จับกระแสเศรษฐกิจอีสาน อสังหาริมทรัพย์จะไปต่ออย่างไร ? โคราช17,000ล้านบาท/ ขอนแก่น11,000ล้านบาท /อุดรฯ5,000ล้านบาท

 

รายการ “คุยกับขุนลักษณ์” จับกระแสเศรษฐกิจอีสาน ‘อสังหาริมทรัพย์’ ยุคโควิด – 19  ทางแพลทฟอร์มสื่อออนไลน์ท้องถิ่น “อีสานบิซ” เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2564 ผู้ร่วมเสวนา

ประกอบด้วย นายนราทร ธานินพิทักษ์ นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ จ.นครราชสีมา นายนัฐวัชร สวนสุจริต อุปนายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ จ.อุดรธานี และนายวุฒิชัย ฉัตรชัยพลรัตน์ นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ จ.ขอนแก่น

 

(ปี63อสังหาฯโคราชมูลค่า1.7หมื่นล้าน)

นายนราทร ธานินพิทักษ์ นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ จ.นครราชสีมา กล่าวถึง ภาพรวมของอสังหาริมทรัพย์ จ.นครราชสีมา โดยแบ่งตลาดออกเป็น ตลาดเขาใหญ่ ประเภทบ้านพักต่างอากาศเจาะกลุ่มคนกรุงเทพ และตลาดอำเภอเมือง ลักษณะตลาดเป็นการใช้อยู่จริง เจาะกลุ่มคนในพื้นที่ โดยเฉพาะกลุ่มแรงงาน โดยมีสัดส่วนของตลาด 30:70 ตามลำดับ

อัตราการเติบโตของธุรกิจอสังหาฯนครราชสีมาเป็นไปอย่างต่อเนื่อง ข้อมูลจากสำนักงานที่ดินจ.นครราชสีมา พบว่ามีการโอนบ้านปี 2562 มูลค่า 14,000 ล้านบาท และในปี 63 มูลค่า 17,000 ล้านบาท ขณะที่ต้นปี 2564 ตัวเลขมีสัญญานลดลง เนื่องจากสถานการณ์โควิด 19 ระบาด 3 ระลอกและมีการประกาศใช้มาตรการล็อกดาวน์

นายนราทร ชี้ว่าภาพรวมเศรษฐกิจจ.นครราชสีมา แบ่งเป็น 4 รูปแบบ ดังนี้ ภาคการผลิตและการส่งออก ช่วงล็อกดาวน์ที่ผ่านมา พบว่าตลาดในประเทศ โดยเฉพาะสินค้าอุปโภคและบริโภคได้รับผลกระทบอย่างเห็นได้ชัดยอดขายหรือการสั่งซื้อสินค้าลดลงอย่างมาก

ภาคการส่งออก แม้จะยังคงดำเนินการไปได้ แต่ต้องประสบปัญหาราคาค่าขนส่งที่เพิ่ม 400 – 800 เปอร์เซ็นต์ จึงเป็นเหตุให้ส่งผลต่อต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นด้วย อีกทั้งมาตรการล็อกดาวน์ ครั้งที่ 3ได้ส่งผลให้เกิดปัญหาห่วงโซ่การผลิตหยุดชะงัก หรือ Supply Chain Disruption เนื่องจากการปิดโรงงาน ส่งผลให้ประสบปัญหาด้านวัตถุดิบในการผลิตต่าง ๆ แม้ว่าการจ้างงานภาคการผลิต ยังคงมีการจ้างงานอยู่โดยไม่ได้รับผลกระทบมากนัก

ภาคการค้า ทั้งห้างสรรพสินค้า และร้านค้ารายย่อย ในขณะที่มีการล็อกดาวน์ในจังหวัดยังคงได้รับผลกระทบ อัตราการจ้างงานลดลงอย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกับภาคการบริการ ไม่ว่าเป็นโรงแรม ร้านอาหาร ยอดขายอยู่ในระดับต่ำและการขนส่งทำได้ยากเนื่องจากมาตรการควบคุมพื้นที่การเข้า-ออกเมือง

