ผู้บริหารตลาดต้นตาล อู้ฟู่และแฟรี่ ขอนแก่น เผยกลยุทธ์ธุรกิจสู้โควิด 19 สร้างความมั่นใจให้ร้านค้า สร้างความเชื่อมั่นให้ลูกค้าปลอดภัย ระบุ“ต้นตาล” ฟื้นตัวได้เร็ว แฟรี่ฯประคองตัว “อู้ฟู่”เปิดเพิ่มตลาดผลไม้ และมาตรการรัฐช่วยฟื้นธุรกิจได้ดี
น.ส.ณิชกานต์ พัฒนพีระเดช ผู้บริหารตลาดต้นตาล ตลาดอู้ฟู่และแฟรี่พลาซ่า ขอนแก่น กล่าวว่า ภาพรวมของ 3 ธุรกิจที่ตนดูแลได้เปลี่ยนแปลงไป เนื่องจากการแข่งขันของตลาดและกระแสความนิยมของสังคม อย่างห้างแฟรี่พลาซ่า ขอนแก่น ถือว่าเป็นธุรกิจอยู่ในช่วงขาลง ซึ่งตนเล็งเห็นถึงความสำคัญของการสร้างพื้นที่ในการพบปะสังสรรค์ของผู้คน จึงได้เริ่มทำการปรับตัวและรีโนเวทเพื่อพัฒนาพื้นที่
“เราหันมาเน้นเรื่องอาหารโดยการเพิ่มจำนวนร้านอาหารท้องถิ่น แต่เมื่อประสบกับโควิด-19 ทำให้ต้องปรับตัวอย่างก้าวกระโดด ผู้บริโภคได้ใช้บริการเดลิเวอรี่ เดิมที่เคยมองว่าร้านอาหารช่วยดึงดูดลูกค้า ทำให้ทางแฟรี่พลาซ่าต้องปรับตัวใหม่ต่อเนื่อง”น.ส.ณิชกานต์กล่าวและว่า
ขณะเดียวกัน ตลาดต้นตาลและตลาดอู้ฟู่ ถือเป็นธุรกิจพื้นที่ให้เช่าที่ ซึ่งมีลักษณะแตกต่างกัน เราให้ความสำคัญเรื่องการจัดกิจกรรม อีเวนท์ คอนเสิร์ต การประชาสัมพันธ์จะทำอย่างไรให้ร้านค้าหรือผู้เช่าอยู่ได้
น.ส.ณิชกานต์กล่าวอีกว่า ตลาดต้นตาลเป็นธุรกิจที่ได้รับความสนใจและค่อนข้างประสบความสำเร็จ เนื่องจากเป็นพื้นที่ตลาดกลางคืนที่มีทั้งสินค้าอุปโภค บริโภค ดนตรี ศิลปะ และเป็นพื้นที่เอาท์ดอร์ แม้จะประสบสถานการณ์โควิด -19 แต่ทุกครั้งที่สถานการณ์กลับมาปกติ ตลาดต้นตาลจะสามารถฟื้นตัวได้ทันที ภายในระยะเวลา 1 เดือน
“ร้านค้าเช่าจึงค่อนข้างมั่นใจ ในทางกลับกัน ตลาดอู้ฟู่ เป็นธุรกิจการค้าปลีกในเชิงค้าส่ง โดยมีกลุ่มเฉพาะแต่ได้รับผลกระทบน้อยที่สุด ซึ่งหลักๆส่งผลกระทบต่อศูนย์อาหาร”น.ส.ณิชกานต์กล่าว
น.ส.ณิชกานต์ กล่าวว่า ส่วนแฟรี่พลาซ่าประสบปัญหาการแข่งขันทางตลาดค่อนข้างหนัก เนื่องจากต้องแข่งกับห้างใหญ่และการขายออนไลน์ รวมไปถึงร้านค้ารายย่อย ซึ่งในส่วนของตลาดต้นตาลและตลาดอู้ฟู่ ไม่ประสบปัญหา เนื่องจากมีกลุ่มตลาดเฉพาะที่ชัดเจน
ในช่วงโควิด -19 ระลอกแรก ประกาศล็อกดาวน์ ตลาดต้นตาลต้องปิดพื้นที่ทั้งหมด 2 เดือน ยกเว้นพื้นที่ลานจอดรถ เพื่อให้ร้านค้าสามารถจำหน่ายอาหารแบบซื้อกลับบ้านรวมถึงรับเดลิเวอรี่
ส่วนแฟรี่พลาซ่า ปิด 100 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากเป็นพื้นที่อินดอร์ เช่นเดียวกับตลาดอู้ฟู่ ซึ่งทำให้เราได้รับผลกระทบค่อนข้างหนักในช่วงปี 63 เรียกว่ารายรับของเราเป็นศูนย์บาท แต่รายจ่ายยังต้องจ่ายออกไป
