ประกาศจังหวัดขอนแก่น เรื่อง มาตรการ การเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)จังหวัดขอนแก่น (ฉบับที่ ๕๓)

ตามที่นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี ได้มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ในทุกเขต ท้องที่ทั่วราชอาณาจักร คราวที่ ๑๔ ตามประกาศฉบับลงวันที่ ๒๘ กันยายน พ.ศ. ๒๕๑๔ ให้ขยายระยะเวลาการประกาศ สถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักรตั้งแต่วันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๖๔ จนถึงวันที่ ๓๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๖๔ และออกข้อกําหนดตามความในมาตรา ๙ แห่งพระราชกําหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘ (ฉบับที่ ๓๔) ลงวันที่ ๒๘ กันยายน พ.ศ. ๒๕๖๔ โดยจังหวัดขอนแก่น ยังเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุด (สีแดง) ตามบัญชีรายชื่อจังหวัดแนบท้ายคําสั่งศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด – 19) ที่ ๑๑/๒๕๖๔ ลงวันที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๖๔ นั้น

โดยที่การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในประเทศไทยมีแนวโน้มของสถานการณ์คลี่คลาย ไปในทางที่ดีขึ้น ซึ่งผลดังกล่าวมาจากการดําเนินงานในลักษณะบูรณาการและประสานความร่วมมือของพนักงาน เจ้าหน้าที่และผู้ปฏิบัติงานทุกภาคส่วนเพื่อการระดมสรรพกําลังในการควบคุมและป้องกันโรค ทั้งการบริการฉีดวัคซีน ให้เป็นไปตามแผนการตรวจค้นหาผู้ติดเชื้อเชิงรุก และการดําเนินการกํากับดูแล เพื่อให้เป็นไปตามมาตรการควบคุม และป้องกันโรคในระยะยาว ประกอบกับหน่วยงานและบุคลากรด้านการแพทย์และสาธารณสุขมีศักยภาพความชํานาญ และมีประสิทธิภาพครอบคลุมการตรวจคัดกรองและการดูแลรักษาพยาบาลผู้ติดเชื้อในรูปแบบต่าง ๆ ที่หลากหลาย และมีความพร้อมรับมือกับสถานการณ์หากมีจํานวนผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้นในอนาคต จึงสามารถปรับมาตรการ โดยผ่อนคลายความเข้มงวดบางกรณีให้เหมาะสม และกําหนดมาตรการควบคุมเท่าที่จําเป็นตามระดับพื้นที่ ของสถานการณ์ โดยพนักงานเจ้าหน้าที่ยังจําเป็นต้องติดตามกํากับดูแลทั้งบุคคล สถานที่ และการดําเนินกิจการ และกิจกรรมต่าง ๆ ให้อยู่ภายใต้เงื่อนไขของการปฏิบัติตามมาตรการควบคุมและป้องกันโรคในระยะยาว เพื่อการขับเคลื่อนภาคเศรษฐกิจการฟื้นฟูและพัฒนาประเทศ ควบคู่กับการป้องกันและควบคุมโรคอย่างสมดุลและยั่งยืน

อาศัยอํานาจตามความในมาตรา ๒๒ (๑) (๒) มาตรา ๓๔ และมาตรา ๓๕ แห่งพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. ๒๕๕๘ ประกอบข้อกําหนดออกตามความในมาตรา ๙ แห่งพระราชกําหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘ (ฉบับที่ ๑) ลงวันที่ ๒๕ มีนาคม ๒๕๖๓ และ (ฉบับที่ ๓๔) ลงวันที่ ๒๘ กันยายน ๒๕๖๔ และคําสั่ง ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ที่ ๑๑/๒๕๖๔ ลงวันที่ ๑ สิงหาคม ๒๕๖๔ ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดขอนแก่น ตามมติที่ประชุม ครั้งที่ ๓๔/๒๕๖๔ เมื่อวันที่ ๒๗ กันยายน ๒๕๖๔ จึงออกคําสั่งไว้ดังนี้

ข้อ ๑. ให้ยกเลิก ประกาศจังหวัดขอนแก่น เรื่อง มาตรการ การเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุม โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) จังหวัดขอนแก่น (ฉบับที่ ๒๖) และ (ฉบับที่ ๕๒)

ข้อ ๒.ข้อปฏิบัติในการสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า เมื่ออยู่นอกเคหสถานหรืออยู่ในที่ สาธารณะ เพื่อลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อและป้องกันมิให้เกิดสภาวะที่ไม่ถูกสุขลักษณะเพื่อจํากัดวงในการระบาด ของโรค เมื่ออยู่นอกเคหะสถานหรือเมื่ออยู่ในที่สาธารณะ ให้ประชาชนสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า และต้องสวม ให้ถูกวิธีตามที่กระทรวงสาธารณสุขแนะนํา