ทั้ง 3 ส่วนดังกล่าวทำให้ภาวะเศรษฐกิจและกำลังซื้ออ่อนแอลง กระทบต่อธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เพราะความสามารถในการกู้ซื้อบ้านลดต่ำลง รวมไปถึงการควบคุมการเคลื่อนย้ายแรงงานที่ส่งผลกระทบต่อการก่อสร้าง ด้วยเหตุนี้ในปี 64 ภาคอสังหาริมทรัพย์ จ.นครราชสีมาจะหดตัวอย่างต่อเนื่อง

 

(ต้นปี64โคราชติดลบกว่า20%)

นายนราทร กล่าวว่า นอกจากนี้ผลสำรวจกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ภาคอีสาน ในเดือนสิงหาคม 2564 พบว่าในช่วงวันที่ 1 – 15 ส.ค. ที่ผ่านมา เกิดการหดตัวกิจกรรมทางเศรษฐกิจลดลงถึง 28 เปอร์เซ็นต์ ภาคอุตสาหกรรม จ.นครราชสีมา เมื่อเทียบกับปี 63พบว่า จำนวนโรงงานและคนงานลดลงอย่างต่อเนื่อง แต่ว่ามีการลงทุนเพิ่มขึ้น

ปัจจัยหนึ่งมาจากความกังวลเรื่องสถานการณ์การจ้างแรงงานของภาคอุตสาหกรรม การเข้ามาแทนที่ของเทคโนโลยีมากขึ้น ซึ่งอาจจะส่งผลต่อภาคอสังหาริมทรัพย์ ในอนาคต เนื่องจากมีกลุ่มเป้าหมายหลัก คือ กลุ่มแรงงานที่มีรายได้ชัดเจนโดยเฉพาะกลุ่มแรงงานภาคอุตสาหกรรม

ในช่วงต้นปี 2564 ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ จ.นครราชสีมา ประสบปัญหา โดยเฉพาะยูนิตที่เปิดใหม่ครึ่งปีแรก ลดลงถึง 24.7 เปอร์เซ็นต์ และคาดว่าจะมีการเปิดยูนิตใหม่ ทั้งปีเพียง 1,684 ยูนิต มูลค่าประมาณ 5,352 ล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบการโอนบ้านเดี่ยวครึ่งปีแรก 63 และปี 64 พบว่าติดลบกว่า 20 เปอร์เซ็นต์

ทิศทางแนวโน้มตลาดที่อยู่อาศัย พบว่าอัตราดูดซับ ประมาณ 2 – 3 % ในครึ่งปีแรก แต่ในปีนี้เหลือเพียง 1.6 % ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงผลกระทบค่อนข้างมาก ทั้งผู้ประกอบการที่ลดลงเช่นเดียวกับอัตราการโอน ซึ่งคาดหวังว่าครึ่งปีหลังจะมีสถานการณ์ที่ดีขึ้น

นายนราทร กล่าวว่าสถานการณ์ปัจจุบัน ความต้องการบ้านยังคงมี แต่สวนทางกับความสามารถในการซื้อ หรือการกู้ซื้อบ้านลดลง ตั้งแต่ธนาคารแห่งประเทศไทยออกมาตรการ LTV หรือเกณฑ์ที่กำหนดวงเงินที่ผู้กู้จะกู้ซื้อบ้านไม่เต็มวงเงิน 100 เปอร์เซ็นต์ ด้วยเหตุผลในการป้องกันคนที่ซื้อบ้านหลังที่ 2 หรือ 3 ซึ่งเป็นการซื้อเพื่อเก็งกำไร ด้วยเกรงว่าจะเกิดฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์

ภาพรวมของการซื้อบ้านในพื้นที่ภาคอีสาน จะพบว่า ส่วนใหญ่เป็นกลุ่ม Gen X , Y ซึ่งอาจจะเคยผ่อนบ้านมาก่อนหน้านี้ รวมถึงการการย้ายภูมิลำเนา หากจะขายเพียงกลุ่มบ้านหลังที่ 1 อย่างเดียว คงเป็นกลุ่ม Gen Z หรือนักศึกษาจบใหม่ช่วงอายุ 25 ปี ซึ่งมีรายได้ประมาณหมื่นกว่าบาทต่อเดือน หรือมีกำลังซื้อที่น้อย

