ศ.นพ.สมศักดิ์ เทียมเก่า เผยสาเหตุ “เฮียพ้ง” เสียชีวิต แนะวิธีปฏิบัติหากพบติดโควิด19 มั่นใจปลายปี64ใช้ชีวิตปกติใหม่

รองผอ.รพ.ศรีนครินทร์ มข.เผย สาเหตุการเสียชีวิต “สุรพล ทวีแสงสกุลไทย” คหบดีใหญ่ขอนแก่นเพราะเชื้อโควิด 19 กินเนื้อปอดทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน ยันรักษาเต็มที่แต่ผู้ป่วยอายุมาก ระบุสถานการณ์ระบาดเปลี่ยนจากคลัสเตอร์หรือชุมชนมาเป็นคนสู่ครอบครัว แนะวิธีปฏิบัติหากพบติดเชื้อ มั่นใจปลายปี2564 ดีขึ้นคนติดเชื้อมากแต่ฉีดวัคซีนความรุนแรงและอัตราการตายลดลง     

 

ศ.นพ. สมศักดิ์ เทียมเก่า รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลศรีนครินทร์ คณะแพทย์ศาสตร์มหาวิทยาลัยขอนแก่น ให้สัมภาษณ์พิเศษรายการ คุยกับ “ขุนลักษณ์” ทางแพลตฟอร์มสื่อออนไลน์ท้องถิ่น “อีสานบิซ” หัวข้อ “ใช้ชีวิตอยู่กับโควิด 19 อย่างไรให้ปลอดภัยและมีความสุข?” โดยเริ่มจากการอธิบายถึงการระบาดของโควิด19 ว่า ในช่วงแรกเกิดจากคลัสเตอร์แต่ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา เกิดจากการคนในครอบครัวนำเชื้อเข้ามาสู่คนในครอบครัวทำให้เกิดการติดเชื้อจำนวนมาก ซึ่งสถานการณ์เป็นแบบนี้ทุกจังหวัด รูปแบบการติดเชื้อจากภายในชุมชนมาเป็นภายในครอบครัว

ทั้งนี้ การติดเชื้อภายในครอบครัวง่ายขึ้นโดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีภาวะอันตรายค่อนข้างสูง เนื่องจากสุขภาพร่างกายไม่ได้แข็งแรงเหมือนเด็กหรือวัยรุ่นรวมทั้งระบบภูมิคุ้มกันการต้านทานที่ไม่เต็มที่ โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัว

“เมื่อเชื้อโควิดเข้าสู่ร่างกาย แต่ละคนจะมีความรุนแรงที่แตกต่างกัน โดยเชื้อโควิดจะลงไปสู่ปอด และระบบทางเดินหายใจ ซึ่งหากสมรรถภาพทางปอดไม่แข็งแรงโดยจะเกิดปัญหาได้ง่ายยิ่งขึ้น”ศ.นพ.สมศักดิ์กล่าว

 

(เผยเหตุ”เฮียพ้ง”เสียชีวิต)

ศ.นพ. สมศักดิ์ กล่าวถึงกรณีของนายสุรพล แสงทวีสกุลไทย หรือ เฮียพ้ง” คหบดีที่มีชื่อเสียงของจังหวัดขอนแก่น ที่ได้เข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลเนื่องจากติดเชื้อโควิด-19 และเสียชีวิตว่า วันแรกที่ทราบว่าติดเชื้อจัดอยู่ในกลุ่มสีเหลือง ซึ่งยังไม่มีการแสดงอาการรุนแรง แต่ต่อมามีอาการเริ่มมีรุนแรงมากขึ้น เพราะเริ่มมีอาการเหนื่อยหอบในการเดิน แพทย์ฯได้สังเกตอาการและติดตามตรวจวัดค่าออกซิเจนที่ปลายนิ้ว

“การเอ๊กซเรย์ปอด พบว่า เชื้อโควิดเข้าไปสู่ปอดและเข้าไปกินเนื้อปอดอย่างรวดเร็ว แพทย์ได้ย้ายไปรักษาตัวที่ห้องไอซียูโรงพยาบาลศรีนครินทร์ โดยให้ยารักษา 3 – 4 ชนิด พร้อมกันทันที ช่วงแรกดูเหมือนอาการเริ่มดีขึ้น จึงได้ย้ายออกจากไอซียู

