สาธารณสุขนครพนม เปิดเวทีเรียนรู้ ชูบ้านโชคอำนวย อำเภอธาตุพนม เป็น “ชุมชนต้นแบบสร้างสุข”
ที่จังหวัดนครพนม นายขันชัย ขันทะชา ผู้ช่วยนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครพนม เป็นประธานเปิดการประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ตำบลสร้างสุขจังหวัดนครพนม ประจำปี 2564 ณ ห้องประชุมเทพวรมุนี ศูนย์ประชุมสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครพนม มีผู้เข้าร่วมประชุมฯ ประกอบด้วย สาธารณสุขอำเภอทุกอำเภอ เจ้าหน้าที่สาธารณสุขประจำสำนักงานสาธารณสุขอำเภอทุกแห่ง ตัวแทนเจ้าหน้าที่ประจำโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลทุกอำเภอ บุคลากรผู้ปฏิบัติงานดีเด่น ด้านงานสนับสนุนการสร้างสุขภาพภาคประชาชน ประธานชมรมอาสาสมัครสาธารณสุขจังหวัดนครพนม ประธานชมรมอาสาสมัครสาธารณสุขเทศบาลเมืองนครพนม ประธานสาธารณสุขระดับอำเภอทุกอำเภอ อสม.ดีเด่นระดับประเทศ และ อสม.ดีเด่นระดับจังหวัด 12 สาขา จำนวน 100 คน โดยมีเป้าหมายเพื่อให้เกิดกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และการพัฒนางานระบบสุขภาพชุมชนและนวัตกรรมสุขภาพ สร้างขวัญกำลังใจให้แก่เจ้าหน้าที่และอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านที่ปฏิบัติงานสุขภาพภาคประชาชน
นายขันชัย ขันทะชา กล่าวว่า สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครพนมได้รับนโยบายและแนวทางการดำเนินงานตำบลจัดการคุณภาพชีวิต “ชุมชนสร้างสุข” เพื่อให้ประชาชนสามารถดูแลสุขภาพตนเอง และพัฒนาศักยภาพของชุมชนในการจัดการสุขภาพของตนเองได้ ชุมชนมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี “เราได้มีการพัฒนากลไกการดำเนินงานตำบลจัดการคุณภาพชีวิตมาอย่างต่อเนื่อง มีการพัฒนาระบบสุขภาพให้สอดคล้องตามบริบทของชุมชน เสริมศักยภาพการดูแลตนเอง พัฒนาพื้นที่ต้นแบบชุมชนสร้างสุข โดยกลไกตำบลจัดการคุณภาพชีวิต และจากการดำเนินงานดังกล่าว ส่งผลให้ปี 2564 จังหวัดนครพนมมีพื้นที่ต้นแบบชุมชนที่ได้รับรางวัลจากกรมสนับสนุนการสร้างสุขภาพภาคประชาชน คือ บ้านโชคอำนวย หมู่ที่ 9 ตำบลอุ่มเหม้า อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม เพื่อเป็นต้นแบบในการดำเนินงานให้กับตำบลอื่น ในการสร้างสุขภาพที่ดีและยั่งยืนของคนในชุมชนต่อไป”
การดำเนินงานสาธารณสุขมูลฐานของประเทศไทย จากอดีตจนถึงปัจจุบันมีความมุ่งหวังให้ประชาชนสามารถพึ่งพาตนเองและมีส่วนร่วมในการดูแลสุขภาพของตนเองได้ ซึ่งการพัฒนาตำบลจัดการพัฒนาคุณภาพชีวิตตำบลสร้างสุข ถือเป็นยุทธศาสตร์สำคัญของประเทศไทย และเป็นการต่อยอดจากแนวคิดการสาธารณสุขมูลฐานที่ส่งต่อนโยบายลงมายังสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทุกแห่ง เพื่อดำเนินการให้ประชาชนได้รับการส่งเสริม ป้องกัน ควบคุมโรค รักษาพยาบาลและฟื้นฟูสุขภาพอย่างเท่าเทียม ทุกกลุ่มวัยได้รับบริการที่สมวัย ระบบบริการมีคุณภาพประสิทธิภาพครอบคลุมทั่วถึง ลดความแออัด ลดความเหลื่อมล้ำ โดยมุ่งเน้นการมีส่วนร่วมด้วยกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันและมุ่งส่งเสริมบทบาทของท้องถิ่นและภาคีเครือข่าย ให้เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดระบบสุขภาพชุมชนมากยิ่งขึ้น