ยกตัวอย่างเช่น หากมีเดือน 18,000 บาท มีวงเงินกู้ผ่านประมาณ 30  เปอร์เซ็นต์ ในการผ่อนบ้านเท่ากับ 6,000 บาท ซึ่งหากกู้ซื้อบ้านจะได้ประมาณ หนึ่งล้านบาทเท่านั้น ตนมองว่าการหาตลาดหรือบ้านในงบเท่านี้เป็นเรื่องที่ยาก เนื่องจากราคาที่ดินในภาคอีสานและต้นทุนการก่อสร้างได้เพิ่มขึ้นมาก

 

(บ้านล้านหลังธอส.ไม่เอื้อผู้ประกอบการ)

นายนราทร กล่าวว่า ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธ.อ.ส.) มีโครงการบ้านล้านหลัง ซึ่งจ.นครราชสีมา ไม่มีบ้านเดี่ยวที่ราคาต่ำกว่า 1.5 ล้านบาทแล้ว ตนมองว่าโครงการนี้ ไม่ได้มีส่วนช่วยผู้ประกอบการเลย รวมถึงกลุ่มผู้ต้องการมีบ้านเองด้วย เนื่องด้วยกำลังซื้อที่อ่อนแอ ยิ่งไปกว่านั้น ในกลุ่มที่กู้ซื้อบ้านต่ำกว่าล้านบาทยิ่งเป็นกลุ่มที่อ่อนไหว ทั้งในเรื่องความชัดเจนของการกู้ซื้อบ้านได้ยากกว่าเดิม

หากจะแก้ไขให้ถูกควรมีการขยับเพดานราคาบ้านคนไทย เป็นล้านปลาย – 2 ล้านบาท การจัดทำโครงการเพื่อตอบสนองนโยบายรัฐนั้นเป็นไปได้ยาก โดยพื้นที่ภาคอีสานไม่พบฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์ และการใช้มาตรการ LTV ควรมีการบังคับใช้ในบางพื้นที่

นโยบายการคลัง ทั้งในเรื่องภาษีหรือ นโยบายที่เกี่ยวกับธนาคารเป็นสิ่งสำคัญ ที่มีส่วนช่วยทั้งผู้ต้องการมีบ้านและผู้ประกอบการ และอีกหนึ่งสิ่งที่สำคัญในตอนนี้ คืออยากให้ทางรัฐลงทุนกับโครงการต่าง ๆที่มีการหยุดชะงัก

“โครงการมอเตอร์เวย์ ที่มีปัญหาว่าจะเสร็จตั้งแต่ปี 63 เลื่อนมาปี 65 ยังไม่รู้ว่าปี 66 จะเสร็จไหม ในเมื่อด่านเก็บเงินยังไม่ประมูล” นายนราทร กล่าว

นายนราทร กล่าวว่า โครงการพัฒนาต่างๆเป็นเรื่องดี แต่ก็เป็นดาบสองคม ด้านดีมีการลงทุนมากขึ้น แต่ราคาที่ดินในจังหวัดเพิ่มขึ้นไปแล้ว ซึ่งสวนทางกับกำลังซื้อของคนที่มีเท่าเดิม ทำให้ผู้ประกอบการค่อนข้างลำบาก ในเรื่องราคาที่ดินและการทำต้นทุนที่เหมาะสมกับกำลังซื้อ

ด้วยเหตุนี้ การเติบโตของอสังหาริมทรัพย์ จ.นครราชสีมา เริ่มไปรุกพื้นที่ที่ไกลออกไปจากเขตเมืองมากขึ้น ทำเกิดปัญหาการเดินทาง ความไม่พร้อมของระบบโครงสร้างพื้นฐาน อย่างถนน ท่อระบายน้ำ รวมถึงไฟฟ้า ซึ่งเกี่ยวเนื่องกับโครงการที่หยุดชะงักและไม่สามารถดำเนินการแล้วเสร็จได้ ทำให้ผู้ประกอบการมีอุปสรรคในการทำงาน

(ผังเมืองอุดรฯจัดสรรเต็มแล้ว)

