กลุ่มโคราชศึกษาฯเสนอ “อ่างแก้มลิง” แก้ปัญหาน้ำท่วม

กลุ่มโคราชศึกษาแก้ปัญหาน้ำท่วมเสนอสำนักชลประทานที่ 8  “อ่างแก้มลิง” เป็นแนวทางแก้ไขปัญหาน้ำท่วม

13 มิถุนายน พ.ศ. 2565 เวลา 14.00 น.  พล.อ. ลือพงษ์ โชติวิทยากาจน์ ประธานกลุ่มโคราชศึกษาแก้ปัญหาน้ำท่วม ได้มอบหมายให้ นายสมยศ พัดเกาะ พร้อมคณะเข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุม สำนักชลประทานที่ 8 นครราชสีมา เพื่อรับฟังแนวทาง การเตรียมการป้องกันปัญหาน้ำท่วมจังหวัด และยื่นข้อเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาน้ำท่วมที่ทางกลุ่มฯได้จัดทำขึ้น โดยมี นายกิติกุล  เสภาศีราภรณ์ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานนครราชสีมา  นายธีระศักดิ์  ประหยัด ผอ.ส่วนบริหารจัดการน้ำ  นายสุคนธ์ เต็มยศยิ่ง  ผู้อำนวยการโครงการสำนักและบำรุงรักษาลำตะคอง

นายกิติกุล  เสภาศีราภรณ์ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานนครราชสีมา กล่าวว่า สาเหตุของปัญหาน้ำท่วมจังหวัดนครราชสีมานั้นมีหลายปัจจัย คือ

  1. ปรากฎการณ์ทางธรรมชาติลานีญา เป็นปัญหาทางธรรมชาติที่ทำให้ฝนตกมากกว่าปกติ กอปรกับปริมาณฝน ในช่วงที่ผ่านมามักจะตกหลังเขื่อนบางครั้งอาจถึง 120 มม. ต่อ ชั่วโมง ทำให้ปริมาณน้ำหลังเขื่อนมีจำนวนมาก ส่งผลให้ช่วงครึ่งปีแรกของประเทศไทยมีปริมาณฝนเยอะกว่าค่าปกติ
  2. ปัญหาการปรับเปลี่ยนการใช้ประโยชน์ของที่ดิน เป็นอีกปัญหาหนึ่งที่สร้างผลกระทบให้สภาพภูมิประเทศเปลี่ยนไป สถานที่ที่ไม่เคยท่วมกลับท่วม ในส่วนของลำน้ำเองต้องรองรับปริมาณน้ำมากกว่าที่เคยรับ ปัญหานี้ทางชลประทานเองยินดี หากมีหน่วยงานไหนที่มีความประสงค์จะประสานข้อมูล เพื่อสนับสนุนการแก้ปัญหานี้ ให้การแก้ไขเป็นไปอย่างบูรณาการ
  3. ปัญหาสภาพอุปสรรคสิ่งกีดขวางในลำน้ำ ซึ่ง ต้องอาศัยความร่วมมืออยู่หลายฝ่าย เพราะมีความซับซ้อน ในเขตพื้นที่รับผิดชอบ

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ทางชลประทานที่ 8 นครราชสีมา ได้เร่งดำเนินการรื้อ สิ่งก่อสร้างที่ขวางทางน้ำ  เช่น ในส่วนของลุ่มน้ำ ลำเชียงไกร ซึ่งเป็นสิ่งปลูกสร้างเก่าที่ชำรุดแล้ว เพื่อทำให้การไหลและถ่ายเทของน้ำเป็นไปอย่างรวดเร็ว

นายกิติกุล  เสภาศีราภรณ์ กล่าวต่อถึงข้อเสนอของกลุ่มโคราชศึกษาว่า การแก้ปัญหาน้ำท่วม เรื่องการทำอ่างแก้มลิงเป็นสิ่งที่ดี แต่ต้องศึกษาถึงผลกระทบให้รอบด้าน ว่ามีผลกระทบต่อชุมชนหรือไม่ เพราะการสร้างแก้มลิงนั้น จำเป็นต้องอาศัยง

บประมาณจำนวนมาก และจะต้องเวียนคืนที่ดินของชาวบ้าน เรื่องนี้จึงมีความจำเป็นทำการศึกษาอย่างละเอียด เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด

ช่วงท้ายของการประชุมนายสมยศ พัดเกาะ  ผู้ประสานงานของกลุ่มฯ ได้นำข้อเสนอของกลุ่มฯที่ได้จัดทำขึ้นเกี่ยวกับปัญหาและข้อเสนอแนะของกลุ่มฯมอบให้กับ ชลประทานที่ 8 นครราชสีมาสำหรับเป็นข้อมูลเพื่อพิจารณาในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมจังหวัดนครราชสีมาต่อไป

แสดงความคิดเห็น