น.ส.ขวัญฤทัย แก้วหนองตอ น.ส.กอบทอง รัตนมณีรัศมี น.ส.เบญญา วัฒนะ นักศึกษาฝึกงาน คณะมนุษย์ศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (เรียบเรียง)
“”””””””””””
หลังจากเกิดเหตุการณ์สภาเทศบาลนครขอนแก่นมีมติไม่รับหลักการร่างเทศบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2564 “อีสานบิซ” ได้เชิญนักวิชาการ 3 คน มาร่วมพูดคุยเกี่ยวกับเหตุการณ์ดังกล่าวว่า เป็น “วิกฤต” หรือ “โอกาส” ประชาธิปไตยท้องถิ่น รวมไปถึงแนวทางแก้ไขปัญหา เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม ที่ผ่านมา
ประกอบด้วย ดร.ศักดิ์ณรงค์ มงคล ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการกระจายอำนาจ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต นายบรรณ แก้วฉ่ำ นิติกร องค์การบริหารส่วนจังหวัดอยุธยา และเลขานุการอนุกรรมาธิการการปกครองท้องถิ่นและกระจายอำนาจสภาผู้แทนราษฎร ดร.ปานปั้น รองหานาม อาจารย์ประจำวิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น
#ชี้เป็นโอกาสปชช.มีส่วนร่วม
การเสวนาเบื้องต้น วิทยากรทั้ง 3 คน ต่างเห็นว่า เหตุการณ์ที่เกิดขั้นถือเป็นโอกาสอันดีของประชาชนที่จะเข้ามามีส่วนร่วมกับการทำงานของเทศบาลนครขอนแก่น ส่วนที่มีการกล่าวว่า จะเป็นการทำให้โครงการๆต่างๆสะดุดไม่สามารถเดินต่อไปได้นั้นไม่เป็นความจริง เนื่องเพราะขั้นตอนการพิจารณาร่างเทศบัญญัติยังมีระยะเวลาเหลืออยู่รวม และหากไม่ทันจริงๆก็สามารถนำเอาเทศบัญญัติงบประมาณประจำปี 2564 มาบังคับใช้ไปพลางก่อนได้
ดร.ศักดิ์ณรงค์ กล่าวว่า เป็น “โอกาส”ที่จะได้ปรับการทำงานให้มีความเข้าใจถึงกฎหมายกติกา และหลักการพื้นฐานของกระบวนการประชาธิปไตยในระดับท้องถิ่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบเทศบาล อบต. อบจ. กรุงเทพฯ และพัทยา มีความสำคัญในการบริการประชาชนในท้องถิ่น
การทำงานไม่ว่าจะฝ่ายบริหารหรือฝ่ายสภาฯ เป็นการทำงานที่ต้องมีปฏิสัมพันธ์ในการถ่วงดุลอำนาจตรวจสอบ ซึ่งเป็นเรื่องปกติในโลกของประชาธิปไตย และการเมืองท้องถิ่นไม่ต่างจากการเมืองระดับประเทศ
“เราควรมองปัญหาในรูปแบบนี้ว่า เป็นเรื่องปกติธรรมดาของกระบวนการทำงานร่วมกันระหว่างฝ่ายสภาฯ และฝ่ายบริหาร ซึ่งมาจากการเลือกตั้งจากประชาชนทั้งสองฝ่าย ต่างฝ่ายต่างทำงานในกลไกที่รัฐได้ออกแบบมาไว้ให้มีการถ่วงดุลอำนาจ ซึ่งกรณีขอนแก่นจะเป็นบทเรียนให้กับท้องถิ่นอื่นๆต่อไป“ ดร.ศักดิ์ณรงค์ กล่าว
#ฟันธง ! องค์ประกอบต้องครบ