นายนัฐวัชร สวนสุจริต อุปนายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ จ.อุดรธานี กล่าวถึงสถานการณ์เศรษฐกิจอุดรธานีช่วงก่อนโควิด พบเจอปัญหาอย่างหนึ่ง คือ LTV (อัตราส่วนการปล่อยสินเชื่อ ต่อมูลค่าหลักประกัน) การที่นโยบายรัฐไม่ให้กู้ 100% บ้านที่มีอยู่จึงค้างสต็อกจำนวนมาก โดยเฉพาะระดับราคาที่เกิน 4 ล้านขึ้นไป โดยลูกค้าสามารถกู้ธนาคารได้เพียง 90% และลูกค้าต้องหาเงินเองอีก 10% มาใช้ในการซื้อบ้าน

แม้ว่า อุดรฯจะมีความโชคดีในเรื่องของผังเมือง คือ พื้นที่ในเมืองไม่สามารถทำการสร้างบ้านจัดสรรได้ โดยพื้นที่ในเมืองและรอบเมือง และพื้นที่ที่เกี่ยวข้อง 5% เต็มโควตาในการสร้างบ้านจัดสรร

การที่ผังเมืองไม่เอื้ออำนวยทำให้การลงทุนในพื้นที่จึงมีจำนวนไม่มากเท่าที่ควร เมื่อการลงทุนไม่มากการสร้างบ้านจัดสรรขึ้นมาจึงไม่มากตามไปด้วยทำให้เกิดการค้างสต็อกหรือบ้านขายไม่ออก

เพราะฉะนั้นการระบายสต็อกก่อนช่วงโควิด -19 ในปี 2561 และในปี 2562 ซึ่งทางธอส. ได้ปล่อยแคมเปญดอกเบี้ยต่ำไม่เกิน 3 ล้านบาทของรัฐบาล เป็นอานิสงส์ในการสร้างบ้านที่ราคา 1 ล้าน – 2 ล้านกว่าบาท เพื่อลดความเสี่ยง แต่ไม่ได้หมายความว่าการสร้างบ้านราคาต่ำจะสามารถสู้กับวิกฤติได้

ด้วยเหตุนี้ “สิ่งที่อุดรฯเป็นอยู่ คือ การประคองตัวและการปรับตัวให้เร็ว ที่สำคัญต้องคำนวณต้นทุน และโอกาสในการขายให้ดี”

 

(ตลาดอุดรฯ4-5พันล้าน/ปี)

นายนัฐวัชร กล่าวอีกว่า โครงการบ้านราคาสูงในอุดรธานีมีสัดส่วนอยู่ไม่เกิน 10% ของตลาดรวมเพราะว่าบ้านเศรษฐี หรือบ้านพรีเมี่ยมในราคา 10 ล้านขึ้นไป ได้มีการพยายามปรับราคาลง โดยจำนวนยูนิตขายอยู่ที่ 1,400 ยูนิตไม่เกิน 1,700  ยูนิต มูลค่าตลาดอสังหาฯของจ.อุดรธานี อยู่ที่ 4,000 ล้าน – 5,000 ล้าน/ปี  ซึ่งไม่ได้ถดถอยหรือก้าวหน้าแต่สามารถอยู่ในระดับประคองตัวได้

“ข้อดีของผังเมืองอุดรธานี คือ พื้นที่รอบเมืองไม่ว่าจะเป็นรอบเทศบาลต่าง ๆ เมื่อข้ามถนนรอบเมืองก็สามารถเข้าถึงเมืองได้รวดเร็วใกล้แหล่งการค้าอย่างเซ็นทรัล การเดินทางสะดวก แต่ถ้าตัวโครงการห่างจากตัวเมืองประมาณ 7-8 กิโลเมตร อาจเป็นปัญหาที่ต้องกลับมาทบทวน”

นายนัฐวัชร กล่าวด้วยว่า กลุ่มผู้ซื้อในจังหวัดอุดรธานี ส่วนใหญ่มีอาชีพเป็นข้าราชการ หรืออาชีพพนักงานประจำ และ 10% – 20% คือ เขยฝรั่ง ที่นิยมบ้านชั้นเดียว นอกจากนี้คือ การเกิดขึ้นบ้านไม่จดทะเบียนจัดสรรในอุดรฯ ที่เติบโตมากขึ้นโดยการสำรวจพบว่าบ้านไม่จัดสรรไม่ได้มีทำเลที่ด้อยกว่าบ้านจัดสรร ราคาขายอยู่ในระดับ 1 ล้านปลาย ๆ ไปจนถึง 2 ล้านต้น ๆ

