เกษตรกรฯขก.ดันรัฐลดเงื่อนไขกู้ ชุมชนสร้างไทยต่อยอดแปลงใหญ่

กรรมการกลางเกษตรกรขอนแก่น เสนอทบทวนยุทธศาสตร์ข้าวไทย  ผลผลิตต่อไร่ต่ำเมื่อเทียบคู่แข่งต่างประเทศ มั่นใจหากน้ำไม่ท่วมผลผลิตจะมีมากและรัฐประกันราคาข้าวหอมมะลิ 15,000 บาท/ตัน หนุนลดเงื่อนไขสินเชื่อชุมชนสร้างไทย ต่อยอดแปลงใหญ่ให้เกิดการพัฒนาต่อเนื่อง

 

            นายฉัตรนพรัตน์ วีระศักดิ์ ประธานคณะกรรมการกลางเกษตรกรจังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า ‘สถานการณ์ข้าว’ จ.ขอนแก่น มีพื้นที่ปลูกนาข้าวประมาณ  2.5 ล้านไร่  ผลผลิตข้าวนาปีประมาณ  8 แสนเมตริกตัน รวมนาปรังอยู่ที่หนึ่งล้านหนึ่งแสนกว่าไร่ ถ้าหากมองในมหภาค 20 จังหวัด ขอนแก่นเป็นแหล่งปลูกข้าวอันดับที่ 5 อันดับที่ 1 คืออุบลราชธานี

            ปัญหาข้าว คือ ปัญหาข้าวพื้นนุ่ม คือข้าวไวแสง มีผลผลิตต่อไร่สูง 750 –  800  กิโลกรัม/ไร่ เช่น ข้าวหอมภูพาน ข้าวแม่เตี้ย ข้าวแม่โจ้  2 เป็นต้น ส่วนใหญ่คนปลูกข้าวรับประทานเอง แต่การปลูกข้าวเชิงพาณิชย์เพื่อการส่งออกนั้นก็เป็นปัญหาสำคัญ โดยภาคอีสาน 20 จังหวัด และ 3 จังหวัดภาคเหนือ ที่ได้รับสิทธิพิเศษในการปลูกข้าวหอมมะลิ

            ปรากฏว่ามีหลายเรื่องที่จะต้องนำมาทบทวนในยุทธศาสตร์ข้าว โดยเฉพาะข้าวเหนียวซึ่งต้องนำมาทบทวนในยุทธศาสตร์ข้าวเช่นกัน ในตลาดโลกข้าวที่อร่อยที่สุดในการประกวด world’s best rice award ในการประกวดข้าวโลกทั้งหมด 12 ครั้ง คือ ข้าวหอมมะลิของประเทศไทย ชนะ 6 ครั้ง

            ผลผลิตข้าวหอมมะลิในประเทศไทยต่อไร่มีปริมาณต่ำอยู่ที่ 400 กิโลกรัม/ไร่ ในขณะที่ประเทศคู่แข่งผลผลิตอยู่ที่ 500 ถึง 600 กิโลกรัม/ไร่ โดยเฉพาะเวียดนามที่สามารถปลูกข้าวได้ปีละ 3 ครั้ง แต่ข้าวหอมมะลิหรือข้าวกข.ของประเทศไทยสามารถปลูกได้ปีละครั้ง

            ประเทศที่สามารถผลิตข้าวได้มากที่สุดคือ ประเทศจีน ล่าสุดมีพันธุ์ข้าวยักษ์ที่เมืองฉงชิ่ง ผลผลิตของจีน 1 ไร่ ได้ 2 เมตริกตัน ถ้าเทียบกับความยาวของข้าวหอมมะลิประเทศไทยซึ่งอยู่ที่ 7 มิลลิเมตร แต่ความยาวข้าวของประเทศจีนอยู่ที่ 10 มิลลิเมตร ซึ่งเป็นวิวัฒนาการในการปรับปรุงพันธุ์ข้าว ส่วนประเทศอินเดียเป็นประเทศที่ส่งออกข้าวมากที่สุด ปัจจุบันประเทศไทยส่งออกข้าวตกลงมาอยู่อันดับ 3 หรือ 4 ของโลก

(ข้าวมะลิประกัน15,000บ./ตัน)

            ข้าวเพื่อบริโภคในครัวเรือน เกษตรกรส่วนใหญ่จะปลูกข้าวพื้นนุ่ม เพราะ ผลผลิตต่อไร่สูงแต่โรงสีข้าวและผู้ส่งออกไม่รับซื้อและตกกิโลกรัมละ 6-7 บาท ข้าวหอมมะลิ ข้าวขาว ข้าวเหนียว รัฐบาลชุดนี้ที่สืบเนื่องด้วยนโยบายรัฐบาลชุดก่อนมีการประกันรายได้ให้แก่เกษตรกรผู้ทำนาปลูกข้าว

