สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 จะยังไม่ดีขึ้น แต่การฉีดวัคซีนที่ได้มีการกระจายปริมาณและพื้นที่เพิ่มมากขึ้น ประกอบกับมาตรการควบคุมโรคของรัฐบาลและพื้นที่จังหวัดที่ได้มีการผ่อนปรนมากขึ้น ในทางจิตวิทยาความวิตกกังกลของประชาชนได้ลดลงตามไปด้วย
รายการ “คุยกับขุนลักษณ์” ผ่านแพลทฟอร์มสื่อออนไลน์ท้องถิ่น “อีสานบิซ” ได้จัดทำวาระพิเศษ…จับกระแสเศรษฐกิจ ในแต่ละเซคเตอร์ที่สำคัญของระบบเศรษฐกิจ เพื่อประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจเบื้องต้นในภูมิภาคอีสาน โดยเมื่อวันที่ 28 กันยายน 2564 เป็นการเสวนาหัวข้อ ‘เศรษฐกิจภาคการเกษตร’
แม้ว่าตัวเลข GPP หรือ ผลิตภัณฑ์มวลรวม ภาคการเกษตรจะมีตัวเลขที่ต่ำถ้าเทียบกับภาคอื่นๆ คนส่วนใหญ่ของประเทศไทยและภูมิภาคอีสาน ก็ยังอยู่กับภาคการเกษตร หากปีไหนผลผลิตทางการเกษตรดีย่อมส่งผลในทางบวกต่อระบบเศรษฐกิจ
ผู้เข้าร่วมเสวนา ประกอบด้วย นายกิตติ กระภูชัย รองผู้อำนวยการฝ่ายบริการ สาขาภาคอีสานตอนบน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) นายสมพร พิมมะสอน หัวหน้ากลุ่มลูกค้าธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร และ นายฉัตรนพวัฒน์ วีระศักดิ์ ประธานคณะกรรมการกลางเกษตรกรจังหวัดขอนแก่น ดำเนินรายการโดย นายเจริญลักษณ์ เพ็ชรประดับ บรรณาธิการอำนวยการอีสานบิซ
(‘มันสำปะหลัง’ ยิ้มออก/รัฐประกัน2.5บาท/กก. )
นายสมพร พิมมะสอน หัวหน้ากลุ่มลูกค้าธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) อ.มัญจาคีรี คณะกรรมการมันสำปะหลังแปลงใหญ่ อ.มัญจาคีรี กล่าวว่า ปัจจุบันขอนแก่นมีการใช้พื้นที่ปลูกมันสำปะหลังและอ้อย แบ่งเป็นพื้นที่ปลูกอ้อยล้านกว่าไร่ ปลูกมันสำปะหลังสี่แสนกว่าไร่ โดยการใช้พื้นที่มีลักษณะแบบหมุนเวียนสลับกันปลูกระหว่างอ้อยและมันสำปะหลังที่จะเกี่ยวข้องกับราคา ณ ขณะนั้น
“ช่วงไหนที่ราคามันสำปะหลังต่ำเกษตรกรจะหันไปปลูกอ้อย และช่วงไหนที่ราคาอ้อยต่ำหรือตกไปที่ตันละ 850 ก็จะหันไปปลูกมันสำปะหลัง”
ในปี 2563 จนถึงปัจจุบันภาครัฐได้ออกนโยบายประกันราคาเพื่อสนับสนุนเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง กิโลกรัมละ 2.50 บาท เฉลี่ยผลผลิตต่อไร่อยู่ที่ 3,419 กิโลกรัม ถ้าถึงช่วงเก็บเกี่ยวผลผลิตแต่ราคาไม่เป็นไปตามนโยบาย ทางภาครัฐจะชดเชยส่วนต่างให้ เสมือนเป็นแรงจูงใจให้เกษตรกรปลูกอ้อยหันมาปลูกมันสำปะหลัง