สิ่งที่ทำให้ผู้คนตัดสินใจซื้อบ้านที่ไม่ได้จดทะเบียนจัดสรร คือ พื้นที่ดินที่มีปริมาณมาก บ้านที่มีขนาดใหญ่ สเป็คอุปกรณ์การใช้งานดีมีคุณภาพและมีบริการในการกู้เงินจากสถาบันการเงินด้วย

ในช่วงก่อนสถานการณ์โควิด 19 อัตราเข้าชมโครงการมีจำนวนมาก เนื่องจากคนต้องการมีบ้าน แต่ปัญหาการยื่นกู้ที่ถูกปฏิเสธจากธนาคารก็มีจำนวนมาก หลังจากมีการแพร่ระบาดของโควิด 19 มาตรการเว้นระยะห่างหรือการกักตัวอยู่บ้านทำให้การเข้าชมโครงการน้อยลง

อุดรฯเฝ้ารอสถานการณ์แนวทางการช่วยเหลือ โดยความแตกต่างระหว่างเฟส 1 และเฟส 2 ซึ่งเฟส 1 จำกัดรายได้ไม่เกิน 25,000 บาท แต่เฟส 2 ไม่จำกัดรายได้ เพราะฉะนั้นคนที่มีรายได้ 3 – 4 หมื่น/เดือน ก็อาจไม่มีความต้องการบ้านขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นการเซฟตัวเองในเรื่องของค่าใช้จ่าย

นายนัฐวัชร ยังชี้ว่า การขับเคลื่อนและมุมมองการตลาด โดยการปรับเปลี่ยนนโยบายค่าธรรมเนียมพิเศษไม่ควรเกิน 3 ล้าน เรื่องของธนาคารฯจากสถานการณ์โควิด ที่มีการเข้มงวดเงื่อนไขการปล่อยสินเชื่อ ซึ่งมีหลายอาชีพที่ไม่สามารถกู้เงินได้ เช่น ร้านตัดผม ร้านสปา ร้านอาหาร ฯ ควรจะมีเงื่อนไขบางตัวที่สามารถผ่อนปรนให้ผู้คนสามารถกู้เงินได้ หรือให้เงินกู้เงิน 80% สำหรับคนที่มีเงินออม เป็นต้น

           (ขอนแก่นหมื่นหนึ่งพันล้านยังไปได้)

นายวุฒิชัย ฉัตรชัยพลรัตน์ นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ จ.ขอนแก่น กล่าวถึงสถานการณ์ภาพรวมของตลาดก่อนเกิดสถานการณ์โควิดยังสามารถเติบโตได้อย่างเรื่อย ๆ ไม่ได้หวือหวา ด้วยจังหวัดขอนแก่นเป็นเมืองแห่งการศึกษาและเมืองแห่งสุขภาพจึงทำให้ผู้คนหลั่งไหลเข้ามาอยู่อาศัยเพราะมีโรงพยาบาลที่ดีและการศึกษาที่ดีเช่นเดียวกันกับจังหวัดนครราชสีมา

ในทางกลับกันด้านอุตสาหกรรมจะน้อยเพราะเป็นบริษัทที่ไม่ใช่อุตสาหกรรม หากเปรียบเทียบยอดขายก่อนสถานการณ์โควิดระบาดกับช่วงการระบาดโควิดแทบจะไม่แตกต่างกันมาก ถึงแม้ยอดขายจะตกบ้างแต่ก็ไม่ถึงกับตกลงมาก