            ข้าวหอมมะลิ  20 จังหวัดของภาคอีสานอยู่ที่ตันละ 15,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 14 ตัน ข้าวหอมมะลินอกพื้นที่ (พื้นที่ภาคกลางหรือจังหวัดอื่นที่ไม่ใช่พื้นที่อีสานและภาคเหนือ 3 จังหวัด) ราคาอยู่ที่ตันละ 14,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 16 ตัน

            ข้าวเปลือกเจ้าทุกสายพันธุ์ ตันละ 10,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 30 ตัน ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี ตันละ 11,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 25 ตัน และข้าวเปลือกเหนียว (กข.) ตันละ 12,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 16 ตัน จึงต้องทำความเข้าใจแก่เกษตรกรในการปลูกข้าวให้ตรงต่อความต้องการของตลาดและผู้บริโภค และตรงตามผู้ประกอบการต้องการ

            เมื่อปีที่ผ่านมาผลผลิตข้าวพื้นนุ่มมีมาก โรงสีข้าวและผู้ประกอบการต่างซื้อ เพราะเม็ดข้าวสวยแต่เมื่อนำไปเป็นวัตถุดิบผลิตภัณฑ์อื่น เช่น หมักเหล้า เส้นก๋วยเตี๋ยว เส้นขนมจีน เป็นต้น ปรากฏว่ารสชาติไม่ได้เหมือนเดิม เช่น เส้นก๋วยเตี๋ยวขาดไม่นุ่มหอม ไม่แน่น ซึ่งปีนี้ยิ่งทำให้ถูกกดราคาประเภทข้าวพื้นนุ่มมากขึ้น เพราะฉะนั้นเกษตรกรต้องใส่ใจปลูกข้าวที่ตลาดต้องการตรงตามสายพันธุ์

           เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2564 ที่ผ่านมา อธิบดีกรมการข้าวได้ให้การสัมภาษณ์ว่าได้เซ็น MOU กับผู้ประกอบการโรงสีทั่วภาคอีสาน 112 โรงสี ต่อแต่นี้ไปศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวและศูนย์ข้าวชุมชน จะต้องออกหนังสือรับรองให้แก่เกษตรกรที่ซื้อเมล็ดพันธุ์ข้าวตรงตามพันธุ์ไปปลูก

           เมื่อนำไปขายที่โรงสีจะได้เงินเพิ่มจากโรงสีตันละ 100 บาท และตามเกรดของชนิดข้าว เพราะฉะนั้นเกษตรยุคใหม่ 4.0 ระบบแบบแปลงใหญ่และระบบอินทรีย์ก็ดี ที่สำคัญเมล็ดพันธุ์ต้องตรงตามกำหนด แต่ก็มีปัญหาเนื่องจากนโยบายรัฐแบนวัตถุมีพิษประเภทยากำจัดวัชพืช ปรากฏว่าวัชพืชมีการเจริญเติบโตงอกงามดีในแปลงนา ซึ่งจะเกี่ยวกับมาตรฐานคุณภาพข้าวที่นำไปขาย

            สรุปภาพรวมผลผลิตปีนี้คาดว่าน่าจะดี ให้ระวังน้ำปลายปีอาจจะมีพายุเข้าหลายลูก ซึ่งกรมส่งเสริมการเกษตรได้เฝ้าระวัง ระบบผลิตแปลงใหญ่ 30 กันยายนนี้ จะสิ้นสุดการใช้เงิน 30 ล้าน ในการจัดหาเครื่องจักรกลการเกษตร ก็ต้องคอยดูว่าจะใช้นวัตกรรมที่นำมาพัฒนาคุณภาพในระดับต้นน้ำกลางน้ำให้ให้ได้ดีขนาดไหน

            ในช่วงปีที่ผ่านมาข้าวพื้นนุ่มไวแสง ผลผลิต่อไร่สูงกว่าข้าวพันธุ์หลักที่เป็นสินค้าส่งออกของไทย ส่วนใหญ่ชาวนาในประเทศไทยมีพื้นที่นาน้อย จึงทำให้มีการปลูกข้าวที่มีผลผลิตสูงไว้สร้างภูมิคุ้มกัน คือ การเก็บไว้รับประทานเองเหลือถึงขาย แต่เหลือขายนั้นไม่เป็นที่ต้องการของผู้ซื้อ

            สรุปเรื่องสถานการณ์ข้าว คาดว่าผลผลิตในปี 2564  หากไม่มีมรสุมหรือพายุเข้ามาผลผลิตอาจมากกว่าปีที่แล้ว แต่คุณภาพเชื่อว่าอาจมีสิ่งเจือปนจากเมล็ดวัชพืช เพราะไม่ได้ใช้สารพิษในการกำจัดวัชพืช คุณภาพข้าวก็จะดีต่อสุขภาพของมนุษย์

