เกษตรกรปลูกมันฯปลื้ม รัฐประกัน2.5บ./กก. แปรรูปเลี้ยงโคขุนส่งจีน

เกษตรกรฯพอใจมาตรการรัฐประกันราคาหัวมันสด กิโลฯละ 2.5 บาท เป็นแรงจูงใจให้เพิ่มพื้นที่ปลูก เตรียมรวมตัวแปลงใหญ่จัดตั้งองค์กร ขอสินเชื่อหัวขบวนฯธกส. รวมวิสาหกิจสกลฯเดินหน้าแปรรูปผลิตอาหารสัตว์เลี้ยงโคขุนส่งจีน

      นายสมพร พิมมะสอน หัวหน้ากลุ่มลูกค้าธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) อ.มัญจาคีรี คณะกรรมการมันสปะหลังแปลงใหญ่ อ.มัญจาคีรี กล่าวว่า ปัจจุบันขอนแก่นมีการใช้พื้นที่ปลูกมันสำปะหลังและอ้อย แบ่งเป็นพื้นที่ปลูกอ้อยล้านกว่าไร่ ปลูกมันสำปะหลังสี่แสนกว่าไร่ โดยการใช้พื้นที่มีลักษณะแบบหมุนเวียนสลับกันปลูกระหว่างอ้อยและมันสำปะหลังที่จะเกี่ยวข้องกับราคา ณ ขณะนั้น

ช่วงไหนที่ราคามันสำปะหลังต่ำเกษตรกรจะหันไปปลูกอ้อย และช่วงไหนที่ราคาอ้อยต่ำหรือตกไปที่ตันละ 850 ก็จะหันไปปลูกมันสำปะหลังสมพร พิมมะสอน กล่าว

ในปี 2563 จนถึงปัจจุบันภาครัฐได้ออกนโยบายประกันราคาเพื่อสนับสนุนเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง กิโลกรัมละ 2.50 บาท เฉลี่ยผลผลิตต่อไร่อยู่ที่ 3,419 กิโลกรัม ถ้าถึงช่วงเก็บเกี่ยวผลผลิตแต่ราคาไม่เป็นไปตามนโยบาย ทางภาครัฐจะชดเชยส่วนต่างให้ เสมือนเป็นแรงจูงใจให้เกษตรกรปลูกอ้อยหันมาปลูกมันสำปะหลัง 

เช่นเดียวกับในพื้นที่มัญจาคีรี ที่ปัจจุบันมีพื้นที่ทำการเกษตรสำหรับปลูกมันสำปะหลัง 70 % ปลูกอ้อย 30% นโยบายประกันราคามันสำปะหลัง  2.50 บาทต่อกิโลกรัม และราคาอ้อยปี  2563 อยู่ที่ 850 บาทต่อตัน ปีนี้ราคาอ้อยขยับขึ้นมาอยู่ที่ตันละ 1,000 บาท 

นอกจากนโยบายนี้จะเป็นปัจจัยที่ทำให้คนหันมาปลูกมันสำปะหลังแล้ว ยังมีสถานการณ์โควิด 19 ที่กระทบต่อการเปิด – ปิดของโรงงานน้ำตาล ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับเกษตรกรผู้ปลูกอ้อย อีกทั้ง การปลูกมันสำปะหลังสามารถขุด เก็บเกี่ยวได้ตลอดเวลา ถึงแม้จะมีฝนตกทุกวัน ชาวมัญจาคีรีก็ขุดไปขายได้ทุกวัน 

บางพื้นที่ให้ราคา 2.25 บาท บางพื้นที่ 2.55 บาท นับว่าเป็นราคาที่น่าพอใจ เกษตรกรมีความสุขกับการปลูกมันสำปะหลัง และคาดการณ์ว่า จำนวนผลผลิตมันสำปะหลังจะเพิ่มขึ้น แต่พื้นที่การปลูกอ้อยจะลดลง อย่างไรก็ตาม โรงงานอ้อยได้เข้ามาส่งเสริม สร้างแรงจูงใจให้เกษตรกรหันกลับมาปลูกอ้อย แต่ชาวเกษตรกรปลูกอ้อยจะประสบปัญหาภัยแล้งและมีบทเรียนจากการที่ตัดอ้อยไม่ทันทำให้เกิดอ้อยค้างไร่ หรืออ้อยร้าง