นายวุฒิชัยกล่าวว่า เม็ดเงินในตลาดอสังหาฯขอนแก่น มีมูลค่าราวหนึ่งหมื่นหนึ่งพันล้านบาท ซึ่งน้อยกว่าโคราช ที่มีมูค่าถึงหนึ่งหมื่นเจ็ดพันล้าน แต่ยอดการขายก่อนโควิด 19 ระบาดและหลังการแพร่ระบาดไม่ได้แตกต่างกันมากโดยโครงการบ้านพรีเมี่ยมราคา 10 ล้านบาทขึ้นไปในขอนแก่นมีประมาณ  4 – 5 โครงการ ๆละ 20 – 30 ยูนิต ซึ่งมีไม่ถึง 10%โดย 2 ปีที่ผ่านมา ขอนแก่นมียอดยื่นจัดสรรมากกว่าช่วงก่อนสถานการณ์โควิด19 อาจไม่ได้เกี่ยวข้อง แต่เกี่ยวกับผังเมืองขอนแก่นที่จะประกาศใช้ผังเมืองใหม่ทำให้หลายพื้นที่ไม่สามารถยื่นจัดสรรได้ จึงทำให้มีผู้ประกอบการยื่นจัดสรรเข้ามาอย่างมาก ส่งผลให้ยอดการยื่นจัดสรรเพิ่มขึ้นรวมถึงปี 2564 นี้ด้วยเช่นกัน

“ช่วงที่ขอนแก่นยังไม่มีการประกาศใช้ผังเมืองใหม่ กลุ่มบ้านที่ขายดีจะอยู่ในช่วงราคา 2-4 ล้านต้องรีบยื่นการจัดสรรก่อนการประกาศ หากหันกลับมามองยอดขายก็ไม่ได้แย่ลงและไม่ได้ดีขึ้น ยังคงที่ บางโครงการมียอดขายเพิ่มขึ้นบางโครงการก็ลดลง”นายวุฒิชัยกล่าว

ทั้งนี้โครงการอภิทาวน์ ขอนแก่น ซึ่งเป็นโครงการใหม่ของ AP Thailand  (Asian Property) ที่มาจากกรุงเทพฯมียอดขายที่ดี อาจเป็นเพราะเปิดใหม่เลยทำให้มียอดขายเฉลี่ยต่อเดือนมากกว่าสิบหลังขึ้นไป

 

(แบงก์อนุมัติสินเชื่อยากขึ้น)

นายวุฒิชัย กล่าวอีกว่า การอนุมัติสินเชื่อของธนาคารต่ำลง ซึ่งอาจจะเกี่ยวกับรายได้ของลูกค้าทำให้มีปัญหาโดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าที่ทำงานด้านการโรงแรม ร้านอาหาร รวมถึงพนักงานขายรถหรืออะไรต่าง ๆ ก็ได้รับผลกระทบ เนื่องจากได้รับค่าคอมมิสชั่นน้อยลง ถึงจะมียอดขายดีแต่ยอดการอนุมัติกู้น้อยลง

หากยังติดอยู่กับภาวะเช่นนี้จะส่งผลกระทบต่อรายได้ที่น้อยลงของลูกค้า ซึ่งเป็นปัญหากับคนที่อยากได้บ้าน แต่กู้ไม่ผ่านน่าจะมากขึ้น”

ยกเว้นลูกค้ากลุ่มบุคลากรทางการแพทย์และในสถานศึกษาที่มีรายได้ค่อนข้างคงที่ไม่ได้รับผลกระทบสามารถกู้ได้ไม่มีปัญหา โดยภาพรวมตลาดอสังหาฯขอนแก่น ส่วนใหญ่จะเป็นตลาดในเมืองมากกว่าต่างอำเภอที่พึ่ง

นายวุฒิชัยกล่าวว่า เมื่อ 3 ปีที่ผ่านได้เริ่มมีโครงการลักษณะไม่จัดสรรขนาดไม่เกิน 9 แปลง เกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก ไม่แตกต่างกับอุดรฯและนครราชสีมา ถึงแม้ยอดซื้อและยอดจองในสถานการณ์โควิด 19 จะไม่ลดลงแต่อัตราการอนุมัติกู้มีลดน้อยลงจากเดิม 80% กล่าวคือ ใน 10 รายจะกู้ผ่าน 8 ราย ซึ่งต่อมาลดลงเหลือ 7:3 และ 6:4 โดยเฉพาะบ้านราคาถูกอัตราจะยิ่งสูงขึ้นไปอีก

