นายสฤษฏ์ นาควารินทร์ ประธานหอการค้า จังหวัดศรีสะเกษ กล่าวในการเสวนาข้อเสนอการป้องกันควบคุมโควิด 19 และการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพื้นที่ ว่า หอการค้าศรีสะเกษได้ร่วมมือกับ ม.ราชภัฏศรีสะเกษ จัดทำเว็บเพจขึ้นมาเพื่อให้จังหวัดใช้มอนิเตอร์สถานการณ์เพราะเชื่อว่าแต่ละจังหวัดได้มีการจัดตั้งเตียงสนามมีการจัดการเพื่อคนที่ Walk-in กลับเข้ามาพื้นที่ในแต่ละวันมีผู้ติดเชื้อเพิ่มมาก
เรามองว่าจะทำอย่างไรให้จังหวัดสามารถบริหารเตียงได้ จะทำอย่างไรให้ได้รู้ว่าในขณะนี้มีเตียงอยู่เท่าไหร่ ทำอย่างไรถึงจะรู้ได้ว่าผู้ป่วยหรือผู้ติดเชื้อที่เข้ามาใหม่จะสามารถมีเตียงเพียงพอ แม้กระทั่งว่าผู้ป่วยจากสีเขียวที่กลายเป็นสีเหลือง จนถึงสีแดง จะต้องมีอุปกรณ์ เตรียมความพร้อมยังไง
หอการค้าฯได้เสนอนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด และผู้ว่าฯและเริ่มทำงานกันในตัวเว็บเพจ “ศรีสะเกษร่วมใจ” ซึ่งมีข้อดีทำให้จังหวัดสามารถบริหารผู้ป่วยได้ เพราะในแต่ละอำเภอมีผู้ป่วยไม่เท่ากันในความสามารถที่จะจัดตั้งเตียงสนามได้นั้น
แต่ในส่วนของการจัดการแต่ละอำเภอผู้ป่วยไม่เท่ากัน การที่เราจะสับเปลี่ยนผู้ป่วยไปไว้ในอีกอำเภอ ซึ่งไม่ใช่อำเภอถิ่นเกิด แต่อยู่ในจังหวัดศรีสะเกษ ตรงนี้อาจจะทำให้ผู้ป่วยสบายใจ ที่ได้รับการดูแลจากคนในพื้นที่เดียวกัน
การเตรียมการก่อนหน้านี้ หอการค้าฯได้ทำ “ศรีสะเกษสู้” ซึ่งตอนนั้นของประเทศไทยได้ทำ “ไทยชนะ” ของเราก็ทำ “ศรีสะเกษสู้” เป็นแอพพลิเคชั่น คล้ายๆกัน ซึ่งสามารถเอาไปทำ Home Isolation ได้ สามารถให้ผู้ป่วยเช็คอินตัวเองได้ว่าอยู่ตรงไหน
ในส่วนของแอดมินจะเป็นของ ม.ราชภัฎ ที่ดูแลให้ ขั้นตอนของการดีไซน์ยังไม่ได้เข้าไปคุยแต่คิดว่าอยากให้แต่ละอำเภอสามารถแก้ไขข้อมูลของตนเองได้โดยที่มอนิเตอร์ใหญ่จะอยู่ที่จังหวัด
ตอนนี้ศรีสะเกษเองมีประชากรอยู่ 1,480,000 คน ผู้ว่าฯได้ตั้งตัวเลขคนในพื้นที่ไว้ที่ 1,000,000 คน อีก 500,000 คนน่าจะเป็นคนที่อยู่นอกพื้นที่ ซึ่งอาจจะมีการสร้างครอบครัวใหม่ หรืออาจจะไปทำงานก็กลับเข้ามาเราไม่สามารถพยากรณ์ได้เลย
แม้แต่ตัวเลขของกรมการปกครองเองก็ไม่สามารถยืนยันได้ แต่เชื่อว่าทุกจังหวัดเหมือนกันคือ มีเบอร์ติดต่อให้ผู้ป่วย มีเบอร์ติดต่อใน LINE อำเภอ เพื่อแพทย์จะได้โทรฯ คุยกับผู้ป่วยว่าจะกลับมาหรือไม่ หรืออย่างไร ก็ต้องเรียนตรงๆ ว่าไม่สามารถพยากรณ์ได้จริงๆ
