กรมอุตุนิยมวิทยา ประกาศเตือน “พายุดีเปรสชั่น ไลออนร็อก” อาจทำให้เกิดฝนตกหนักถึงหนักมาก ขอให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ระวังฝนตกหนัก อาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากได้
สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดแพร่รายงานว่า ทางกรมอุตุนิยมวิทยา โดยนายณัฐพล ณัฏฐสมบูรณ์ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา ได้ออกประกาศ ฉบับที่ 20 ลงวันที่ 11 ตุลาคม 2564
เวลา 11.00 น. ว่า วันนี้ (11 ต.ค.4) พายุดีเปรสชั่น“ไลออนร็อก” ได้อ่อนกำลังลงเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณประเทศลาวตอนบนแล้ว และเมื่อเวลา 10.00 น. หย่อมความกดอากาศต่ำได้เคลื่อนเข้าปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนของประเทศไทย ลักษณะเช่นนี้ทำให้ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีฝนตกหนักถึงหนักมาก ขอให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากได้
อนึ่ง ร่องมรสุมพาดผ่านบริเวณภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลางตอนบน เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในขณะที่มรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังแรงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย ลักษณะเช่นนี้ทำให้ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก มีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ส่วนคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนมีกำลังแรงขึ้น โดยทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนมีคลื่นสูง 2-3 เมตร
ส่วนอ่าวไทยตอนล่างคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร และบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ขอให้ชาวเรือเดินเรือด้วยความระมัดระวัง และเรือเล็กควรงดออกจากฝั่งในระยะนี้ จึงขอให้ประชาชนติดตามประกาศจากกรมอุตุนิยมวิทยา และสามารถติดตามข้อมูลที่เว็บไซต์ กรมอุตุนิยมวิทยา http://www.tmd.go.th หรือที่ 0-2399-4012-13 และ 1182 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง
ในส่วนของจังหวัดแพร่ นายสมหวัง พ่วงบางโพ ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดแพร่ สั่งการให้เตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นในพื้นที่ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ รวดเร็ว ทันเหตุการณ์ โดยให้ผู้อำนวยการอำเภอ/ท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แจ้งประชาชนในพื้นที่ให้ติดตามข้อมูลสภาวะอากาศ และข่าวสารจากทางราชการ ประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ให้กับประชาชนระวังอันตรายจากฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง โดยหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้งใต้ต้นไม้ใหญ่ สิ่งก่อสร้าง และป้ายโฆษณาที่ไม่แข็งแรง รวมถึงอันตรายจากฟ้าผ่า เตรียมพร้อมในการประสานและบูรณาการหน่วยงานพลเรือน ทหาร ตำรวจ เครือข่ายอาสาสมัคร จิตอาสา ภาคเอกชน เตรียมพร้อมทรัพยากร เครื่องมืออุปกรณ์และแผนเผชิญเหตุ รวมทั้งสร้างการรับรู้ให้กับประชาชนในทุกช่องทาง ทั้งในรูปแบบที่เป็นทางการ และไม่เป็นทางการ เช่น สื่อสังคมออนไลน์ วิทยุชุมชน หอเตือนภัย หอกระจายข่าวประจำหมู่บ้าน