ตั้งการ์ด!! รับมือภัยในยุคออนไลน์

ตั้งการ์ด!! รับมือภัยในยุคออนไลน์

นางพัสเกนทร์  พยัตติกุล  ผู้วิเคราะห์อาวุโส ส่วนคุ้มครองและให้ความรู้ผู้ใช้บริการทางการเงิน กล่าวถึงการรับมือภัยในยุคออนไลน์ว่า ยุคปัจจุบันนี้คงหนีไม่พ้นเรื่องของออนไลน์ ที่เข้ามามีบทบาทสำคัญในชีวิตของเราเป็นอย่างมาก ตั้งแต่การทำงานในรูปแบบ Work from home การซื้อสินค้าเพื่ออุปโภคบริโภค การทำธุรกรรมทางการเงิน รวมไปถึงการสื่อสารระหว่างกัน ซึ่งไม่ว่าเราจะทำกิจกรรมใด ๆ ในชีวิตประจำวัน ส่วนใหญ่ล้วนแล้วแต่สื่อสารกันผ่านโลกออนไลน์

การใช้ชีวิตในโลกออนไลน์นั้น แม้จะมีความรวดเร็วและสะดวกสบาย แต่อย่าลืมว่าสิ่งที่ตามมา นั่นคือภัยเงียบจากมิจฉาชีพที่อยู่ใกล้ตัวเรา และแอบแฝงมาในหลากหลายรูปแบบมากกว่าที่คิดไว้ โดยอาศัยความสะดวกสบายเป็นช่องทางที่คนส่วนใหญ่ไม่ได้ใส่ใจหรือไม่รู้เท่าทัน เข้ามาล้วงข้อมูลหรือล่อลวงเราโดยไม่รู้ตัว

เพื่อให้ห่างไกลจากมิจฉาชีพ เรามาตั้งการ์ดป้องกันด้วยวิธีง่าย ๆ ดังนี้

  1. ไม่ให้ข้อมูลที่สำคัญบนโลกออนไลน์

เช่น วันเดือนปีเกิด เลขบัตรประชาชน ข้อมูลทางการเงิน เพราะข้อมูลเหล่านี้เป็นข้อมูลตั้งต้น ที่เอื้อให้มิจฉาชีพสามารถนำไปสร้างตัวตนใหม่หรือเป็นการขโมยความเป็นตัวตนของเราไปสร้างความเสียหายหรืออาจนำไปใช้ในทางทุจริตได้

  1. ไม่ดาวน์โหลดแอปหรือโปรแกรมที่ไม่น่าเชื่อถือ

เพราะอาจเป็นช่องโหว่ให้เกิดการขโมยข้อมูลส่วนตัว หรือเผยแพร่โปรแกรมร้าย (Malware) เข้ามายังโทรศัพท์ของเราได้ ก่อนดาวน์โหลดแอป ควรอ่านรายละเอียดข้อมูลแอป เว็บไซต์หลักของนักพัฒนาแอป ยอดการติดตั้งแอป การให้คะแนนรีวิว

รวมทั้งคำอธิบายรายละเอียดแอปที่เป็นภาษาไทย ถ้าสะกดไม่ถูกต้องตามหลักภาษา อาจขาดความน่าเชื่อถือและมีความเสี่ยงจากการดาวน์โหลดแอปดังกล่าวได้

  1. ไม่ใช้ Wi-Fi สาธารณะทำธุรกรรมทางการเงิน

เพราะอาจมีความเสี่ยงต่อการถูกล้วงข้อมูลจากแฮกเกอร์โดยที่เราไม่รู้ตัวได้ เช่น แฮกเกอร์อาจสร้าง Router หรือ Access Point ปลอมจาก Notebook หรือ PC หลอกให้ผู้ใช้งานหลงเข้าไปเชื่อมต่อ Wi-Fi สาธารณะปลอม

เมื่อมีการทำธุรกรรมทางการเงิน อาจทำให้แฮกเกอร์มองเห็นการกรอกข้อมูลส่วนตัวหรือข้อมูลทางการเงินและล้วงข้อมูลไปได้  เป็นต้น

หากต้องการใช้ Wi-Fi สาธารณะ ควรมีการตรวจสอบให้แน่ใจว่าก่อนใช้งานได้มีการลงทะเบียนเพื่อขอรับรหัสผ่าน หรือสอบถามจากผู้ให้บริการในสถานที่ต่าง ๆ ถึงการขอใช้บริการ Wi-Fiสาธารณะ และไม่ควรเชื่อมกับ Wi-Fi ที่ไม่ต้องใส่รหัสผ่านเพื่อเข้าระบบ (log in)

  1. ตั้งรหัสผ่านให้เดายากและเปลี่ยนเป็นระยะ

โดยไม่ใช้ข้อมูลส่วนตัวในการตั้งรหัสผ่าน นอกจากนี้ เพื่อความปลอดภัยและป้องกันการโจรกรรมข้อมูลของเรา ไม่ควรตั้งรหัสผ่านเหมือนกันทุกระบบการใช้งานและเพิ่มอักขระพิเศษเข้าไป แม้จะยากในทางปฏิบัติ แต่สามารถช่วยให้มีความปลอดภัยมากขึ้น

  1. คลิกออกจากระบบ / sign out หรือ log out ทุกครั้งเมื่อเลิกใช้งาน

เพราะการไม่ออกจากระบบอาจมีความเสี่ยงที่บางเว็บไซต์จะจดจำสถานะของผู้ใช้ในลักษณะ log in อยู่ แม้ปิดเบราว์เซอร์ไปแล้วก็ตาม กลายเป็นความเสี่ยงที่มิจฉาชีพอาจสวมรอยเข้ามาใช้งานได้

แม้ยุคออนไลน์จะมีความสะดวกสบายเพียงใดก็ตาม แต่ต้องเตือนสติตัวเองเสมอว่า ความเสี่ยงจากการใช้งานแฝงอยู่รอบตัวเราเสมอ หากเกิดความเสียหายแล้ว ยากที่จะแก้ไขและส่งผลกระทบต่อเราอีกหลายด้าน

ดังนั้น เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหาย เราต้องตั้งการ์ดสูง เพื่อป้องกันภัยให้ตัวเองในยุคออนไลน์กัน ทั้งนี้ หากมีข้อสงสัยเพิ่มเติมสามารถสอบถามได้ที่ ศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน โทร. 1213

——————————————————

บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล จึงไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย

แสดงความคิดเห็น