(ดันสินเชื่อชุมชนสร้างไทยเชื่อมแปลงใหญ่)

            นายฉัตรนพวัฒน์ กล่าวถึงสถานการณ์โควิค 19 ว่า ได้ส่งผลให้ลูกหลานกลับมาอยู่บ้านมากขึ้น ทำให้ข้าวที่เป็นอาหารหลักมีความจำเป็นมากขึ้น ปัจจุบันวัยรุ่นบริโภคข้าวน้อยผิดปกติ เพราะมีอาหารอื่น แต่สถานการณ์ covid ทำให้ร้านอาหารปิดตัวลง จึงส่งผลดีทำให้ข้าวซึ่งเป็นสิ่งที่คนไทยบริโภคเป็นหลักกลับมาเป็นที่ต้องการ

            “เราจะเห็นจากโรงสีในชุมชนที่ทำงานหนัก ข้าวในยุ้งฉางของครัวเรือนหมดไป ราคาข้าวในปีนี้อาจเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากผู้คนต้องกักตุนอาหารเพราะไม่สามารถบอกได้ว่าสถานการณ์โควิดจะคลี่คลายลงตอนไหน”

            ช่วงนี้รัฐใช้จ่ายเงินพันกว่าล้านในระบบผลิตแบบแปลงใหญ่ ในยุคใหม่ของขอนแก่น หลังจากไปซื้อเครื่องจักรกลทางการเกษตรแล้ว ผู้ทำแปลงใหญ่แต่ละแปลงได้ทำการถอดบทเรียนทบทวน พบว่ามีเวลาเตรียมตัวน้อย กรมการข้าวหรือกรมการส่งเสริมการเกษตร ไม่ได้มีรูปแบบความสำเร็จในการดำเนินงานมาให้เห็นเป็นรูปธรรม

            เมื่อ 3 ปีก่อนโครงการสินเชื่อแปลงใหญ่ดอกเบี้ยร้อยละล้าน ให้เขียน Business Plan ปรากฏว่าไม่มีใครเอา แต่พอเป็นงบอุดหนุนจ่ายขาดให้เปล่าที่กู้มาให้นาแปลงใหญ่ใช้ไม่เกิน 3 ล้าน ซึ่งเวลากระชั้นชิดเลยคิดไม่ออก  ส่วนใหญ่จะเอาเครื่องจักรประเภทต้นน้ำ เช่น รถไถ  ระบบกลางน้ำจะมีรถเกี่ยวนวดข้าว แต่การแปรรูปมูลค่าเพิ่มยังขาดเครื่องมือ

            กระทรวงการคลัง หรือธกส. จะต้องผันโครงการสินเชื่อชุมชนสร้างไทย ประมาณ 50,000 ล้าน ออกมา เนื่องจากโครงการที่ออกมาไม่สามารถปะติดปะต่อให้สมบูรณ์ได้ นาแปลงใหญ่ทั่วประเทศ 77 จังหวัดที่ได้รับเงินสนับสนุนองค์กรละไม่เกิน 3 ล้านบาท เชื่อว่ายังไม่บริบูรณ์ รัฐพยายามที่จะแปลงให้ชาวนาเป็นผู้ประกอบการใหม่ ซึ่งฝากให้ช่วยดูแลระบบสินเชื่อนาแปลงใหญ่ และสินเชื่อชุมชนสร้างไทยจะเป็นตัวเชื่อมต่อสิ่งที่ชาวนาขาด

            พ.ศ. 2504 ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 1 ประเทศไทยมีประชากร 28 ล้านคน เป็นเกษตรกร 23 ล้านคน ปัจจุบันพ.ศ.2564 อยู่ในแผนฯฉบับที่ 12 และปี พ.ศ. 2565 จะเป็นฉบับที่ 13 ประเทศไทยมีประชากร 67 ล้านคน เหลือเกษตรกรเพียงแค่ 10 ล้านคน

            อาชีพเกษตรกรต้องเข้มแข็งมากกว่านี้ เพื่อผลิตพืช สัตว์ อาหารเพื่อหล่อเลี้ยงคนในประเทศ ถ้าหากไม่เตรียมการจะเกิดรูปแบบปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงขึ้น ชาวนาหรือเกษตรกรจะผลิตเพื่อพออยู่พอกินสำหรับตนเอง ซึ่งจะกระทบต่อคนส่วนใหญ่ของประเทศ เพราะฉะนั้นจงใช้ทรัพยากรและบุคลากรที่มีอยู่สร้างความมั่นคงด้านอาหาร

แสดงความคิดเห็น