ราชกิจจาฯ แพร่ พ.ร.ฎ.เวนคืนที่ดินพื้นที่บางส่วน ก่อสร้างรถไฟทางคู่สายบ้านไผ่-มุกดาหาร-นครพนม ในพื้นที่ 19 อำเภอ 6 จังหวัด “ขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ยโสธร มุกดาหาร นครพนม”
เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2564 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ประกาศพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) กำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืนในพื้นที่บางส่วนในท้องที่อำเภอบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น อำเภอกุดรัง อำเภอบรบือ อำเภอเมืองมหาสารคาม จังหวัดมหาสารคาม อำเภอศรีสมเด็จ อำเภอเมืองร้อยเอ็ด อำเภอจังหาร อำเภอเชียงขวัญ อำเภอโพธิ์ชัย อำเภอโพนทอง อำเภอเมยวดี อำเภอหนองพอก จังหวัดร้อยเอ็ด อำเภอเลิงนกทา จังหวัดยโสธร อำเภอนิคมคำสร้อย อำเภอเมืองมุกดาหาร อำเภอหว้านใหญ่ จังหวัดมุกดาหาร และอำเภอธาตุพนม อำเภอเรณูนคร อำเภอเมืองนครพนม จังหวัดนครพนม เพื่อดำเนินโครงการก่อสร้างทางรถไฟสายบ้านไผ่-มหาสารคาม-ร้อยเอ็ด-มุกดาหาร-นครพนม พ.ศ. 2564
พ.ร.ฎ.นี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ให้ใช้บังคับได้มีกำหนด 4 ปี มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้ในการสร้างทางรถไฟ เครื่องประกอบทางรถไฟ ทาง และสิ่งจำเป็นอื่นตามโครงการก่อสร้างทางรถไฟสายบ้านไผ่-มหาสารคาม-ร้อยเอ็ด-มุกดาหาร-นครพนม โดยให้เริ่มต้นเข้าสำรวจที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่ภายในแนวเขตที่ดินที่จะเวนคืนตาม พ.ร.ฎ.นี้ภายใน 120 วันนับแต่วันที่ พ.ร.ฎ.นี้ใช้บังคับ โดยให้การรถไฟแห่งประเทศไทยเป็นเจ้าหน้าที่ในการเวนคืน และให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมรักษาการตามพระราชกฤษฎีกานี้
สำหรับโครงการรถไฟทางคู่ สายบ้านไผ่-มหาสารคาม-ร้อยเอ็ด-มุกดาหารนครพนม ระยะทาง 355 กม. มูลค่า 66,848.33 ล้านบาท มีวงเงินค่าก่อสร้างงานโยธาและระบบอาณัติสัญญาณ 55,462 ล้านบาท ค่าเวนคืน 10,255.33 ล้านบาท (พื้นที่ 7,100 แปลง) หรือประมาณ 17,500 ไร่ ค่าจ้างที่ปรึกษาควบคุมงานก่อสร้าง 1,131 ล้านบาท โดย รฟท.มีแผนการจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินและแผนการเบิกจ่ายค่าทดแทนในปีงบประมาณ 2564-2566 ตามแผนกำหนดเปิดเดินรถในปี 2568
โดยการก่อสร้างงานโยธาแบ่งเป็น 2 สัญญา ได้แก่ สัญญาที่ 1 ช่วงบ้านไผ่หนองพอก ระยะทาง 180 กม. ราคากลาง 27,123.62 ล้านบาท สัญญาที่ 2 ช่วงหนองพอก-สะพานมิตรภาพ 3 ระยะทาง175 กม. ราคากลาง 28,333.93 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้รฟท. ได้นำร่างTOR เปิดรับฟังคำวิจารณ์ ครั้งที่ 1 แล้ว ระหว่างวันที่ 25-30 ธ.ค. 63
มีสถานีรถไฟ จำนวน 30 สถานี (18 สถานี 12 ที่หยุดรถ) และ 1 ชุมทางรถไฟ (จุดเริ่มต้นโครงการ) มีย่านกองเก็บตู้สินค้า (CY) จำนวน 3 แห่ง ที่สถานีร้อยเอ็ด สถานีสะพานมิตรภาพ 2 มุกดาหาร และสถานีสะพานมิตรภาพ 3 จังหวัดนครพนม มีลานบรรทุกตู้สินค้าจำนวน 3 แห่ง ที่สถานีภูเหล็ก สถานีมหาสารคาม และสถานีโพนทอง มีที่หยุดรถไฟ 12 แห่ง สถานีขนาดเล็ก 9 แห่ง สถานีขนาดกลาง 5 แห่ง สถานีขนาดใหญ่ 4 แห่ง ย่านกองเก็บตู้สินค้า 3 แห่ง ลานบรรทุกตู้สินค้า 3 แห่ง สะพานรถไฟข้ามถนน/คลอง/แม่น้ำ 158 แห่ง จุดตัดทางรถไฟกับถนนตามแนวเส้นทางของโครงการ ซึ่งมีแบ่งเป็น 4รูปแบบคือ สะพานรถไฟข้ามถนน 158 แห่ง สะพานรถยนต์ข้ามทางรถไฟ 81แห่ง ทางลอดทางรถไฟ 245แห่ง ทางบริการขนานทางรถไฟ 165 แห่ง
ดูประกาศในลิงก์ http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2564/A/060/T_0001.PDF