เช่นเดียวกับในพื้นที่มัญจาคีรี ที่ปัจจุบันมีพื้นที่ทำการเกษตรสำหรับปลูกมันสำปะหลัง 70 % ปลูกอ้อย 30% นโยบายประกันราคามันสำปะหลัง 2.50 บาทต่อกิโลกรัม และราคาอ้อยปี 2563 อยู่ที่ 850 บาทต่อตัน ปีนี้ราคาอ้อยขยับขึ้นมาอยู่ที่ตันละ 1,000 บาท
นอกจากนโยบายนี้จะเป็นปัจจัยที่ทำให้คนหันมาปลูกมันสำปะหลังแล้ว ยังมีสถานการณ์โควิด 19 ที่กระทบต่อการเปิด – ปิดของโรงงานน้ำตาล ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับเกษตรกรผู้ปลูกอ้อย อีกทั้ง การปลูกมันสำปะหลังสามารถขุด เก็บเกี่ยวได้ตลอดเวลา ถึงแม้จะมีฝนตกทุกวัน ชาวมัญจาคีรีก็ขุดไปขายได้ทุกวัน
บางพื้นที่ให้ราคา 2.25 บาท บางพื้นที่ 2.55 บาท นับว่าเป็นราคาที่น่าพอใจ เกษตรกรมีความสุขกับการปลูกมันสำปะหลัง และคาดการณ์ว่า จำนวนผลผลิตมันสำปะหลังจะเพิ่มขึ้น แต่พื้นที่การปลูกอ้อยจะลดลง อย่างไรก็ตาม โรงงานอ้อยได้เข้ามาส่งเสริม สร้างแรงจูงใจให้เกษตรกรหันกลับมาปลูกอ้อย แต่ชาวเกษตรกรปลูกอ้อยจะประสบปัญหาภัยแล้งและมีบทเรียนจากการที่ตัดอ้อยไม่ทันทำให้เกิดอ้อยค้างไร่ หรืออ้อยร้าง
นายสมพร กล่าวว่า การขยายตัวของโรงงานน้ำตาลในอำเภอบ้านไผ่ ที่นับว่าเป็นโรงงานน้ำตาลขนาดใหญ่ของภาคอีสาน ซึ่งตอนนี้ยังไม่มีการขับเคลื่อนโดยมีปัจจัยหลายอย่างที่ไม่เอื้ออำนวยต่อ เนื่องจากเกษตรกรส่วนใหญ่ พื้นที่อ.มัญจาคีรีไปจนถึงอ.บ้านไผ่ มีการลดพื้นที่ปลูกอ้อยลง คิดเป็น อ้อย 30% มันสำปะหลัง 70%
“ถ้าราคารับประกันมันสำปะหลังยังอยู่ที่ 2.50 บาทต่อไป ผมคิดว่าการปลูกอ้อยในอนาคตจะเหลือแค่ 10% มันสำปะหลัง 90% และโรงงานจะขาดแคลนอ้อย อาจจะมีการส่งเสริมประเทศเพื่อนบ้าน หรือปรับขึ้นราคาอ้อยตันละ 15,000 บาท เพื่อสู้กับมันสำปะหลัง”นายสมพรให้ความเห็น
อย่างไรก็ตามคนส่วนใหญ่ในพื้นที่จะทราบกันดีว่าสถานการณ์ราคาอ้อยตอนนี้เป็นอย่างไร จึงได้ปรับเปลี่ยนมาปลูกมันสำปะหลัง อีกทั้ง ตอนนี้อาหารสัตว์ และน้ำมันราคาแพง ทำให้ราคาหัวมันสำปะหลังมีราคาคงที่ 2.50 บาท เกษตรกรจึงหันมาปลูกมันสำปะหลังที่ในช่วงนี้นับว่ามีความมั่นคงมากและเป็นที่น่าพอใจของเกษตรกรเป็นอย่างมาก