แต่เนื่องจากว่าผู้ป่วยมีอายุมาก ภูมิคุ้มกันต่าง ๆในร่างกายไม่แข็งแรงเต็มที่ ประกอบกับตัวที่บ่งชี้ว่าเชื้อโควิด 19 ได้ทำลายร่างกายรุนแรงมีค่าสูงขึ้นชัดเจน เพรยงวันเดียวก็ต้องนำกลับเข้าห้องไอซียูอีกครั้ง”

ศ.นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า ผู้ป่วยมีสภาวะแทรกซ้อน “ถุงลมในปอดแตก” โดยปกติในปอดจะมีถุงลมอยู่ในเยื้อหุ้มปอดจำนวนมาก แพทย์ทำการช่วยเหลือโดยการเจาะถุงลมในปอดออกมา ซึ่งต่างจากผู้ป่วยอีก 3 ท่าน ที่อยู่ครอบครัวเดียวกัน ที่มีทั้งผู้สูงอายุ และอายุน้อยกว่า แต่อาการรุนแรงไม่ต่างกัน แต่โชคดีที่ตอบสนองยาที่แพทย์ใช้ในการรักษาจึงทำให้ปลอดภัย

เชื้อเหมือนกันเข้ามาในร่างกายเหมือนกัน แต่ผู้สูงอายุมีความเสี่ยงสูงต่อการเสียชีวิต จากภาวะแทรกซ้อน และความเสี่ยงสูงในการที่ต้องเข้ารักษาใน ICU หรือมีการติดเชื้ออื่น ๆ ในโรงพยาบาลเพิ่มเติมมากขึ้น ซึ่งจากการศึกษาสาเหตุมาจากเชื้อโควิดเพียงอย่างเดียวไม่มีเชื้ออื่นๆ

การรักษาเป็นไปอย่างครบถ้วนตั้งแต่ต้น แต่ไม่สามารถชนะความรุนแรงของเชื้อได้ สาเหตุนี้จึงทำให้ทางการแพทย์รณรงค์ให้ผู้สูงอายุ ที่เรียกว่ากลุ่ม 608, 708 หรือ บุคคลที่มีอายุ 60 ปีหรือ 70 ปีขึ้นไปและมีโรคประจำตัว 7 โรค และกลุ่มผู้หญิงตั้งครรภ์ หากเกิดการติดเชื้อจะมีภาวะเสี่ยงสูงมากกว่าบุคคลปกติให้ทำการฉีดวัคซีนเป็นกลุ่มแรก

ศ.นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า ยาที่ใช้รักษาผู้ป่วยของโรงพยาบาลศรีนครินทร์ มีความเป็นมาตรฐานสากล ถึงแม้ตัวยาจะอยู่นอกบัญชียาหลักแห่งชาติ ด้วยความเป็นโรงเรียนแพทย์ รวมทั้งโรงพยาบาลขอนแก่น ก็ใช้ตัวยารักษาผู้ป่วยโควิดแบบเดียวกัน กรณีที่ถุงลมแตกเชื้อได้เข้ากัดกินเนื้อปอด ซึ่งเนื้อปอดจะประกอบด้วยถุงลมจำนวนมาก

“เมื่อเชื้อเข้ากัดกินเนื้อปอดจึงทำให้ถุงลมแตกและลมได้รั่วออกมาอยู่ในชั้นเยื่อหุ้มปอด ทำให้ลมดันเนื้อปอดออกมา ด้วยเหตุนี้จึงทำให้เกิดปัญหาทางเดินหายใจ ซึ่งเป็นภาวะแทรกซ้อนที่อันตรายจะต้องเฝ้าระวังและติดตามในผู้ป่วยโควิดที่มีภาวะปอดอักเสบทุกคน แต่โดยไม่ได้เกิดกับทุกคนขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค”

แม้ตัวเลขผู้ป่วยจะยังมีสูงมาก แต่ผู้เสียชีวิตมีอัตราส่วนน้อย ส่วนใหญ่ตอบสนองดีต่อการรักษา เนื่องจากมีระบบการรักษาที่เป็นลำดับขั้น มีการวางแผนอย่างชัดเจน ทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงระบบการรักษาได้ด้วยความเหมาะสมตามความรุนแรงของโรค แสดงให้เห็นถึงศักยภาพในการรักษาของขอนแก่น

 