ส่วนแนวทางการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น ดร.ศักดิ์ณรงค์ มองว่า องค์ประกอบคณะกรรมการพัฒนาแผนฯจะต้องแต่งตั้งให้ครบองค์ฯ ก่อนแล้วจึงกลับเข้ามาประชุมพิจารณากันใหม่เพราะระบบราชการแผ่นดินต้องยึดหลักกฎหมาย การประชุมต้องครบตำแหน่ง ถึงจะดำเนินตามกระบวนการได้ องค์ประกอบของการประชุมไม่ครบ แม้ดำเนินการผ่านไปกระบวนการก็ไม่สมบูรณ์
ตามมาตรา 62 พ.ร.บ.เทศบาล 2496 แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 14 2562 ระบุว่า ในกรณีสภาเทศบาลฯไม่รับหลักการร่างเทศบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีหรือรายจ่ายเพิ่มเติมให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการ 15 คน ประกอบ คณะกรรมการฯ 14 คน มาจากทั้งฝ่ายบริหารและฝ่ายสภาฯ ฝั่งละ 7 คน และแต่งตั้งประธาน 1 คน เพื่อพิจารณาหาข้อยุติความขัดแย้ง
ในการพิจาณาเนื้อหาที่ต้องทำการแก้ไข ปรับปรุง หรือ ยืนยันสาระสำคัญในร่างเทศบาลฯ แล้วเสนอร่างเทศบัญญัติฯต่อ ผู้ว่าราชการจังหวัด และดำเนินการตามขั้นตอน หากผู้ว่าฯตอบกลับมาแล้ว สภาฯไม่เห็นชอบด้วย ผู้ว่าฯสามารถส่งหนังสือให้กระทรวงมหาดไทย ยุบสภาฯได้จึงต้องพิจารณาให้ชัดเจนและระมัดระวัง
ขั้นตอนกระบวนการมีประโยชน์ แต่ควรระมัดระวังให้ครบองค์ประกอบกฎหมาย หากขัดแย้งกันหรือไม่มีข้อมติในที่ประชุมอาจส่งผลในการพัฒนาเมืองนครขอนแก่นได้ ทุกคนต่างที่มีบทบาทและหน้าที่ มีแง่มุมแตกต่างกันที่หลากหลายในการทำงาน ซึ่งจะช่วยยกระดับการทำงานและพัฒนาประชาธิปไตยท้องถิ่น
#สองฝ่ายแจงเหตุผล/ประชาชนตัดสิน
นายบรรณ แก้วฉ่ำ นิติกรประจำ องค์การบริหารส่วนจังหวัดอยุธยา เลขานุการอนุกรรมาธิการการปกครองท้องถิ่นและกระจายอำนาจสภาผู้แทนราษฎร มีความเห็นว่า กรณีดังกล่าวเป็นโอกาส และประชาชนได้ประโยชน์ โดยคนที่ได้ประโยชน์คือประชาชนในเขตเทศบาลฯ จะได้รับข้อมูลจากทั้งสองฝ่าย เป็นโอกาสที่ทำให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมกับเทศบาลฯมากขึ้น
“เมื่อก่อนปัญหานี้ไม่เกิดขึ้น แต่พบว่าฝ่ายบริหารขาดความเข้มแข็ง จึงมีการปรับแก้กฎหมายให้ผู้บริหารและนายกฯมาจากการเลือกตั้งโดยตรง ทำให้เข้มแข็งขึ้น แต่ก็ทำให้เกิดผลกระทบอย่างนี้ได้เช่นกัน ซึ่งไม่ใช่ผลเสีย”
ปรากฏการณ์ที่เกิดปัญหาแบบนี้เคยมีมาก่อน และส่วนใหญ่สามารถตกลงกันได้ เนื่องจากการตั้งคณะกรรมการฯสามารถแก้ปัญหาได้ น้อยมากที่จะนำไปสู่การยุบสภาท้องถิ่นหรือนำไปสู่การให้นายกเทศมนตรีพ้นจากตำแหน่ง