เมื่อพบผู้ไม่ปฏิบัติตามวรรคหนึ่ง ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ว่ากล่าวตักเตือนและสั่งให้ผู้นั้นปฏิบัติให้ถูกต้อง ถ้าผู้นั้นไม่ปฏิบัติตาม ให้ดําเนินการตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. ๒๕๕๘ และที่แก้ไขเพิ่มเติมต่อไป

ข้อ ๓.การห้ามจัดกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรค

ห้ามจัดกิจกรรมซึ่งมีการรวมกลุ่มกันของบุคคลที่มีจํานวนรวมกันมากกว่าห้าสิบคน เว้นแต่เป็น กรณีได้รับอนุญาตจากนายอําเภอในเขตท้องที่นั้นๆ ทั้งนี้ผู้จัดกิจกรรมต้องแจ้งมาตรการป้องกันโรคให้นายอําเภอ ในเขตท้องที่ที่จัดกิจกรรมทราบล่วงหน้า เพื่อประเมินมาตรการก่อนจัดกิจกรรมเป็นเวลา ๗ วัน

กรณีกิจกรรมหรือการรวมกลุ่มของบุคคลดังต่อไปนี้สามารถจัดได้โดยไม่ต้องขออนุญาต โดยให้ ดําเนินการตามมาตรการป้องกันโรคตามที่ทางราชการกําหนดอย่างเคร่งครัด จนกว่าจะมีคําสั่งเปลี่ยนแปลง

(๑) กิจกรรมเกี่ยวกับการขนส่งหรือขนย้ายประชาชน ได้แก่ การขนส่งประชาชนเพื่อเดินทางไปหรือ ออกจากที่เอกเทศตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ ศูนย์พักคอยรอการส่งตัว หรือสถานที่เพื่อการช่วยเหลือผู้ติดเชื้อชั้นแรก

(๒) กิจกรรมเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลและการสาธารณสุข

(๓) กิจกรรมเกี่ยวกับการให้บริการ การให้ความช่วยเหลือหรืออํานวยประโยชน์หรืออํานวยความสะดวก แก่ประชาชน

(๔) การรวมกลุ่มของบุคคลตามปกติในที่พักอาศัย สถานที่ทํางาน การประชุมโดยวิธีการทาง อิเล็กทรอนิกส์ หรือการออกกําลังกายในสถานที่ตามที่ทางราชการกําหนด

(๕) กิจกรรมที่ดําเนินโดยพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือเป็นกิจกรรมที่จัดโดยองค์กร หรือหน่วยงานของรัฐ โดยความเห็นชอบของหัวหน้าหน่วยงานดังกล่าว ทั้งนี้กิจกรรมที่มีจํานวนรวมกันของบุคคลจํานวนมากว่าห้าสิบคน ให้เป็นอํานาจของหัวหน้าหน่วยงานผู้จัดกิจกรรมนั้นๆ และต้องแจ้งมาตรการป้องกันโรคให้นายอําเภอในเขตท้องที่ ที่จัดกิจกรรมทราบล่วงหน้าเพื่อประเมินมาตรการก่อนจัดกิจกรรมเป็นเวลา ๗ วัน

ข้อ ๔.มาตรการควบคุมแบบบูรณาการต่อเนื่อง

ก.ร้านจําหน่ายอาหารและเครื่องดื่ม ให้บริโภคอาหารหรือเครื่องดื่มในร้านได้ และเปิดได้ไม่เกินเวลา ๒๓.๐๐ นาฬิกา โดยห้ามการจําหน่ายสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ และห้ามดื่มสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ในร้าน จนกว่าจะมีคําสั่งเปลี่ยนแปลง

ร้านจําหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่มอาจจัดให้มีการแสดงดนตรีหรือการแสดงอื่นได้ โดยมีผู้แสดง ไม่เกินจํานวน ๕ คน ต้องมีการเว้นระยะห่างและงดการติดต่อสัมผัสกับผู้ใช้บริการ และให้นักดนตรี สวมหน้ากาก อนามัย หรือหน้ากากผ้าตลอดเวลา โดยอนุโลมให้เฉพาะนักร้อง นักแสดง หรือนักดนตรี ที่ใช้เครื่องดนตรีประเภทเป่า ที่อาจถอดหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าได้ ขณะทําการแสดง

มาตรการนี้ให้ใช้บังคับกับร้านจําหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่มที่ตั้งอยู่ในห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ หรือสถานประกอบการอื่นที่มีลักษณะคล้ายกันด้วย