ต้องยอมรับว่าเราไม่สามารถเพิ่มบุคลากรทางการแพทย์ได้ แต่สิ่งที่เราจะสามารถช่วยได้ก็คือ ให้เขาทำงานน้อยที่สุด เพราะต้องบอกว่างานตรงนี้ตึงมือทุกคนไม่ใช่แค่ระดับจังหวัด แต่ลึกลงไปถึงระดับตำบล เพราะฉะนั้นการที่เราจะตั้งรับได้ดีที่สุดก็คือ การที่เราจะต้องพยากรณ์จากทรัพยากรที่มี ก็ต้องค่อยๆ ปรับเพิ่ม
ในด้านการขับเคลื่อนเศรษฐกิจศรีสะเกษ เป็นสายเกษตรเหมือนกัน จริงๆ แล้ว 3 จังหวัดหลักเป็นสายเกษตร ล่าสุดประธาน YEC ได้นำเสนอเรื่องของภาษี ในส่วนของผู้ประกอบการที่ถูกสั่งปิด สถานประกอบการบันเทิง ต่างๆจะคิดภาษีกับเขาอย่างไร ส่วนไหนที่มีการกระทบบ้างก็อยากจะให้ช่วยลด เพราะก็ต้องยอมรับว่าสิ่งที่รัฐบาลนำออกมาแจกจ่ายเป็นปริมาณเงิน แต่ไม่เกิดงาน
การนำเงินลงมาในระบบเพื่อเป็นการกระจาย แต่สุดท้ายก็ต้องยอมรับว่าไม่ทั่วถึง ไม่เท่าเทียมกัน ซึ่งเรื่องที่จะเข้าถึงผู้ประกอบการได้เลยก็เป็นเรื่องของภาษี สามารถลดหย่อนที่ตรงไหนได้บ้างหรือพักตรงไหนได้บ้าง การเดินของเศรษฐกิจในตอนนี้ผู้ประกอบการก็ต้องชะลอตัว
เรื่องภาษีก็เลยเป็นเรื่องที่จะนำเสนอเข้าไปที่ภาครัฐโดยตรง เราก็จะขอให้ได้จ่ายน้อยที่สุด เพราะเชื่อว่าเงินที่ได้จากการฟื้นฟูหลายท่านได้มาก็ไม่กล้าใช้เพราะว่าไม่รู้ใช้ไปแล้วใครจะซื้อใครจะขายตอนนี้ไม่มีช่องทางที่จะมีรายได้เลย
ในส่วนของภาคเกษตรก็มีการขยับ เพียงแต่ก็ไม่ได้ 100% ทุกคนระวังตัวอยู่บ้านทั้งหมด เพื่อลดการระบาดให้ได้มากที่สุด ตรงนี้เราก็จะมามองที่ผู้ประกอบการ แต่ว่าเราใช้ภาคเกษตรเป็นตัวชี้เป้าเลขเศรษฐกิจของแต่ละจังหวัดเท่านั้นเอง
ต้องยอมรับว่าคนส่วนหนึ่งที่ถือเงินและจ่ายภาษีก็คือ ผู้ประกอบการ ไม่ใช่ภาคเกษตร เพราะภาคเกษตรปลอดภาษี ณ วันนี้คนที่มีรายได้ 50% จากรายได้ทั้งหมดแค่นั้นก็หรูแล้ว ในภาวะอย่างนี้ ทุกอย่างมันถูกกระทบไปหมดของขายได้น้อยทุกอย่างก็จะแพงขึ้น ค่าครองชีพก็จะแพงขึ้น ถ้าเกิดภาครัฐเข้ามาช่วยผู้ประกอบการ แทนที่ผู้ประกอบการต้องเอาทุกอย่างไปเป็นต้นทุนให้หมด เขาก็จะได้ลดต้นทุนบางอย่างลง เชื่อว่าทุกอย่างมันเกี่ยวเนื่องกัน
เชื่อว่าทุกจังหวัดเน้นในเรื่องของการท่องเที่ยว เพราะเมื่อมีการท่องเที่ยวก็จะทำให้มีหัวรถจักรลากธุรกิจ ศรีสะเกษมีการวางแผนไว้ในเรื่องของกีฬาเราจะเปิดเมืองเพื่อรับเรื่องกีฬา แต่ในสถานการณ์ตอนนี้น่าจะดีเลย์เพราะว่ามีพื้นที่สีแดงมาก
สิ่งหนึ่งที่ทุกท่านอยากจะทำหลังจากโควิดทุเลาก็คือ การออกจากบ้าน แล้วก็เชื่อว่าหลายหลายจังหวัดพร้อมที่จะเป็นเจ้าภาพรับแขก อยากจะนำเสนอการท่องเที่ยวในอีสาน เราอาจจะเที่ยวใกล้ๆ กันก่อน แล้วค่อยขยายไป