(แนะชีวิตวิถีใหม่/ย้ำวัคซีนไขว้ดีที่สุด)

ศ.นพ. สมศักดิ์ กล่าวถึงการดูแลตนเองให้ปลอดภัยว่า ต้องปฏิบัติตามแนวทางการใช้ชีวิตวิถีใหม่ เช่น การสวมใส่หน้ากากอนามัย แนะนำสวมใส่หน้ากากอนามัย 2 ชั้น หรือใช้เทปกาวติดหน้ากากอนามัยให้มิดชิด เพื่อป้องกันละอองน้ำลายและเชื้อโรคเข้าสูร่างกาย การรักษาระยะห่าง การล้างมือ พยายามไม่ใช้มือสัมผัสใบหน้า อีกหนึ่งปัจจัยที่สำคัญคือการฉีดวัคซีน ซึ่งวัคซีนมีจำนวนมากพอ แต่สูตรที่รัฐบาลกำหนดให้ในตอนนี้สำหรับคนไทยทั่วไปเป็นสูตรไขว้ ซิโนแวค + แอสตร้าเซนเนก้า

สูตรนี้มีความปลอดภัยและประสิทธิภาพสูง ประชาชนบางส่วนยังมีความกังวลใจในสูตรวัคซีน และมีความต้องการฉีดวัคซีนของ mRNA (Pfizer/ Moderna) ซึ่งต้องทำความเข้าใจถ้าหากใช้สูตรไขว้ตั้งแต่ต้นจะทำให้สามารถมีภูมิคุ้มกันสูงภายในระยะเวลาเพียงแค่ประมาณ 3 หรือ 4 สัปดาห์

ส่วนประชาชนที่รอ Moderna  ควรจะรีบไปฉีดวัคซีนที่รัฐบาลจัดให้ก่อน เพราะไม่ทราบว่า Moderna จะนำเข้ามาเมื่อไหร่ อาจจะเป็นเข็ม 3 หรือ Booster ภายหลังตามที่ได้ทำการจองกลับโรงพยาบาลเอกชนไว้ ไม่ต้องการให้รอตัว Modena อย่างเดียว ซึ่งต้องยืนยันว่าสูตรวัคซีน ซิโนแวค+แอสตร้าเซนเนก้า มีความปลอดภัยสูง

ช่วงแรกที่มีข่าวการฉีดชีโนแวดเกิดความผิดปกติ ซึ่งตนยืนยันว่า อัตราการเกิดความผิดปกติมีน้อย เช่น อัมพาต หลอดเลือดตีบ ทางการแพทย์เข้าไปพิสูจน์ยืนยันว่าไม่พบโรคดังกล่าว ซึ่งความผิดปกตินั้นเกิดขึ้นจริงแต่เป็นความผิดปกติที่เรียกว่าเป็นความผิดปกติทางระบบชั่วคราว

สิ่งที่ทำให้ปลอดภัยจากโควิค 19 คือ การฉีดวัคซีน ต่อมาควรปรับตัวให้สามารถดำรงชีวิตอยู่กับโควิค 19  ให้ได้ ซึ่งเราต้องอยู่กับโควิด 19 ไปอีกอย่างน้อย  2 – 3 ปี จนกว่าจะมีวัคซีนที่มีประสิทธิภาพสามารถป้องกันการติดเชื้อได้ และวัคซีนปัจจุบันมีส่วนช่วยลดความรุนแรงของโรค ลดอัตราการเสียชีวิต แต่ยังไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อได้

“เราหวังว่าอีก 2-3 ปีข้างหน้า วงการแพทย์จะมีการพัฒนาวัคซีนที่สามารถครอบคลุมเชื้อได้ทุกสายพันธุ์และป้องกันการติดเชื้อ ซึ่งจะทำให้สามารถกลับมาใช้วิถีชีวิตแบบใหม่ได้ ให้มองมุมบวกมากขึ้น ถึงแม้ว่าจะฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มก็ยังต้องใช้ชีวิตแบบวิถีใหม่ และมีความเข้มงวดต่อตนเองมากขึ้น”

 

(ตรวจพบติดเชื้อต้องทำอย่างไร?)

