เร่งพัฒนา!! แผนจัดการแก้ปัญหา กลุ่มลุ่มน้ำอีสานในโคราช

สทนช.เร่งแผนหลักบริหารจัดการน้ำกลุ่มลุ่มน้ำภาคอีสานและแผนปฏิบัติการ 5 ปี รวม 6 ด้าน เพื่อแก้ปัญหาน้ำต้นทุนไม่เพียงพอและลดปัญหาอุทกภัย

 

 

 

 

นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวถึง การติดตามความก้าวหน้าการศึกษาเพื่อจัดทำแผนหลักบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ กลุ่มลุ่มน้ำภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมาว่า ลุ่มน้ำภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีลุ่มน้ำสำคัญ 3 ลุ่มน้ำ คือ ลุ่มน้ำชี ลุ่มน้ำมูล และลุ่มน้ำโขงตะวันออกเฉียงเหนือ ที่ผ่านมาประสบปัญหาภัยแล้ง-น้ำท่วม ปัญหาโครงสร้างการจัดการน้ำ และปัญหาคุณภาพน้ำ ทำให้ สทนช.ได้เร่งทำโครงการศึกษาจัดทำแผนหลักการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำกลุ่มลุ่มน้ำภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และแผนปฏิบัติการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 5 ปี ครอบคลุม 6 ด้าน สอดคล้องตามแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ 20 ปี (พ.ศ.2561-2580) พร้อมทั้ง จัดลำดับความสำคัญโครงการตาม ความเร่งด่วน ด้วยการกำหนดระยะเวลาของแผนพัฒนาตั้งแต่ปี 2566-2585 เช่น การเพิ่มขีดความสามารถเข้าถึงน้ำอุปโภค-บริโภค , การสร้างความมั่นคงของน้ำภาคการผลิต , การจัดการน้ำท่วมและอุทกภัยโดยสร้างระบบป้องกันน้ำท่วมและระบายน้ำ เพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ และการอนุรักษ์ฟื้นฟูสภาพป่าต้นน้ำที่เสื่อมโทรม และป้องกันการพังทลายของดินควบคู่กันด้วย รวมทั้ง ยังศึกษาความเป็นไปได้แนวทางพัฒนาโครงการขนาดใหญ่ที่ยังไม่สามารถพัฒนาได้ตามกรอบงบประมาณปกติ เพื่อให้สามารถพัฒนาโครงการได้เร็วขึ้น และพัฒนาโครงการได้เต็มศักยภาพพื้นที่ด้วย หากเสร็จตามแผนงานที่ศึกษาวางไว้จะช่วยให้พื้นที่กลุ่มลุ่มน้ำภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีน้ำต้นทุนที่อุดมสมบูรณ์ จากการพัฒนานำน้ำจากลำน้ำสาขาแม่น้ำโขงและจากแม่น้ำโขงเข้ามาในพื้นที่ รวมทั้ง แก้ปัญหาการระบายน้ำในพื้นที่จะช่วยลดปัญหาการเกิดอุทกภัยขนาดใหญ่อย่างเป็นรูปธรรม ภาพรวมจะช่วยให้ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีความมั่นคงด้านน้ำและลดความเสียหายทั้งด้านอุทกภัยและภัยแล้งได้ยั่งยืน

 

 

 

 

เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวถึงสถานการณ์น้ำของภาคตะวันออกเฉียงเหนือปัจจุบัน พบมีแหล่งน้ำขนาดใหญ่ 13 แห่ง มีปริมาณน้ำรวม 3,740 ล้านลูกบาศก์เมตร จากการคาดการณ์ ณ วันที่ 1 พฤศจิกายนจะมีปริมาณน้ำ รวม 5,405 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยตั้งแต่เดือนกันยายนอ่างเก็บน้ำที่มีแนวโน้มปริมาณน้ำเกินเกณฑ์ควบคุม (Upper Rule Curve) มี 3 แห่ง คือ เขื่อนลำพระเพลิง เขื่อนลำตะคอง และเขื่อนมูลบน จึงเน้นให้กรมชลประทานบริหารจัดการน้ำไม่ให้ส่งผลกระทบช่วงฤดูฝน ขณะนี้เดียวกันยังสนับสนุนน้ำเพื่อกิจกรรมต่างๆในพื้นที่ได้ตลอดหน้าแล้งหน้าด้วย ภาพรวมภาคตะวันออกเฉียงเหนือปีนี้มีน้ำต้นทุนค่อนข้างดี แต่ต้องระมัดระวังการใช้น้ำเนื่องจากคาดการณ์ฝนปี 2565 จะมีปริมาณฝนน้อยกว่าค่าเฉลี่ย

แสดงความคิดเห็น