นายสมพร ยังได้กล่าวถึง ‘สินเชื่อหัวขบวน’ ที่เป็นโครงการของธ.ก.ส. อีกว่า ตนได้เข้าร่วมโครงการสินเชื่อหัวขบวนเช่นเดียวกัน แต่ยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร จึงได้หารือกันระหว่างกลุ่มมันสำปะหลังแปลงใหญ่กับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนโคขุน จ.สกลนคร เกี่ยวกับการจัดสรรพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังไว้สำหรับแปรรูปเพื่อทำอาหารสัตว์โดยมี ธ.ก.ส. เป็นหน่วยงานสนับสนุน ให้เป็นหัวขบวนของโครงการสินเชื่อหัวขบวน
นอกจากนี้ยังได้มีการจัดตั้งองค์กรต่างๆ อยู่ระหว่างการจัดตั้งคณะกรรมการแต่ละเขต เช่น กลุ่มร้อยแก่นสารสินธุ์ เพื่อคัดเลือกเกษตรกรที่สนใจและอยู่ภายใต้การดูแลของ ธ.ก.ส. เข้าโครงการสินเชื่อหัวขบวน โดยจะสนับสนุนการซื้อโคขุนไว้เลี้ยง ครอบครัวละ 5 ตัว ตัวละ 30,000 บาท มีเป้าหมายเพื่อให้เกษตรกรเลี้ยงโคขุนให้ได้น้ำหนักตามเกณฑ์เพื่อส่งออกประเทศจีน
รวมทั้งได้ยังมีโครงการสินเชื่อเพื่อสนับสนุนการสร้างโรงเรือนเสนอให้ 28,000 บาทต่อครอบครัว และสนับสนุนการทำประกันชีวิตโคตัวละ 400 บาท ซึ่งการเขียนแผนของวิสาหกิจชุมชนโคขุน จ.สกลนคร ที่เป็นหัวขบวนของภาคอีสาน คือ การแปรรูปมันสำปะหลังเป็นมันเส้นสะอาด และส่งเสริมการปลูกมันสำปะหลังให้มีคุณภาพเพื่อป้องกันราคามันสำปะหลังผันผวน อย่างน้อยเพื่อให้มีมันสำปะหลังไว้สำหรับเลี้ยงโคขุน
นายสมพร กล่าวว่า เราต้องมีการวางแผนการผลิต การแปรรูป เนื่องจากที่ผ่านมาราคามันสำปะหลังและผันผวนมาก ดังนั้น จึงต้องวางแผนที่เป็นรูปธรรมเกี่ยวกับการขับเคลื่อนทิศทางเกษตรกรในอนาคต เพื่อส่งเสริมเกษตรกรให้มีรายได้และมีความก้าวหน้าทางด้านความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
ถึงแม้สถานการณ์โควิดจะส่งผลกระทบ แต่อาชีพเกษตรกรถือว่าเป็นอาชีพที่มีความมั่นคงทางด้านอาหาร และสามารถรองรับสถานการณ์วิกฤตได้ดี
(เสนอทบทวนยุทธศาสตร์ข้าว)
นายฉัตรนพรัตน์ วีระศักดิ์ ประธานคณะกรรมการกลางเกษตรกรจังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า ‘สถานการณ์ข้าว’ ขอนแก่น มีพื้นที่ปลูกนาข้าวประมาณ 2.5 ล้านไร่ ผลผลิตข้าวนาปีประมาณ 8 แสนเมตริกตัน รวมนาปรังอยู่ที่หนึ่งล้านหนึ่งแสนกว่าไร่ ถ้าหากมองในมหภาค 20 จังหวัด ขอนแก่นเป็นแหล่งปลูกข้าวอันดับที่ 5 อันดับที่ 1 คืออุบลราชธานี
