เดอะมอลล์โคราช มั่นใจทำเลและความเป็นเจ้าถิ่นเหนือห้างดังคู่แข่ง เผยกลยุทธ์รับมือโควิด 19 พบพฤติกรรมลูกค้ายอดซื้อเพิ่มขึ้นแต่จำนวนมาห้างน้อยครั้งลง ประกาศเปิดเคมเปญและอีเว้นท์ใหญ่ ต้อนรับลูกค้าฉีดวัคซีนพร้อมออกมาใช้ชีวิตแบบปกติใหม่
นายชินาพัฒน์ พิมพ์ศรีแก้ว ผจก.ทั่วไปห้างสรรพสินค้าเดอะมอลล์ นครราชสีมา กล่าวว่า การแข่งขันระหว่างเดอะมอลล์ นครราชสีมา กับห้างขนาดใหญ่ อาทิ เทอร์มินอล 21 เซ็นทรัลฯ เบื้องต้นอาจมองว่ามีการแข่งขันกันโดยเฉพาะเรื่องการทำกิจกรรมเพื่อดึงดูดคนเข้ามาในศูนย์การค้าให้ได้มากที่สุด แต่ในขณะเดียวกัน กลุ่มลูกค้าแต่ละห้างต่างมีตลาดเฉพาะที่ชัดเจน
“เทอร์มินอล 21 เป็นกลุ่มเด็กและครอบครัว และลูกค้าที่จะมาใช้บริการร้านอาหาร เซ็นทรัลฯ จะเป็นกลุ่มข้าราชการ นักเรียน นักศึกษาบริเวณพื้นที่ใกล้เคียง ขณะที่เดอะมอลล์ อยู่ในตำแหน่งดีที่สุด เพราะอยู่ตรงกลาง”นายชินาพัฒน์กล่าว
ไม่ว่าจะมาจากกรุงเทพฯ หรือมาจากขอนแก่น เพื่อเข้าเมืองที่ตั้งเราได้เปรียบเพราะอยู่ในพื้นที่ศูนย์กลาง รวมทั้งมอเตอร์เวย์ที่กำลังจะเปิดใช้ในปี2565 รวมถึงความเป็นเจ้าถิ่น ลูกค้าของเดอะมอลล์โคราช ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มวัยทำงาน กลุ่มผู้สูงอายุ
“เรามาก่อนเราเลยกลายเป็นเจ้าถิ่น ลูกค้าอยู่กับเราตั้งแต่เป็นเด็ก 10 ขวบ จนทุกวันนี้บวกอายุ 20 ปี เขาอายุ 30 เป็นวัยกลางคนที่มีกำลังทรัพย์มาใช้จ่าย” นายชินาพัฒน์ กล่าว
นายชินาพัฒน์ กล่าวว่า เดอะมอลล์โคราชมีพื้นที่เพียง 2-3 ชั้น ทำให้ลูกค้าสามารถเข้าถึงสินค้าได้ง่ายและสะดวก เมื่อประสบกับสถานการณ์โควิด-19 ระลอกแรก สิ่งที่เรียนรู้ได้คือ ลูกค้าได้มีการปรับตัว การระบาดระลอกแรก ลูกค้าซื้ออาหารในซุปเปอร์มาร์เก็ต สินค้าบริโภค เครื่องใช้ไฟฟ้า แต่ยังไม่มีการซื้อสินค้าที่เป็นเครื่องครัว
นอกจากนี้พฤติกรรมการบริโภคยังเปลี่ยนไป จากเดิมที่เคยเดินทางมาทานอาหารที่ห้างหรือตลาด เริ่มใช้บริการเดลิเวอรี่อย่างแพร่หลาย ซึ่งในภายหลังพบว่า เริ่มมีการกลับมาซื้อสินค้าเครื่องครัวเพิ่มขึ้น
“โควิดฯระลอกแรก เดอะมอลล์ปรับตัวหาวิธีการรับมือ จนเกิดเป็น CALL TO ORDER เป็นการให้บริการสั่งซื้อสินค้า โดยลูกค้าสามารถโทรฯสั่งสินค้าทุกประเภทภายในห้างและเลือกใช้บริการส่งของเดลิเวอรี่ หรือรับของได้ด้วยตัวเอง”นายชินาพัฒน์กล่าว