“บ้านขอนแก่นกลุ่มที่ขายดีราคาจะอยู่ในช่วง 2-4 ล้าน โดยลูกค้าจะกู้ได้ง่าย แต่บ้านกลุ่มราคา 1 ล้านหรือล้านต้น ๆ จะกู้ยากเนื่องจากลูกค้ากลุ่มนี้มีรายได้ไม่ชัดเจน เช่น ธุรกิจส่วนตัว ธุรกิจค้าขายออนไลน์ เป็นต้น”นายวุฒิชัยกล่าว

 

(เสนอรัฐลดภาษีราคาบ้านลด

นายวุฒิชัย กล่าวถึง กรณีบ้านค้างสต็อกในโครงการ ขอนแก่นได้ปรับตัวมาตั้งแต่ปี 2562 ทำให้ไม่ค่อยมีปัญหา ทุกโครงการต่างระมัดระวัง เนื่องมาจากเงื่อนไขของธนาคารที่อนุมัติการสร้างบ้านตามจำนวนที่กำหนดก่อน ถึงจะขยายการก่อสร้างต่อได้ นับว่าเป็นตัวช่วยอีกตัวช่วยหนึ่ง ดังนั้นขอนแก่นไม่เน้นสร้างไว้ล่วงหน้า

“ความต้องการบ้านของคนไม่ได้ลดลงแต่ปัญหา คือจะซื้อได้หรือไม่ขึ้นอยู่กับกำลังซื้อ ความสามารถในการกู้ของลูกค้า เนื่องจากสถานการณ์โควิดส่งผลกระทบต่อรายได้ ดังนั้นแล้ว ความแข็งแรงทางเศรษฐกิจของผู้ซื้อก็ต่ำลง

ปัจจุบันมีธุรกิจดีขึ้นแต่ไม่ถึง 20% กับอีกนอกนั้นมีรายได้คงที่ และอีก 50% มีรายได้ลดลง เช่น พนักงานขายต่างๆที่ได้รับค่าคอมมิชชั่นน้อยลงและพนักงานโรงแรมที่ได้รับเงินเดือนไม่เต็มจำนวน ซึ่งในปัจจุบันพบว่ากลุ่มนี้จะมีเยอะมาก

นายวุฒิชัย แสดงความเห็นด้วยกับ นายนราทร ธานินพิทักษ์ นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์จังหวัดนครราชสีมา ว่าการใช้มาตรการ LTV (loan-to-value ratio) เกี่ยวกับเกณฑ์กำหนดวงเงินที่ผู้จะกู้ซื้อบ้านได้ควรบังคับใช้กับบางพื้นที่ เพราะบ้านเป็นหนึ่งในสี่ของปัจจัยที่สำคัญที่สุดของชีวิต ทำให้คนมีความสุข

หากต้องการให้คนไทยมีความสุขต้องทำให้ประชาชนมีบ้านเป็นของตัวเอง อีกทั้งสิ่งที่ตามมาคือ ธุรกิจการสร้างบ้านซึ่งเป็นธุรกิจที่ต่อเนื่องกับหลายธุรกิจ หากธุรกิจสร้างบ้านเติบโตธุรกิจอื่น ๆก็เดินต่อได้เช่นกัน รัฐบาลควรสนับสนุนการมีบ้านที่เหมาะสมกับฐานะของประชาชน ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้เศรษฐกิจสามารถเดินต่อไปได้

บ้านคือสิ่งที่จำเป็นและเราก็อยากทำบ้านที่มีมาตรฐานดี ๆ ให้กับประชาชน รวมไปหากรัฐบาลได้ช่วยเหลือสนับสนุนให้มีการลดภาษีต่างๆ  เช่น ภาษีโอน ภาษีจำนอง ท้ายสุดแล้วผลก็จะตกอยู่กับประชาชนผู้ซื้อบ้าน การลดภาษีก็จะทำให้ราคาบ้านถูกลง

บ้านไม่ใช่สิ่งฟุ่มเฟือย แต่เป็นสิ่งจำเป็นที่ทุกคนอยากมี เป็นความฝัน การที่เขามีบ้านเป็นความสุขสูงสุด

__________________________________

บายไลน์ – น.ส.เบญญา วัฒนะ ,น.ส.ขวัญฤทัย แก้วหนองตอ , น.ส.ณิชาบูล เชิมชัยภูมิ (เรียบเรียง)

 

 

แสดงความคิดเห็น