ปัญหาข้าว คือ ปัญหาข้าวพื้นนุ่ม คือข้าวไวแสง มีผลผลิตต่อไร่สูง 750 – 800 กิโลกรัม/ไร่ เช่น ข้าวหอมภูพาน ข้าวแม่เตี้ย ข้าวแม่โจ้ 2 เป็นต้น ส่วนใหญ่คนปลูกข้าวรับประทานเอง แต่การปลูกข้าวเชิงพาณิชย์เพื่อการส่งออกนั้นก็เป็นปัญหาสำคัญ โดยภาคอีสาน 20 จังหวัด และ 3 จังหวัดภาคเหนือ ที่ได้รับสิทธิพิเศษในการปลูกข้าวหอมมะลิ
ปรากฏว่ามีหลายเรื่องที่จะต้องนำมาทบทวนในยุทธศาสตร์ข้าว โดยเฉพาะข้าวเหนียวซึ่งต้องนำมาทบทวนในยุทธศาสตร์ข้าวเช่นกัน ในตลาดโลกข้าวที่อร่อยที่สุดในการประกวด world’s best rice award ในการประกวดข้าวโลกทั้งหมด 12 ครั้ง คือ ข้าวหอมมะลิของประเทศไทย ชนะ 6 ครั้ง
ผลผลิตข้าวหอมมะลิในประเทศไทยต่อไร่มีปริมาณต่ำอยู่ที่ 400 กิโลกรัม/ไร่ ในขณะที่ประเทศคู่แข่งผลผลิตอยู่ที่ 500 ถึง 600 กิโลกรัม/ไร่ โดยเฉพาะเวียดนามที่สามารถปลูกข้าวได้ปีละ 3 ครั้ง แต่ข้าวหอมมะลิหรือข้าวกข.ของประเทศไทยสามารถปลูกได้ปีละครั้ง
ประเทศที่สามารถผลิตข้าวได้มากที่สุดคือ ประเทศจีน ล่าสุดมีพันธุ์ข้าวยักษ์ที่เมืองฉงชิ่ง ผลผลิตของจีน 1 ไร่ ได้ 2 เมตริกตัน ถ้าเทียบกับความยาวของข้าวหอมมะลิประเทศไทยซึ่งอยู่ที่ 7 มิลลิเมตร แต่ความยาวข้าวของประเทศจีนอยู่ที่ 10 มิลลิเมตร ซึ่งเป็นวิวัฒนาการในการปรับปรุงพันธุ์ข้าว ส่วนประเทศอินเดียเป็นประเทศที่ส่งออกข้าวมากที่สุด ปัจจุบันประเทศไทยส่งออกข้าวตกลงมาอยู่อันดับ 3 หรือ 4 ของโลก
(ข้าวมะลิประกัน15,000บ./ตัน)
ข้าวเพื่อบริโภคในครัวเรือน เกษตรกรส่วนใหญ่จะปลูกข้าวพื้นนุ่ม เพราะ ผลผลิตต่อไร่สูงแต่โรงสีข้าวและผู้ส่งออกไม่รับซื้อและตกกิโลกรัมละ 6-7 บาท ข้าวหอมมะลิ ข้าวขาว ข้าวเหนียว รัฐบาลชุดนี้ที่สืบเนื่องด้วยนโยบายรัฐบาลชุดก่อนมีการประกันรายได้ให้แก่เกษตรกรผู้ทำนาปลูกข้าว
ข้าวหอมมะลิ 20 จังหวัดของภาคอีสานอยู่ที่ตันละ 15,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 14 ตัน ข้าวหอมมะลินอกพื้นที่ (พื้นที่ภาคกลางหรือจังหวัดอื่นที่ไม่ใช่พื้นที่อีสานและภาคเหนือ 3 จังหวัด) ราคาอยู่ที่ตันละ 14,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 16 ตัน
ข้าวเปลือกเจ้าทุกสายพันธุ์ ตันละ 10,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 30 ตัน ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี ตันละ 11,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 25 ตัน และข้าวเปลือกเหนียว (กข.) ตันละ 12,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 16 ตัน จึงต้องทำความเข้าใจแก่เกษตรกรในการปลูกข้าวให้ตรงต่อความต้องการของตลาดและผู้บริโภค และตรงตามผู้ประกอบการต้องการ