ศ.นพ. สมศักดิ์ กล่าวอีกว่า วัคซีน“ซิโนแวด/ซิโนฟาร์ม เป็นเทคโนโลยีเหมือนกัน เพราะฉะนั้นจะฉีดไขว้แบบไหนก็ได้ ซึ่งข้อมูลทางการแพทย์วัคซีนเชื้อตายเป็นวัคซีนที่ปลอดภัยสูงสุด ที่ฉีดไปแทบจะไม่เจอภาวะแทรกซ้อน  ปัจจุบันขั้นตอนการตรวจเชื้อได้มีการตรวจในรูปแบบ ATK เป็นขั้นตอนแรก หากสงสัยว่าตนเองติดเชื้อโควิค 19 และไม่ต้องการเข้ารับการตรวจที่สถานพยาบาล สามารถหาซื้อชุดตรวจ ATK หรือสามารถลงทะเบียนรับชุดตรวจที่ร้านขายยา

“หากทำการตรวจแล้วให้ผลบวกหรือมีอาการที่สงสัย จึงเข้าสู่ระบบทางการแพทย์ ในการตรวจหาเชื้อโควิตามสถานพยาบาลใกล้บ้าน ปัจจุบันขอนแก่นมีศูนย์ประสานงานการหาเตียงเข้าสู่โรงพยาบาล หรือสังเกตรักษาตนเองที่บ้าน หรือศูนย์พักคอย ศูนย์รักษาของชุมชน”ศ.นพ.สมศักดิ์กล่าว

วิธีการรักษาเริ่มจาก Home isolation – Community isolation – Hospitel – และโรงพยาบาล ตามลำดับ ส่วนอาการแบ่งเป็นกลุ่มสีเขียว อาจไม่มีอาการแต่ผลตรวจเป็นบวกหรือมีอาการไข้ต่ำ ไอ จมูกไม่ได้กลิ่น หอบเหนื่อย เอกซเรย์ปอดปกติ ต่อมากลุ่มสีเหลือง ความรุนแรงเพิ่มขึ้นเล็กน้อย กลุ่มสีแดงและกลุ่มสีแดงเข้มตามลำดับ

ทั้งนี้กลุ่มสีเขียวหากพบว่ามีการติดเชื้อโควิค 19 ทางสถานพยาบาลจะทำการสอบถามถึงความสามารถในการดูแลรักษาตนเองที่บ้าน (Home isolation) โดยจะจัดเตรียมอุปกรณ์สำหรับรักษาและอาหารให้ผู้ป่วย หากบ้าน/หอพักไม่พร้อมแต่ในชุมชนมีสถานที่ให้พักรักษาตัว (Community isolation)

ปัจจุบันทุกอำเภอมี Community isolation แต่หากอาศัยอยู่ในเมืองขอนแก่นไม่สะดวกที่จะรักษาแบบ Home isolation หรือที่บ้าน สามารถเข้าสู่การรักษาที่ Hospitel โดยจะต้องติดต่อประสานโรงพยาบาลเอกชนในขอนแก่น ซึ่งโรงพยาบาลเอกชนจะทำ contact หรือข้อตกลงร่วมกับโรงแรม

ที่จะต้องผ่านการพิจารณาจากสาธารณสุขจังหวัด และลงพื้นที่ไปตรวจสอบมาตรฐานของโรงแรม ทั้งระบบการดูแลที่ปลอดภัย อยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ ทีมพยาบาลของโรงพยาบาลเอกชน และมีการประสานกับคนไข้อยู่ตลอดเวลาถึงอาการ

หากมีอาการผิดปกติ เช่น ออกซิเจนปลายนิ้วลดลง จะทำการย้ายจาก Hospital/  Home isolation/ Community isolation  เข้ามาสู่โรงพยาบาลทันที การรักษาจึงเป็นไปตามขั้นตอน/ลำดับของอาการ เพราะฉะนั้น การให้รอคอยไม่ได้หมายความว่าไม่มีเตียง ตนยืนยันว่าขอนแก่นมีเตียงเพียงพอ

หากอาการไม่รุนแรงโรงพยาบาลสนาม ยังสามารถเข้ารักษาได้ ซึ่งขอนแก่นเปิดใช้งานโรงพยาบาลสนามอยู่  2 แห่ง ซึ่งแห่งที่ 1 อยู่ที่หอพักหญิงที่ 26 มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยมีการขยายเตียงจาก 258 เตียง เป็น 270 เตียง แห่งที่ 2 อยู่ที่ค่ายเปรมติณสูลานนท์ อ.กระนวน ดูแลโดยทีมแพทย์พยาบาลโรงพยาบาลกระนวน

