สศท.4 พบ “เพาะหอยขมเชิงพาณิชย์ “ทางเลือกใหม่ที่จะสร้างรายได้เสริมให้กับเกษตรกรกำลังเป็นที่นิยมและเป็นที่ต้องการของท้องตลาดอีสาน
นายฉกาจ ฉันทจิระวัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 4 ขอนแก่น (สศท.4) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันเกษตรกรมีการเพาะเลี้ยงหอยขมในเชิงพาณิชย์อย่างแพร่หลายในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เนื่องจากหอยขมได้รับความนิยมจากผู้บริโภคในพื้นที่ สามารถนำไปประกอบอาหารได้หลากหลายและสร้างรายได้เสริมให้กับเกษตรกร การเลี้ยงหอยขมจึงเป็นสินค้าทางเลือกที่น่าสนใจ เพราะใช้พื้นที่เลี้ยงน้อย เลี้ยงง่าย โตไว ต้นทุนต่ำ เลี้ยงได้ตลอดทั้งปีและที่สำคัญตลาดมีความต้องการสูง ขณะที่สถานการณ์การผลิตและตลาดหอยขมในพื้นที่จังหวัดมหาสารคามและจังหวัดกาฬสินธุ์ ซึ่งเป็นจังหวัดที่พบการเลี้ยงหอยขมมากที่สุดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนกลาง สำหรับท่านที่สนใจข้อมูลการผลิตหอยขม สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ นายไพทูลย์ บุญสิลา เศรษฐกิจการเกษตรอาสา ตำบลหนองเรือ อำเภอนาเชือก จังหวัดมหาสารคาม
จากการสำรวจ ของ สศท.4 พบว่า ปัจจุบันตัวแทนเศรษฐกิจการเกษตรอาสา (ศกอ.) ของ สศก. ทั้ง 2 จังหวัด ให้ความสนใจและเริ่มนิยมเพาะเลี้ยงหอยขมในเชิงพาณิชย์มากขึ้น ซึ่งจากตัวอย่างของ ศกอ. ที่ประสบความสำเร็จ จำนวน 5 ราย พบว่า ส่วนใหญ่นิยมเลี้ยงสายพันธุ์เปลือกดำ ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่มีในธรรมชาติทั่วไป มีสีน้ำตาลแก่ไปจนถึงสีดำ เนื้อเหนียวและจะซื้อพ่อแม่พันธุ์จากฟาร์มที่เพาะเลี้ยงมากกว่าจับตามธรรมชาติ เนื่องจากหอยขมเพาะเลี้ยงสะอาดกว่าและไม่มีปัญหาเรื่องสารเคมีเจือปน
นอกจากนี้ ต้นทุนการเลี้ยงเฉลี่ย 341 บาท/บ่อ/รุ่น เกษตรกรจะปล่อยแม่พันธุ์ประมาณ 60 ตัว/บ่อ หรือประมาณ 1 กิโลกรัม/บ่อ (บ่อ ขนาด 80 x 35 เซนติเมตร) หลังจากเลี้ยงในระยะเวลา 6 เดือนจะให้ผลผลิตหอยขมเฉลี่ย 40 กิโลกรัม/บ่อ/รุ่น หรือประมาณ 2,400 ตัว หลังจากนั้นเกษตรกรจะเลี้ยงต่อไปอีกประมาณ 4 เดือน จึงจับขายได้ ราคาที่เกษตรกรขายได้ ณ วันที่ 30 สิงหาคม 2564 หอยขมสดรวมเปลือก เฉลี่ยอยู่ที่ 43.33 บาท/กิโลกรัม และหอยขมแกะเปลือก เฉลี่ยอยู่ที่ 225 บาท/กิโลกรัม ซึ่งหากคิดผลตอบแทนเฉพาะหอยขมสดรวมเปลือก เกษตรกรจะมีผลตอบแทนเฉลี่ย 1,747 บาท/บ่อ/รุ่น ผลตอบแทนสุทธิเฉลี่ย (กำไร) 1,406 บาท/บ่อ/รุ่น โดยในระยะเวลา 1 ปี สามารถเพาะเลี้ยงหอยขมได้ถึง 2 รุ่น หากคิดเป็นผลตอบแทนทั้งปี เกษตรกรจะมีรายได้จากการจำหน่ายหอยขมเฉลี่ย 3,494 บาท/ปี/บ่อ หรือ คิดเป็นกำไร 2,812 บาท/ปี/บ่อ