เมื่อปีที่ผ่านมาผลผลิตข้าวพื้นนุ่มมีมาก โรงสีข้าวและผู้ประกอบการต่างซื้อ เพราะเม็ดข้าวสวยแต่เมื่อนำไปเป็นวัตถุดิบผลิตภัณฑ์อื่น เช่น หมักเหล้า เส้นก๋วยเตี๋ยว เส้นขนมจีน เป็นต้น ปรากฏว่ารสชาติไม่ได้เหมือนเดิม เช่น เส้นก๋วยเตี๋ยวขาดไม่นุ่มหอม ไม่แน่น ซึ่งปีนี้ยิ่งทำให้ถูกกดราคาประเภทข้าวพื้นนุ่มมากขึ้น เพราะฉะนั้นเกษตรกรต้องใส่ใจปลูกข้าวที่ตลาดต้องการตรงตามสายพันธุ์
เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2564 ที่ผ่านมา อธิบดีกรมการข้าวได้ให้การสัมภาษณ์ว่าได้เซ็น MOU กับผู้ประกอบการโรงสีทั่วภาคอีสาน 112 โรงสี ต่อแต่นี้ไปศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวและศูนย์ข้าวชุมชน จะต้องออกหนังสือรับรองให้แก่เกษตรกรที่ซื้อเมล็ดพันธุ์ข้าวตรงตามพันธุ์ไปปลูก
เมื่อนำไปขายที่โรงสีจะได้เงินเพิ่มจากโรงสีตันละ 100 บาท และตามเกรดของชนิดข้าว เพราะฉะนั้นเกษตรยุคใหม่ 4.0 ระบบแบบแปลงใหญ่และระบบอินทรีย์ก็ดี ที่สำคัญเมล็ดพันธุ์ต้องตรงตามกำหนด แต่ก็มีปัญหาเนื่องจากนโยบายรัฐแบนวัตถุมีพิษประเภทยากำจัดวัชพืช ปรากฏว่าวัชพืชมีการเจริญเติบโตงอกงามดีในแปลงนา ซึ่งจะเกี่ยวกับมาตรฐานคุณภาพข้าวที่นำไปขาย
สรุปภาพรวมผลผลิตปีนี้คาดว่าน่าจะดี ให้ระวังน้ำปลายปีอาจจะมีพายุเข้าหลายลูก ซึ่งกรมส่งเสริมการเกษตรได้เฝ้าระวัง ระบบผลิตแปลงใหญ่ 30 กันยายนนี้ จะสิ้นสุดการใช้เงิน 30 ล้าน ในการจัดหาเครื่องจักรกลการเกษตร ก็ต้องคอยดูว่าจะใช้นวัตกรรมที่นำมาพัฒนาคุณภาพในระดับต้นน้ำกลางน้ำให้ให้ได้ดีขนาดไหน
ในช่วงปีที่ผ่านมาข้าวพื้นนุ่มไวแสง ผลผลิต่อไร่สูงกว่าข้าวพันธุ์หลักที่เป็นสินค้าส่งออกของไทย ส่วนใหญ่ชาวนาในประเทศไทยมีพื้นที่นาน้อย จึงทำให้มีการปลูกข้าวที่มีผลผลิตสูงไว้สร้างภูมิคุ้มกัน คือ การเก็บไว้รับประทานเองเหลือถึงขาย แต่เหลือขายนั้นไม่เป็นที่ต้องการของผู้ซื้อ
สรุปเรื่องสถานการณ์ข้าว คาดว่าผลผลิตในปี 2564 หากไม่มีมรสุมหรือพายุเข้ามาผลผลิตอาจมากกว่าปีที่แล้ว แต่คุณภาพเชื่อว่าอาจมีสิ่งเจือปนจากเมล็ดวัชพืช เพราะไม่ได้ใช้สารพิษในการกำจัดวัชพืช คุณภาพข้าวก็จะดีต่อสุขภาพของมนุษย์
(ดันสินเชื่อชุมชนสร้างไทยเชื่อมแปลงใหญ่)