ส่วนโรงพยาบาลสนามที่พุทธมณฑลและต.ท่าพระ ได้ปิดตัวไปแล้ว นอกจากนี้ยังมีเตียงในโรงพยาบาลชุมชนต่าง ๆจึงมีความพร้อมในรับการเข้ารักษา ซึ่งอยากให้คนขอนแก่นมั่นใจ สถานการณ์การเข้ารับการรักษา ระบบ/ขั้นตอนทางการแพทย์มีเตียงเหลือเฟือ

“สิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันคนไข้บางรายอาจไม่ค่อยมีความเข้าใจในระบบต่าง ๆ ทางโรงพยาบาลขอนแก่นและโรงพยาบาลศรีนครินทร์ พร้อมที่จะรักษาคนไข้ที่มีอาการหนัก ซึ่งโรงพยาบาลศรีนครินทร์มีการเปิดห้อง ICU เพิ่มอีก 5 เตียงเพื่อรองรับผู้ป่วยโควิด

นอกจากนี้ผู้ป่วยจะต้องให้ความร่วมมือกับทางทีมแพทย์พยาบาลในการวัดสัญญาณชีพ วัดออกซิเจนปลายนิ้วมือ เมื่อไหร่และอย่างไร ให้ทำตรงตามเวลาเพื่อให้มีการคัดกรองและสังเกตตนเองได้ง่าย ปัจจุบันเชื้อมีการเติบโตอย่างรวดเร็ว ภายใน 1 วัน สามารถเปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็ว จึงต้องสังเกตอาการตนเอง หากมีข้อสงสัยต้องรีบแจ้งทีมแพทย์พยาบาล

 

(ย้ำป่วยโควิด 19 รักษาฟรี)

ศ.นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า การตรวจเลือด และเอ๊กซเรย์ เพื่อหาความรุนแรงของโรคขึ้นอยู่กับความพร้อมของผู้ป่วยและโรงพยาบาล หากเข้าสู่ระบบแล้วจะทำการตรวจเลือดและเอกซเรย์ปอดผู้ป่วยทุกคน สำหรับโรงพยาบาลสนามจะถูกตรวจเลือดและเอ๊กซเรย์ปอดทันทีเพื่อคัดกรองผู้ป่วย ส่วนใหญ่กลุ่มสีเขียว (Home isolation) ซึ่งเป็นกลุ่มที่ไม่มีอาการจะยังไม่ได้รับการเข้าตรวจ

“หากสงสัยว่า ติดเชื้อโควิดและมีความประสงค์ที่จะเข้ารับการตรวจหาความรุนแรงของโรคสามารถขอตรวจเลือด/เอ๊กซเรย์ปอดโดยไม่มีค่าใช้จ่าย เนื่องจากสปสช.ออกค่าใช้จ่ายให้ทั้งหมดในการรักษาเบื้องต้นจะมียาเพียงบางชนิดเท่านั้นที่เกินสิทธิ์การรักษา”

หากตรวจพบวา ตนเองติดเชื้อโควิดหรือตรวจ ATK ผลเป็นบวก ไม่ควรรีบมาโรงพยาบาลด้วยตนเองให้โทรศัพท์ติดต่อสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ซึ่งจะประสานงานกลับโรงพยาบาลในพื้นที่ ในการขอข้อมูล เพศ อายุ การได้รับการฉีดวัคซีน โรคประจำตัว แพ้ยา อาการ โดยพยาบาลจะทำการเก็บข้อมูลและส่งต่อให้ทีมแพทย์ประเมินอาการและทำการส่งต่อในการรักษา

ศ.นพ. สมศักดิ์ กล่าวยืนยัน ว่า นโยบายและการปฏิบัติการสนับสนุนสอดคล้องกันทั้งหมด ตั้งแต่ระดับจังหวัดของผู้ว่าราชการจังหวัด นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ผู้อำนวยการโรงพยาบาลแต่ละพื้นที่ ไปถึงการปฏิบัติทั้งหมดรวมถึงการฉีดวัคซีนจึงทำให้สอดคล้องกันทั้งหมด