นายบรรณ กล่าวว่า การที่เทศบัญญัติล่าช้าออกไปเนื่องจากมีกระบวนการตรวจสอบกรณีนี้ ฝ่ายสภาเทศบาลฯมีเหตุผลชี้แจงต่อประชาชนฟังขึ้นเพียงพอหรือไม่ อย่างประเด็นกระบวนการจัดทำแผนต่าง ๆ ฝ่ายสภาที่เป็นตัวแทนสภาฯไม่ได้เข้ามามีส่วนร่วม ซึ่งระหว่างฝ่ายนายกเทศมนตรีและฝ่ายสภาฯต่างมีเหตุผลในฝั่งของตนและออกมาชี้แจงให้ประชาชนทราบ
กระบวนการยังเป็นกลไกที่จะทำให้ข้อมูลเกี่ยวกับการใช้จ่ายงบประมาณต่าง ๆ ในการปกครองท้องถิ่นหลั่งไหลไปสู่ประชาชนในเขตท้องถิ่นเพิ่มมากขึ้น เหตุการณ์ที่ขอนแก่นจะทำให้ประชาชนได้มุมมอง ได้ความรู้ ได้ข้อมูลประโยชน์เป็นอย่างมากจากทั้งสองฝ่าย ถือเป็นการเพิ่มการมีส่วนร่วมของประชาชนในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทำให้ประชาชนรู้สึกถึงการเป็นเจ้าของเทศบาลมากขึ้น ซึ่งเป็นเจตนารมณ์สำคัญในการจัดตั้งท้องถิ่นขึ้นมา
อย่างไรก็ตามประเด็นที่ทั้งสองฝ่ายติดใจกันมากที่สุด เนื้อหาเป็นต้นเรื่องที่นำไปสู่การสืบค้นที่มา ดังนั้นควรแก้ประเด็นเรื่องเนื้อหา และจากแรงกดดันของสังคมไม่ใช่แม้แต่เพียงฝ่ายบริหาร แต่ทั้งฝ่ายสภาก็เกิดความกดดันเช่นกันในเรื่องงบประมาณที่ยังไม่สามารถนำมาใช้ได้ โครงการต่าง ๆ ไม่สามารถขับเคลื่อนได้ ด้วยองค์ประกอบหลายอย่าง แม้แต่สถานการณ์โควิด19 ทำให้ทั้งสองฝ่ายมีแนวโน้มที่จะหาทางออกร่วมกันได้อย่างแน่นอน
ประเด็นการพิจารณาหากล่าช้าออกไป จะไม่เป็นผลดีการมีการพิจารณา 15 วัน ถือว่าเหมาะสม ตัวแปรจุดสำคัญ คือ ประธานกรรมการฯ เนื่องจากในกฎหมายกำหนดให้คณะกรรมการฯมี 14 คนจากสองฝ่ายและให้หาประธานฯที่เป็นกลางมา 1 คน
ตัวประธานจะมีผลต่อบรรยากาศในการพิจารณาร่วมกันว่า เป็นที่ยอมรับของทั้งสองฝ่ายหรือไม่ ส่วนข้อเสนอแนะในสถานการณ์ปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปทำให้อาจควรมีมาตรการเข้ามาปรับปรุงเพิ่มเติม อย่างเช่น การรับฟังความเห็นฝ่ายประชามติผ่านออนไลน์ ซึ่งมีหลายประเทศที่ทำรูปแบบนี้อยู่
#หวั่นภาพขัดแย้งเสียโอกาสการพัฒนา
ดร.ปานปั้น รองหานาม อาจารย์ประจำวิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า ในทางวิชาการถือว่าเป็นโอกาสที่ดีในแง่ของประสบการณ์การบริหารจัดการด้วยกระบวนการประชาธิปไตยยังคง แม้เทศบาลนครขอนแก่นไม่เคยมีปรากฏการณ์เช่นนี้มาก่อน ทั้งฝ่ายคณะผู้บริหารเทศบาลฯและฝ่ายสภาฯ