นายฉัตรนพวัฒน์ กล่าวถึงสถานการณ์โควิค 19 ว่า ได้ส่งผลให้ลูกหลานกลับมาอยู่บ้านมากขึ้น ทำให้ข้าวที่เป็นอาหารหลักมีความจำเป็นมากขึ้น ปัจจุบันวัยรุ่นบริโภคข้าวน้อยผิดปกติ เพราะมีอาหารอื่น แต่สถานการณ์ covid ทำให้ร้านอาหารปิดตัวลง จึงส่งผลดีทำให้ข้าวซึ่งเป็นสิ่งที่คนไทยบริโภคเป็นหลักกลับมาเป็นที่ต้องการ
“เราจะเห็นจากโรงสีในชุมชนที่ทำงานหนัก ข้าวในยุ้งฉางของครัวเรือนหมดไป ราคาข้าวในปีนี้อาจเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากผู้คนต้องกักตุนอาหารเพราะไม่สามารถบอกได้ว่าสถานการณ์โควิดจะคลี่คลายลงตอนไหน”
ช่วงนี้รัฐใช้จ่ายเงินพันกว่าล้านในระบบผลิตแบบแปลงใหญ่ ในยุคใหม่ของขอนแก่น หลังจากไปซื้อเครื่องจักรกลทางการเกษตรแล้ว ผู้ทำแปลงใหญ่แต่ละแปลงได้ทำการถอดบทเรียนทบทวน พบว่ามีเวลาเตรียมตัวน้อย กรมการข้าวหรือกรมการส่งเสริมการเกษตร ไม่ได้มีรูปแบบความสำเร็จในการดำเนินงานมาให้เห็นเป็นรูปธรรม
เมื่อ 3 ปีก่อนโครงการสินเชื่อแปลงใหญ่ดอกเบี้ยร้อยละล้าน ให้เขียน Business Plan ปรากฏว่าไม่มีใครเอา แต่พอเป็นงบอุดหนุนจ่ายขาดให้เปล่าที่กู้มาให้นาแปลงใหญ่ใช้ไม่เกิน 3 ล้าน ซึ่งเวลากระชั้นชิดเลยคิดไม่ออก ส่วนใหญ่จะเอาเครื่องจักรประเภทต้นน้ำ เช่น รถไถ ระบบกลางน้ำจะมีรถเกี่ยวนวดข้าว แต่การแปรรูปมูลค่าเพิ่มยังขาดเครื่องมือ
กระทรวงการคลัง หรือธกส. จะต้องผันโครงการสินเชื่อชุมชนสร้างไทย ประมาณ 50,000 ล้าน ออกมา เนื่องจากโครงการที่ออกมาไม่สามารถปะติดปะต่อให้สมบูรณ์ได้ นาแปลงใหญ่ทั่วประเทศ 77 จังหวัดที่ได้รับเงินสนับสนุนองค์กรละไม่เกิน 3 ล้านบาท เชื่อว่ายังไม่บริบูรณ์ รัฐพยายามที่จะแปลงให้ชาวนาเป็นผู้ประกอบการใหม่ ซึ่งฝากให้ช่วยดูแลระบบสินเชื่อนาแปลงใหญ่ และสินเชื่อชุมชนสร้างไทยจะเป็นตัวเชื่อมต่อสิ่งที่ชาวนาขาด
พ.ศ. 2504 ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 1 ประเทศไทยมีประชากร 28 ล้านคน เป็นเกษตรกร 23 ล้านคน ปัจจุบันพ.ศ.2564 เราอยู่ในแผนฯฉบับที่ 12 และปีพ.ศ. 2565 จะเป็นฉบับที่ 13 ประเทศไทยมีประชากร 67 ล้านคน เหลือเกษตรกรแค่ 10 ล้านคน
อาชีพเกษตรกรต้องเข้มแข็งมากกว่านี้ เพื่อผลิตพืช สัตว์ อาหารเพื่อหล่อเลี้ยงคนในประเทศ ถ้าหากไม่เตรียมการจะเกิดรูปแบบปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงขึ้น ชาวนาหรือเกษตรกรจะผลิตเพื่อพออยู่พอกินสำหรับตนเอง ซึ่งจะกระทบคนส่วนใหญ่ของประเทศ เพราะฉะนั้นจงใช้ทรัพยากรและบุคลากรที่มีอยู่สร้างความมั่นคงด้านอาหาร