ข.โรงเรียนหรือสถาบันการศึกษาทุกประเภททุกระดับทุกสังกัด ให้สามารถใช้อาคารหรือสถานที่ เพื่อการจัดการเรียนการสอน การสอบ การฝึกอบรม หรือการทํากิจกรรมใดๆที่มีการรวมคนจํานวนมากได้ ทั้งนี้ต้อง ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด โดยให้ยื่นหนังสือขออนุญาตต่อหน่วยงาน ต้นสังกัดเป็นผู้พิจารณาอนุญาต ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และกระทรวงสาธารณสุขกําหนด

ค.ให้ปิดสถานบริการ สถานประกอบการที่มีลักษณะคล้ายสถานบริการ สถานบันเทิง ผับ บาร์ คาราโอเกะ สถานประกอบกิจการอาบน้ํา สถานประกอบกิจการอาบอบนวด หรือสถานที่อื่นที่มีลักษณะคล้ายกัน โดยให้ปิดเป็นการชั่วคราว จนกว่าจะมีคําสั่งเปลี่ยนแปลง ยกเว้นสถานประกอบการเพื่อสุขภาพตามพระราชบัญญัติ สถานประกอบการเพื่อสุขภาพ พ.ศ. ๒๕๕๔ ให้เปิดดําเนินการได้

ง.การแข่งขันกีฬา สนามกีฬา สถานที่เล่นกีฬา หรือสถานที่เพื่อการออกกําลังกาย ยิม ฟิตเนส ให้สามารถเปิดให้บริการได้ทุกประเภทไม่เกินเวลา ๒๑.๐๐ นาฬิกา และสามารถจัดแข่งขันกีฬาได้โดยจํากัดจํานวนผู้ชม ในสนาม โดยให้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรค ที่ทางราชการกําหนด

จ.ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ ให้เปิดดําเนินการได้ตามเวลาปกติของสถานที่นั้น ๆ โดยจํากัดจํานวนคนและงดจัดกิจกรรมส่งเสริมการขาย ยกเว้นส่วนที่เป็นตู้เกม เครื่องเล่น ร้านเกม และสวนสนุก ให้งด การให้บริการ

ฉ.ร้านสะดวกซื้อ ซูเปอร์มาร์เก็ต ให้เปิดดําเนินการได้ตามเวลาปกติของสถานที่นั้น ๆ โดยให้ปฏิบัติ ตามมาตรการป้องกันโรคที่ทางราชการกําหนดอย่างเคร่งครัด

ช. ตลาดนัดกลางคืน ตลาดโต้รุ่ง ถนนคนเดิน ให้เปิดดําเนินการได้ไม่เกินเวลา ๒๓.00 นาฬิกา จนกว่าจะมีคําสั่งเปลี่ยนแปลง โดยให้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคที่ทางราชการกําหนดอย่างเคร่งครัด

ข้อ ๕.การปิดสถานที่เสี่ยงต่อการแพร่โรคในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น ให้ปิดสถานที่ดังต่อไปนี้ (๑) สนามชนไก่ และสถานที่ที่จัดให้มีการพนันชนไก่ (๒) สนามชกมวยและสถานที่ที่จัดให้มีการเล่นการพนันชกมวย

ข้อ ๖.การจัดกิจกรรมทางสังคม

(๑) ขอความร่วมมือให้ประชาชนงดการจัดกิจกรรมทางสังคมในลักษณะที่เป็นงานสังสรรค์ งานเลี้ยง หรืองานรื่นเริงในช่วงเวลานี้ เว้นแต่เป็นกรณีการจัดพิธีการตามประเพณีนิยมและมีมาตรการป้องกันโรคที่เพียงพอ เพื่อลด โอกาสเสี่ยงต่อการติดเชื้อ

(๒) ให้งดการจัดคอนเสิร์ต รถแห่ โรงมหรสพตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. ๒๕๒๒ และ ที่แก้ไขเพิ่มเติม หรือการแสดงอื่นใดที่มีลักษณะคล้ายกัน ไว้เป็นการชั่วคราว จนกว่าจะมีคําสั่งเปลี่ยนแปลง ยกเว้นโรงภาพยนตร์ให้เปิดดําเนินการได้ตามเวลาปกติของสถานที่นั้น ๆ โดยให้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคที่ทาง ราชการกําหนดอย่างเคร่งครัด

ข้อ ๗.การหลีกเลี่ยงหรือการชะลอการเดินทาง ให้ประชาชนหลีกเลี่ยงหรือชะลอการเดินทางข้ามจังหวัดในช่วงเวลานี้โดยไม่มีเหตุจําเป็น