ทั้งนี้จะส่งผลให้กระบวนการทำงานของเทศบาลนครขอนแก่นในลักษณะใหม่ที่แข็งขัน มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น การได้เรียนรู้ร่วมกันของทั้งสองฝ่าย รวมถึงภาคประชาชนเอง ชี้ให้เห็นถึงประโยชน์ของภาคประชาชนที่สามารถเข้ามามีส่วนร่วมติดตามและสอดส่องพฤติการณ์ที่เกิดขึ้น
กรณีนี้สามารถเกิดฉันทามติได้ง่าย เนื่องจากทั้งสองฝ่ายมีภูมิหลังมาจากกลุ่มเดียวกัน ซึ่งมีพื้นฐานนโยบาย วิธีการ หลักคิดเดียวกันในการพัฒนาเมือง จึงทำให้แต่ละฝ่ายทำหน้าที่ได้อย่างเข้มข้นมากขึ้น ทั้งในเชิงของกระบวนการทำงานและกระบวนการพิจารณาตรวจสอบนโยบาย
กระบวนการจัดทำร่างเทศบัญญัติงบประมาณ พ.ศ.2565 แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนเนื้อหาและส่วนกระบวนการ เมื่อพิจารณาโดยเฉพาะส่วนกระบวนการที่เป็นปัญหา พบว่ายังไม่ถึงจุดที่ภาคประชาชนมีส่วนได้ส่วนเสียมากนัก
ส่วนเนื้อหา หากเกิดการถกเถียงกันจนไม่สามารถหาข้อสรุปส่งผลให้ขัดต่อระยะเวลาตามกฎหมายในการจัดทำแผนฯ ตนอยากให้ทุกฝ่ายระวังและควรหาข้อสรุปส่วนเนื้อหาที่สมบูรณ์พร้อมทั้งมีประชามติเอกฉันท์ให้แล้วเสร็จตามกรอบเวลาที่กำหนดไว้
ด้วยเหตุนี้เองนำไปสู่ข้อกังวลที่ว่า แม้จะสามารถผ่านวาระนี้ไปได้แต่ก็ต้องเจอวาระต่อ ๆ ไปอีก ซึ่งปรากฏการณ์เช่นนี้ สะท้อนให้เห็นได้จากความไร้เสถียรภาพทางการเมืองของประเทศไทย ที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบันเอง หากมองย้อนไปในอดีตเมื่อ 20 – 30 ปีก่อน จะพบว่าประเทศไทยเคยได้ชื่อว่ากำลังเป็นเสือตัวที่ 5 ของเอเชีย แต่ติดอุปสรรคเรื่องความไม่ลงรอยกัน ทำให้เกิดการพัฒนาที่ล่าช้า
ขอนแก่นเองเป็นเมืองที่กำลังถูกจับตามองจากทั่วประเทศ เมืองที่กำลังเติบโตในอนาคตจะเป็นหัวเมืองภูมิภาค อาทิ ขอนแก่น เชียงใหม่ ภูเก็ต รวมถึงเมืองที่มีอันดับเดียวกันจะถูกจับตามองเป็นพิเศษ ซึ่งพบว่าในปัจจุบันมีโครงการพัฒนาในลักษณะเดียวกัน
หากเกิดปรากฏการณ์แบบนี้อีกเรื่อย ๆ อาจจะส่งผลต่อบรรยากาศการพัฒนาจะเป็นคำถามในเชิงการเมือง และการลงทุนในพื้นที่ เมื่อเทียบกับจังหวัดที่อยู่ในขนาดหรืออันดับเดียวกัน ขอนแก่นจะเป็นอย่างไร? และฝากประเด็นไปถึงทางเทศบาลถ้าเห็นถึงภาคประชาชนจริง ๆ ควรจะเห็นจุดนี้ร่วมกัน
ถือเป็นบทเรียนที่สำคัญที่ทั้งสามฝ่าย จะมีส่วนร่วมในการทำงานอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน “ข้อกังวลยังมีอยู่ หากเกิดเหตุการณ์เหล่านี้ซ้ำ ๆ ภาพการพัฒนาจะเป็นเช่นไร บรรยากาศการพัฒนากับขีดความสามารถที่แท้จริงไปด้วยกันหรือไม่”
……………………..