ภาควิชาอาชีวอนามัย คณะสาธารณสุข มข.ร่วม 48 สถาบัน ค้านการออกกฎกระทรวงแรงงาน ข้อ 21 (3) ที่กำหนดให้ผู้ที่สามารถเป็นจปฐ.วิชาชีพ ได้ด้วยการฝึกอบรมตามเวลาที่กำหนด ระบุเป็นการทำลายวิชาชีพอาชีวะอนามัย ที่เรียนในสถาบันการศึกษา 4 ปี
รายงานข่าวแจ้งว่า เช้าวันที่ 7 ก.ย. เครือสภาเครือข่ายสภาสถาบันการศึกษาและเครือข่ายวิชาชีพอาชีวอนามัยและความปลอดภัย (Professional network of occupational health and safety: PNOHS) จำนวน 48 สถาบันได้เดินทางไปกระทรวงแรงงานเพื่อแสดงความไม่เห็นด้วยกับการประกาศกฎกระทรวงข้อ 21 (3) หลังจากที่ทราบว่า กระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม จะมีการประชุมชี้แจงแนวทางปฎิบัติกับสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดทั่วประเทศ
ก่อนหน้านี้ รศ.ดร.พรพรรณ สกุลคู หัวหน้าสาขาวิชาอนามัยสิ่งแวดล้อม อาชีวอนามัยและความปลอดภัย มหาวิทยาลัยขอนแก่น พร้อมคณาจารย์ ในสาขาประกอบด้วย ผศ.ดร.ยุพรัตน์ หลิมมงคล ผศ.ดร.ฤทธิรงค์ จังโกฏิ อาจารย์นัฐชานนท์ เขาราธ อาจารย์วรวรรณ ภูชาดา และอาจารย์กชกร อึ่งชื่น ได้เข้าพบและยื่นหนังสือต่อนายพัฒนชาต ชุมทอง สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดขอนแก่น ณ สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดขอนแก่น
เนื่องจากคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็น 1 ใน 48 สถาบันการศึกษาที่ผลิตบัณฑิตทางด้าน อาชีวอนามัยและความปลอดภัย และเป็นทีมงานในสภาเครือข่ายสภาสถาบันการศึกษาและเครือข่ายวิชาชีพ อาชีวอนามัยและความปลอดภัย(Professional network of occupational health and safety: PNOHS)ได้เล็งเห็นผลกระทบของข้อ 21(3) ของ(ร่าง)กฎกระทรวงฯ
ที่ระบุไว้ว่า “ข้อ 21 เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับวิชาชีพต้องมีคุณสมบัติอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ (3) สำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีและมีประสบการณ์ในการปฏิบัติงานในสถานประกอบกิจการตามบัญชี 1 และ 2 ไม่น้อยกว่า 5 ปี และผ่านการฝึกอบรมหลักสูตรเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับวิชาชีพ” ซึ่งจะส่งผลกระทบต่องานอาชีวอนามัยและความปลอดภัยทั้งระยะสั้นและระยะยาว โดยมีเหตุผลชี้แจงดังนี้
ประการที่ 1 การอบรมหลักสูตรเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับวิชาชีพเพื่อให้ได้เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับวิชาชีพตามกฎกระทรวงฯ ข้อ 21 (3)
พบว่า ยังไม่มีหลักฐานเชิงประจักษ์ที่กำหนดชี้ชัดถึงคุณภาพที่แสดงถึงความเชี่ยวชาญด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัย ซึ่งความแตกต่างจากการผลิตบัณฑิตจากทางสถาบันการศึกษาที่ถูกกำกับและควบคุมคุณภาพของหลักสูตร โดยมีเกณฑ์กำหนดชัดเจนให้เรียนพื้นฐานทางด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัยอย่างน้อย 44 หน่วยกิต ทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ
ประกอบด้วยหมวดวิชาเฉพาะ กลุ่มวิชาบังคับพื้นฐานวิชาชีพ 5 กลุ่ม ได้แก่ 1) กลุ่มวิชาอาชีวอนามัยและความปลอดภัย 2) กลุ่มวิชาความปลอดภัย 3) กลุ่มวิชาวิศวกรรมทางด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัย หรือเทคโนโลยีการควบคุมด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัย 4) กลุ่มวิชากฎหมายอาชีวอนามัยและความปลอดภัย 5) กลุ่มวิชาสุขศาสตร์อุตสาหกรรม และ 6) กลุ่มวิชาสนับสนุนวิชาชีพอาชีวอนามัยและความปลอดภัย
ประการทีสองจากข้อมูลสามารถผลิตบัณฑิตทางด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัย ได้ประมาณปีละ 2,000-3,000 คน โดยสถาบันที่เปิดสอนด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัยทั้ง 48 แห่ง มีคุณสมบัติสอดคล้องตามกฎกระทรวงฯ รายงานของกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานปี 2563 ระบุไว้ชัดเจนว่า ขณะนี้เรามีจป.วิชาชีพ 20,395 คน
พบว่า สามารถเข้ามาดูแลแรงงานในสถานประกอบกิจการให้ได้รับความปลอดภัยและสุขอนามัยได้เพียงพอต่อความต้องการของสถานประกอบกิจการ ที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 100 คนขึ้นไปทั่วประเทศมีเพียง 15,588 แห่ง จำนวนจป.วิชาชีพที่มีมากกว่าที่ต้องการ = 20,395 – 15,191 = 4,807 คน (พูดได้ว่ามีเกือบ 1 ใน 3 เลยทีเดียว)
หากมีการประกาศใช้ (ร่าง) กฎกระทรวงฯ ข้อ 21(3) ควรมีการพิจารณาข้อจำกัดเกี่ยวกับอัตราการผลิตเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยวิชาชีพ เนื่องจากจะทำให้เกิดการผลิตเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับวิชาชีพที่มากเกินความต้องการของตลาดแรงงาน
ประการที่ 3 การทำงานเป็นเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับวิชาชีพ เป็นตำแหน่งที่มีความสำคัญเป็นอย่างมาก เนื่องจากต้องดูแลด้านสุขภาพและอนามัยของแรงงานอย่างครอบคลุม การตระหนัก ประเมิน และควบคุมปัจจัยคุกคามที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพอนามัยจากอุบัติเหตุ และโรคจากการประกอบอาชีพ จำเป็นต้องสำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาตรีด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัยโดยตรง และมีการเรียนพื้นฐานทางด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ที่จะนำไปประยุกต์ใช้ในวิชาชีพ
หากกำหนดคุณสมบัติทั้งด้านวุฒิการศึกษาที่กว้างและประสบการณ์ไม่เฉพาะเจาะจงด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัยในสถานประกอบกิจการ ส่งผลให้การปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับวิชาชีพ ตามกฎกระทรวงฯ ข้อ 21 (3) มีสมรรถนะด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัยในการทำงานด้อยกว่าเมื่อเทียบกับผู้ที่สำเร็จการศึกษาด้านนี้โดยตรงจะส่งผลต่อประสิทธิภาพและประสิทธิผลสำหรับการบริหารจัดการงานอาชีวอนามัยและความปลอดภัย
คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น หวังเป็นอย่างยิ่งว่าผู้ที่เกี่ยวข้องของกระทรวงแรงงาน ผู้รับผิดชอบเรื่องนี้โดยตรง จะได้นำไปพิจารณาผลกระทบระยะสั้นและระยะยาวที่เกิดขึ้นต่องานอาชีวอนามัยและความปลอดภัยของประเทศไทย และเปิดโอกาสให้หาทางออกเรื่องนี้ร่วมกัน อันจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติสูงสุด