สสจ.ขอนแก่นเตือน!! ประชาชนเสี่ยงจมน้ำในพื้นที่ลุ่มริมแม่น้ำ ย้ำให้ระวังโดยเฉพาะน้ำหลากไหลเชี่ยว

สสจ.ขอนแก่น เตือนประชาชนเสี่ยงจมน้ำในพื้นที่ลุ่มริมแม่น้ำ ย้ำให้ระวังโดยเฉพาะน้ำหลากไหลเชี่ยว

จากรายงานสถานการณ์อุทกภัยจังหวัดขอนแก่น จากผลกระทบของมวลน้ำจากจังหวัดชัยภูมิได้ระบายลงแม่น้ำชี ทำให้แม่น้ำชีเอ่อล้นเข้าพื้นที่ทางการเกษตรและบ้านเรือน โดยขอให้ประชาชนติดตามข้อมูลข่าวสารจากทางราชการ ระวังอันตรายจากกระแสน้ำไหลเชี่ยว เสี่ยงเสียชีวิตจากการจมน้ำ อันตรายจากสัตว์มีพิษ อันตรายจากกระแสไฟฟ้า

นายแพทย์ภาคี ทรัพย์พิพัฒน์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดขอนแก่น แสดงความห่วงใยประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากกรณีอุทกภัย โดยเฉพาะในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำชีจากรายงานการเฝ้าระวังสถานการณ์อุทกภัย กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดขอนแก่น ได้เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำในพื้นที่ 15 อำเภอ 72 ตำบล 553 หมู่บ้าน ของจังหวัดขอนแก่น ซึ่งบางพื้นที่ยังคงมีระดับน้ำท่วมสูง

จึงขอเตือนประชาชนในพื้นที่เสี่ยงจากกระแสน้ำเชี่ยว ให้ระมัดระวังอันตราย โดยคำนึงถึงมาตรการความปลอดภัย ได้แก่ 1. ไม่ควรออกเก็บผัก หาปลาและลงเล่นน้ำในขณะที่กระแสน้ำไหลหลากและกระแสน้ำไหลเชี่ยว เพราะเสี่ยงต่อการถูกกระแสน้ำพัดหรือจมในน้ำลึกได้ หากจำเป็นต้องออกไปเก็บผัก หาปลา ควรไปกันเป็นกลุ่ม ไม่นำเด็กไปด้วย พร้อมเตรียมอุปกรณ์ชูชีพติดตัวไปด้วยซึ่งสามารถจัดหาหรือทำเองได้ เช่น ลูกมะพร้าวแห้ง, ถังแกลลอนเปล่าผูกเชือก, ขวดน้ำพลาสติกเปล่าผูกเชือกคล้อง 2. ไม่ควรดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด ไม่ลงจับปลาในเวลากลางคืน หลีกเลี่ยงการลงน้ำหลังรับ ประทานอาหารใหม่ๆ เพราะเสี่ยงต่อการเป็นตะคริวที่ท้อง ไม่สวมเสื้อผ้าหนา หนัก อุ้มน้ำ 3.ไม่ควรปล่อยให้ผู้ที่มีโรคประจำตัวที่ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้อยู่ตามลำพัง เช่น ผู้ป่วยโรคลมชัก ความดันโลหิต เบาหวาน โรคหัวใจหลอดเลือด 4.ผู้ปกครองดูแลเด็กอย่างใกล้ชิดไม่ปล่อยให้เด็กลงเล่นน้ำ ควรกำหนดให้มีบริเวณที่เป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับเด็ก สอนให้เด็กรู้จักอันตรายที่เกิดขึ้นได้ในช่วงน้ำท่วม และเตรียมอุปกรณ์ลอยน้ำติดตัวหรืออยู่ในที่สะดวกต่อการนำมาใช้เมื่อมีเหตุฉุกเฉิน เช่น เสื้อชูชีพ, ลูกมะพร้าว, ถังแกลลอนเปล่า, ขวดน้ำพลาสติกเปล่า ผูกเชือกคล้อง,ไม้ หรือเชือก

นายแพทย์ภาคี กล่าวเน้นย้ำว่า หากประสบเหตุคับขันพบเห็นคนกำลังจมน้ำ ไม่ควรกระโดดลงไปช่วย ขอให้ยึดหลัก “ตะโกน โยน ยื่น” ได้แก่ 1.) ตะโกน เพื่อร้องขอความช่วยเหลือและโทรแจ้งทีมแพทย์กู้ชีพฉุกเฉิน 1669 2.) โยน อุปกรณ์ที่อยู่ใกล้ตัวให้คนจมน้ำเกาะหรือจับพยุงตัว เช่น ถังแกลลอนพลาสติกเปล่า ห่วงยาง เสื้อชูชีพ หรือวัสดุที่ลอยน้ำได้โดยโยนครั้งละหลายๆ ชิ้น ซึ่งวิธีนี้จะมีความปลอดภัยต่อผู้ช่วยเหลือด้วย และ 3.) ยื่น อุปกรณ์ที่อยู่ใกล้ตัว ให้คนตกน้ำจับ เช่น ท่อนไม้ เข็มขัดเสื้อผ้า ผ้าขาวม้า และดึงขึ้นมาจากน้ำ หลังจากช่วยคนจมน้ำขึ้นฝั่งมาได้แล้วให้จับนอนบนพื้นราบที่แห้งและแข็ง ห้ามจับคนจมน้ำอุ้มพาดบ่า เพราะจะเป็นอันตรายและทำให้ขาดอากาศหายใจนานยิ่งขึ้น หากหยุดหายใจ และหัวใจหยุดเต้น ให้กดกลางหน้าอก 30 ครั้งต่อการเป่าลมปาก 2 ครั้ง และควรนำส่งโรงพยาบาลทุกราย ทั้งที่รู้สึกตัวและไม่รู้สึกตัว หากมีข้อสงสัยประชาชนสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422

 

แสดงความคิดเห็น