ข้อ ๘.มาตรการการตรวจสอบเข้มงวดกับสถานที่ หรือกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของ โรคแบบกลุ่มก้อน ให้พนักงานเจ้าหน้าที่เข้มงวดในการตรวจสอบสถานที่หรือกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาด ของโรค เช่น โรงงาน สถานที่พักของแรงงานต่างด้าว หรือสถานที่อื่น ๆ ให้เป็นไปตามเงื่อนไข เงื่อนเวลา การจัดระบบ และระเบียบ รวมทั้งมาตรการป้องกันโรคที่ทางราชการกําหนด

ข้อ ๙.มาตรการเพื่อรองรับผู้ติดเชื้อ

(๑) ให้ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ทุกรายเข้ารับการตรวจรักษาและเข้ารับการแยกกักหรือการกักกันในสถานที่ และตามระยะเวลาซึ่งเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ฝ่ายสาธารณสุขกําหนดจนกว่าจะได้ตรวจ ทางการแพทย์แล้วว่าพ้นระยะติดต่อของโรคหรือสิ้นสุดเหตุอันควรสงสัยว่าเป็นโรค

(๒) ให้ผู้ติดเชื้อโควิด-19 หรือผู้ที่มีเหตุอันควรสงสัยว่าติดเชื้อรีบแจ้งต่อเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ พนักงานเจ้าหน้าที่ฝ่ายสาธารณสุข หรือผู้มีหน้าที่รับผิดชอบในพื้นที่ทันทีเมื่อทราบว่าตนติดเชื้อหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่า ติดเชื้อดังกล่าวเพื่อรับทราบแนวปฏิบัติตนและเข้ารับการแยกกักหรือกักกันเพื่อเตรียมความพร้อมก่อนที่จะเข้ารับการ ตรวจหรือรักษาตามขั้นตอนทางสาธารณสุขต่อไป

ข้อ ๑๐. การบังคับใช้มาตรการป้องกันโรค ให้เจ้าของ ผู้ประกอบการ หรือผู้ดูแลรับผิดชอบสถานที่ กิจกรรมและกิจการต่าง ๆ จัดให้มีมาตรการป้องกันโรคตามที่ทางราชการกําหนด และให้ผู้ใช้บริการหรือเข้าไปยังสถานที่ หรือร่วมทํากิจกรรมเช่นว่านั้น ถือปฏิบัติดังนี้

(๑) ให้จัดบริการตรวจวัดอุณหภูมิร่างกาย หรือคัดกรองอาการป่วยในระบบทางเดินหายใจ (๒) ให้ทุกคนสวมหน้ากากอนามัย หรือหน้ากากผ้า

(๓) ให้จัดการอํานวยความสะดวกในการเว้นระยะห่างระหว่างบุคคล อย่างน้อยหนึ่งเมตร และจํากัด จํานวนผู้เข้าร่วมกิจกรรมมิให้แออัด หากมีการจัดกิจกรรมให้พิจารณาตามสัดส่วนของพื้นที่กับผู้ร่วมกิจกรรมในพื้นที่ปิด ขนาด ๕ ตารางเมตรต่อคน ในพื้นที่เปิดขนาด ๔ ตารางเมตรต่อคน

(๔) จัดให้มีที่ล้างมือด้วยสบู่ แอลกอฮอล์ หรือน้ํายาฆ่าเชื้อโรค

(๕) จัดให้มีการเช็ดทําความสะอาดพื้นผิวสัมผัสของสถานที่ที่เกี่ยวข้องก่อนการทํากิจกรรม รวมทั้ง ระหว่างการทํากิจกรรม และภายหลังการทํากิจกรรมด้วย

(๖) จัดให้มีการลงทะเบียนและใช้แอปพลิเคชั่น “ไทยชนะ” หรือ “หมอชนะ” ในการเข้าออกสถานที่สาธารณะ

หากผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคําสั่งในประกาศนี้ มีความผิดตามมาตรา ๑๘ แห่งพระราชกําหนด การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๔ ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ และมีความผิดตามมาตรา ๕๑ แห่งพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. ๒๕๕๔ ต้องระวางโทษปรับ ไม่เกินสองหมื่นบาทตามมาตรา ๕๒ ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินหนึ่งปีหรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาทหรือทั้งจําทั้งปรับ

ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๖๔ เป็นต้นไป

ประกาศ ณ วันที่ ๓๐ กันยายน พ.ศ. ๒๕๖๔

(นายสมศักดิ์ จังตระกุล)

ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น

ประธานกรรมการโรคติดต่อจังหวัดขอนแก่น ผู้อํานวยการศูนย์บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินจังหวัดขอนแก่น

 

แสดงความคิดเห็น