำได้ต้องเปลี่ยนกฎเกณฑ์

บางทีกฎเกณฑ์ไม่ได้ทำเป็นลายลักษณ์อักษร แต่เป็นตัวกฎเกณฑ์ที่บางแห่งตั้งขึ้นมาเพื่อที่จะปกป้องตัวเอง ซึ่งรัฐก็พยายามทำทุกอย่าง สภาอุตสากรรมแห่งประเทศไทยได้พยายามเสนอให้นำบสย.มาค้ำ

ตอนนี้ที่เราเสนอไปคือ ให้ค้ำประกันจาก 40 เป็น 60 ซึ่งหมายถึงถ้าเกิดมีกรณีหนี้เสียก็ให้บสย.จัดการให้ก่อน 60% และมีวงเงินจำกัดซึ่งให้บสย.ค้ำประกัน 100% ธนาคารก็ยังไม่อยากปล่อยกู้ เพราะหลังจากปี 63 มีหลายธุรกิจที่แย่ลง หากทำตามกฎเกณฑ์ ก็จะไม่มีใครสู้ได้ ปัญหาใหญ่อยู่ที่ว่าหากใช้งบดุลในปี 63 มาคิด

ทั้งที่ในปี 63 เราเจอโควิดไป 2 รอบ เพราะฉะนั้นธุรกิจก็จะประสบปัญหา ซึ่งการที่จะปล่อยให้กู้ต้องนำงบดุลในปี 62 มาคิดซึ่งยังอยู่ในช่วงสถานการณ์ปกติ พอปี 63 เราเจอโควิด ถ้าลดลง 30% ก็ควรจะให้ช่วย 30% และการให้กู้ไม่ควรจะมีเงื่อนไข

อย่างเช่นตอนน้ำท่วมใหญ่ที่กรุงเทพ ก็มีให้กู้โดยให้ผู้จัดการท้องที่เป็นคนดูแลเองว่าผู้กู้รายนี้จะต้องซ่อมแซมบ้านอย่างไร เท่าไหร่ โดยการปล่อยให้กู้ และไม่ต้องพิจารณาสินเชื่อ

 

(ลดเงื่อนไขรับแรงงานต่างด้าว)

ในแง่อุตสาหกรรมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ยอดที่เป็นอยู่ของแต่ละอุตสาหกรรมไม่เหมือนกัน อุตสาหกรรมในภาคอีสานที่โดนผลกระทบคืออุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น เช่นแรงงานตัดเย็บเสื้อผ้า ซึ่งออร์เดอร์หายไป เนื่องจากต้องส่งไปต่างประเทศ จึงเป็นอันดับที่โดนผลกระทบเยอะ

ทำอย่างไรถึงจะสามารถประคองให้ไปต่อได้ ซึ่งเขาก็พยายามปรับเปลี่ยนไปทำหน้ากากผ้า ปัจจุบันถือว่าโชคดีตรงที่ว่าเราเริ่มเจอโควิดระบาดหนัก แต่ในต่างประเทศซึ่งเป็นลูกค้า เพราะส่วนใหญ่โรงงานพวกนี้จะผลิตเสื้อกีฬา แต่ก็ยังติดปัญหาตรงที่ว่าส่งคนเข้าไปดูไม่ได้ แต่ก็ยังมีออร์เดอร์เพิ่มเข้ามาเรื่อยๆ ตรงนี้ก็จะเป็นส่วนที่ช่วยประคองให้เขาไปต่อได้

ส่วนระเบียบในอุตสาหกรรม เรื่องกฎระเบียบแรงงาน ถึงแม้แรงงานเรามีเยอะ แต่ก็กระจายไปที่อื่นเยอะหรือไปต่างประเทศด้วย ในขณะที่ในพื้นที่ยังมีไม่พอเพียง และเราก็ต้องนำคนงานต่างด้าวเข้ามา

เราจะทำอย่างไรให้คนงานต่างด้าวเข้ามาได้โดยไม่ยุ่งยาก ซับซ้อน ซึ่งขณะนี้แรงงานอุตสาหกรรมก็ยังขาดอยู่ โดยเฉพาะแรงงานต่างด้าวที่พอมีโควิดเขาก็กลับบ้าน พอกลับบ้าน เขาก็กลับมาไม่ได้ แต่ก็มีที่ลักลอบเข้ามาตามด่านธรรมชาติ

ทำไมเราไม่เปิดรับให้เขาเข้ามาทางด่านจริง แล้วก็มีการตรวจสอบ โดยค่าใช้จ่ายต้องคุยกับทางนายจ้าง ซึ่งปกติเราจ้างแบบ MOU ก็ต้องคุยกันว่าเขาจะเอากี่คน ถ้าเอาเขาเข้ามาก็ต้องรับผิดชอบด้วย มีการกักตัว 14 วัน นายจ้างต้องรับผิดชอบ ก็จะทำให้อุตสาหกรรมแรงงานเข้มข้นสามารถที่จะเติบโตไปได้

ส่วนอุตสาหกรรมเกี่ยวกับแปรรูปการเกษตร เราจะเห็นว่าวัตถุดิบแยกไปหลายแบบ เช่น อ้อย มัน ข้าว ยาง เราต้องมีการจัดสรรพื้นที่ปลูก ซึ่งในบางอุตสาหกรรมขาดแคลนวัตถุดิบ เช่น มันสำปะหลัง เห็นได้ชัดเลยว่าในแง่กำลังผลิตของโรงงานทั้งหมด สามารถผลิตได้ 60-70% เพราะขาดวัตถุดิบ

ทำไมเราไม่ไปคุยกับเพื่อนบ้าน เพราะชายแดนเพื่อนบ้านเราก็สามารถปลูกหลายอย่างคล้ายกับเราได้ เช่น กัมพูชาปลูกมัน ลาวปลูกมัน ปลูกอ้อย ปลูกข้าวโพดได้ ซึ่งเราสามารถนำกลับเข้ามาเป็นวัตถุดิบของเรา โดยในพื้นที่บ้านเราจะอาศัยเทคโนโลยี อาศัยนวัตกรรมจากมหาวิทยาลัย เพื่อเพิ่มผลผลิตในทุกตัว จะทำให้เราสามารถมีวัตถุดิบในการผลิต ในขณะที่เราส่งออกไปขาย ก็จะเกิดดุลทั้งลาว กัมพูชา

ทำไมเราไม่ขอซื้อกลับมา ถ้าเรามีการทำ Contact Farming ก็จะเป็นผลดีกับเราในเรื่องของการค้า ก็ทำให้เกตรกรมีรายได้ พอรายได้สูงขึ้นเขาก็หันกลับมาซื้อสินค้าของเราผ่านชายแดน

ตัวนี้ก็จะทำอุตสาหกรรมทางด้านการเกษตรเพิ่มขึ้น อีกอย่างที่มีโอกาสคือมหาวิทยาลัย ตอนนี้เอกชนต้องร่วมมือกับมหาวิทยาลัย และรัฐบาล ในการเสรืมสร้าง และพยายามที่พัฒนาขีดความสามารถของเรา ในเรื่องเทคโนโลยี เรื่องนวัตกรรมต่างๆ จะทำให้อุตสาหกรรมของเราสามารถเติบโตไปได้ เพราะเราก็ต้องเข้าใจว่าเราเป็นสังคมสูงอายุ เราจำเป็นต้องขับเคลื่อนตัวให้ขึ้นไปอีกระดับหนึ่ง

……………………

แสดงความคิดเห็น