       นายสมพร กล่าวว่า การขยายตัวของโรงงานน้ำตาลในอำเภอบ้านไผ่  ที่นับว่าเป็นโรงงานน้ำตาลขนาดใหญ่ของภาคอีสาน ซึ่งตอนนี้ยังไม่มีการขับเคลื่อนโดยมีปัจจัยหลายอย่างที่ไม่เอื้ออำนวยต่อ เนื่องจากเกษตรกรส่วนใหญ่ พื้นที่อ.มัญจาคีรีไปจนถึงอ.บ้านไผ่ มีการลดพื้นที่ปลูกอ้อยลง คิดเป็น อ้อย 30% มันสำปะหลัง 70%

ถ้าราคารับประกันมันสำปะหลังยังอยู่ที่ 2.50 บาทต่อไป ผมคิดว่าการปลูกอ้อยในอนาคตจะเหลือแค่ 10%  มันสำปะหลัง  90%  และโรงงานจะขาดแคลนอ้อย อาจจะมีการส่งเสริมประเทศเพื่อนบ้าน หรือปรับขึ้นราคาอ้อยตันละ 15,000 บาท เพื่อสู้กับมันสำปะหลังนายสมพรให้ความเห็น

อย่างไรก็ตามคนส่วนใหญ่ในพื้นที่จะทราบกันดีว่าสถานการณ์ราคาอ้อยตอนนี้เป็นอย่างไร จึงได้ปรับเปลี่ยนมาปลูกมันสำปะหลัง อีกทั้ง ตอนนี้อาหารสัตว์ และน้ำมันราคาแพง ทำให้ราคาหัวมันสำปะหลังมีราคาคงที่ 2.50 บาท เกษตรกรจึงหันมาปลูกมันสำปะหลังที่ในช่วงนี้นับว่ามีความมั่นคงมากและเป็นที่น่าพอใจของเกษตรกรเป็นอย่างมาก

       นายสมพร ยังได้กล่าวถึง ‘สินเชื่อหัวขบวน’ ที่เป็นโครงการของธ.ก.ส. อีกว่า ตนได้เข้าร่วมโครงการสินเชื่อหัวขบวนเช่นเดียวกัน แต่ยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร จึงได้หารือกันระหว่างกลุ่มมันสำปะหลังแปลงใหญ่กับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนโคขุน จ.สกลนคร  เกี่ยวกับการจัดสรรพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังไว้สำหรับแปรรูปเพื่อทำอาหารสัตว์โดยมี ธ.ก.ส. เป็นหน่วยงานสนับสนุน ให้เป็นหัวขบวนของโครงการสินเชื่อหัวขบวน 

นอกจากนี้ยังได้มีการจัดตั้งองค์กรต่างๆ อยู่ระหว่างการจัดตั้งคณะกรรมการแต่ละเขต เช่น กลุ่มร้อยแก่นสารสินธุ์ เพื่อคัดเลือกเกษตรกรที่สนใจและอยู่ภายใต้การดูแลของ ธ.ก.ส. เข้าโครงการสินเชื่อหัวขบวน โดยจะสนับสนุนการซื้อโคขุนไว้เลี้ยง ครอบครัวละ 5 ตัว ตัวละ 30,000 บาท มีเป้าหมายเพื่อให้เกษตรกรเลี้ยงโคขุนให้ได้น้ำหนักตามเกณฑ์เพื่อส่งออกประเทศจีน

รวมทั้งได้ยังมีโครงการสินเชื่อเพื่อสนับสนุนการสร้างโรงเรือนเสนอให้ 28,000 บาทต่อครอบครัว และสนับสนุนการทำประกันชีวิตโคตัวละ 400 บาท ซึ่งการเขียนแผนของวิสาหกิจชุมชนโคขุน จ.สกลนคร ที่เป็นหัวขบวนของภาคอีสาน คือ การแปรรูปมันสำปะหลังเป็นมันเส้นสะอาด และส่งเสริมการปลูกมันสำปะหลังให้มีคุณภาพเพื่อป้องกันราคามันสำปะหลังผันผวน อย่างน้อยเพื่อให้มีมันสำปะหลังไว้สำหรับเลี้ยงโคขุน      นายสมพร กล่าวอีกว่า เราต้องมีการวางแผนการผลิต การแปรรูป เนื่องจากที่ผ่านมาราคามันสำปะหลังและผันผวนมาก ดังนั้น จึงต้องวางแผนที่เป็นรูปธรรมเกี่ยวกับการขับเคลื่อนทิศทางเกษตรกรในอนาคต เพื่อส่งเสริมเกษตรกรให้มีรายได้และมีความก้าวหน้าทางด้านความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ถึงแม้สถานการณ์โควิดจะส่งผลกระทบ แต่อาชีพเกษตรกรถือว่าเป็นอาชีพที่มีความมั่นคงทางด้านอาหาร และสามารถรองรับสถานการณ์วิกฤตได้ดี

 

 

 

แสดงความคิดเห็น