นายชินาพัฒน์ กล่าวว่า ผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 จำนวนลูกค้าหายไปประมาณ 78 เปอร์เซ็นต์ แต่เมื่อปรับตัวได้ลูกค้าเริ่มกลับมาใช้บริการเพิ่มขึ้นจนกระทั่งเหมือนกลับมาเป็นปกติ สำหรับโคราชธุรกิจห้างยังคงอยู่ได้แต่คงไม่เท่าเดิมเพราะพฤติกรรมคนปรับเปลี่ยนไป
“พฤติกรรมการซื้อของลูกค้าจากเดิมยอดซื้ออยู่ที่ 500 -1,000 บาท แต่ช่วงโควิด 19 ระบาด ยอดซื้อต่อคนเพิ่มขึ้น 20 – 30 เปอร์เซ็นต์ แต่จำนวนลูกค้าออกมาซื้อน้อยครั้งลง ปกติจะมาซื้อแล้ว 2 – 3 วันมาเปลี่ยนเป็น 3 – 4 วันมา 1 ครั้ง แต่ยอดซื้อมากขึ้น”นายชินาพัฒน์ กล่าวและว่า
กระทั่งการระบาดระลอก 2 – 3 พบว่าจำนวนลูกค้าลดลง แต่ลูกค้าไม่ได้หายไปเท่ากับระลอกแรก โดยในส่วนระลอก 3 แม้ว่าเดอะมอลล์โคราชต้องปิดห้างอีกครั้ง เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา ทำให้ลูกค้าหายไป 73 เปอร์เซ็นต์ แต่ยังคงสามารถดำเนินการต่อไปได้
นายชินาพัฒน์ กล่าวว่า ความแตกต่างของพื้นที่สีแดงเข้มระหว่างจ.นครราชสีมากับกรุงเทพฯ ในเรื่องรูปแบบการให้บริการสั่งสินค้าในกรุงเทพ ส่วนใหญ่พบการสั่งสินค้าออนไลน์จำนวนมากต่อวัน แต่เดอะมอลล์โคราช แบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนที่เปิดเฉพาะซุปเปอร์มาเก็ต ตามมาตรการที่ราชการกำหนด
สำหรับบริการ CALL TO ORDER ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มอุปกรณ์การเรียนออนไลน์ ความงามและเครื่องสำอาง ตามลำดับ แต่จำนวนไม่มาก เฉลี่ยประมาณ 10,000 – 20,000 บาทต่อวัน ขณะที่จำนวนซื้อสินค้าอยู่ที่ล้านกว่าบาทต่อวัน
กรณีเกิดคลัสเตอร์การระบาดพื้นที่ตลาดข้างนอก ส่งผลให้พฤติกรรมของลูกค้าเลือกที่จะเข้ามาใช้บริการในห้างมากกว่า เนื่องจากมาตรการความปลอดภัยและการป้องกันที่สูงกว่า อาทิ การสวมถุงมือ การเว้นระยะห่าง เป็นต้น
นายชินาพัฒน์ กล่าวอีกว่า เราต้องรักษาร้านค้าของเราเอาไว้ให้เขาสามารถอยู่ได้ ตั้งแต่โควิด 19 ระบาดระลอกแรก ระลอก 2 และระลอกปัจจุบัน ร้านค้าที่สายป่านไม่ยาวพอเราต้องเข้าไปช่วย ไม่งั้นมีหวังไม่เหลือร้านค้า เราต้องรักษาร้านค้าไว้
“ศูนย์การค้าเป็นส่วนที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุด ผมมองว่าสิ่งที่น่ากังวล ร้านค้าบางรายไม่สามารถปรับตัวได้ส่งผลให้ต้องปิดตัวลง แม้ห้างจะต้องขาดทุน แต่เรายังคงรักษาพนักงานทุกคนไว้ เพื่อเตรียมพร้อมในวันที่ห้างสามารถเปิดได้แบบ 100 เปอร์เซ็นต์”
