ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดมหาสารคาม จัดอบรมการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดให้กับกลุ่มเกษตรกรรุ่นใหม่ หรือ Young Smart Farmer เตรียมต่อยอดเป็น “ธนาคารลูกพันธุ์ปลา” ราคาถูก
ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดมหาสารคาม โดย นายพงศ์เทพ จันทรชิต และเจ้าหน้าที่ได้ติดตามเกษตรกรที่เข้ารับการฝึกอบรมโครงการส่งเสริมอาชีพประมง กิจกรรมพัฒนาศักยภาพเกษตรกร หลักสูตร “การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืด” ในส่วนของเกษตรกรรุ่นใหม่ (Young Smart Farmer) ที่สมัครใจและมีบ่อสำหรับเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ในพื้นที่จังหวัดมหาสารคาม ซึ่งเกษตรกรผ่านการฝึกอบรมเป็นระยะเวลา 2 วัน และศูนย์ฯ ได้มอบพันธุ์ปลากินพืชแก่เกษตรกรผู้เข้ารับการฝึกอบรมจำนวน 2,000 ตัวต่อราย
นายพงศ์เทพ จันทรชิต ผู้อำนวยศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดมหาสารคาม กล่าวว่า นโยบายการพัฒนาเกษตรกรไทยถือเป็นยุทธศาสตร์หนึ่งที่สำคัญของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในการวางรากฐานความมั่นคงในภาคการเกษตร เพื่อรองรับนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทย โดยมีเป้าหมายสูงสุดคือการยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรให้ดีขึ้นทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ซึ่งก็รวมถึงการพัฒนาด้านการประมง โดยเฉพาะการพัฒนาเกษตรกรด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืด เพื่อพัฒนาเพิ่มศักยภาพการผลิตสัตว์น้ำให้มีประสิทธิภาพและยั่งยืนนำไปสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรในภาคการประมง
ในปีงบประมาณ 2564 กรมประมง โดยกองวิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืด ได้มอบหมายให้ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดมหาสารคาม ดำเนินโครงการส่งเสริมอาชีพประมง กิจกรรมพัฒนาศักยภาพเกษตรกร เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืด ตลอดจนส่งเสริมพัฒนาตลอดสายการผลิตตั้งแต่การผลิต การแปรรูป และการตลาด ให้ผู้สนใจได้มีโอกาสฝึกทักษะการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจริง และสามารถนำองค์ความรู้และประสบการณ์ที่ได้รับจากการฝึกอบรมและส่งเสริมการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดไปพัฒนาด้านการเพาะเลี้ยงได้ ลดต้นทุนการผลิต เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตภายใต้หลักการตลาดนำการผลิตทั้งกระบวนการตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ เพื่อพัฒนาด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน
นายโฆษิต เหล่าสุวรรณ ที่ปรึกษาเกษตรกรรุ่นใหม่ (Young Smart Farmer) จังหวัดมหาสารคาม กล่าวว่า โครงการนี้เป็นโครงการที่เกษตรกรรุ่นใหม่ หรือ Young Smart Farmer ได้ผ่านการฝึกอบรมและมีแนวคิดที่มาต่อยอดว่าจะมีธนาคารลูกพันธุ์ปลามากระจายให้สมาชิกในราคาถูก จึงได้ขอยืมชุดเพาะฟักพันธุ์ปลาเคลื่อนที่ จากศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดมหาสารคาม และตนได้อนุเคราะห์สถานที่บ่อปลาในการเพาะเลี้ยง โดยชุดแรกได้พันธุ์ปลาตะเพียน จำนวน 200,000 ตัว ซึ่งเมื่อปลาเจริญเติบโตอายุประมาณ 1 เดือน แจกจ่ายสมาชิกและปล่อยเลี้ยงตามแหล่งน้ำธรรมชาติ อนาคตจะจัดทำชุดเพาะฟักพันธุ์ปลาเคลื่อนที่ จำนวน 20 ชุด แจกจ่ายไปยังอำเภอต่างๆ เพื่อไม่ให้เกษตรกรเดินทางเข้ามายังตัวจังหวัด
ด้าน ว่าที่ร้อยตรี ธนาพัฒน์ เที่ยงภักดิ์ ประธานกลุ่มเกษตรกรรุ่นใหม่ (Young Smart Farmer) จังหวัดมหาสารคาม ซึ่งเป็นเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ กล่าวว่า จากการที่ได้เข้ารับการฝึกอบรมหลักสูตร “การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืด”ในครั้งนี้ ได้รับความรู้เพิ่มเติมในด้านการเพาะพันธุ์ปลาชนิดต่างๆ และจะนำไปพัฒนาด้านการเพาะเลี้ยงได้ผลผลิตตามเป้าหมายการอบรมแน่นอน และในปัจจุบันยังได้นำความรู้ที่ได้มาเพาะพันธุ์ปลาตะเพียนเพื่อเป็นแหล่งรายได้เสริมอีกทางหนึ่งโดยมีนักวิชาการประมงจากศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดมหาสารคามคอยให้คำแนะนำเพิ่มเติม