(หนุนรวมตัวสร้างจุดเปลี่ยน)
นายกิตติ กระภูชัย รองผู้อำนวยการฝ่ายบริการ สาขาภาคอีสานตอนบน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กล่าวว่า หน้าที่หลัก ธ.ก.ส. คือการอำนวยสินเชื่อ เพื่อส่งเสริมภาคการเกษตร ซึ่งตลอดระยะเวลา 50 ปีที่ผ่านมา ทางธนาคารตระหนักได้ว่า เงินทุนเพียงอย่างเดียว ไม่สามารถช่วยพัฒนาภาคการเกษตรของประเทศให้แข็งแรงได้ อีกสิ่งสำคัญที่ควบคู่กับเงินทุน คือ องค์ความรู้และการตลาด
ส่วนของการอำนวยสินเชื่อในสภาวะปกติ มีอัตราการเติบโตและมีผู้ใช้บริการมากกว่า 4 – 5 ล้านครัวเรือนทั่วประเทศ ในทางกลับกันเมื่อเกษตรกรไทยต้องประสบกับสถานการณ์วิกฤตโควิด ซึ่งส่งผลต่ออัตราการเติบโตอย่างเห็นได้ชัด
“อาจจะมองว่าเกษตรกรไม่ได้รับผลกระทบ แต่เกษตรกรในบ้านเราปัจจุบัน โดยเฉพาะทางอีสาน ไม่ได้มีรายได้มาจากภาคการเกษตรเพียงอย่างเดียว” นายกิตติกล่าว
นายกิตติ กล่าวเพิ่มเติมเกี่ยวกับผลกระทบของเกษตรกรไทย จึงแม้จะประกอบอาชีพเกษตรเป็นหลัก แต่รายได้มาจากหลายทาง สิ่งที่กระทบต่อเกษตรกรเกิดจากการขาดรายได้ในทางอื่น อาทิ การรับจ่ายหรือลูกหลานที่ไปทำงานต่างจังหวัด ด้วย นี้เองที่ส่งผลกระทบต่อกระแสเงินสดและสภาพคล่องทางการเงินของเกษตรกร ในขณะที่เดียวกันเกษตรกรยังคงต้องแบกรับภาระหนี้เท่าเดิม
ทั้งนี้ธ.ก.ส.ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของผลกระทบดังกล่าว ทางธนาคารมีการออกมาตรการเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบ โดยการออกมาตรการผ่อนปรน อาทิ มาตรการการพักหนี้ตามความสมัครใจ มาตรการผ่อนชำระหรือ care plus เป็นการชำระหนี้บางส่วนตามศักยภาพและขยายเวลาการชำระหนี้
มาตรการสินเชื่อระยะสั้นฉุกเฉิน เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่ความต้องการใช้เงินในสภาวะฉุกเฉิน ซึ่งปัจจุบัน ธ.ก.ส. ได้อำนวยสินเชื่อฉุกเฉินช่วยเหลือแก่เกษตรกรภาคอีสานประมาณ 4 -5 พันล้านบาท โดยแบ่งเป็น เขตอีสานตอนบน 12 จังหวัด ประมาณ 2 พันล้านบาท
พร้อมทั้ง มาตรการด้านการตลาด มาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการ SME โดยทางธนาคารให้ความสำคัญเรื่องของ “การทำน้อย ได้มาก” มุ่งเน้นการสร้างมูลค่าเพิ่ม เช่น มันสำปะหลัง นอกจากเกษตรกรขายในรูปแบบของ หัวมันสด ในปัจจุบันการเลี้ยงโคเนื้อ-นม ได้รับความนิยมโดยเฉพาะในภาคอีสานตอนบน เนื่องจากค่าตอบแทนที่สูง โดยมุ่งให้ความสำคัญในเรื่องของการลดต้นทุนอย่างอาหารสัตว์