น.ส.ณิชกานต์กล่าวว่า สถานการณ์โควิด -19 ระลอกที่ 2-3 ถึงแม้ไม่ถูกสั่งปิด แต่สิ่งที่ต้องประสบกับการเป็นคลัสเตอร์ ในระลอก 3 ตลาดฯได้ออกมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการ ด้วยการลดค่าเช่าพื้นที่ ทั้ง 3 ธุรกิจ ตั้งแต่ 50 – 60 เปอร์เซ็นต์ หรือลดค่าเช่าสูงสุด 80 เปอร์เซ็นต์ถึงอยู่ฟรีในบางกรณี
“เราเชื่อว่าลดค่าเช่าจนเหลือศูนย์บาท หากไม่มีรายรับเขาก็จะอยู่ไม่ได้ เราช่วยเหลือเรื่องความเป็นอยู่ แจกคูปองให้พ่อค้าแม่ค้า นักดนตรี เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจภายในพื้นที่
ทั้ง 3 ธุรกิจ เพื่อคงสภาพร้านค้าเอาไว้ ทุกวันนี้ที่เรายังคงลดอยู่ เราต้องขาดทุน แต่เราต้องการซื้อความมั่นใจ ว่าเราเป็นพวกเดียวกันและจะอยู่ด้วยกันต่อไป” น.ส.ณิชกานต์ กล่าว
น.ส.ณิชกานต์กล่าวอีกว่า สถานการณ์ธุรกิจค้าปลีกได้เปลี่ยนไป สิ่งสำคัญคือการสร้างความเชื่อมั่นให้แก่กลุ่มลูกค้า ทั้งเรื่องการดูแลและควบคุมเรื่องชีวิตปกติแบบใหม่ (New Normal) การเว้นระยะห่างทางสังคม (Social distancing) มาตรการคัดกรองต่าง ๆรวมถึงการรับวัคซีนของพนักงานและร้านค้า
“พนักงานเรารับวัคซีนแล้วกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ ถึงแม้สถานการณ์ในขอนแก่นจะมียอดผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นทุกวัน แต่คนรับวัคซีนมากขึ้น เป็นสัญญาณที่ดี ธุรกิจ ค้าปลีกจะไม่เหมือนเดิมมีออนไลน์เข้ามามากขึ้น เราเป็นคนกลางขณะที่ยุคนี้บทบาทคนกลางถูกลดทอนมากขึ้นเรื่อยๆ”น.ส.ณิชกานต์กล่าว
น.ส.ณิชกานต์ กล่าวอีกว่า ตลาดต้นตาลได้รีโนเวทพื้นที่เพื่อสร้างความมั่นใจแก่ร้านค้า เช่นเดียวกับแฟรี่พลาซ่าฯ รวมถึงเพิ่มจำนวนร้านอาหาร มุ่งเน้นบริการร้านอาหารควบคู่กับการให้บริการเดลิเวอรี่ และส่วนของตลาดอู้ฟู่จะมีการเปิดตลาดค้าส่งผัก-ผลไม้
ทั้งนี้มาตรการช่วยเหลือจากรัฐ อาทิ คนละครึ่ง ธงฟ้าประชารัฐ ค่อนข้างประสบความสำเร็จกับภาคธุรกิจ การค้าปลีกเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ และมีความสำคัญต่อประชาชนทุกกลุ่มซึ่งเป็นสิ่งที่อยากให้รัฐตระหนัก
“สถานการณ์ค้าปลีกอีสาน โคราช อุดรธานี ขอนแก่น น่าจะได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน เนื่องจากไม่ใช่เมืองท่องเที่ยว โดยเฉพาะโคราชหนักที่สุดเพราะเป็นพื้นที่สีแดงเข้ม”น.ส.ณิชกานต์กล่าว