นอกจากนี้เตียงผู้ป่วย ICU มีอย่างน้อย 50 เตียง ซึ่งมีความเพียงพอต่อผู้ป่วย เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2564 มีผู้ป่วยไอซียูจำนวน 15 ราย สีแดงเข้ม 15 ราย สีแดงปกติ 18 ราย อัตราการเสียชีวิตน้อยหากเทียบกับเดือนที่ผ่านมาสัมพันธ์กับยอดเสียชีวิตภายในประเทศ

ยอดผู้ติดเชื้อแนวโน้มในประเทศมีอัตราต่ำกว่าหมื่นหากเทียบกับขอนแก่น ยังมีผู้ติดเชื้อจำนวนมากกว่าร้อย ส่วนใหญ่ผู้ติดเชื้ออยู่ในอำเภอเมืองมากกว่าครึ่ง ต่างจากช่วงแรกที่กระจายอยู่ในอำเภอต่าง ๆ ซึ่งส่วนหนึ่งเดินทางมาจากกรุงเทพฯ โดยผู้ป่วยเดินทางมาจากกรุงเทพฯทั้งหมดที่ผ่านโครงการรวมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดในโครงการขอนแก่นต้องรอด 1,277 ราย ซึ่งการติดเชื้อส่วนใหญ่ใดอำเภอเมืองเกิดจากคลัสเตอร์โรงงาน บริษัทใหญ่ คนในครอบครัวที่ติดจากคลัสเตอร์นำมาสู่ครอบครัว ดังนั้นผู้สูงอายุและผู้ป่วยติดเตียงที่ไม่ได้ไปไหนจึงแนะนำให้ฉีดวัคซีน

 

            (ผู้ติดเชื้อมากไม่สำคัญเท่าความรุนแรง)

ศ.นพ. สมศักดิ์ กล่าวว่า ข้อมูลจำนวนผู้เข้ารับการฉีดวัคซีนเมื่อวันที่ 5  ตุลาคม 2564  เข็ม 1 มีอัตราเกินครึ่ง สิ่งที่จะทำในเดือนตุลาคม นี้คือ ฉีดวัคซีนให้นักเรียนนักศึกษาให้ได้มากที่สุด และกลุ่มผู้สูงอายุฉีดวัคซีนครอบคลุม 70 %

สถานการณ์ต่าง ๆจะค่อยๆเบาลงจนถึงสิ้นปีหากไม่มีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้น ต้นปีหน้าการระบาดของโรคจะลดลง ระบบสาธารณสุขมีความสูงสุด  คาดว่าคงอีก 2 ปี ข้างหน้าคงใช้ชีวิตได้ดีมากขึ้น

หากมองตามสถานการณ์การฉีดวัคซีนเข็ม 2 ที่ครอบคลุมมากขึ้น จำนวนคนที่ติดเชื้อไม่สำคัญเท่าความรุนแรงของโรค การกลับไปใช้ชีวิตแบบปกติขึ้นอยู่กับการฉีดวัคซีนเข็ม 2 อย่างครอบคลุม ตามสถานการณ์ในประเทศไทยสามารถครอบคลุม 70% ได้ภายในสิ้นปีนี้ หากดูจากยอดการฉีดวัคซีนในแต่ละวันสูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้คาดว่ามีความประสบความสำเร็จ

สุดท้ายสิ่งที่อยากจะฝากคือ ให้ประชาชนทุกคนไปฉีดวัคซีน อยากทำความเข้าใจว่าวัคซีนมีความปลอดภัยไม่ว่าจะมีโรคประจำตัว หรือว่าใช้ยาอะไรก็สามารถใช้วัคซีนได้ การปฏิบัติตัวตามวิถีใหม่ก็เป็นสิ่งที่สำคัญ ปรับวิธีคิดของตนเองว่าจะอยู่อย่างไรให้ปลอดภัยและมีความสุข พยายามมองในแง่บวกจากสิ่งที่ได้เรียนรู้จากโควิค 19 ถึงแม้โทษจะมีเยอะกว่าก็ตาม ถ้าเรามีแต่ความเครียดภูมิต้านทานในร่างกายก็จะลดต่ำลง การติดเชื้อเกิดขึ้นได้ง่าย และต้องดูแลตนเองให้ปลอดภัย

…………………………………………..

บายไลน์ – น.ส.ขวัญฤทัย แก้วหนองตอ (ถอดความและเรียบเรียง)

แสดงความคิดเห็น