ฝายน้ำมีชีวิต พลังชุมชน และภูมิปัญญาท้องถิ่น

ฝายน้ำมีชีวิตลำห้วยวังทอง อ.ป่าติ้ว ยโสธร พลังคนในชุมชน การบริหารจัดการน้ำตามภูมิปัญญาท้องถิ่น

          ผู้ว่าราชการจังหวัดยโสธร เปิดฝายมีชีวิตลำห้วยวังทอง อ.ป่าติ้ว ที่เกิดจากพลังของคนในชุมชน เป็นการบริหารจัดการน้ำตามภูมิปัญญาท้องถิ่น

          เมื่อวันที่ 2 กันยายน 2564 เวลา 14.30 น. นายชลธี ยังตรง ผู้ว่าราชการจังหวัดยโสธร เป็นประธานพิธีเปิดใช้งานฝายมีชีวิตลำห้วยวังทอง โดยมีนางพัทธานันท์ ยังตรง นายกเหล่ากาชาดจังหวัดยโสธร นายเจริญโชค พรหมชุติมา นายอำเภอป่าติ้ว คณะกรรมการและสมาชิกเหล่ากาชาดจังหวัด สมาชิกชมรมแม่บ้านมหาดไทยจังหวัด หัวหน้าส่วนราชการอำเภอ สมาชิกสภา อบจ.ยโสธร เขตอำเภอป่าติ้ว นายกองค์การบริหารส่วนตำบลโพธิ์ไทร กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พี่น้องประชาชน เข้าร่วมในพิธีเปิด ณ ฝายมีชีวิตลำห้วยวังทอง หมู่ที่ 3 ตำบลโพธิ์ไทร อำเภอป่าติ้ว จังหวัดยโสธร

          โดยลำห้วยวังทองนั้นเป็นแหล่งน้ำธรรมชาติ มีน้ำไหลผ่านแต่ไม่สามารถกักเก็บน้ำไว้ใช้ประโยชน์ได้ ดังนั้น ผู้นำท้องที่ท้องถิ่น จึงเป็นแกนนำในการขับเคลื่อนพร้อมด้วยชาวบ้านในพื้นที่และประชาชนจิตอาสา ที่ร่วมแรงร่วมใจกันสร้างฝายมีชีวิตลำห้วยวังทองขึ้น เพื่อกักเก็บน้ำ แก้ไขปัญหาอุทกภัย ปัญหาภัยแล้งในพื้นที่และรักษาสมดุลของระบบนิเวศ อันแสดงให้เห็นถึงความรักความสามัคคีของคนในพื้นที่ในการสร้างประโยชน์เพื่อส่วนรวม เกิดกระบวนการเรียนรู้ที่ระเบิดจากข้างใน

          ฝายแห่งนี้ เริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 4 มิถุนายน 2564 ถึงวันที่ 13 สิงหาคม 2564 และได้การสนับสนุนงบประมาณในการก่อสร้างจากภาคเอกชนและภาคประชาสังคมประกอบด้วย สมาพันธ์เกษตรแห่งประเทศไทย สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ คณะรวมพลังขับเคลื่อนราชอาณาจักรไทย ประธานกลุ่มข้าวอินทรีย์จังหวัดยโสธร เป็นต้น

          สำหรับ ขนาดฝ่ายมีชีวิตลำห้วยวังทอง มีความกว้าง 16 เมตร ยาว 18 เมตร ลึก 1.8 เมตร ใช้วัสดุอุปกรณ์ประกอบด้วย ไม้ไผ่ จำนวน 700 ลำ กระสอบทราย จำนวน 20,000 ใบ เชือกทะเลและทราย จำนวน 230 ตัน มีชาวบ้านได้รับประโยชน์ในพื้นที่ 2 ตำบล 3 หมู่บ้าน ประกอบด้วย หมู่ที่ 1 หมู่ที่ 3 ตำบลโพธิ์ไทร และหมู่ที่ 10 ตำบลกระจาย จำนวนกว่า 400 ครัวเรือน

 

แสดงความคิดเห็น