นายชินาพัฒน์ กล่าวว่า ห้างได้รับผลกระทบอะไรบ้าง แน่นอนเราต้องขาดทุน เพราะต้องเลี้ยงพนักงาน เดอะมอลล์ไม่ให้พนักงานออก และยังจ่ายเงินเดือนให้ครบถ้วน โดยทางผู้บริหารเห็นด้วยในเรื่องนี้ และช่วยกันประคอง สิ่งที่เห็นชัดเจนคือพฤติกรรมการปรับตัวของคน ทั้งการเรียนรู้การป้องกันตัวเอง การฉีดวัคซีนเพื่อลดความเสี่ยงจากการเสียชีวิตจากโรค
“เดอะมอลล์โคราชเป็นพื้นที่ให้บริการฉีดวัคซีน ทำให้เห็นภาพรวมของผู้มาใช้บริการที่เพิ่มขึ้นทุกวันและ มีตัวเลขการรับวัคซีนภายในโคราชถึง 50 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดีในการกระตุ้นเศรษฐกิจ”นายชินาพัฒน์กล่าวและว่า
ทั้งนี้ มาตรการช่วยเหลือจากรัฐ อาทิ ช้อปช่วยชาติ ช้อปดีมีคืน เป็นมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการโดยตรง ซึ่งหากเป็นไปได้อยากให้รัฐช่วยเหลือเรื่องนี้รวมถึงการเร่งการฉีดวัคซีนที่มากขึ้นเพื่อสร้างความมั่นใจในการใช้ชีวิต
“สุดท้ายไม่ว่าคุณจะฉีดวัคซีนหรือไม่ ก็ไม่ได้หมายความว่าคุณจะไม่ติด เพียงแค่ปลอดภัยจากการเสียชีวิตจากโรคนี้เท่านั้น ดังนั้นเราต้องปรับเพื่ออยู่รวมกับเขา ซึ่งคาดว่าน่าจะดีขึ้น” นายชินาพัฒน์ กล่าว
นายชินาพัฒน์ กล่าวว่า ทิศทางการค้าปลีกของเดอะมอลล์ นครราชสีมา จะมุ่งเน้นยอดขายและการสร้างบรรยากาศ การออกมาชีวิตข้างนอกมากขึ้น การออกแคมเปญต่างๆ อาทิ ออกแคมเปญร่วมกับบัตร SCB M เริ่มตั้งแต่วันที่ 4 ต.ค.นี้ ถึง สิ้นปี คะแนน on top และโปรโมชั่นส่วนลด รวมถึงการจัดงาน อาทิ งาน money expo 2021 งาน motor show 2021 และ เทศกาลส่งท้ายปี happy festival
“เดอะมอลล์โคราช เปิดให้บริการโรงภาพยนตร์ ฟิตเนสตามปกติ ยกเว้นพื้นที่ สวนสนุก สวนน้ำ เราคาดว่าภายใน 1 เดือน ตัวเลขยอดผู้ติดเชื้อในประเทศสามารถต่ำกว่า 10,000 คนต่อวันจะสร้างความเชื่อมั่นมากขึ้น”นายชินาพัฒน์กล่าว
นายชินาพัฒน์ กล่าวเพิ่มเติมเรื่องผลกระทบของเศรษฐกิจภายในจังหวัด ไว้ว่า จ.นครราชสีมายังเป็นพื้นที่สีแดงเข้ม ทำให้ธุรกิจร้านค้าภายนอกทำการค้าไม่ได้ โดยเฉพาะประชาชนทั่วไปที่ตกงานหรือขาดรายได้ ส่งผลให้เงินหมุนเวียนในระบบของจังหวัดต่ำลง อีกทั้ง ภาคอีสาน ไม่มีจุดที่เป็นเชิงจุดรับนักท่องเที่ยวที่จริงจัง อย่างจ.นครราชสีมา มีเพียง อ.ปากช่อง กับ อ.วังน้ำเขียว ซึ่งเป็นพื้นที่รอบนอกจังหวัด ทำให้เข้าไม่ถึงตัวเมือง ตนคาดหวังในอนาคตจ.นครราชสีมา จะกลายเป็นมหานคร หากมีเศรษฐกิจ การคมนาคม รวมถึงกิจกรรมบันเทิงที่ดีขึ้น