ส่วนผสมที่สำคัญที่สุดของอาหารโค ก็คือมันสำปะหลัง ตนมองว่าควรส่งเสริมการสร้างรายได้เพิ่มโดยเกษตรกรควรมีการแปรรูปเป็นมันเส้นสะอาด ส่งโรงงานอาหารสัตว์ โดยมุ่งหวังบทบาทขององค์กรภาคการเกษตร หรือวิสาหกิจชุมชน ที่จะเข้ามามีส่วนร่วมในการหัวขบวน ซึ่งทางธนาคารพร้อมให้การสนับสนุน
รวมถึงโครงการช่วยเหลือเกษตรกรของทางรัฐบาลอย่าง โครงการธุรกิจชุมชนสร้างไทย มีมติครม.อนุมัติวงเงิน 5 หมื่นล้านบาท ให้ทาง ธ.ก.ส. หน้าที่จ่ายสินเชื่อให้เกษตรกร อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0.01 หรือเทียบเท่ากับ 1 ล้าน ดอกเบี้ย 100 บาท เพื่อสนับสนุนเกษตรกร
ปัจจุบันทั่วประเทศจ่ายไปเพียง 5 พันล้านบาท ยังมีวงเงินเหลืออีก 4 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะหมดเขตภายในวันที่ 30 พฤษภาคมปีหน้านี้แล้ว ตนมองว่าเป็นสินเชื่อที่มีประโยชน์ทั้งในเรื่องของการเป็นวงเงินหมุนเวียนภาคการเกษตร
สัดส่วน GDP ภาคการเกษตรของประเทศ มีแนวโน้มอัตราการเติบโตถดถอยทุกปี แต่ในทางกลับกันศักยภาพการผลิตภาคการเกษตรของประเทศมีความเหมาะสมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้อยากจะเชิญชวนทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างจุดเปลี่ยนของภาคการเกษตร
(เกษตรยุคใหม่ต้องใช้เทคโนโลยี)
นายกิตติ กล่าวถึงทิศทางภาคการเกษตรยุคใหม่โดยมุ่งส่งเสริมการทำเกษตรผสมผสานหรือเกษตรทฤษฎีใหม่เพื่อลดความเสี่ยง พร้อมทั้ง มองว่าภาคการเกษตรในประเทศควรเดินทางคู่ขนาน โดยการสร้างความมั่นคงให้กับภายในประเทศ ทั้งระดับครัวเรือน การผลิตที่เพียงพอต่อความต้องการบริโภคควบคู่กับการผลิตเพื่อการค้า
รวมถึง สร้างเสริมองค์กรความรู้เพื่อการค้าแก่เกษตรกรในเรื่อง “ของดี ราคาสูง” ที่คงต้องคำนึงถึงการพัฒนาคุณภาพ เพิ่มประสิทธิภาพในการแข่งขัน ตนมองว่าควรพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อใช้เป็นเครื่องมือในภาคการเกษตรที่มีส่วนช่วยเรื่องการลดต้นทุน และให้ความสำคัญการใช้เทคโนโลยีในการทำการเกษตรสู่ภาคการเกษตรยุคใหม่
บายไลน์ – นางสาวณิชาบูล เชิมชัยภูมิ ,นางสาวขวัญฤทัย แก้วหนองตอ ,นางสาวเบญญา วัฒนะ
(เรียบเรียง)